มีน้ำ มีชีวิต: ความสัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้
เคยลองสังเกตไหมว่า ในการใช้ชีวิตประจำวันของเราแต่ละวัน เราต้องเกี่ยวข้องกับ ‘น้ำ’ มากน้อยขนาดไหน ทั้งการใช้ดื่ม ใช้อาบ หรือใช้ทำกิจวัตรต่างๆ ทั้งนอกบ้านและในบ้าน กระทั่งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ สารประกอบเคมีที่เรียกว่าน้ำเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดนิทรรศการ “มีน้ำ มีชีวิต” ชวนให้ทุกคนมาร่วมเรียนรู้และทำความรู้จักเรื่องราวของน้ำที่ขับเคลื่อนทุกสรรพสิ่งบนโลกให้มากขึ้น ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมเชิงปฏิบัติ เพื่อให้เห็นความสำคัญของน้ำที่อยู่ใกล้ตัว
และจากกิจกรรมดังกล่าว ลองไปดูกันว่า ในชีวิตประจำวันของเรา น้ำเกี่ยวข้องกับเราในมิติไหนบ้าง
น้ำกับการมีชีวิต
มนุษย์เรามีน้ำเป็นส่วนประกอบในร่างกายถึง 70% เรียกได้ว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของร่างกาย ซึ่งมีตั้งแต่เป็นส่วนประกอบของเซลล์และของเหลวต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย รวมไปถึงของเหลวภายนอกที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง น้ำลาย น้ำตา น้ำมูก ของเสียที่ออกจากร่างกายอย่างปัสสาวะ โดยที่น้ำจะช่วยขับถ่ายและกำจัดของเสีย ก่อนจะปล่อยออกมาในรูปแบบของเหลวนั่นเอง และที่สำคัญคือ เลือด ที่เห็นเป็นสีแดงสด แต่มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 90% เลยทีเดียว
นอกจากน้ำภายนอกที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว ภายในร่างกายน้ำยังทำหน้าที่สำคัญในการช่วยย่อยและดูดซึมนำพาสารอาหารต่างๆ ที่รับมาจากภายนอกให้หมุนเวียนไปยังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ในเรื่องของอุณภูมิร่างกายก็เช่นกัน เราต่างทราบกันดีว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายคือ 37 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากเมื่อใดที่ร่างกายเรามีอุณหภูมิสูงกว่านั้นอย่างเช่นตอนเป็นไข้ ร่างกายของเราก็จะขับน้ำให้ออกทางผิวหนังที่ออกมาในรูปแบบของเหงื่อ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงได้
จะเห็นได้ว่าน้ำมีส่วนสำคัญต่อการมีชีวิตของเราเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปหากมนุษย์ขาดน้ำเป็นเวลามากกว่า 3 - 5 วันก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเมื่อร่างกายเริ่มขาดน้ำจะสะท้อนผ่านอาการต่างๆ อย่างเช่น ตาแห้ง ปากแห้ง ความดันลดต่ำลง กระทั่งการปัสสาวะน้อยผิดปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตที่ต้องทำงานหนักกว่าเดิม ทำให้การขับถ่ายผิดปกติตามไปด้วย
น้ำกับการใช้ชีวิต
มนุษย์เราต่างต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคกันตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญมาก แต่ถ้าหากลองมาสำรวจทรัพยากรน้ำในโลกกันจริงๆ แล้ว พบว่าโลกประกอบด้วยน้ำมากถึง 70% และพื้นดินมีเพียง 30% แต่ในปริมาณน้ำที่สูงมากขนาดนั้น กลับมีปริมาณน้ำเค็มถึง 97.5% มีน้ำจืดเพียง 2.5% เท่านั้น และยังมีข้อมูลที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือมีไม่ถึง 1% ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมดที่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ
ด้วยภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันออกไป จึงทำให้การเข้าถึงแหล่งน้ำของประชากรทั่วโลกมีไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิประเทศแถบแอฟริกาใต้สะฮาราที่มีพื้นที่บางส่วนเป็นทะเลทราย ทำให้ปริมาณการเข้าถึงน้ำสะอาดของประชากรมีน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีของเรา เพราะประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ปริมาณเข้าถึงน้ำสะอาดไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤตมากนัก
แม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้แล้วหมดไป แต่ปริมาณน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้มีอย่างจำกัด การใช้น้ำอย่างเห็นคุณค่าสูงสุดจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ มีประชากรโลกกว่า 1,400 ล้านคนที่ขาดแคลนน้ำดื่มและไม่มีน้ำสะอาดให้ใช้ เนื่องจากการดูแลรักษาแหล่งน้ำตามหลักสุขาภิบาลที่ดี ทั้งการปล่อยน้ำเสียลงในระบบนิเวศ การปล่อยของเสียที่มีสารเคมีปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำธรรมชาติของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ และปัญหาสุขภาพของประชากรตามมา
น้ำกับวัฏจักรของชีวิต
เชื่อว่าเด็กๆ หลายคนคงสงสัย ว่าทำไมทรัพยาน้ำถึงได้ไม่มีวันหมดไปจากโลก นั่นเป็นเพราะน้ำมีวัฏจักรในการหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนสถานะไปเรื่อยๆ จากของเหลวกลายเป็นของแข็งและก๊าซ จากการดูดกลืนหรือคายพลังงานหมุนวนไป
หากจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ วัฏจักรของน้ำเริ่มต้นจากความร้อนทำให้น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ระเหยกลายเป็นไอน้ำ ก่อนจะควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นผลมาจากอากาศด้านบนที่เย็นลง เมื่อละอองน้ำมีปริมาณมากขึ้นก็รวมตัวกันกลายเป็นเมฆ และเมื่อเมฆใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ละอองน้ำในเมฆที่ใหญ่เกินกว่า 2 มิลลิเมตรจะมีน้ำหนักมากกว่าแรงพยุงของอากาศ จึงทำให้ตกลงมากลายเป็นฝน หิมะ หรือลูกเห็บ ที่แตกต่างกันไปตามสภาพอากาศร้อนหรือเย็นนั่นเอง น้ำที่ตกลงมายังด้านล่างก็ไหลไปตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทร รวมไปถึงไหลลงในดินจนกลายเป็นน้ำบาดาล ก่อนที่ความร้อนจะทำให้น้ำระเหยกลับขึ้นไปบนท้องฟ้าอีกครั้ง กลายเป็นวัฏจักรของน้ำที่หมุนวนไม่มีที่สิ้นสุด
ในขณะที่น้ำกำลังหมุนวนเป็นวัฏจักรอยู่นี้เอง มนุษย์อย่างเราๆ จึงต้องอาศัยการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ มาเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร และเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม แต่ถึงแม้น้ำจะมีวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุดอย่างไร ในการใช้ประโยชน์จากน้ำจริงๆ กลับยังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำอยู่ดี แค่ในประเทศไทยเองก็มีปัญหาในเรื่องศักยภาพของการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ และอาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคตได้ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทุกฝ่ายที่ช่วยกันหาวิธีจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงเราทุกคนที่ต้องช่วยกันประหยัดและใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย