แม้หน้าร้อนปีนี้จะร้อนดังเช่นเดิมทุกปี แต่เมื่อย่างเข้าสู่เดือนเมษายนเมื่อไร บรรยากาศแห่งความสุขก็พลันหวนกลับมาอีกครั้งใน เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ไทยแห่งความสุขของคนไทยทุกคน
และเหมือนในทุกๆ ปี อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้เชิญชวนสมาชิกทุกคนในครอบครัวมาร่วมสืบสานประเพณีไทยกับกิจกรรมบันเทิง เริงรมย์กับกิจกรรม สงกรานต์ บานตะไท ซึ่งถึงแม้จะไม่มีน้ำให้สาดเล่นกัน แต่บรรยากาศและกิจกรรมต่างๆ ภายในงานจะสร้างความสุขให้กับทุกคนในครอบครัวได้อย่างแน่นอน โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 - 16 เมษายน 2557 เลยทีเดียว
ซุ้มทางเข้างานแบบไทยๆ
สรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล
รดน้ำดำหัวคุณพ่อคุณแม่
ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้ามาในอุทยานการเรียนรู้ TK park จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของประเพณีสงกรานต์อันแสนรื่นเริง ตั้งแต่ทางเข้าด้านหน้าที่เปิดโอกาสให้สรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล และหลังจากลงทะเบียนแล้วก็มีมุมพิเศษสำหรับให้ลูกหลานได้รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ภาพของเด็กๆ ที่รดน้ำดำหัวคุณพ่อคุณแม่และญาติผู้ใหญ่ที่มาด้วยกันภายในงาน ล้วนเป็นภาพที่น่าประทับใจจริงๆ ซึ่งการรดน้ำดำหัวเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ต้องการให้ลูกหลานได้แสดงความ เคารพต่อผู้ใหญ่ และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ไม่หลงลืมพระคุณอีกด้วย ส่วนที่มาของคำว่า รดน้ำดำหัว คำว่า ดำหัว มาจากภาษาเหนือแปลว่าการรดน้ำ แต่นำมารวมกันเป็นคำซ้อนจนเรียกกันติดปากนั่นเอง
แต่งกายไทยแสนภูมิใจ
สำหรับกิจกรรมแรกคือการชวนให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมงาน “นุ่งโจง ห่มสไบ” แต่งกายในชุดไทยอันงดงาม กับบูธกิจกรรม ‘แต่งกายงาม ตามอย่างไทย’ โดยความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำผ้าไทยและผ้าขาวม้าหลากชุดหลายสีสันมาแต่งให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกเพศ ทุกวัยได้ลองสวมใส่ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่เคยสวมชุดไทยมาก่อน จึงได้มาลองใส่ที่นี่เป็นที่แรก แต่ละคนสามารถเลือกนุ่งได้ตามใจ โดยมีพี่ๆ คอยบริการและเลือกผ้าชนิดต่างๆ ตามขนบชาววังให้ดูงดงามเหมาะกับคนในปัจจุบัน ภาพของสมาชิกครอบครัวที่พร้อมใจกันใส่ชุดไทยกันจึงเป็นภาพที่น่าภูมิใจอย่าง ยิ่ง
“จริงๆ แล้วชุดไทยไม่ได้เป็นชุดที่ซับซ้อน สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมืองไทยมีภูมิอากาศร้อน ผ้าไทยเวลาใส่แล้วจะเย็นสบาย เราอยากจะรณรงค์ให้เห็นว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลปีใหม่ไทยที่ปลูก จิตสำนึกให้คนสนใจในความเป็นชาติไทย เป็นการสืบสานภูมิปัญญาเราให้คงอยู่ต่อไป ผ้าไทยไม่ใช่แค่เครื่องนุ่มห่มอย่างเดียว ยังมีเรื่องราวที่สะท้อนผ่านกรรมวิธีในการผลิตหลายอย่าง และที่สำคัญคือผ้าไทยได้ผ่านการสั่งสมประวัติศาสตร์อันยาวนานอีกด้วย” คุณนครินทร์ น้ำใจดี นักวิจัยจาก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกกล่าวถึงที่มาของบูธกิจกรรมนี้
และในบริเวณเดียวกันยังมีนิทรรศการ ‘ผ้าขาวม้า’ บอกเล่าถึงความเป็นมาของผ้าขาวม้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเทศกาล สงกรานต์ก็ว่าได้ ผ้าขาวม้า เป็นภาษาเปอร์เซียมาจากคำว่า กามาร์บันด์ (Kamar Band) หมายถึงผ้าคาดเอว โดยทั่วไปแล้วจะเข้าใจกันว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าสำหรับผู้ชาย แต่จริงๆ แล้วผ้าขาวม้าคือผ้าอเนกประสงค์ที่สามารถใช้ได้ในทุกๆ โอกาสและทุกเพศทุกวัย เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่แปรรูปออกมาหลากหลาย เช่น เสื้อเชิ้ต กระเป๋า ซองใส่เอกสาร หรือแม้แต่ผ้ากันเปื้อน และนอกจากนั้นในเรื่องของชาติพันธุ์ของชาวไทในแต่ละท้องถิ่น จะมีลักษณะของผ้าขาวม้าแตกต่างกันไป
หลังจากที่แต่งกายในชุดไทยกันเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาร่วมกิจกรรมแบบไทยๆ กับบูธ ‘สืบสาน งานศิลป์ไทย’ ที่ให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะงานศิลป์กับ ลูกข่าง เสือข้ามฟาก ของเล่นพื้นบ้านของไทย ในบริเวณใกล้ๆ กันก็มีการฉายภาพยนตร์ไทยที่บูธ ‘รื่นเริง บันเทิงหนังไทย’ ซึ่งภายในกิจกรรมมีฉายภาพยนตรประกอบด้วย วันที่ 12 เมษายน ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน วันที่ 13 เมษายน ภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก...พระโขนง วันที่ 15 เมษายน ภาพยนตร์เรื่อง ฮักอ่ำหล่ำ วันที่ 16 เมษายน ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง
ทำขนมไทยชื่อแปลก
พักจากกิจกรรมสนุกๆ เปลี่ยนบรรยากาศมากินขนมไทยมีหลายเมนู ที่หาได้ยากในปัจจุบัน เช่น ปลาแห้ง แตงโม ขนมลืมกลืน กับบูธ ‘ลิ้มรสไทย’ แต่วันนี้ทุกคนมาทำความรู้จักขนมที่ชื่อว่า ม้าฮ่อกับม้าอ้วน ขนมไทยชื่อแปลกที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เรียกว่าเป็นอาหารว่างที่คล้ายกับเมี่ยงในสมัยก่อน แต่มีน้ำที่ข้นกว่า รสชาติก็เป็นการผสมผสานกันระหว่างผลไม้ที่อมเปรี้ยวอย่างส้มหรือสับปะรด มาเจอไส้ที่มีความหวานๆ จึงมีรสชาติกลมกล่อม คนโบราณใช้ทานระหว่างมื้อก่อนรับประทานอาหารมื้อหลัก
“ที่มาของชื่อ ม้าฮ่อกับม้าอ้วน มีผู้รู้เขียนไว้หลายแบบเหมือนกัน คือผลไม้อย่างส้มกับสับปะรดมีรสเปรี้ยว ถ้าม้าได้ทาน ม้าก็คงจะร้องออกมา จึงเป็นที่มาของชื่อ ม้าฮ่อ และพอมาผสมกับรสหวานของน้ำเมี่ยงที่หวานกลมกล่อม ทำให้ม้าทานได้มากขึ้นจึงเป็นที่มาของชื่อ ม้าอ้วน ที่มาของขนมน่าจะมาจากชาวมอญ ก่อนจะได้รับการเผยแพร่เข้าไปอยู่ในวัง จึงทำให้ขนมสวยงามและน่ารับประทานมากขึ้นจากวัฒนธรรมของชาววัง คนส่วนใหญ่จึงคิดว่ามาจากในวัง แต่จริงๆ แล้วมาจากชาวบ้านก่อน ต้นกำเนิดน่ามีมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 2 เพราะว่าในพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ก็มีขนมประเภทนี้ด้วย” อาจารย์ธนวิทย์ ลายิ้ม หัวหน้าสาขาวิชาธุรกิจอาหาร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เล่าถึงที่มาของขนมชนิดนี้
ในกิจกรรมนี้ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ และสมาชิกในครอบครัวได้ลองทำขนมด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งเด็กๆ หลายคนที่ได้ชิมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยมาก ไม่แพ้ขนมที่ทั่วไปกินกันในปัจจุบันเลยทีเดียว
รื่นเริงกับเพลงไทยเนื้อเต็ม
มาถึงช่วงสุดท้ายกับไฮไลต์ของเทศกาลสงกรานต์ บานตะไท ที่ชวนทุกคนดื่มด่ำไปกับการบรรเลงดนตรีไทยจาก วงวรุณทิต วงดนตรีไทยที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันอื่นๆ โดยบทเพลงที่มาบรรเลงเรียกว่า เพลงไทยเนื้อเต็ม คือ เป็นเพลงไทยที่ร้องแบบไม่เอื้อนหรือการร้องแบบเพลงไทยสากลทุกวันนี้ ตามอย่างวงสุนทราภรณ์หรือเพลงลูกกรุง เนื่องจากเพลงไทยเดิมแบบเอื้อนจะค่อนข้างฟังยาก จึงมีการจูงใจให้คนรุ่นใหม่สนใจฟังมากขึ้น โดยผู้ริเริ่มคือ ศาสตราจารย์ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ และ ศาสตราจารย์ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปูชนียบุคคลที่สำคัญด้านดนตรีไทย
บทเพลงที่วงวรุณทิตนำมาบรรเลงและร้องให้ฟังล้วนแล้วแต่เป็นเพลงไทยที่คุ้นหู กันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น รำวงวันสงกรานต์, มาลัยเศรษฐกิจ, อุทยานดอกไม้, เดือนต่ำดาวตก และ พี่เกลียดวสันต์ นอกจากบทเพลงที่ไพเราะแล้ว การแต่งกายของวงก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเน้นความสดใสสวยงาม สร้างสีสันให้กับการบรรเลงดนตรีไทยในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากกิจกรรมสำหรับครอบครัวแล้ว ยังมีมุมสรงน้ำพระ และนิทรรศการ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์มาให้ความรู้กับผู้เข้าเข้าร่วม กิจกรรมอีกด้วย
แน่นอนว่า เทศกาลสงกรานต์ บานตะไท ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดขึ้นในปีนี้ ได้สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีไทยอันดีงามให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างประสบผลสำเร็จ และนอกจากนั้นผลพลอยได้ดีๆ ที่เกิดขึ้น คือทุกครอบครัวที่มาเที่ยวงาน ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกๆ ต่างพกรอยยิ้มและความสุขกลับไปบ้านอย่างชื่นมื่นอีกด้วย สามารถชมภาพประทับใจได้ที่ www.facebook.com/tkparkclub
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย