เตรียมตัว รู้รอด ภาค 3 FIRST AID: เพิ่มทักษะชีวิต ลดการสูญเสีย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกๆ วัน ขณะที่เราดำเนินชีวิตไปตามปกติ เหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จะด้วยอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยกะทันหันก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือคนรอบข้างก็ตาม ซึ่งบางครั้งอาจอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ได้จัดนิทรรศการ เตรียมตัว รู้รอด ภาค 3 FIRST AID เพื่อเติมเต็มทักษะชีวิตเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ก่อนส่งต่อความช่วยเหลือสู่บุคลากรทางการแพทย์
“ถ้าคนในบ้านไม่สบายหรือประสบอุบัติเหตุจะช่วยเหลือได้อย่างไร ยิ่งเราไม่มีความรู้เลย เราจะต้องพึ่งหมออย่างเดียว กว่าจะไปถึงโรงพยาบาลก็อาจจะช้าเกินไป หากเรามีความรู้บางครั้งทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาหรือถึงขั้นเสียชีวิต” นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงความสำคัญของการปฐมพยาบาล ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเอาชีวิตรอดและช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้
โดยความหมายของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid) คือการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหัน โดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่หาได้บริเวณนั้น มีจุดประสงค์คือช่วยบรรเทาอาการและลดอัตราความเสี่ยงต่อชีวิต ก่อนที่จะทำส่งถึงมือแพทย์ต่อไป “อย่างถ้าเป็นเคสที่อันตราย อย่างการขาดออกซิเจนเพียงแค่ 4 นาทีก็อาจส่งผลให้สมองพิการไปเลย ซึ่งทำให้ญาติพี่น้องต้องดูแลไปตลอดชีวิต” คุณหมอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฐมพยาบาล
แม้ว่าทักษะในการปฐมพยาบาลจะเป็นทักษะเบื้องต้นที่ควรมีติดตัว แต่หลายคนก็ยังไม่ทราบถึงวิธีการที่ถูกต้อง ยิ่งในยุคที่ข่าวสารข้อมูลสามารถส่งต่อกันได้ง่ายในอินเทอร์เน็ต ทำให้ข้อมูลที่ถูกต้องถูกบิดเบือนไป อย่างเช่นเมื่อเป็นไข้ ให้ใช้น้ำเย็นเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย เป็นสิ่งที่เข้าใจผิด ที่ถูกต้องควรจะเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา เนื่องจากน้ำเย็นทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนได้ยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยหนาวสั่นได้ หรือเมื่อเกิดแผลพองและตุ่มใสๆ จากรองเท้ากัด ส่วนมากมักจะแนะนำให้เจาะแผลเพื่อเอาน้ำหนองออก ทำให้แผลหายไวขึ้น เป็นสิ่งที่เข้าใจผิด เพราะเมื่อเจาะแผลทำให้เชื้อโรคเข้าไปได้ง่ายขึ้น ควรปล่อยทิ้งไว้ให้หายเอง แต่หากเป็นตุ่มใหญ่ควรให้แพทย์เจาะออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ คุณหมอจึงแนะนำว่าควรจะเช็คข้อมูลให้ถูกต้องก่อนจะส่งต่อหรือนำมาใช้
นอกเหนือไปจากสื่อในอินเทอร์เน็ตแล้ว สื่อหลักอย่างละครหรือภาพยนตร์มักจะปรากฏฉากที่ตัวละครทำ CPR หรือการกดนวดหัวใจเพื่อช่วยชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ชมติดภาพจำผิดๆ ไปปฏิบัติตามอยู่เสมอ คุณหมอจึงอยากให้มีการกลั่นกรองทั้งผู้ผลิตและผู้ชมเองด้วย
วิธีที่ถูกต้องของปฏิบัติการฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation: CPR) เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจกะทันหัน จะได้ผลต่อเมื่อทำภายใน 4 นาทีหลังผู้ป่วยหยุดหายใจ โดยมีขั้นตอนแบบจำง่าย ด้วยการ CPR 6 ป. ต่อไปนี้
1.ปลอดภัย ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่ ไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหากไม่จำเป็น
2.ปลุก เช็คการรู้สึกตัวด้วยการตบที่บ่าของผู้ป่วยทั้งสองข้างแรงๆ
3.ประกาศ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนอง ให้ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือโทร. 1669 โดยเร็วที่สุด
4.ปั๊ม ให้ลงมือทำ CPR ด้วยวิธีที่ถูกต้อง จนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง
5.เป่า ให้ช่วยหายใจด้วยการเป่าปาก 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 วินาที สลับกับการกดหน้าอก 30 ครั้ง หากไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย สามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้
6. แปะ หากสามารถหาเครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ให้ทำตามสัญญาณของเครื่องจนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง
นอกจากจะเป็นหน้าที่ของทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ทางศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ยังมีภารกิจในการให้ความรู้กับเยาวชน เพราะสามารถส่งต่อและขยายองค์ความรู้ต่อไปได้ในอนาคต อย่างเช่นการจัดนิทรรศการในครั้งนี้
“ความเข้าใจในการรักษาเบื้องต้นทุนคนยังมีไม่พอ ถามว่าต้องทำอย่างไร คือต้องพัฒนาจากเด็กๆ ให้มีความสนุก เกิดความเคยชิน ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แปลงจากตัวหนังสือเป็นทักษะในการใช้ชีวิตได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา แม้จะไม่เคยประสบหรือเรียนมาก่อน แต่ก็สามารถทำได้อย่างถูกต้อง จึงลดการสูญเสียได้มากที่สุด” คุณหมออธิบาย พร้อมทั้งเน้นย้ำให้จดจำเบอร์โทรศัพท์สำคัญคือหมายเลข 1669 สายด่วนกู้ชีพ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทร.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศ
แม้เหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นได้อยู่ตลอด แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ความสูญเสียก็อาจไม่เกิดขึ้น
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย