อิ้งค์ วรันธร กับความฝันในเสียงดนตรี
เหงา เหงา (insomnia) คือเพลงที่ติดหูใครหลายคนเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว เสียงหวานๆ ที่เข้ากันดีกับเสียงดนตรีสไตล์ซินธ์ป๊อปที่มีกลิ่นอายเรโทรนิดๆ บวกกับเนื้อหาที่เล่าถึงความเหงาที่เกิดขึ้นจากการคิดถึงคนรักในอดีต ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และทำให้วงการดนตรีรู้จักกับชื่อของ อิ้งค์ - วรันธร เปานิล ศิลปินสาวเสียงคุณภาพโปรไฟล์ดี ที่ทำให้ใครก็ตามที่ฝันอยากเป็นศิลปินต้องดำเนินรอยตาม
อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรม TK Music Ed.2017: อิ้งค์ วรันธร กับเพลงพระราชนิพนธ์ในดวงใจ ที่นอกจากเธอจะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาขับร้องให้ฟังแล้ว เธอยังมาเล่าถึงเส้นทางดนตรีและความฝันของตัวเองที่เปรียบเหมือนคำแนะนำจากรุ่นพี่ในวงการดนตรีอีกด้วย
จุดเริ่มต้นความรักในเสียงดนตรีของอิ้งค์นับว่าเป็นความโชคดีของเธอเองที่สามารถค้นพบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย “พยายามค้นหาตัวเองว่าทำอะไรได้ดี มีความสุข และอยู่กับมันได้ตลอดชีวิต ที่บ้านก็ไม่ได้ซีเรียสแล้วแต่เราเลย ซึ่งการร้องเพลงน่าจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด” ศิลปินสาวเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเรียนดนตรีที่มีมาตั้งแต่อายุยังน้อย
หากใครที่ติดตามผลงานของอิ้งค์มาตลอด จะทราบว่าเธอเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง Chilli White Choc ค่าย Kamikaze เมื่อตอนอายุได้เพียง 12 ปี ซึ่งก็นับว่าเป็นใบเบิกทางแรกๆ ที่ทำให้เธอเริ่มสัมผัสการทำงานในวงการดนตรี “คือไม่ได้เลือกแผนอื่นเผื่อเลย ก่อนหน้านี้ก็มีโอกาสได้ร้องเพลงทำเพลงบ้าง คลุกคลีอยู่ทางนี้มาสักพักแล้ว ตั้งเป้าไว้ว่าจะสอบตรงเข้าด้านนี้เลย” เธอหมายถึงการเตรียมตัวสอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แม้ว่าจะเป็นคณะดนตรีในฝันของอิ้งค์ แต่เจ้าตัวกลับยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เกือบทั้งหมด “ก่อนสอบเข้าก็ตั้งเป้าว่าจะลองไปเรียนคลาสสิกดูก่อน เพราะก่อนหน้านี้เรียนป๊อปมาตลอด ทำให้ได้เรียนรู้อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน หายใจทางปากกับจมูกพร้อมกัน พุงจะต้องเก็บเยอะกว่า กว่าจะส่งเสียงให้กังวาลออกมาได้ รวมถึงมีการเรียนทฤษฎีดนตรีก่อน เรื่องโน้ตต่างๆ คล้ายกับวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่ชอบเลย ต้องใช้ความพยายามมากหน่อย เลือกแล้วก็ต้องทำให้ได้ แต่ส่วนตัวพอมีพื้นฐานด้านเปียโนมาบ้าง อาจจะรู้โน้ตไม่เท่ากับคนอื่นที่คลุกคลีกับโน้ตขนาดนั้น เลยต้องตั้งใจเรียนพิเศษกับรุ่นพี่นิสิตจุฬาฯ” เธอเล่าถึงความยากในการเตรียมตัว ก่อนที่จะบอกเทคนิคในการสอบเล็กน้อยสำหรับน้องๆ ไว้ว่า “การสอบเขาไม่ได้ดูว่าเราร้องเพลงเก่งขนาดไหน แต่จะดูพื้นฐานว่าเราจะนำไปพัฒนาต่อได้ยังไง ซึ่งตอนสอบต้องร้องเพลงโอเปร่า คล้ายๆ กับเพลงพระราชนิพนธ์เลยคือห้ามเปลี่ยนโน้ต ห้ามเปลี่ยนคำ ห้ามเปลี่ยนจังหวะ ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องฝึกนานเหมือนกัน”
ปัญหายอดนิยมสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายคน คือการไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เลือกเรียนมาแล้วใช่สิ่งที่ชอบหรือไม่ เพราะการเรียนในบางวิชาก็ไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ สำหรับอิ้งค์เองก็เกิดปัญหานี้เช่นเดียวกัน “พอเรียนไปถึงจุดหนึ่ง เชื่อว่าทุกคณะน่าจะเป็น คือทุกคนจะถามตัวเองว่านี่คือสิ่งที่ฉันชอบจริงๆ เหรอ ประมาณปี 2 ก็รู้สึกท้อบ้างอะไรบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องพยายามให้ผ่านไป ตอนปี 3 ตอนนั้นที่ถ่ายหนังเรื่อง Snap คือถ่ายหนังด้วย สอบด้วย เรียนด้วย ถ่ายเสร็จตีห้ากลับมาเรียนต่ออีกสองชั่วโมงแล้วก็กลับไปถ่ายใหม่อยู่เป็นเดือนๆ เหนื่อยมาก แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเลิกเรียน คิดว่าจะทำยังไงให้เสียงยังโอเคอยู่ อาจารย์ก็จะเพ่งเล็งแล้ว เราก็ต้องทำให้เห็นว่าเราทำได้”
อีกบทบาทหนึ่งที่ศิลปินสาวได้ลองทำคือการแสดงนำภาพยนตร์เรื่อง ‘Snap แค่..ได้คิดถึง’ ซึ่งเป็นอีกทักษะหนึ่งที่เธอทำได้ดีจนได้เข้าชิงรางวัลด้านการแสดงในหลายเวที แต่ก็ทำให้เธอต้องรักษาความสมดุลระหว่างเรื่องเรียนและเรื่องงานมากกว่าเดิม “ตอนนั้นรู้สึกว่าการเรียนยังเป็นอันดับหนึ่ง เลือกการถ่ายหนังเป็นอันดับสอง ถ้าเลือกที่จะทำแล้วก็ต้องทำให้ได้ทั้งสองอย่าง เหมือนกลับหลังไม่ได้ เรียนก็เรียนแล้ว ถ่ายหนังก็ถ่ายแล้ว ทำให้เต็มที่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ เราจะเป็นคนเรียนก็เรียนเต็มที่ เล่นก็เล่นเต็มที่ ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยมัธยมแล้ว รู้สึกว่าถ้าทำอะไรก็ต้องทำให้เต็มที่ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น” ซึ่งผลจากความตั้งใจก็ทำให้อิ้งค์ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้และได้ผลลัพธ์ทั้งงานและการเรียนที่ดีทีเดียว
หลังจากที่เรียนจบ อิ้งค์ก็มีโอกาสได้กลับสู่วงการเพลงไทยอีกครั้งจากคำชักชวนของ โอ๊บ - เพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ อดีตสมาชิกวง Time โปรดิวเซอร์ของค่ายเพลง Boxx Music “ตอนเด็กๆ เคยได้ร้องคอรัสเพลง ก่อนมะลิบาน ของวง Time ที่เป็นเสียงเด็กร้อง หลังจากนั้นก็ได้ร้องพวกสปอตโฆษณา จนโตมาก็ได้เรียนด้านมิวสิคัลด้วย ตอนนั้นกำลังเรียนจบ แล้วพี่โอ๊บก็กำลังทำค่าย Boxx Music พอดี เขาก็เลยชวนมาทำเพลงด้วยกัน”
กว่าที่เพลงจะออกไปสู่คนฟังได้ อิ้งค์ก็ต้องผ่านขั้นตอนของการทำเพลงหลายขั้นตอน เพื่อให้ผลงานออกมาเป็นตัวเองมากที่สุด “เขาถามว่าชอบฟังเพลงแนวไหนบ้าง คือเราเป็นคนฟังเพลงเยอะมาก ทั้งคลาสสิกทั้งป๊อป เราก็เลยเอาสิ่งที่เราชอบให้พี่เขาดู เขาก็บอกว่าจริงๆ แนวอื่นๆ คนทำค่อนข้างเยอะแล้ว แต่ซินธ์ป๊อปกำลังจะมา แล้วเราก็ชอบด้วย ก่อนหน้านั้นพื้นฐานเราไม่เคยมีมาก่อน จะฟังอย่างเดียว” แม้ว่าจะเป็นงานเพลง แต่สิ่งที่เธอได้ร่ำเรียนมาก็มีส่วนช่วยในบางส่วนของงานได้ “สิ่งที่เรียนมาอย่างคลาสสิกจะลึกเกินไปสำหรับเพลงป๊อป เพราะเพลงป๊อปจะง่ายๆ ตามอารมณ์ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ แต่สิ่งที่เอามาใช้คือเทคนิคบางอย่าง อย่างการขึ้นเสียงสูงก็จะสบายมาก”
นอกจากเรื่องดนตรีที่อิ้งค์มีส่วนในการเลือกแนวเพลง ในด้านเนื้อหาของเพลงเธอก็มีส่วนช่วยเสนอไอเดียอีกด้วย “เราจะมีส่วนในการคิดเนื้อหาของเพลง อย่างเพลง เหงา เหงา (insomnia) มาจากตอนที่เล่นหนังเรื่อง Snap คือเราจะคิดถึงสถานที่ที่เราไปว่าเราเคยไปกับใคร เราจะคิดถึงเขา เพลงที่เราเคยฟัง เราฟังกับใคร เรื่องราวเป็นยังไง เป็นความคิดถึงบางอย่างที่เกิดขึ้น” และซิงเกิลที่สองอย่างเพลง Snap เธอก็มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน “ที่มาของเพลง Snap คืออยากให้เพลงสดใสขึ้น ก็นึกถึงการแอบรักที่ไม่สมหวัง แต่ก็มีความสุขที่ได้อยู่ในจุดนั้น แค่ได้มองเขาก็รู้สึกดีแล้ว”
แม้ว่าผลงานของเธอจึงเพิ่งออกได้เพียงแค่ 2 เพลง แต่เสียงตอบรับก็เรียกได้ว่าไปไกลเกินกว่าคำว่าศิลปินหน้าใหม่อย่างมาก “ก็ไม่ได้คิดว่าปีแรกจะดีขนาดนี้ เราตั้งใจทำสิ่งที่เราชอบ แล้วมีคนชอบคนเห็น รู้สึกดีใจมาก ต้องขอบคุณทุกคนจริงๆ” เส้นทางดนตรีของอิ้งค์จะดำเนินไปต่อแน่นอน เพราะเธอวางเป้าหมายของความฝันไว้ไกลกว่าความสำเร็จในทุกวันนี้
“เป้าหมายคืออยากมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นก็ตั้งใจทำงานของเราต่อไปให้ดี ไปงานไหนก็เต็มที่กับทุกงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด เหมือนการเก็บแต้มไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ขึ้นบันไดให้สูงที่สุด ต้องเต็มที่กับมันก่อน แล้วผลตอบแทนจะดีเอง”
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย