กาลครั้งหนึ่ง: Once upon a time
วันเด็กแห่งชาติประจำปี 2560 อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรมในชื่อว่า กาลครั้งหนึ่ง เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ที่นำเอาโครงการตามแนวพระราชดำริมาดัดแปลงเป็นฐานกิจกรรม 4 ฐาน ที่ช่วยฝึกทักษะ ไหวพริบ และการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงได้ความรู้จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ ซึ่งเด็กๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เสมือนเป็นของขวัญวันเด็กสุดพิเศษที่มีค่ามากที่สุด
หมู่บ้านพอเพียง
‘การเกษตรทฤษฎีใหม่’ เป็นแนวคิดที่พระองค์ได้พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร โดยเป็นหลักการจัดการพื้นที่สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก ให้ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและได้ผล
การเกษตรทฤษฎีใหม่ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนตามสูตร 30:30:30:10 คือ 1) แหล่งน้ำ 30% ของพื้นที่ คือให้ขุดสระกักเก็บน้ำเพื่อสำรองใช้ในฤดูแล้งและใช้เลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ 2) พื้นที่ทำนา 30% ของพื้นที่ คือให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันตลอดทั้งปี 3) พื้นที่ทำไร่ 30% ของพื้นที่ คือให้ปลูกผัก ผลไม้ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันและส่วนที่เหลือจึงนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม และ 4) ที่อยู่อาศัย 10% ของพื้นที่ คือใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสามารถปรับลดหรือเพิ่มได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ จากการเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ได้ทำให้เกษตรกรเข้าใจในหลักการทำเกษตรแบบพอเพียง จนสามารถพัฒนาตนเองให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างพอเพียงได้อย่างประสบผลสำเร็จ
รูปแบบกิจกรรมมีการนำสัดส่วนทั้ง 4 ส่วนมาดัดแปลงเป็นจิ๊กซอว์รูปแหล่งน้ำ พื้นที่ทำนา พื้นที่ทำไร่ และที่อยู่อาศัย ให้เด็กๆ ได้ทดลองต่อจิ๊กซอว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ให้ลงกรอบพื้นที่พอดี ช่วยเสริมสร้างทักษะในการแก้ไขปัญหาและแฝงไปด้วยแนวคิดเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างลงตัว
ปลาแปลงร่าง
เชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนเคยได้รับประทานปลา 2 ชนิดที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด นั่นคือ ‘ปลานิล’ และ ‘ปลาทับทิม’ ซึ่งเป็นปลาแหล่งโปรตีนราคาไม่แพงที่นิยมบริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ ในบ้านเรา และยังเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มากมายให้กับผู้เพาะเลี้ยง
แต่กว่าที่ปลาสองชนิดนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ขนาดนี้ เกิดจากพระราชปณิธานอันกว้างไกลของพระองค์นั่นเอง ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2508 ครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทูลเกล้าถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว พระองค์ทรงเห็นว่าปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เนื้อเยอะ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา เพื่อศึกษาการขายพันธุ์ปลานิลในประเทศไทย กระทั่งประสบความสำเร็จจนปลานิลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ส่วน ปลาทับทิม เป็นการต่อยอดโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่นำปลานิลมาพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ จนสามารถสามารถเลี้ยงในน้ำกร่อยได้ มีเนื้อแน่นและรสชาติอร่อยกว่า ด้วยเนื้อมีสีขาวอมแดง จึงได้รับการพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ปลาทับทิม
ส่วนกิจกรรมนอกจากเด็กๆ จะได้รู้จักที่มาของปลาสองสายพันธุ์แล้ว ยังได้สนุกไปกับการแยกแยะลักษณะของของปลาผ่านตุ๊กตารูปปลาทั้งสองสายพันธุ์ ด้วยการจับปลาให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในบ่อปลาลูกบอลอีกด้วย
ท่องเมืองมหาสนุก
ภาพชินตาที่เราได้เห็นเมื่อพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจคือภาพที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ห่างไกลในชนบท แม้เส้นทางจะทุรกันดารยากลำบาก แต่พระองค์ก็ยังเสด็จไปถึงเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับประชนชนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งการเสด็จแต่ละครั้ง พระองค์ได้ริเริ่ม ‘โครงการพระราชดำริด้านการคมนาคมและขนส่ง’ ไปพร้อมๆ กัน เพื่อกระจายความเจริญผ่านเส้นทางต่างๆ อย่างทั่วถึง
โดยโครงการจะมุ่งเน้นแก้ปัญหาและพัฒนาในชทบท อย่างเช่นการปรับปรุงเส้นทางเดิมและสร้างเส้นทางใหม่ เพื่อให้เกิดการขยายผลผลิตทางการเกษตรและหัตถกรรมออกไปยังพื้นที่อื่นๆ การสร้างถนนเพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นตามความเจริญของชุมชน และการเชื่อมต่อการคมนาคมและการสื่อสารไปยังพื้นที่ชุมชนที่ยังไม่ได้รับความเจริญ นอกจากนั้นพระองค์ยังให้ความสำคัญกับการคมนาคมในเมืองที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง ด้วยการริเริ่มโครงการสร้างถนนที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างโครงการทางยกระดับลอยฟ้าบรมราชชนนี, ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก, สะพานจตุรทิศตะวันออก, ถนนรัชดาภิเษก และอีกหลายโครงการในจังหวัดกรุงเทพฯ
พระราชกรณียกิจด้านคมนาคมได้รับการถ่ายทอดให้เด็กๆ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยการให้เด็กๆ ทดลองต่อถนนเพื่อเป็นเส้นทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เช่น จากบ้านไปโรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของระบบคมนาคมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
บ้านของพ่อ
ไม่ว่าจะพื้นที่แห่งหนไหน แม้ว่าพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีเพียงใด ปัญหาต่างๆ มักจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ สำหรับประเทศไทยเราโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเห็นปัญหาของพสกนิกรอย่างเข้าอกเข้าใจ พร้อมมีแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในทุกภาคส่วน
ตัวอย่างปัญหาเรื่องความแห้งแล้งในภาคอีสานที่ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรจากภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง พระองค์จึงทรงวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากธรรมชาติ โดยพระอัจฉริยภาพด้านการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับการทรัพยากรที่มีอยู่ จนเกิดเป็น ‘โครงการฝนหลวง’ ในที่สุด ปัญหาดินเสื่อมโทรมที่เกิดผลกระทบต่อที่ดินทำกิน พระองค์ก็ทรงริเริ่ม ‘โครงการหญ้าแฝก’ ด้วยการปลูกหญ้าแฝกปกคลุมดินไว้เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและลดการพังทลายของหน้าดินได้ หรือจะเป็นด้านการศึกษากับ ‘โครงการครูตู้’ ที่ถ่ายทอดการเรียนการสอนจากโรงเรียนไกลกังวลไปยังโรงเรียนห่างไกลด้วยระบบถ่ายทอดผ่านดาวเทียม เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ภาคพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน
เด็กๆ ที่ร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้โครงการในพระราชดำริต่างๆ ได้จากแผ่นป้ายที่แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือปัญหาที่เกิดขึ้น และส่วนที่สามคือผลลัพธ์หลังจากที่แก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเด็กๆ ต้องหาส่วนที่สองนั่นคือโครงการในพระราชดำริมาเสริมให้ครบ ช่วยสร้างความเข้าใจในโครงการต่างๆ ในภาพกว้าง ที่ไม่เพียงทรงแก้ไขปัญหาด้วยโครงการต่างๆ แต่ยังวางรากฐาน ชี้แนะแนวทางให้เราเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจให้เราพึ่งพาตนเองได้
ให้คำว่า ‘กาลครั้งหนึ่ง’ เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในใจคนไทยทุกคนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย