ความสนุกของ Gym and Swim
การทำอะไรสักอย่าง หากเริ่มต้นด้วยวลีว่า ‘ทำเอาสนุก’ อาจฟังดูเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่จริงจัง และผลลัพธ์ออกมาก็อาจจะไม่ได้สนุกอย่างที่คิด หากแต่ในความสนุกนั้น เมื่อลองมองมุมกลับกัน ความสนุกอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราทำอะไรโดยไร้ความกดดันและปลดปล่อยข้อจำกัดบางอย่าง จนผลลัพธ์ออกมาดีอย่างที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้
อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรม TK Music Ed. 2016: Gym and Swim ชวนมาสนุกกับวงดนตรีนอกกระแสที่กำลังได้รับความนิยมและเส้นทางในการทำเพลงแบบสนุกๆ ของพวกเขา ที่จะมาเปลี่ยนนิยามการทำงานแบบเอาสนุกให้ประสบความสำเร็จได้
จุดเริ่มต้นของวง Gym and Swim มาจากการประกวดดนตรีโครงการ Bedroom Studio Project One: เอาหนังมาทำเป็นเพลง ที่มีโจทย์ให้แต่งเพลงที่มีความเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เติร์ก - นิติกฤษณ์ อรรถกฤษณ์ สมาชิกของวง The Leprosy ได้ชักชวน เฉลิม - เฉลิมพล สูงศักดิ์ จากวง Seal Pillow มาทำเพลงที่แตกต่างไปจากเพลงทั่วไปในตลาดเพื่อส่งเข้าร่วมในโครงการนี้ ก่อนจะได้สมาชิกอย่าง ปกป้อง - ปกป้อง จิตดี จากวง Plastic Plastic, ฮ๊อบ - พัทธดนย์ เงาเบญจกุล จากวง Detail และ มัดหมี่ - สุภารัศมิ์ จันทรโชติ จากวง Merry Go Round มาร่วมสมาชิกจนครบวง
“ตอนแรกยังไม่ได้คิดว่าจะเอาหนังเรื่องอะไรมาทำ แต่ป้องก็คิดเมโลดี้ท่อนฮุกขึ้นมาได้ท่อนหนึ่ง ร้องขึ้นมามั่วๆ ว่า อยากเป็นไอรอนแมน พอฟังแล้วรู้สึกว่าติดหูดี” เฉลิมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพลง ‘Ironman’ ก่อนจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวง Gym and Swim กับซาวนด์ดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์และเนื้อร้องที่แปลกแต่สร้างสรรค์ จนวงเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนฟังเพลงนอกกระแส
“ตอนแรกที่ทำไม่ได้จริงจังเลย เพราะทำเอาสนุก แต่หลังจากนั้นพอเริ่มมีงานเล่น ก็เริ่มคุยกันและรู้สึกว่าต้องทำอะไรจริงจังมากขึ้น ช่วงแรกกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็นานเหมือนกัน เพราะหลังจากเพลง ‘Ironman’ เราลงมือทำเดโมกันดู ทำแล้วเก็บไปเรื่อยๆ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเราได้เมื่อไร อย่างบางเพลงที่เอามาเล่นนี้ก็ไม่ใช่เวอร์ชันแรก มีหลายเวอร์ชันมากกว่าจะมาถึงตรงนี้” นักร้องนำของวงเล่าถึงเพลง ‘Octopussy’ ซิงเกิลที่สองของวง
“จริงๆ ตอนแรกเพลงนี้แต่งเป็นเนื้อไทย พอเราเริ่มมีแนวดนตรีที่ชอบ เนื้อภาษาไทยอาจจะไม่ตอบโจทย์กับแนวดนตรีเท่าไร เพราะเมโลดี้มันลงไม่ได้ และอยากให้เนื้อเพลงมีความหมายสองแง่สองง่าม สามารถตีความหมายได้ลึกซึ้ง มีวันหนึ่งที่ป้องเอาไปนั่งมิกซ์เองที่บ้าน ใส่ซาวนด์เครื่องเคาะ ก็เลยรู้สึกว่าแนวทางนี้น่าจะเวิร์ก เพราะฟังดูคึกคักกว่า จากเดิมที่เป็นแค่กีตาร์ร็อกๆ” พวกเขาใช้เวลาบ่มเพาะและหาแนวทางของเพลงทำนานถึงหนึ่งปีเลยทีเดียว เพราะสมาชิกทุกคนมีงานประจำกันหมด จึงต้องอาศัยวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อมาทำเพลงร่วมกัน
จากจุดเริ่มต้นที่ทำเอาสนุกแล้วได้ผลตอบรับจากคนฟังเพลงที่เกินคาด จึงทำให้พวกเขาต้องก้าวไปสู่อีกขั้นของการทำเพลงที่ต้องอาศัยประสบการณ์เข้าช่วย ซึ่งซิงเกิลต่อๆ มาอย่าง ‘YUUWAHUU’ และ ‘Bunny House’ ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีเช่นกัน “เราอยากทำให้คนฟังสนุกกับเรา อนาคตอยากทำอัลบั้มให้เสร็จ ไม่ได้มองไกลมาก เราเป็นวงที่อยู่ในขั้นเริ่มต้น ถ้ายังไม่มีอัลบั้มก็ยังเก็บประสบการณ์อยู่เรื่อยๆ การทำวงดนตรีถ้าบอกว่าทำแล้วราบรื่นไม่มีปัญหาเลย ขอบอกว่าไม่จริง มันคือการทำงานอย่างหนึ่ง ทำอะไรก็แล้วแต่ต้องมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ยังไงเราก็ทำดนตรีด้วยความสนุกอยู่แล้ว”
เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ของวงการเพลงในปัจจุบันที่การแข่งขันสูงขึ้น ค่ายเพลงทุกค่ายต่างใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมาช่วยส่งเสริมให้เพลงเข้าถึงกลุ่มคนฟังมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยลุคของศิลปิน ไปจนถึงเนื้อหาของเพลงและแนวดนตรี แม้ว่า Gym and Swim จะสังกัดอยู่ในค่ายปรินามมิวสิค แต่พวกเขาก็ยังยึดมั่นในแนวทางที่ถนัดอยู่เหมือนเดิม
“เราไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพหลักแต่แรกด้วยมั้ง จึงโฟกัสไปที่ทำเพลงทำดนตรีที่ชอบก่อน เรื่องการตลาดจริงๆ จะไม่แคร์เลยก็ไม่ได้ แต่ถ้าจะไปคิดว่าทำแบบนั้นแบบนี้จะประสบความสำเร็จแน่นอน ผมก็มองว่าไม่มีอะไรแน่นอน บางวงทำเพลงแบบอินดี้ก็ดังได้ เราจึงเอาที่เราพอใจที่ตัวดนตรีก่อน” เฉลิมตัวแทนของวงอธิบาย ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องลิขสิทธิ์ของเพลงที่เป็นปัญหามายาวนานว่า “เราไม่ค่อยซีเรียสว่าจะฟังเพลงเราในช่องทางไหน แต่ขอให้ซื้อของลิขสิทธิ์ ดาวน์โหลดแบบถูกลิขสิทธิ์ ถึงจุดจุดหนึ่งถ้าเขาชอบเดี๋ยวเขาก็ต้องหาทางอุดหนุนเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ซื้อแผ่นก็ต้องมาดูคอนเสิร์ตแน่นอน”
ความสนุกในการทำงานของ Gym and Swim จึงไม่ได้หมายถึงการทำเอาสนุกแบบเล่นๆ แต่ความสนุกของพวกเขายังแฝงไปด้วยความตั้งใจและความทุ่มเทอย่างมากอีกด้วย ความสนุกจึงจะสร้างผลสำเร็จได้
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย