TK Reading Club ตอน วรรณกรรมเยาวชน
วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม 2558 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมานี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในตอน “วรรณกรรมเยาวชน” โดยในวันนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณภาณุ ตรัยเวช นักเขียน นักแปลชื่อดัง รวมถึงอดีตแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมเยาวชนปี 2549 ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยกันวันนี้ก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
วรรณกรรมเยาวชนคืออะไร
อุ่นเครื่องนักอ่านทั้งหลายด้วยประเด็น “วรรณกรรมเยาวชนมีนิยามอย่างไร” คุณภาณุกล่าวว่า วรรณกรรมเยาวชนคือ วรรณกรรมที่มุ่งให้เด็กในช่วงวัยหนึ่งอ่าน เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เด็กสามารถอ่านได้ ทำให้เด็กเพลิดเพลินและสนุกกับมันได้ ทั้งนี้ การอ่านก็มีประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่วรรณกรรมเยาวชนก็สะดวกสำหรับให้เด็กอ่าน แต่ส่วนตัวแล้วไม่เคยคิดจะแบ่ง เพราะวรรณกรรมเยาวชนหลายเรื่อง ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ เช่น เรื่องเจ้าชายน้อย
คุณต้นกล้า นักอ่านท่านหนึ่ง ผู้ศึกษาด้านวรรณกรรมไทยกล่าวว่า อายุเฉลี่ยของนักอ่านคือ 15-25 ปี ตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก แต่สำคัญที่โครงเรื่องและภาษาต้องไม่ซับซ้อนเกินไป
นอกจากนี้ วรรณกรรมเด็กกับวรรณกรรมเยาวชนก็มีความแตกต่างกัน วรรณกรรมเด็กควรมีภาพประกอบ ส่วนวรรณกรรมเยาวชนจะซับซ้อนขึ้นมา ต้องมีพล็อตเรื่อง
วรรณกรรมเยาวชนเรื่องแรกที่อ่านและชอบ
คุณภาณุกล่าวว่า เริ่มอ่านครั้งแรกช่วงประถมต้นแต่จำชื่อเรื่องไม่ได้ น่าจะเรื่องเพื่อนรัก เป็นเรื่องเกี่ยวกับลิง กวาง และนกแก้วที่ผจญภัยในป่าร่วมกัน ท้ายที่สุดลิงตาย จำได้ว่าตนรู้สึกเศร้าใจมาก ส่วนวรรณกรรมเยาวชนเรื่องที่จำได้และสนุกมาก เสียดายที่ไม่มีการพิมพ์ซ้ำแล้ว คือ เรื่องตำนานดาวลูกไก่ของ ส.พลายน้อย วรรณกรรมเยาวชนอีกเรื่องที่ชอบมาก คือ โสนน้อยเรือนงามเป็นการนำตำนานมาเขียนใหม่และผูกโยงเป็นเรื่องที่ดีมาก เนื้อหาเล่าถึงเด็กคนหนึ่งที่ครอบครัวอาศัยอยู่บนเรือ แต่ชอบบ้านหลังใหญ่ และเห็นว่าบ้านเหล่านั้นมีศาลพระภูมิจึงเข้าใจว่าศาลพระภูมิคือนิยามของบ้าน จึงมีการตามหาศาลพระภูมิ แต่ท้ายที่สุด ภายหลังเข้าใจว่าพ่อแม่ต่างหากที่คือความหมายของบ้าน ส่วนวรรณกรรมเยาวชนภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ที่อ่านเรื่องแรกคือ เรื่องเจ้าชายน้อย
นักอ่านในห้องร่วมแลกเปลี่ยนชื่อวรรณกรรมเยาวชนกัน ซึ่งมีหลากหลายทั้งวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล และวรรณกรรมต่างประเทศ เช่น ต้นส้มแสนรัก แมงมุมเพื่อนรัก หน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า ตี๋เหรินเจี๋ย ไอ้ค่อม โต๊ะโตะจัง เวตาล พระอภัยมณี แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน เรื่องเหลือเชื่อ โลมาสีน้ำเงิน ผีเสื้อและดอกไม้ ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก The Secret Garden, Harry Potter, The Giver, The Giving Tree
ถึงตรงนี้ คุณภาณุตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องพระอภัยมณีมีบทอัศจรรย์มากมายถือว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนหรือไม่ คุณต้นกล้าแสดงทัศนะว่า ถือเป็นวรรณกรรมเยาวชน ส่วนบทอัศจรรย์ขึ้นอยู่กับการตีความของเด็ก เช่น ฉากงูเลื้อยเข้าป่า ตอนเด็กอาจไม่รู้แต่ก็ไม่เป็นไร ซึ่งทำให้วรรณกรรมเยาวชนเปิดกว้างไปถึงผู้ใหญ่ด้วย
กระแสวรรณกรรมเยาวชนปัจจุบัน
คุณสุริยกานต์ กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์สถาพร ด้านวรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซี หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม แสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้วรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นที่โรงเรียน และแนวตัวละครเข้าไปในเกมออนไลน์นั้นได้รับความนิยม และมีกลุ่มคนอ่านใหญ่มาก แต่ตอนนี้กระแสเริ่มเปลี่ยนไปเป็นตัวละครที่เกิดใหม่ในภพต่างๆ แต่ว่ายังไม่ค่อยเข้าตาสำนักพิมพ์สถาพรนัก ส่วนวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นไลท์โนเวลก็ไม่ได้รับความนิยม ทั้งที่ถือเป็นวรรณกรรมเยาวชนด้วย
คุณภาณุเสริมว่า วรรณกรรมของสำนักพิมพ์แจ่มใสก็มีฐานนักอ่านที่ใหญ่ ได้ความนิยมมาก คนเขียนแนวนี้ก็มีมากด้วย
ส่วนวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศหรือ Young Adult ที่อยู่ในกระแส เช่น ซีรีส์ The Hunger Games ซีรีส์ Divergent ที่คล้ายคลึงกันตรงการต่อสู้กับระบบ ส่วนตัวมองว่าเป็นแฟนตาซีของมนุษย์อยู่แล้ว ที่คิดว่าตนเองใช้ชีวิตอยู่ในระบบ เช่น ตื่นนอนมาต้องทำงาน ทุกอย่างมีระบบมากำหนดเราไว้ ทำให้เรารู้สึกอยากทำลายความจำเจเหล่านั้น ทำลายระบบที่กดเราอยู่ วรรณกรรมเยาวชนแนวนี้ก็พยายามตอบสนองแนวคิดนี้ จึงสร้างระบบให้มันเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายขึ้นมา อาจจะมากกว่าความเป็นจริงอยู่บ้างเพื่อให้เรา สามารถลุกขึ้นต่อต้านมันได้ ส่วนที่เป็นตัวละครหญิงเหมือนกันอาจเพราะนักอ่านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็จะทำให้ผู้อ่านเชื่อมโยงตนเองได้ง่ายกว่า
คุณต้นกล้ากล่าวว่า กระแสวรรณกรรมเยาวชนตอนนี้ค่อนข้างตกต่ำ มีหนังสือเข้าคัดเลือกโครงการประกวดหนังสือดีเด่นแค่ 18 เรื่อง โดยเฉพาะหลังปี 2540 ก็ยังมีความบกพร่องด้านตัวละครและภาษา เรื่องที่ถูกตัดออกเพราะมีคำหยาบมากเกินไป มีฉากที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อาจเป็นเพราะการเขียนวรรณกรรมเยาวชนมันยาก เนื่องจากความท้าทายอีกประการคือ คนเขียนจะทำอย่างไรให้ตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
แนะนำให้อ่านอะไร
คุณภาณุกล่าวว่าแนะนำให้อ่านหนังสือตัวเองก่อนทุกเล่ม (นักอ่านหัวเราะ) และเล่มที่กำลังจะออกล่าสุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เยอรมนี ก่อนยุคฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ เล่าถึงสังคมและการเมืองของเยอรมนีในยุคนั้น ใช้วิธีการเล่าเรื่องคล้ายวรรณกรรมแต่เป็นแนวสารคดี นอกจากนี้ คุณภาณุยังคงยืนยันว่า เรื่องเจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมที่ควรอ่าน เพราะไม่ใช่แค่เยาวชนอ่านได้เท่านั้น ช่วงเด็กอาจชอบเรื่องที่ไปต่างดาว มีช้าง มีงู แต่เนื้อหามีความลึกซึ้งมาก ผู้ใหญ่จึงควรอ่านเช่นกัน นักอ่านหลายท่านในห้องก็เห็นด้วย น้องนักอ่านท่านหนึ่งก็เสริมว่า อาจารย์วิชาปรัชญาเคยให้วิเคราะห์ตีความเรื่องเจ้าชายน้อยด้วย เนื่องจากเป็นหนังสือที่ซับซ้อนและแฝงปรัชญา
ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียน
คุณภาณุทิ้งท้ายว่าจะเขียนได้ก็ต้องอ่านเยอะๆ ส่วนตัวอ่านทุกอย่างทั้ง fiction และ non-fiction ถ้าเราไม่อ่านอะไรเลยก็ยากที่เราจะมีแรงบันดาลใจหรือเข้าใจวิธีการเขียน
สำหรับครั้งต่อไปพบกับกิจกรรม Reading Club เพื่อคอวรรณกรรมตอน วรรณกรรมแฟนตาซี ในวันที่ 23 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. ณ ห้อง Learning Auditorium
Chestina Inkgirl