ย้อนรอยนักแปล กับ คุณยุ้ย สฤณี อาชวานันทกุล
นักแปลควรมีตัวตนน้อยที่สุด และต้องแปลความหมายให้ได้นัยใกล้เคียงต้นฉบับเดิมมากที่สุด พร้อมทั้งควรยึดความถูกต้องและซื่อสัตย์ต่อตัวบทเป็นเรื่องสำคัญ
ข้อความข้างต้นคือนิยามการทำงานของ คุณยุ้ย-สฤณี อาชวานันทกุล นักแปลอาชีพ ที่มาร่วมถ่ายทอดกระบวนการทำงานของอาชีพนักแปลในกิจกรรม "เส้นทางนักอ่าน สู่ถนนสายนักแปล” ที่ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558
สฤณี อาชวานันทกุล เป็นทั้งนักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หลายคนในโลกไซเบอร์รู้จักเธอในชื่อ ‘คนชายขอบ’ (Fringer) ปัจจุบันเธอมีผลงานเขียนและงานแปลรวมกันกว่า 50 เล่ม พร้อมสวมบทบาทเป็นนักแปลประจำ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ นอกจากนั้นยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และเป็นกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
คุณยุ้ย-สฤณี เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะเป็นนักแปลอาชีพให้ฟังสั้นๆ ว่า“เส้นทางนักแปลเริ่มต้นจากการเขียนบล็อก และจากการที่ค้นคว้าหาความรู้จากเว็บต่างประเทศมากขึ้น ก็เริ่มสนใจอยากเขียนบล็อกเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ก็เริ่มลองแปลดู งานชิ้นแรกๆ ที่แปลคือสุนทรพจน์ ของสตีพ จอบส์ จนเกิดงานชิ้นต่อๆ มา อย่างวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนก็เป็นงานแปลเล่มแรกๆ”
เมื่อมีความสนใจ และความตั้งใจในการทำงานแปลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอมีผลงานทั้งงานเขียนงานแปลออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่กระบวนการทำงานของนักแปลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เพียงรู้ภาษาอังกฤษก็สามารถแปลออกมาได้ คุณยุ้ยย้ำว่าต้องเกิดความชอบและต้องหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ ที่สำคัญควรมีบรรณาธิการต้นฉบับช่วยสอดส่องความถูกต้อง รวมถึงช่วยขัดเกลาภาษาให้สละสลวย เพื่อทำให้งานแปลนั้นๆ ยังคงอรรถรสของต้นฉบับเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด
และเพราะโลกทุกวันนี้สื่อสารกันด้วยภาษา อาชีพนักแปลโดยเฉพาะการแปลหนังสือจึงเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เพราะต้องคงทั้งวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ และความถูกต้องของตัวฉบับให้ออกมาอยู่ในรูปแบบภาษาที่ตัวเองต้องการ ฉะนั้นนักแปลต้องมีความเข้าใจในตัวบริบทให้มากที่สุด รวมถึงต้องศึกษางานที่จะแปลให้ทีถ้วน เนื่องจากต่างชาติก็ต่างภาษา โดยคุณยุ้ยอธิบายถึงประเด็นนี้ให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า
“คำหนึ่งคำบางทีมีความหมายหลายความหมาย และคำในแต่ละคำในหลายยุคหลายสมัยก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการสื่อสาร การแปลก็ต้องใช้ให้ถูกยุค ถูกสมัย ยิ่งเป็นงานวรรณกรรมหรืองานสารคดีก็ยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว เน้นอรรถรส”
สำหรับขั้นตอนการทำงานแปล โดยส่วนตัวคุณยุ้ย เน้นเรื่องความเข้าใจเป็นหลัก โดยเฉพาะเวลาที่แปลแล้วเจอคำใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่คุ้นชินปรากฏขึ้นมา จะมีการทำสัญลักษณ์กำกับไว้ตลอด เพื่อให้คนอ่านได้รู้ว่าแปลมาจากคำว่าอะไร หรือหากเกิดว่าสิ่งที่แปลผิด คนอ่านก็จะเป็นคนช่วยทวงติงความถูกต้องนั้นๆ ได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนักแปลก็ควรเลือกขอบข่ายงานแปลที่ตัวเองสนใจและถนัด เพื่อให้การถ่ายทอดสู่คนเขียนออกมาสมบูรณ์ที่สุด
นอกจากนั้นคุณยุ้ย-สฤณี ยังอธิบายขั้นตอนการทำงานเพิ่มเติมให้ฟังว่า “ถ้าต้องแปลหนังสือของคนเขียนที่เราไม่รู้จัก เราต้องอ่านก่อนรอบหนึ่งเพื่อจับใจความและโทนเรื่องว่าเป็นอย่างไร แต่บางครั้งก็ใช้วิธีลูกทุ่งๆ ก็คือแปลไปพร้อมๆ กับการอ่านเลย แต่ก็ต้องมีการจดโน้ตไว้ขณะแปลตลอด เพราะนักแปลต้องใช้คำแปลที่สอดคล้องกันทั้งเล่ม อย่างตัวเองใช้วิธีการแปลทีละ 10 บรรทัด ซึ่งวิธีก็ช่วยให้รู้ว่าเนื้อความแต่ละย่อหน้าเป็นอย่างไร ทำให้การทำงานสะดวกมากขึ้น”
ถัดมาคุณยุ้ยได้นิยามหน้าที่ของนักแปลว่าเป็นเหมือนคนสร้างสะพานจากเนื้อความที่นักเขียนทำงานไว้สมบูรณ์แล้ว โดยการเก็บเอาเนื้อหาและลีลาการเขียนมาสู่ภาษาของตน
“งานแปลไม่เหมือนกับการเขียนงานที่ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการคิด โดยส่วนตัวเวลาแปลงานจะพยายามซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับให้ได้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นงานแปลจะหลุดจากต้นฉบับ จนทำให้ตัวตนของนักเขียนหายไป มีบางครั้งที่รู้สึกว่าบทนี้วนไปวนมาเหมือนกัน แต่ถ้าเราแปลเป็นตัวเองไม่วนไปวนมา คนอ่านก็จะไม่รู้ความตั้งใจว่านักเขียนคนนี้เขาวนไปวนมา ฉะนั้นนักแปลควรมีตัวตนน้อยที่สุด เพราะเราไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์งาน”
ช่วงสุดท้าย คุณยุ้ย สฤณี อาชวานันทกุล นักแปลอาชีพ ฝากข้อคิดให้กับผู้ที่สนใจอยากเป็นนักแปลไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า อาชีพนักแปลเป็นอาชีพที่ต้องมีวินัยสูงมาก และควรหมั่นฝึกฝนเป็นประจำ ที่สำคัญต้องเริ่มทำ อย่าไปกลัวว่าจะออกมาไม่ดี และไม่ควรมีอีโก้ ไม่ควรเอาอคติของตัวเองเข้าไปจับเนื้อความของผู้เขียน นอกจากนี้ยังแนะนำสิ่งที่จะช่วยให้งานแปลมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือ ผู้ทำงานแปลควรมีบรรณาธิการต้นฉบับที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ตัวเองได้เห็นข้อผิดพลาดนำมาปรับปรุงกับงานแปลตัวเองในครั้งต่อๆ ไป
ศศิกานต์