เพลงเพื่อชีวิต เพื่อชีวิตที่ต้องเดินต่อไป
ในโลกของเสียงดนตรี ท่วงทำนองและเนื้อร้องอันไพเราะนั้น ไม่ได้เพียงแต่ทำหน้าที่ในการเสริมสร้างบรรยากาศและช่วยขับกล่อมให้เรารู้สึกดีเพียงเท่านั้น ยังมีดนตรีแนวหนึ่งที่ยังสะท้อนความจริงของชีวิต และช่วยปลอบประโลมให้เราสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
เราต่างรู้จักเพลงแนวนี้ในชื่อของ ‘เพลงเพื่อชีวิต’
เช่นเดียวกับการฟังเพลงของ ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ เจ้าของบทเพลงดังอย่าง คิดถึง, โรงเรียนของหนู และ เธอ...ผู้เสียสละ ด้วยโทนเสียงอันไพเราะและเนื้อหาอันกินใจจนหลายคนยกย่องให้เป็น “เจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิต” ซึ่งมีโอกาสมาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตคนดนตรีที่ไม่เคยหยุดนิ่งและมาถ่ายทอดบทเพลงอันไพเราะ ในกิจกรรม TK park Music Ed. 2015: ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558
และก่อนที่จะไปร่วมฟังเพลงเพื่อชีวิตระดับตำนาน ลองมาทำความรู้จักกับเพลงเพื่อชีวิตให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า
เพราะเรามีชีวิตจึงมีเพลงเพื่อชีวิต
ยุคเริ่มต้น
‘เพลงเพื่อชีวิต’ นั้น แรกเริ่มมีชื่อเรียกว่า ‘เพลงชีวิต’ เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงชีวิตของชนชั้นล่างที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก มักถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้บุกเบิกเพลงแนวนี้คือ แสงนภา บุญราศรี อดีตราชาละครร้องในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเนื้อหาสะท้อนถึงชีวิตอันแสนทุกข์ยากของผู้คน อย่างเพลง ‘คนปาดตาล’ เล่าถึงอาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่ปีนต้นตาลขึ้นไปปาดเอาน้ำตาลลงมาเพื่อมาทำเป็นน้ำตาล รวมไปถึงชีวิตของผู้คนอีกหลากหลายอาชีพที่สะท้อนผ่านเพลงอย่าง คนลากรถขยะ, คนจรหมอนหมิ่น, ลูกศิษย์วัด, นักหนังสือพิมพ์, กุลีท่าเรือ, ทหารกองหนุน ฯลฯ
เป็นที่น่าเสียดายว่าเพลงเหล่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนในยุคนั้นมากนัก อีกทั้งยังไม่มีเทคโนโลยีการบันทึกเสียงใดๆ ให้ตกทอดมาถึงคนยุคหลัง ก่อนที่ในช่วงทศวรรษ 2490 ได้เกิดสถานีวิทยุและธุรกิจแผ่นเสียงทำให้รูปแบบและเนื้อหาเพลงเพื่อชีวิตพัฒนาไปในทิศทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นช่วงที่เพลงชีวิตเริ่มหายไปจากความสนใจของผู้คน
ยุคแห่งการเรียกร้อง
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพลงชีวิตได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเนื้อหาได้ขยายไปถึงเรื่องของการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตย มีจุดเริ่มต้นมาจาก จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เขียนบทความ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ภายในกำแพงคุกช่วงที่ถูกจองจำเป็นนักโทษการเมือง จึงได้พัฒนาเป็นต้นแบบของ ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ซึ่งมาจากคำว่าศิลปะเพื่อชีวิตหรือวรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่ว่าด้วยชีวิตและการต่อสู้ของมนุษย์ในสังคม
โดยแนวดนตรีได้พัฒนาเป็นแนวอะคูสติกหรือโฟล์กร็อก ซึ่งได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากศิลปินต่างประเทศ อย่าง บ็อบ ดีแลน, บ็อบ มาร์เลย์, นีล ยัง เป็นต้น ก่อให้เกิดศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่ทำเพลงเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ขณะเดียวกันวงดนตรีเพื่อชีวิตอาชีพอย่าง คาราวาน ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตวงเดียวจากในยุคนั้นที่ยังคงมีผลงานมาจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นวงดนตรีที่สร้างจุดขยายให้ดนตรีเพื่อชีวิตเติบโตมากขึ้นในเชิงธุรกิจ
ยุคการตลาด
หลังจากผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองไปแล้ว เพลงเพื่อชีวิตก็ได้ดำเนินมาถึงยุคที่ 3 เป็นยุคของธุรกิจเพลงที่เปลี่ยนแปลงไปอีกระดับ เนื้อหาของเพลงนอกจากจะสะท้อนสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดิมแล้ว ยังยั่วล้อสภาพเศรษฐกิจและระบบทุนนิยม อันมีผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของชนชั้นล่าง โดยลดความหนักหน่วงของเนื้อหาลงให้กลายเป็นเพลงที่ฟังได้เพื่อความบันเทิง ศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ ตัวอย่างเช่น คาราบาว, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, แฮมเมอร์, มาลีฮวนน่า ฯลฯ
แน่นอนว่าในเมื่อธุรกิจและการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องกับเพลงเพื่อชีวิต จึงส่งผลให้สถานะของศิลปินเพื่อชีวิตในปัจจุบันไม่ต่างกับศิลปินเพลงแนวอื่นๆ มากนัก มีการออกอัลบั้มเพื่อวางจำหน่าย มีการให้ดาวน์โหลดเพลง รวมไปถึงการจัดคอนเสิร์ต วงคาราบาวคือตัวอย่างของวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งในแง่การตลาด บทเพลง และความเป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ที่ยังคงยืนหยัดครองใจแฟนเพลงมาได้กว่า 3 ทศวรรษ โดยที่ไม่เสื่อมความนิยมลงแต่อย่างใด ส่งผลให้เพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นดนตรีแนวหนึ่งที่สร้างสรรค์บทเพลงให้วงการเพลงไทยเดินหน้าต่อไป
แนวไหนที่เรียกว่า เพลงเพื่อชีวิต
ในยุคแรกของดนตรีเพื่อชีวิตจะได้รับอิทธิพลมาจากเพลงแนวอะคูสติกและโฟล์กร็อกจากทางตะวันตกค่อนข้างมาก ช่วงต่อมาจึงมีการประยุกต์ความเป็นไทยเข้าไปมากขึ้น มีกลิ่นอายของจังหวะสามช่า หมอลำ และลูกทุ่ง
ในยุคหลังกระแสของดนตรีเพื่อชีวิตออกไปแนวทางปลุกใจ จึงมีการเพิ่มเสียงของกีตาร์ไฟฟ้า เบส และกลองชุด ในลักษณะเดียวกับเพลงสตริงร่วมสมัย เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความสนุกสนานคึกคัก อย่างเพลงของวงคาราบาว บางศิลปินยังใช้เครื่องดนตรีไทยอย่าง พิณ ขลุ่ย และซออู้ ช่วยเสริมสร้างโทนของเพลงให้เข้าถึงกลุ่มคนไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการใช้เครื่องดนตรีตะวันตกอย่าง ไวโอลินและฮาโมนิก้า มาช่วยเสริมอารมณ์ของเนื้อหาให้กินใจมากขึ้นอีกด้วย อย่างเช่นเพลงของวงคาราวานและคุรุชน
อีกด้านหนึ่งขอวงการเพลงสตริง บางบทเพลงของวงเฉลียง, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, จรัล มโนเพ็ชร, เสือ - ธนพล อินทฤทธิ์, หนู มิเตอร์, สิบล้อ หรือแม้กระทั่งวงบอดี้สแลมในยุคหลัง ที่ถึงแม้ไม่ได้เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตอย่างเต็มตัว แต่มีเนื้อหาของเพลงที่สะท้อนสังคมและความจริงของชีวิตก็สามารถจัดให้อยู่ในประเภทของดนตรีเพื่อชีวิตได้เช่นกัน
เพลงเพื่อชีวิต เพื่อชีวิตที่ต้องเดินต่อไป
ไม่ว่ายุคสมัยไหน ตราบใดที่โลกและสังคมยังมีด้านมืด เจือไปด้วยสีเทาในระหว่างที่ชีวิตกำลังดำเนินไป เพลงเพื่อชีวิตยังคงเป็นสื่อบันเทิงที่ทำหน้าที่สะท้อนความจริงให้เราได้รับรู้ถึงสิ่งที่จะต้องเผชิญ ซึ่งบางครั้งบางท่อนของบทเพลงยังช่วยให้เราได้ตระหนักรู้ ได้ทบทวนตนเองถึงจุดยืนและตัวตนของเรา รวมไปถึงให้กำลังใจต่อสู้กับสภาวะที่เป็นอยู่ได้อย่างดีที่สุด
การฟัง ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเติมไฟชีวิตให้เดินหน้าต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=deeplove&month=04-2009&date=15&group=1&gblog=59
http://www.2519.net/newweb/doc/content2/003.doc
http://www.forlifethailand.com/index.php?option=com_content&task=view&id=76&Itemid=1
http://www.kreenjairadio.com/interview/index.php?cid=59
http://th.wikipedia.org/wiki/เพลงเพื่อชีวิต
http://th.wikipedia.org/wiki/คาราบาว