ปฐมนิเทศ สู่ชีวิตจริง กับ โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
ทุกความฝันมีก้าวแรกเสมอ แค่กล้ากระโดดจากความฝัน สู่โลกแห่งความจริง โดย TK park ได้จัดงานงานเสวนา ‘ปฐมนิเทศ สู้ชีวิตจริง กับ พี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์’ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558
เริ่มดำเนินการเสวนาโดย วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร Happening พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับ โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ผู้ที่ใครหลายๆ คน นับถือเขาเป็นต้นแบบทางความคิด จนถึงขั้นตั้งฉายาให้กับเขาว่าเป็น ‘นักสร้างแรงบันดาลใจ’
เมื่อพูดถึงหัวข้อ ปฐมนิเทศสู่ชีวิตจริง พี่โหน่งมีอะไรมาเล่าสู่กันฟังถึงประเด็นนี้บ้าง?
หลายปีที่ผ่านมางานที่ผมทำเยอะมาก คืองานพูด ตามสถาบันการศึกษา ปฐมนิเทศ ฯลฯ ซึ่งบางครั้งผมยินดีพูดกับมหาวิทยาลัยแบบไม่คิดตังค์ บางทีก็ยกตังค์ให้เด็กๆ ไปทำกิจกรรม เพราะถือว่าเป็นวิทยาทาน เห็นหัวข้อเป็นปฐมนิเทศสู่ชีวิตจริง ก็คือช่วงหลังๆ ภาพพจน์ของผมจะเป็นคนพูดอะไรคมๆ แต่ผมไม่ได้ตั้งใจ (หัวเราะ) บางทีผมกลับรำคาญพวกที่ชอบโซเชียลเน็ตเวิร์คอะไรคมๆ ด้วยซ้ำ แต่ที่มีคนรีทวีตข้อความผมเยอะ คิดว่าคงมีบางข้อความไปโดนใจ หรือไปทำอะไรกับความรู้สึกนึกคิดของเขาสักอย่าง ผมก็เลยเตรียมข้อความมาพูดคุยกัน
- ต้นทุนอาจมีไม่เท่ากัน แต่การตามทันเกิดขึ้นได้
- การค้นหาตัวเองไม่ใช่เรื่องยากหรอก มันง่ายกว่าการค้นหาคนอื่นตั้งเยอะ
- ใครที่พูดว่า เวลาไม่ช่วยอะไร เป็นไปได้ว่ามันยังไม่นานพอ
ต้นทุนอาจมีไม่เท่ากัน แต่การตามทันเกิดขึ้นได้ มีที่มาที่ไปอย่างไร
อันนี้เป็นข้อความที่ผมเขียนไว้ในหนังสือ No more No less คือเคยตั้งข้อสังเกตกันไหมว่า คนที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในชีวิต เขามักจะไปไหนไม่ไกล นั่งโทษนั่นนี่ ว่าไม่รวย ชาติตระกูลไม่ดี ไม่ได้จบเมืองนอก ไม่มีคอนเนกชั่น ไม่มีโอกาส ซึ่งอาจเป็นเรื่องจริงที่ภายนอก อย่างเรื่อง ชาติตระกูล รูปร่างหน้าตา ฐานะ ทุกคนมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนที่มีต้นทุนมากกว่าคนอื่นจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ในทางกลับกันไม่ใช่ว่าคนที่มีต้นทุนชีวิตน้อยจะต้องเป็นคนที่ล้มเหลว อย่างผมก็ไม่ได้เป็นคนมีต้นทุนมากนัก เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางต่ำด้วยซ้ำ ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยเมืองนอก ผมเรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เกรดเฉลี่ยก็แย่มากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากแนะนำน้องๆ ก็คือว่า ช่วงชีวิตที่เรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ บางคนอาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้นเราควรจะเรียนให้เต็มที่ ผมชอบแนะให้เด็กอย่ารีบจบ อยากให้เอาเวลาที่ยังพอมีสถานภาพนิสิตไปลงเรียนวิชาที่ในชีวิตคุณไม่เคยคิดที่จะเรียน ความคิดนี้เกิดจากตอนที่ผมอยู่ปี4 ผมคำนวณเกรดออกมาขาดไปสองหน่วย ไม่จบอยู่คนเดียว ทางเดียวคือต้องไปลงเพิ่ม ตอนแรกก็กลุ้มใจ อายด้วย (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ได้ประโยชน์เยอะมาก
ผมเชื่อว่าต้นทุนชีวิตเติมกันได้ สำคัญก็คือคุณต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง และเคี่ยวกรำตัวเองอยู่เสมอ ถ้าคุณทำแบบนี้ได้คุณจะสามารถแซงคนที่ต้นทุนชีวิตดีกว่าเราได้
แสดงว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยคือช่วงที่เหมาะจะเติมต้นทุน แล้วสำหรับคนที่จบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ควรเติมด้วยวิธีไหน?
ใช่ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นการเติมต้นทุนได้ในราคาที่ถูกมาก ส่วนคนที่จบแล้วก็ไม่ควรหยุดเติม โดยส่วนตัวผมมีความคิดว่าตัวเองเป็นนักเรียนอยู่เสมอ โลกมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้ทุกวัน สำหรับผมทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมา ผมมีความรู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่ไม่เคยรู้มากขึ้นทุกครั้ง นอกจากนั้นผมยังเป็นคนที่พิถีพิถัน และให้ความสำคัญในเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารมากๆ เพราะคนเราควรพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และเมื่อไรก็ตามที่เราคิดว่าเรารู้มากพอแล้ว มันจะเป็นการปิดกั้นตัวเอง
มีวิธีการในการรับข้อมูลรอบตัวอย่างไรบ้าง?
เมื่อก่อนช่องรับข้อมูลข่าวสารของผมเปิดกว้างมาก เหมือนกับอยากรู้ทุกเรื่องบนโลก แต่ในระยะ 5-6 ปีให้หลัง ช่องนี้กลับแคบลง จะคัดกรองมากขึ้น คือผมมีความรู้สึกว่าข่าวหลายๆ โดยเฉพาะช่วง 7.00 - 7.30 น. เป็น prime time ของข่าวอาชญากรรมโหด ตาย ฉายซ้ำสามสี่ครั้ง ผมดูแล้วก็คิด ดูไปทำไม รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์กับชีวิต ในทางกลับกัน ผมไม่ได้อะไรจากการดูนอกจากความขุ่นเคือง คับข้องใจ ก็เลยปิดรับไปจากช่องพวกนี้ ผมไม่อ่านข่าวบันเทิง ไม่อ่านเรื่องดราม่า เพราะไม่รู้จะอ่านไปทำไม อ่านแล้วไม่ได้อะไรจากชีวิตเลยนะ นอกจากความสะใจ
แล้วการอ่านหนังสือประเภทวรรณกรรมมีส่วนช่วยเพิ่มต้นทุนชีวิตไหม?
ใช่ครับ ผมว่าวรรณกรรมเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่ควรละเลยคือการเสพศิลปะ ตัวผมเองก็เป็นคนเสพศิลปะเยอะ เพราะผมรู้สึกว่าบางทีผลจากการดูศิลปะได้เข้าไปทำงานกับความรู้สึกนึกคิดของผมได้มาก ทำให้หยาบคายน้อยลง และสร้างสุนทรีย์ในชีวิต การได้ฟังเพลงดีๆ ดูหนังดีๆ เดินทางไปในสถานที่ที่ให้แรงบันดาลใจกับเรา สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเป็นต้นทุน และประยุกต์ในการทำงานได้
ข้อต่อมา "การค้นหาตัวเองไม่ใช่เรื่องยากหรอก มันง่ายกว่าการค้นหาคนอื่นตั้งเยอะ" ?
เป็นคำถามที่ตลอด 14 ปีที่ผมทำ a day มา และเวลาผมไปมหาวิทยาลัยไหนต้องเจอทุกครั้ง ซึ่งผมรู้สึกประหลาดมากที่เด็กๆ ค้นหาตัวเองไม่เจอ เพราะสำหรับผมการค้นหาตัวเองเป็นเรื่องง่ายกว่าการค้นหาคนอื่นตั้งเยอะ ผมสันนิษฐานว่า หนึ่งเพราะว่าเราเสียเวลาในการค้นหาตัวเองมากเกินไป สังเกตไหมครับเรื่องที่เรารู้ดีที่สุดคือเรื่องชาวบ้าน แต่เรื่องที่เรารู้น้อยคือเรื่องตัวเราเอง ยิ่งลึกๆ ข้างในยิ่งไม่เข้าใจอะไรเลย นั่นก็เพราะเหตุผลที่สอง เราไม่ค่อยมีเวลาได้ทำความรู้จักหรือพูดคุยกับตัวเองแบบเข้มข้นลึกซึ้ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก มันก็เลยเกิดภาวะที่เด็กมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แม้กระทั่งปี3-ปี4 แล้วก็ยังไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองเรียน รู้สึกว่ามันไม่ใช่ จบแล้วไม่ได้อยากทำงานที่เรียนมา เพราะตอนม.4 ม.5 ไม่ได้เลือกสายเรียนเอง แต่เลือกสายวิทย์ เพราะพ่อแม่อยากให้เรียน หลักๆ ก็คือเราไม่ได้เลือกชีวิตเองตั้งแต่เด็กครับ พอจบมาไม่ได้ชอบในสิ่งที่เรียนมา ก็กลายเป็นคนที่ทำงานซังกะตายไปวันๆ ไม่ได้มีความคิดความฝันที่จะก้าวหน้าในอาชีพ สุดท้ายเราก็เอาเวลาในชีวิตไปเสียกับการบำบัดตัวเองด้วยการซื้อของ ไปด่าคนอื่น คนสมัยนี้ด่าเก่งมาก โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ค คือเอาเวลาที่สำคัญไปโยนกับเรื่องที่ไม่สำคัญมากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าให้แนะนำอะไรสักอย่างก็คือหยุด การติดต่อกับผู้คนบ้าง
พี่โหน่งรู้ตัวว่าอยากทำอาชีพคนทำหนังสือตั้งแต่ตอนไหน?
ย้อนกลับไปไกลเหมือนกัน ตั้งแต่ป.4 เกิดจากการที่ผมชอบเขียนไดอารี่ แล้วเขียนอย่างมีวินัยมาก เขียนทุกวัน ซึ่งไดอารี่ผมจะไม่เหมืนเด็กส่วนใหญ่ที่เขียนว่าตื่นแปดโมงเช้า กินข้าวเหนียวหมูปิ้ง ไปโรงเรียนเรียน แต่ไดอารี่ผมจะเป็นแบบ แสงแดดส่องผ่านหน้าต่างเข้ามากระทบเรา เราบิดไล่ตัวขี้เกียจออก แล้วลงไปข้างล่าง แม่เอ่ยถาม ตื่นแล้วหรือลูก? เช้านี้มีอะไรกินครับแม่? ผมเอ่ยถาม เป็นไดอาร็อกมาก ซึ่งน่าจะมาจากการอ่านหนังสือเยอะจนอยากเขียนบ้าง
มาถึงข้อ "ใครที่พูดว่า เวลาไม่ช่วยอะไร เป็นไปได้ว่ามันยังไม่นานพอ" ข้อนี้มีที่มาอย่างไร ?
ผมว่าทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ เคยมีภาวะที่รู้สึกล้มเหลว ซึ่งคนส่วนมากที่ตกอยู่ในภาวะแบบนี้จะคิดว่ามันเป็นเรื่องแย่ที่สุดในชีวิตที่ฉันเจอ ชีวิตผมก็มีโมเมนต์แบบนี้เยอะเหมือนกัน ผมเคยถูกจับได้ว่าลอกข้อสอบในมหาวิทยาลัย ถูกทำทัณฑ์บน ตอนนั้นผมคิดจริงๆ นะครับว่าจบแล้วชีวิต แต่พอได้นึกย้อนไป เป็นเหตุการณ์ที่ดีมาก ทำให้ผมไม่ต้องเป็นคนที่เรียนเก่งมาก แต่ผมเรียนด้วยความสุขมากขึ้นเยอะ แล้วก็เอาเวลาในมหาวิทยาลัยไปทำอย่างอื่น ไปทำกิจกรรม เดินทาง จัดนิทรรศการ ซึ่งทุกอย่างมีประโยชน์กว่าการนั่งเรียนในห้อง
ผมเคยเลิกกับแฟนคนแรก เคยอกหัก ตอนนั้นฟังเพลงอะไรโดนหมด น้ำตาไหล ในเวลานั้นรู้สึกว่าเวลาไม่ช่วยอะไรหรอก แต่พอผ่านไปกลายเป็นเรื่องนิดเดียว เวลาช่วยได้อยู่แล้ว แค่มันไม่นานพอ อยู่ที่ว่าคุณจะจมอยู่กับความทุกข์นั้นไปนานแค่ไหน อย่างตอนที่ทำ a day weekly แล้วล้มเหลว ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าชีวิตแย่มาก เป็นโรคซึมเศร้าด้วย ผมขับรถไปเรื่อยแล้วมีอยู่เพลงหนึ่งของเสก โลโซ เพลงผู้ชนะ คือทุกเรื่องในชีวิตมันผ่านไปได้ อยู่ที่ว่าคุณจะอนุญาตให้เรื่องราวนั้นผ่านไปเร็วหรือช้า
พูดได้ไหมว่าความสำเร็จของนิตยสาร a day bulletin และ a day Life มาจากบทเรียนในตอนนั้น?
ถูกต้องเลยครับ ถ้าผมไม่เคยล้มเหลว ผมจะไม่มี How to มาทำ a day BULLETIN หรือว่า a day BULLETIN LIFE เพราะว่าตอนที่ทำบูเลติน ผมทำตรงข้ามกับ a day weekly ทุกประการเลย เพราะฉะนั้นผมถึงบอกพี่ๆ น้องๆ ทุกท่านว่าเวลาที่เจอความล้มเหลว อย่าไปรู้สึกย่ำแย่กับมัน แต่ให้มองว่าเป็น How to ไปสู่ความสำเร็จต่อไป
อีกข้อที่ผมอยากแนะนำคือ อย่าให้อคติของใคร มาขัดขวางไม่ให้เราได้มีชีวิตอย่างที่เราอยากเป็น คือผมรู้สึกแย่มากเลยที่ได้รับรู้ว่าน้องๆ ไม่ได้ชอบชีวิตของเขา ฟังแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ว่าทำไมเราถึงไม่ได้มีชีวิตที่เราอยากมี
เคยคิดวิเคราะห์ไหม ทำไม หลายๆ คน ถึงไม่ได้มีชีวิตที่ตัวเองอยากมี ?
ผมว่าเพราะเขาไม่กล้าเริ่มชีวิตของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่การเลี้ยงดูของครอบครัว แต่ถ้าเราดูพ่อแม่ชาวตะวันตก เขาพยายามจะสอนให้เด็กไปค้นหาให้เจอว่าชอบอะไร ที่สำคัญคือ ค่านิยมของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่บางอาชีพ บางสถานะทางสังคม สังคมที่เขาเจริญแล้วจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องชี่อเสียงเงินทองมากมายเกินไป คนเราพอได้ทำในสิ่งที่สนใจก็จะมีความสุข ได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ จะทำให้มีแต่ความสุข
การได้ทำสิ่งที่มีความสุข ต้องยอมรับความทุกข์ที่ตามมาด้วย ?
ใช่ บางคนชอบบอกว่าอยากทำอะไรที่ชอบ แต่แค่ชอบไม่พอ ผมเคยเจอคำถามประเภท พี่คะอยากเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร ซึ่งผมรู้สึกว่าคนที่ถามอย่างนี้ไม่มีวันเป็นนักเขียนได้ เพราะว่าคนเราเวลาอยากเป็นอะไร ต้องพยายามพาตัวเองไปสู่จุดนั้นโดยไม่ต้องถามว่าต้องทำอย่างไร เพราะฉะนั้นอย่างหนึ่งที่เราไม่ได้เป็น หรือไม่ได้มีชีวิตที่อยากมีเพราะว่าเราไปทำตามคนอื่น
สุดท้ายฝากข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่าคนเราควรใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่า และค้นหาตัวเองให้เจอ พร้อมแนะนำว่า ชีวิตจะเอาแต่สุขไม่ได้ งานทุกอย่างมีทั้งสุขและทุกข์ ต้องรู้สึกยินดีที่จะทำ ยินดีที่จะรับความทุกข์ ความสุข เพื่อเรียนรู้พัฒนาตนเอง แต่ที่สุดท้ายถ้าค้นพบว่าตัวเองมีความสุขที่ทำงานอะไร ความรักจะทำให้เราประคับประคองกันไปสู่จุดที่มีความสุขได้
ศศิกานต์