สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park สร้างสรรค์สื่อสาระท้องถิ่นภาคใต้ ในรูปแบบนิทานภาพสำหรับเด็ก บอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดสุราษฏร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ อุทยานการเรียนรู้สุราษฎร์ธานี และอบรมต่อเนื่องในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ณ อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช
กิจกรรมเชิงสาธิตอบรมการใช้สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นนี้ มีครูระดับอนุบาลและประถมศึกษาเข้าร่วมจำนวนรวม 100 คน โดย TK Park ร่วมกับเครือข่ายการเรียนรู้ในท้องถิ่น มุ่งนำเสนอแนวทางการใช้งานสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ที่ได้มีกระบวนการพัฒนาเนื้อหาร่วมมือกับปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการในพื้นที่จัดทำขึ้น โดยเนื้อหาภายในหนังสือภาพชุดสาระท้องถิ่น ได้บอกเล่าเรื่องราว เอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต อาหารการกิน ขนม ของเล่น ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ เพื่อสาธิตให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นครูผู้สอนในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้สื่อการเรียนรู้ท้องถิ่นเหล่านี้ถูกนำไปใช้งานจริงได้ตรงตามวัตถุประสงค์และเต็มศักยภาพ
TK Park ได้สร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ในรูปแบบนิทานภาพของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 3 เล่ม ได้แก่ “ชักพระ ทอดผ้า” สำหรับเด็กอายุ 7-9 ปี “สุราษฎร์ธานี มีเรื่องเล่า” สำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี และ “ลัดเลาะเมืองร้อยเกาะ” สำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี หนังสือนิทานภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 เล่ม ได้แก่ “หนูจะเล่าให้พ่อเฒ่าฟัง” สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี “เจดีย์มด เจดีย์ยักษ์” สำหรับเด็กอายุ 7-9 ปี และ “เมืองอารยะ ธรรมชาติงาม” สำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี โดยวิทยากร นางสาวระพีพรรณ พัฒนาเวช และนางสาวสกุณี ณัฐพูลวัฒน์ ได้สาธิตการใช้สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นเหล่านี้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ กิจกรรมต่อคำ ทำเป็นเรื่อง กิจกรรมไทยสนุก และกิจกรรมสุราษฎร์น่ารู้และกิจกรรมนครศรีฯ ที่เราคิดถึง เป็นต้น
กิจกรรมเชิงสาธิตอบรมการใช้สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังได้สร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นกำลังหลักในกระบวนการเพิ่มศักยภาพและสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนไทย เพื่อสร้างและธำรงระบบนิเวศการเรียนรู้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด