ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการออนไลน์ “ร่วมสร้างสรรค์เครือข่ายสู่เป้าหมายเดียวกัน” ประจำปี 2564 ของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม 2564 มีอุทยานการเรียนรู้เครือข่าย 37 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 164 คน มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีนายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ บรรยายและร่วมวงเสวนากับตัวแทนจากเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้จากทุกภาคของประเทศไทย
การเสวนาเรื่องการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ในครั้งนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ อาทิ ศ.วุฒิสาร ตันไชย คุณดุริยา อมตวิวัฒน์ รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย ดร.ไกรยส ภัทราวาท และ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเสนอแนวทางแก้ไข และบอกเล่ากรณีศึกษาต่างๆ ในเรื่องของบทบาทของอุทยานการเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้ ในการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ ให้มีความน่าสนใจ และสามารถนำไปปรับใช้ได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการจัดการกระบวนการศึกษา นั่นเพราะมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น จากความมุ่งมั่นที่อยากให้การศึกษาของลูกหลานในสังคมดีขึ้น โดยสามารถนำหลักสูตร หรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้กับการศึกษาในโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเชื่อมโยงปัญหาของท้องถิ่นเข้ากับการเรียน เช่น ปัญหาภัยพิบัติในชีวิตจริง ปัญหาจราจร เป็นต้น ซึ่งเมื่อจัดการศึกษาได้ครอบคลุมทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งวัยเรียน และประชาชนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน จะสามารถตอบโจทย์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบสนองต่อหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหาสังคม 3 ข้อ คือ การศึกษาเพื่อการเท่าเทียม การศึกษาที่มีความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม ทั้งในเด็ก วัยแรงงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง
ดังนั้นถ้าองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วม Learning Cities จะเป็นโอกาสอันดีที่ยกระดับท้องถิ่นเข้าสู่พื้นที่สากล และเปิดพื้นที่ให้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากพัฒนาตัวเองตามแนวทางขององค์การยูเนสโกแล้ว ท้องถิ่นยังสามารถออกแบบเพื่อตอบสนองอัตลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเอง ตามหลักการระเบิดจากข้างในได้ด้วย เช่น จะสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ให้เหมาะกับเมืองของเราอย่างไร ทั้งในเด็กก่อนวัยเรียน หรือการศึกษาของสายอาชีพเพื่อพัฒนาทักษะให้เหมาะกับพื้นที่ หรือกลุ่มวัยทำงานที่ต้องเกิดการเรียนรู้เพื่อก่อเกิดสุขภาวะที่ดี เป็นต้น ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งเมือง หากเริ่มต้นจากจุดใดจุดหนึ่งก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจว่าจะเดินร่วมทางกันในระยะยาวอย่างไร
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ท้องถิ่นคือหัวใจสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศไทยมีนักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาสถึง 1.8 ล้านคนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และมีเด็กไทยมากกว่า 430,000 คนอยู่นอกระบบการศึกษาแล้ว ท้องถิ่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน เข้าใจปัญหา และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ได้ ดังนั้นการที่ท้องถิ่นสนใจพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ จึงเป็นตัวอย่างการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยเริ่มจาก ‘ประชาชน’ เพื่อสร้างสังคมเสมอภาคให้ประชาชน
ด้านนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้โดยกล่าวเสริมว่า ในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ตามแนวทางของยูเนสโก ไม่ได้มีเพียงมิติทางด้านการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต ซึ่งเมืองที่จะเป็น Learning City ต้องเป็นเมืองที่มีหัวใจหลัก 3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเมืองที่สุขภาพดี พร้อมความสมบูรณ์ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต เรื่องที่สองไม่มีใครตกหล่นไปจากระบบการศึกษาทุกรูปแบบ และข้อสุดท้าย คือการมีงานทำ แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก จึงต้องมีการวางฐานรากเมืองที่เข้มแข็งพร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้า และมีการสร้างและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมในทุกมิติอย่างมั่นคงและยั่งยืน
รองศาสตร์จารย์ ดร. พีรดร แก้วลาย อาจารย์และนักวิจัยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนโดยยกตัวอย่างเมืองต่างประเทศ ผ่านกรณีศึกษาจากเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ที่พบว่าทางรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อให้เมืองมีความพร้อมในการรับแขกจากทั่วโลกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งปี 2551 จึงมีการส่งเสริมการศึกษา วางตำแหน่งให้เมืองเป็นผู้นำในการปรับปรุงการศึกษาให้ทันสมัยสำหรับทั้งประเทศ หลังจากนั้นมีการก่อตั้งศูนย์วิจัยซึ่งมีส่วนช่วยในการเรียนรู้และการวิจัยของเมือง พร้อมจัดตั้งโครงการพัฒนาการศึกษามากกว่า 40 โครงการ สุดท้ายแล้วเมืองก็ได้รับรางวัล UNESCO Learning City Award ในปี 2558 เหตุที่ทำได้เพราะแรงจูงใจหลักคือการส่งเสริมความสร้างสรรค์ ความยั่งยืน และความครอบคลุมถึงผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และคนพิการ โดยมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุปว่าการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนต้องบูรณาการศึกษาและการเรียนรู้ของเมืองที่อาจขับเคลื่อนจากหลายหน่วยงาน ให้เป็นภาพที่สอดคล้องกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน แก้ปัญหาของเมืองร่วมกัน มีการจัดงานเทศกาล อีเวนท์ มีกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้จากจังหวัดโดยรอบเพื่อให้เกิดการรวมตัวเป็นแนวร่วม มีการติดตามข้อมูลจากสิ่งที่ทำในอดีต รวบรวมแล้วดูว่าเมืองมีศักยภาพใดที่โดดเด่นและยังมีสิ่งใดที่ต้องพัฒนา รวมถึงมีการจัดสรรเงินทุน สินทรัพย์ และบุคลากรที่ช่วยสนับสนุน ทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อมาเป็นแนวร่วมพัฒนาเมืองด้วยกัน
หลังจากนั้นตัวแทนจากเมืองที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ของยูเนสโก ได้แบ่งปันประสบการณ์ เริ่มจากนายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีเทศมนตรีนครเชียงราย ให้ความเห็นว่า การผลักดันให้เทศบาลนครเชียงรายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คือให้ความสำคัญกับ ‘การศึกษาคือกุญแจแห่งการพัฒนา’ มีการจัดการทำแผนงานดำเนินงานอย่างยั่งยืน คำนึงถึงนิเวศการเรียนรู้ของผู้คน มีทั้งการจัดพื้นที่การเรียนรู้ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเหมาะกับผู้เรียนรู้หลายกลุ่ม เพื่อนำไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ด้านนางสาวอำไพ จันทร์เงิน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้คือ การผนึกกำลังสร้างแผนงานที่ช่วยสร้างคน สร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจ และสร้างสิ่งแวดล้อม ผ่านภาคีเครือข่ายจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐ (ส่วนกลาง) ภาครัฐ (ท้องถิ่น) เอกชน หน่วยงานระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเมือง ที่สำคัญที่สุดต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้คนในเมืองภูเก็ตรู้ว่าเราจะก้าวเข้าสู่เมือง Learning City ผ่านการสร้างความปลอดภัยในชีวิต การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสการศึกษาประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการส่งเสริมอาชีพท้องถิ่น โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย พร้อมจัดทำพิมพ์เขียวทางการศึกษา เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งช่วยสร้างประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
ปิดท้ายด้วยนายดนย์ ทักศินาวรรณ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เมืองฉะเชิงเทรามองเห็นโอกาสทางการศึกษาที่จะส่งเสริมให้ประชาชนชาวฉะเชิงเทราทุกเพศทุกวัย เมื่อเราได้รับความร่วมมือจากประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หน่วยงานเอกชน และหน่วยงานรัฐ รวมทั้งวิสัยทัศน์หลักของนายกเทศมนตรีที่พร้อมส่งเสริมงบประมาณอย่างไม่จำกัดและไม่ปิดกั้น จึงช่วยผลักดันให้เทศบาลเมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด
*ภาพหน้าปก จาก https://uil.unesco.org/lifelong-learning/learning-cities