หลังจากวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้เปิดงานนิทรรศการพิพิธอาเซียน...A Journey through ASEAN ที่นำเสนอเรื่องราวสมาชิกทั้ง 10 ประเทศของอาเซียน เพื่อเป็นการทำความรู้จักกันให้มากขึ้นก่อนที่จะก้าวไปสู่การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยนิทรรศการนี้ได้จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2554 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
สำหรับวันเสาร์ 30 เมษายน - อาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม ได้มีกิจกรรมพิเศษในช่วงสุดสัปดาห์โดยใช้ชื่อตอนว่า “รู้จักอาเซียน” โดยอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้อาสาพาเด็กๆ และผู้ปกครอง ไปรู้จักอาเซียนให้มากขึ้น ด้วยวิธีการที่สนุกสนานกว่าการอ่านหนังสือ นั่นคือการเข้าฐานความรู้ต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว
เมื่อก้าวเข้ามาบริเวณลานสานฝัน ก่อนที่จะตะลุยไปตามฐานต่างๆ ทุกคนจะต้องลงทะเบียนทำความรู้จักกัน และรับกระดาษแผ่นเล็กๆ สำหรับประทับตราเมื่อผ่านฐานความรู้อาเซียนที่มีทั้งหมด 5 ฐานความรู้
ฐานที่ 1 : ตราสัญลักษณ์ รู้จักอาเซียน
เริ่มต้นฐานแรกด้วยการทำความรู้จักกับตราสัญลักษณ์อาเซียน ซึ่งเป็นรูปรวงข้าวจำนวน 10 รวงมัดรวมกัน หมายถึง การหลอมรวมประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ เพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว หลังจากนั้นพี่ๆ ประจำฐานได้นำภาพตัวการ์ตูนซึ่งใส่ชุดประจำชาติประเทศต่างๆ มาเพื่อให้ได้ทายกันว่าเป็นของประเทศใด เกมนี้ไม่ยากเกินไปสำหรับเด็กเล็ก เพราะที่ภาพการ์ตูนจะมีธงประจำชาติติดอยู่ และฐานนี้มีแผ่นป้ายความรู้เกี่ยวกับประเทศในอาเซียน ซึ่งมีธงประจำชาติติดอยู่เช่นกัน เด็กๆ จึงสามารถจับคู่ได้ถูกต้อง และรับตราประทับ 1 แต้มไปในฐานแรก
ฐานที่ 2 : มารู้จักเพื่อนบ้านผ่าน ASEAN WALL
ในฐานนี้อาจจะต้องรวมพลังกันระหว่างเพื่อน พี่น้อง หรือพ่อแม่ ให้ช่วยกันจดจำเอกลักษณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอยู่บนบอร์ดที่ชื่อว่า ASEAN WALL โดยมีแผ่นความรู้ถอดประกอบได้ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับธงชาติ ตราแผ่นดิน เมืองหลวง ชุดประจำชาติ สกุลเงิน ฯลฯ เพื่อให้เด็กๆ และผู้ปกครองช่วยกันนำไปติดให้ตรงกับประเทศนั้นๆ โดยมีพี่ๆ คอยให้ความรู้เพิ่มเติม หากน้องๆ เกิดความสงสัย เมื่อติดแผ่นความรู้ครบถ้วนและถูกต้องรับตราประทับไปอีก 1 แต้ม
ต่อจิ๊กซอว์ กิจกรรมฐานที่ 3 สำหรับเด็กๆ
ฐานที่ 3 : ซาลามัตดาตัง เกอ... มาเลเซีย
ชื่อฐานนี้แปลว่า ยินดีต้อนรับสู่...มาเลเซีย ประเทศที่มีพรมแดนติดกับชายแดนภาคใต้ของไทย โดยที่ฐานจะมีเอกสารความรู้เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียให้กับผู้ปกครอง ที่ทำให้รู้ว่ามาเลเซียไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรด้านปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเท่านั้น แต่ที่นี่เปี่ยมไปด้วยการผสมผสานวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างลงตัว มีสถานที่ท่องเที่ยว ป่าเขา ทะเล และบ้านเมืองที่สวยงาม ส่วนเด็กๆ นั้นก็มีมุมให้สนุกกับการต่อจิ๊กซอว์รูปสถานที่ท่องเที่ยวของมาเลเซีย อาทิ ตึกปิโตรนาส ตึกแฝดที่มีความสูงที่สุดในโลก ต่อภาพถูกต้องพี่ๆ ประทับตราให้ผ่านฐานนี้ได้
ฐานที่ 4 : มุ่งสู่ประชาคมอาเซียน “แตกต่างเป็นหนึ่งเดียว”
สำหรับฐานนี้เน้นไปที่การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการที่สมาชิก 10 ชาติในกลุ่ม ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวในนาม “อาเซียน” การต้องอยู่ร่วมกันกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน บนพื้นฐานของความเอื้ออาทรเป็นมิตรต่อกัน และสิ่งที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก นอกจากนี้ยังมีเกมสนุกๆ สำหรับเด็กๆ อย่างเกมทายแผนที่ว่า แผนที่ที่พี่ทีมงานชี้ไปนั้นคือที่ตั้งของประเทศอะไร และเกมใบ้คำ โดยฝ่ายหนึ่งจะจับแผ่นป้ายได้ชื่อประเทศใด บอกใบ้ให้อีกฝ่ายตอบให้ถูกต้อง จึงได้รับของรางวัลพร้อมกับได้ประทับตราผ่านไปอีกหนึ่งฐาน
ฐานที่ 5 : เรียนรู้เพื่อนบ้านผ่านภาพยนตร์อาเซียน
ฐานสุดท้ายเป็นการทายชื่อเรื่องและชื่อประเทศของภาพยนตร์ของสมาชิกอาเซียน ซึ่งฉายในวันเสาร์และอาทิตย์นี้ เรื่องแรก ได้แก่ภาพยนตร์อินโดนีเซีย เรื่อง Laskar Pelangi (Rainbow Warriors) อีกเรื่องหนึ่งคือภาพยนตร์พม่า เรื่อง Moving to Mars : A million Miles From Burma โดยมีคำใบ้เป็นภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ พร้อมข้อมูลย่อๆ ที่พอให้ทายกันได้ถูกต้อง รับแต้มสุดท้ายก่อนนำไปแลกของรางวัลบริเวณจุดลงทะเบียน
นิทรรศการภาพถ่ายอาสาเล่าเรื่องผ่านเลนส์
นอกจากฐานกิจกรรมต่างๆ แล้ว บริเวณรอบๆ ลานสานฝัน ยังมีป้ายนิทรรศการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน หรือจะเดินชม นิทรรศการภาพถ่ายอาสาเล่าเรื่องผ่านเลนส์...ASEAN in Focus Photo Exhibition ซึ่งบอกเล่ามุมความรู้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอาเซียนผ่านภาพถ่ายสวยๆ จากช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น
น้องจูน - ด.ญ.ฐิติรัตน์ แสงกิตติไพบูลย์ อายุ 10 ปี หนึ่งในสมาชิก TK park และผู้ตะลุยฐานอาเซียนได้สำเร็จโดยมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือบ้างในบางฐาน ยิ้มหวานก่อนตอบว่าชอบกิจกรรมอาเซียนเพราะได้ความรู้และสนุกสนาน นอกจากนี้ยังได้ของรางวัลกลับบ้าน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่น้องจูนเห็นว่ากิจกรรมในนิทรรศการพิพิธอาเซียนช่วยให้ลูกสาวได้จดจำความรู้ต่างๆ ได้ดีกว่าการอ่านจากหนังสือเพียงอย่างเดียว
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์อินโดนีเซีย เรื่อง นักรบสีรุ้ง
ในช่วงบ่ายที่ห้องมินิเธียเตอร์ 1 ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์จากประเทศสมาชิกอาเซียน จากกลุ่ม Film Kawan (ฟิล์มกาวาน) ซึ่งวันเสาร์ฉายภาพยนตร์อินโดนีเซีย เรื่อง Laskar Pelangi (Rainbow Warriors) และวันอาทิตย์ฉายภาพยนตร์พม่า เรื่อง Moving to Mars : A million Miles From Burma
กลุ่ม Film Kawan ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาผู้นิยมชมชอบในภาพยนตร์อุษาคเนย์ กลายเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มอิสระเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์อุษาคเนย์ ทำหนังสือ จัดเทศกาลภาพยนตร์ โดยคำว่า Film Kawan นั้น แปลว่า หนังของเพื่อน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของกลุ่มนักศึกษากลุ่มนี้ ที่ต้องการนำเรื่องราวหนังของเพื่อนในภูมิภาคอุษาคเนย์ของเราที่อยู่ใกล้กันมาก แต่ไม่ค่อยมีโอกาสดูภาพยนตร์ของกันและกันมากนัก มาเล่าสู่กันฟัง
Laskar Pelangi (Rainbow Warriors) ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ที่นำมาจัดฉายในนิทรรศการพิพิธอาเซียน เป็นภาพยนตร์ปี ค.ศ. 2008 โดยผู้กำกับ Riri Riza สร้างจากหนังสือที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของอินโดนีเซีย ซึ่งมีชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์ Laskar Pelangi หรือ “นักรบสายรุ้ง” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณครูและนักเรียนในโรงเรียนชนบทห่างไกล บนเกาะ Belitung เกาะที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติแห่งหนึ่งของประเทศ เมื่อความร่ำรวยทางทรัพยากรไม่สามารถแปลงให้เป็นความมั่งคั่งเพื่อจะแบ่งปันให้กับการศึกษาได้ ความศรัทธาในความรู้ ในศาสนา มิตรภาพ และกำลังใจ ของครูและนักรบสายรุ้ง จึงเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้แสงแห่งรุ้งบนท้องฟ้าปรากฏเป็นจริง
ผู้เข้าชมภาพยนตร์อินโดนีเซียในนิทรรศการครั้งนี้ มีทั้งเด็กประถมไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งแม้จะเป็นภาพยนตร์ของอินโดนีเซียและมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ แต่ก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้ตลอดทั้งเรื่อง และอาจเรียกน้ำตาของหลายๆ คนได้ในช่วงท้าย
คุณภาณุ อารี วิทยากรร่วมพูดคุยหลังการฉายภาพยนตร์
หลังจากจบการฉายภาพยนตร์ ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีวิทยากร คือ คุณภาณุ อารี มาร่วมพูดคุยบอกเล่าความเป็นมาของภาพยนตร์ พร้อมทั้งเล่าถึงมุมมองแง่คิดที่ได้จากการชมภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่องนี้
“จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผู้กำกับต้องการนำเสนอให้เห็นว่าถึงจะมีความแตกต่างทางศาสนา สถานะทางสังคม วัฒนธรรม แต่ทุกคนในประเทศก็สามารถอยู่ร่วมกันได้”
คุณภาณุกล่าวถึงเหตุผลว่า ที่ผู้ชมสามารถยิ้ม หัวเราะ และเสียน้ำตา ให้กับภาพยนตร์ต่างชาติเรื่องนี้ได้นั้น เป็นเพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย จึงมีสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรมบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงกันได้ ซึ่งหากเป็นคนภูมิภาคนอกอาเซียนมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คงจะไม่เข้าใจได้เท่ากับที่คนอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
ภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่องนี้ จะทำให้ผู้ชมนึกไปถึงภาพยนตร์ไทยสองเรื่อง คือ แฟนฉัน และ ปัญญา-เรณู เรื่องราวของเด็กที่ถ่ายทอดความคิดที่บริสุทธิ์ และความฝันที่เป็นเหมือนสิ่งล่อเลี้ยงพวกเขาให้เติบโตขึ้น
“หนังเรื่องนี้บอกให้ผู้ชมเห็นว่า ทุกคนมีความฝันด้วยกันทั้งนั้น แต่อาจไม่ทุกคนที่ก้าวไปได้ถึง เหมือนตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่อง ที่ต้องเลิกเรียนไปเพราะต้องออกมาดูแลครอบครัว แต่เขาก็ใช้ชีวิตในอีกแบบ อย่างมีความสุขได้ และถึงความฝันนั้นเขาจะยังทำไม่สำเร็จ แต่ก็ยังมีลูกสาวที่สามารถสานต่อความฝันนั้นได้”
ในส่วนของการจัดฉายภาพยนตร์นั้น ผู้เข้าชมนิทรรศการพิพิธอาเซียนสามารถ เข้าชมภาพยนตร์ของประเทศเพื่อนบ้านและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีก 3 เรื่อง คือ Moving to Mars : A million Miles From Burma ของประเทศพม่า, Budda’s Lost Children ของประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ และ Home Run ของประเทศสิงคโปร์ โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลและตารางการฉายภาพยนตร์ได้ที่ www.tkpark.or.th หรือหากใครตั้งใจว่าจะมาอ่านหนังสือที่ TK park อยู่แล้ว ก่อนเข้าไปในส่วนห้องสมุด แวะมาชมนิทรรศการพิพิธอาเซียนได้ แต่ต้องรีบกันนิดเพราะเขาจัดแสดงถึงวันที่ 8 พฤษภาคมนี้
พี่ตองก้า