โครงการจุดประกายการเรียนรู้ในโรงเรียนประสบผลสำเร็จ ล่าสุดมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เข้าร่วมพัฒนา “ห้องสมุดมีชีวิต” แล้วเกือบ 200 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดอบรมครูและเผยแพร่คู่มือการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ เตรียมจัดพิมพ์คู่มือครูด้านศิลปะและดนตรีศึกษา และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังโรงเรียนดีประจำตำบล และโรงเรียนสอนเด็กพิเศษต่อไป ด้าน ผอ.TK park เชื่อ แนวคิดห้องสมุดมีชีวิต สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้จริง เบื้องต้นยังได้มอบสื่อการเรียนรู้หนังสือการเรียนรู้ให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนจำนวน 200 ชุด
โครงการ “จุดประกายการเรียนรู้ในโรงเรียน” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี และ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ “พัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบในโรงเรียน” ระหว่างปี 2551-2555 เพื่อขยายแนวคิดและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้หรือห้องสมุดมีชีวิตสู่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และเพื่อกระตุ้นให้โรงเรียนและชุมชนเห็นความสำคัญของห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน ในการเป็นแหล่งปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยล่าสุดได้มีการจัดประชุมปฏิบัติการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบในโรงเรียนรุ่นที่ 5 ขึ้น ระหว่างวันที่ 5-11 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวเปิดการประชุมปฏิบัติการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบในโรงเรียนรุ่นที่ 5 ประจำปี 2555 ว่า การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการความร่วมมือระหว่าง สอร.และ สพฐ.ในโครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งในปี 2555 นี้ TK park ได้มีการต่อยอดโครงการ “จุดประกายการเรียนรู้ในโรงเรียน” เพื่อจุดประกายการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาแนวคิด และทักษะด้านต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน
โดยภารกิจหลักของ TK park คือ การพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนด้วยแนวคิดห้องสมุดมีชีวิตด้านต่างๆ ถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบให้แก่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ ด้านกายภาพ ซึ่ง TK park ได้ออกแบบกลางเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับห้องสมุดโรงเรียนประถมศึกษา, มัธยมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาส, ด้านหนังสือและสื่อการเรียนรู้, ด้านบุคลากร, ด้านกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้, ด้านการวางแผนและการบริหารจัดการทั่วไปของงานห้องสมุดมีชีวิต
“นอกจากนำแนวคิดห้องสมุดมีชีวิตบรรจุไว้ในเนื้อหาของการประชุมปฏิบัติการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบในโรงเรียนแล้ว ยังมีการอบรมเชิงปฎิบัติการที่ครูสามารถนำไปปฎิบัติงานสร้างสรรค์ห้องสมุดมีชีวิตได้อย่างแท้จริง ตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นที่ 5 ในปัจจุบันแล้ว พร้อมกันนี้ทาง TK park ยังได้นำหนังสือและสื่อสาระการเรียนรู้ซึ่งจัดพิมพ์จากโครงการสร้างสรรค์เนื้อหาสาระความรู้ด้านวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีรูปแบบนำเสนอที่ทันสมัยมามอบให้แก่ห้องสมุดโรงเรียน จำนวนชุดละ 39 รายการ รวมทั้งสิ้น 200 ชุด เพื่อนำไปจัดบริการแก่นักเรียน ครู และชุมชน ผ่านสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาในสังกัด สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย” ดร.ทัศนัยกล่าว
ด้านนางศกุนตลา สุขสมัย รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ตัวแทนจาก สพฐ.กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า ในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบในโรงเรียนตั้งแต่รุ่นที่ 1 - รุ่นที่ 4 มีโรงเรียนที่ได้รับการพัฒนาเป็นห้องสมุดมีชีวิตและเปิดให้บริการแล้ว 138 โรงเรียนจากทั่วประเทศ และในปี 2555 นี้ถือเป็นรุ่นที่ 5 มีโรงเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 60 โรงเรียน และในปี 2554 ที่ผ่านมา สพฐ.ยังได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงโรงเรียนดีประจำตำบลเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 โรงเรียน รวม 182 โรงเรียน และโรงเรียนที่มีการสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ให้เข้าร่วมโครงการจุดประกายการเรียนรู้ในโรงเรียนอีก 30 โรงเรียน
ผู้อำนวยการ TK park กล่าวอีกว่า แนวทางการดำเนินงานของห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบนี้ จะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคมที่มีความพร้อมด้านสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการอ่านและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และชุมชนอย่างจริงจังต่อไป