เดินทางมาถึงวันสุดท้ายแล้ว สำหรับ ‘การซ้อมใหญ่’ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงสู่สังเวียนนักเขียน ของเหล่านักเขียนเยาวชนรุ่นใหม่ ในโครงการ TK Young Writer 2012 ที่วันนี้คือการแสดงผลงานที่น้องๆ เยาวชนนักเขียนสร้างสรรค์งานเขียนร่วมกันมาหลายสัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำ โดยมีพี่เลี้ยงนักเขียนมืออาชีพคอยแนะนำดูแลอย่างใกล้ชิด มาดูกันว่าผลสรุปของการซ้อมใหญ่ครั้งนี้ จะออกมาในรูปแบบไหน
จากโจทย์วางแผนไว้ มีการแบ่งน้องๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม ทำหนังสือขึ้นมากลุ่มละเล่ม และมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่มคือ พี่ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล, พี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น และ พี่แป้ง-ณัฐจรัส เองมหัสสกุล ซึ่งผลงานก็มีความแตกต่างกันออกไปตามความสนใจของน้องๆ ในแต่ละกลุ่ม และหลังจากผลงานเสร็จสมบูรณ์แล้วยังได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาเป็นรูปเล่มจริงๆ ในแบบ Print on demand เพื่อให้น้องๆ เก็บไว้เป็นผลงานอีกด้วย
พี่เปิ้ลเกริ่นถึงการพิสูจน์อักษร
ก่อนจะนำเสนอผลงานกัน พี่เปิ้ล-เบญจวรรณ แก้วสว่าง พิสูจน์อักษรจากนิตยสาร happening ซึ่งคือผู้ที่พิสูจน์หนังสือของน้องๆ ทั้ง 3 เล่ม มาให้คำแนะนำเรื่องการการพิสูจน์อักษรในภาพรวม พี่เปิ้ลกล่าวว่า ผลงานของน้องๆ ถ้าพูดถึงเรื่องคำผิดน่าจะมีการระวังระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีสะกดผิดเพราะพิมพ์ผิดนิดหน่อยตามธรรมชาติของการเขียน พี่เปิ้ลยังติติงในเรื่องการส่งงานช้าของน้องๆ เพราะว่าการทำหนังสือสักเล่ม ไม่ใช่จบแค่การเขียนของนักเขียน ยังต้องให้เวลาฝ่ายอื่นๆ เช่น อาร์ตไดเรกเตอร์ที่คอยจัดหน้าด้วย เพราะการทำหนังสือเป็นการทำงานเป็นทีมจริงๆ ถ้าคนที่ทำอยู่ขั้นตอนแรกไม่ได้นึกถึงคนข้างหลัง จะทำให้การทำงานเป็นทีมเสียได้
มาถึงช่วงการนำเสนอผลงาน สมาชิกทั้งกลุ่มออกมาเพื่ออธิบายถึงผลงานที่ตนเองเขียน ก่อนจะรับฟังคอมเมนต์จากพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม และมี พี่เต้ย-ภาณุมาศ ทองธนากุล มาร่วมแสดงความเห็นด้วย
บรรยากาศการโชว์ผลงานของนักเขียนหน้าใหม่
ปลาทอง กระบองเพชร และพจนานุกรม
พี่เลี้ยง: พี่แป้ง-ณัฐจรัส เองมหัสสกุล
ปลาทอง กระบองเพชร และพจนานุกรม
น้องๆ ตัวแทนกลุ่มเริ่มต้นกล่าวถึงที่มาของชื่อหนังสือก่อน ซึ่งเป็นการนำชื่อตอนต่างๆ ในเล่มมาประกอบกันให้คล้องจองกัน เนื้อหากล่าวถึงเรื่องเล่าในวัยเด็กจากหลายความทรงจำ เพราะทุกคนเคยผ่านประสบการณ์ในวัยเด็กมากันทุกคน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเขียน หนังสือ ปลาทอง กระบองเพชร และพจนานุกรม จึงเป็นหนังสือที่ทำให้นึกถึงความทรงจำสมัยเด็ก ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความทรงจำเหล่านี้คือเครื่องเตือนใจให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้
นำเสนอผลงานของตนเอง
หลังจากนั้นจึงให้น้องๆ แต่ละคนพูดถึงเรื่องที่ตนเองเขียน ซึ่งงานเขียนในหนังสือเล่มนี้ก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น นิทาน บทความ บทกวี ยกตัวอย่างเช่น นิทานเรื่อง ก.ไก่ กล่าวถึงตัวอักษรแต่ละตัวที่ทะเลาะกัน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก ก.ไก่ ทำให้ ก.ไก่ หายไป ก่อนที่ตัวอักษรตัวอื่นๆ จะค่อยๆ หายไปทีละตัว นิทานเรื่องนี้มีลูกเล่นที่น่าสนใจ คือเมื่อเนื้อหากล่าวถึงตอนที่ตัวอักษรต่างๆ หายไป ตัวอักษรก็จะหายไปจากหน้ากระดาษจริงๆ ทำให้อ่านได้ยากขึ้น สะท้อนถึงความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันในสังคม ว่าไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ทุกคนต่างสำคัญเท่าเทียมกันหมด, เรื่องสั้นเรื่อง หมาและแมว เล่าถึงประสบการณ์การเลี้ยงปลาทองที่มีชื่อว่า หมาและแมว ที่ทำให้เจ้าของได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ, บทกวีเรื่อง กระบองเพชร กล่าวถึงประสบการณ์การขี่จักรยานครั้งแรกในชีวิต แต่กลับต้องเผชิญกับอุบัติเหตุจักรยานล้มลงไปใส่ต้นกระบองเพชรหนามแหลม, เรื่องสั้นเรื่อง พจนานุกรม กล่าวถึงความสำคัญของพจนานุกรมเล่มหนาที่กำลังถูกลดค่าลงเพราะโลกอินเทอร์เน็ต, บทความเรื่อง บ้านฟาง กล่าวถึงความฝันในวัยเด็กที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะบ้านเป็นสิ่งที่ให้ความอบอุ่น แต่คนในบ้านให้ความอบอุ่นได้มากกว่า และบทความเรื่อง ผ้าห่ม กล่าวถึงความผูกพันกับสิ่งแรกที่ว่าจะมีสิ่งใหม่เข้ามาก็ไม่สามารถมาทดแทนสิ่งแรกที่เรารู้สึกดีได้
ในส่วนของอาร์ตเวิร์กเล่มนี้ พี่แป้งเล่าให้ฟังว่า อาร์ตไดเรกเตอร์จะนำเรื่องแต่ละเรื่องที่เขียนมาตีความเป็นภาพกราฟิกง่ายๆ แต่สามารถสื่อความถึงเรื่องราวทั้งหมดได้ ซึ่งมีความสวยงามมากทีเดียว หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นที่ปลดปล่อยความทรงจำในวัยเด็กของน้องๆ ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านงานเขียนที่มีความเป็นตัวเองอยู่สูง
ทางด้านพี่เต้ยก็ได้คอมเมนต์ว่า “ชอบวิธีการนำเสนอที่มีหลายอย่าง ทำให้เพลิดเพลินกับการอ่าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในหลักไมล์แรกๆ ของการเขียนที่ดี” ส่วนพี่คุ่นก็ให้ความเห็นว่า “รู้สึกว่าน่าทึ่งตรงที่ทุกคนมีความสามัคคีกัน ที่ถ่ายทอดเรื่องที่อยู่ในธีมเดียวกันได้ เพราะว่าการนำเสนอหัวข้อเรื่องชีวิตในวัยเยาว์นั้นถูกพูดถึงเยอะพอสมควรแล้ว แต่พอมาดูแต่ละเรื่องแล้วก็น่าประทับใจในผลงานที่ออกมา ดูคร่าวๆ ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่น่าอ่าน ถ้าอยู่ในร้านก็น่าดึงดูดดี”
บ้าน|จัด|สรรค์
พี่เลี้ยง: พี่ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
บ้าน|จัด|สรรค์
ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่าตอนแรกได้ไอเดียเกี่ยวกับธีมมากมายจนเลือกไม่ถูก แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่ธีม ‘บ้าน’ และได้ชื่อหนังสือว่า บ้าน|จัด|สรรค์ โดยคำว่า ‘บ้าน’ มาจากบ้านที่อยู่อาศัย ‘จัด’ มาจากการจัดคอลัมน์เป็นสัดส่วน ‘สรรค์’ มาจากความคิดสร้างสรรค์ ขั้นตอนแรกคือให้นักเขียนแต่ละคนเสนอว่าตนเองถนัดที่จะเขียนแบบไหน ซึ่งมีทั้งเรื่องสั้น สกู๊ป บทความ บทกวี บทสัมภาษณ์ คละกันไป โดยอยู่ในรูปแบบของนิตยสาร
ตัวอย่างงานเขียนภายในเล่มเช่น เรื่องสั้นเรื่อง ยินดีต้อนรับกลับบ้าน เล่าถึงตัวละครที่พยายามหาความหมายของสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง, บทสัมภาษณ์ของ โยกเยก เชิญยิ้ม ดาวตลกร่างยักษ์, คอลัมน์ที่ใช้ภาพถ่ายเก่าๆ เล่าเรื่องบ้านในความทรงจำ, สกู๊ปเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสิ่งของต่างๆ ภายในบ้าน, รีวิวบทเพลง ภาพยนตร์ และหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องบ้าน, บทกวีแคนโต้ที่พูดถึงบ้าน, บทสัมภาษณ์คนพิการทางสายตาที่อาศัยอยู่ในบ้าน, การ์ตูนสั้นตลกๆ ที่เล่าเรื่องนักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ ที่ทำงานหนัก และนอกจากนั้นยังมีหน้าพักสายตาที่รวมเอาคำคมที่เกี่ยวกับบ้านอีกด้วย
เรียกได้ว่าแต่คอลัมน์ภายใน บ้าน|จัด|สรรค์ มีความหลากหลายและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สมชื่อหนังสือเลยทีเดียว ซึ่งพี่ต๊ะได้เล่าถึงการทำงานว่า อยากให้น้องๆ ได้ลองทำประหนึ่งว่าเป็นนิตยสารเล่มสุดท้ายที่ได้ทำ โดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบของนิตยสารจริงๆ มากนัก น้องๆ จึงได้ปล่อยความคิดและได้ลงมือทำอย่างที่ใจต้องการได้
รับฟังคอมเมนต์จากพี่เลี้ยง
พี่เต้ยกล่าวถึงนิตยสารเล่มนี้ว่า “กลุ่มนี้มีการคิดถึงผู้รับสารด้วย เช่น มีหน้าพักสายตา ซึ่งคนทำงานที่ผ่านงานด้านนิตยสารมาจะมีเรื่องพาณิชย์มาเกี่ยวข้องด้วย อาจจะเป็นข้อได้เปรียบเวลาออกไปทำงานหนังสืออื่นๆ ต่อไป นอกจากจะปล่อยความคิดของตัวเองได้แล้ว ก็มีการคิดถึงมุมมองด้านอื่นของคนรับสารด้วย” ส่วนทางด้านพี่คุ่นก็ได้กล่าวว่า “รู้สึกว่าเป็นการทำงานที่น่าทึ่ง เพราะการทำงานส่วนใหญ่เราจะไม่ได้รู้ถึงเบื้องหลังว่าผ่านมาอย่างไร แต่สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำออกมามากกว่า ถ้าเกิดว่าเราสามารถทำให้ดูน่าเชื่อถือได้ก็เป็นสิ่งที่ดี” และพี่แป้งก็ให้ความเห็นว่า “ในฐานะที่พี่ก็เป็นคนทำนิตยสารเหมือนกัน ก็รู้สึกว่าน้องสามารถคิดได้ดีกว่าพี่ในบางมุมอีก ใครที่ได้ทำตรงนี้ก็ถือว่าผ่านไปอีกด่านหนึ่งแล้ว ต่อไปนี้การทำงานหนังสือคงง่ายขึ้น”
ลายสาระ
พี่เลี้ยง: พี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น
ลายสาระ
ตัวแทนกลุ่มอธิบายถึง ลายสาระ ว่าเป็นนิตยสารที่มีธีมเกี่ยวกับเรื่องสมมติ และสมมติว่าเป็นเล่มสุดท้ายที่ออกมา ส่วนภาพปกมีแนวคิดมาจากการพยายามทำให้ดูไม่จริง จึงให้น้องผู้ชายแต่งชุดนักเรียนหญิง น้องผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนชาย ซึ่งมีแนวคิดมาจากการบรรยายของพี่คุ่นที่พูดถึงการโกหกเพื่อการเขียนเรื่องแต่ง
คอลัมน์ภายในเล่มประกอบไปด้วย คอลัมน์ ข่าวสมมติ ที่เขียนข่าวสมมติขึ้นมา โดยอ้างอิงจากความเป็นจริงเพื่อเสียดสีข่าวจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม, บทความสมมติเรื่อง ผมกับคุกกี้ เล่าถึงโลกที่คนให้ความสำคัญกับคุกกี้มากๆ และสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นมาในสังคมได้, บทสัมภาษณ์สมมติที่ไปสัมภาษณ์สัตว์กับสิ่งของ โดยให้สัตว์และสิ่งของมาเสวนากันถึงความเป็นอยู่ของตัวเอง และมีมนุษย์เป็นแขกรับเชิญพิเศษที่พูดไม่ได้, คอลัมน์ประวัติศาสตร์ไทยสมมติ ที่นำประวัติศาสตร์จริงมาผสมปนเปกันใหม่ เล่าถึงชีวิตของท้าวทองกีบม้า ผู้คิดค้นสูตรขนมทองหยิบทองหยอดขึ้นมา, บทสัมภาษณ์สมมติที่นำนักเขียนที่ล่วงลับไปแล้วอย่าง เฮมิงเวย์ และ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มานั่งพูดคุยกัน โดยอ้างอิงจากคำพูดจริงๆ ที่ทั้งสองเคยพูดไว้มาดัดแปลงให้เหมือนว่ายังมีชีวิตอยู่, เรื่องสั้นสมมติที่แต่งขึ้นโดยมีธีมเกี่ยวกับเรื่องสมมติ, คอลัมน์ท่องเที่ยวที่พาคนอ่านเดินทางไปยังสถานที่สมมติ, สารคดีสมมติที่อธิบายถึงเรื่องกรณีชาวพม่าครองจังหวัดสมุทรสาคร และปิดท้ายด้วยบทวิจารณ์หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ผลงานศิลปะ หนังสือการ์ตูน ที่คนเขียนสมมติผลงานต่างๆ ขึ้นมาและวิจารณ์เอง
โดยรวมจึงเป็นนิตยสารที่เล่นกับเรื่องสมมติได้อย่างสนุกสนาน จนบางทีแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเป็นเรื่องสมมติ พี่ต๊ะก็ให้ความเห็นว่า “น่าอ่านมาก เพราะดูน่าสนุกดี ชอบไอเดียการโกหกที่เป็นเรื่องเป็นราวและไปสุดทางดี ชอบผลงานหลายชิ้นในเล่มเลย” พี่เต้ยให้คอมเมนต์ว่า “ท่ามกลางหนังสือหลายประเภท ถ้ามีนิตยสารเล่มนี้สักเล่มอยู่บนแผงคงเป็นเรื่องสนุกดี ทำให้เห็นว่าความคิดแรกที่เราแข็งแรงกันมันเพียงพอ เราสามารถแตกหน่อความคิดได้สนุกมาก” และพี่แป้งกล่าวถึงนิตยสารเล่มนี้ว่า “คำว่าสมมติมีความใกล้กันกับคำว่าจินตนาการ แต่สมมติยากกว่าตรงที่เราต้องเข้าใจความจริงด้วย รู้สึกว่าทุกคนที่ทำมาทำการบ้านมาดีมาก จนสามารถวิเคราะห์และพลิกแพลงสิ่งที่ตรงข้ามกับความจริงได้ ซึ่งคือคุณสมบัติของนักเขียนที่ต้องเข้าใจอย่างจริงแท้ก่อน”
ส่วนทางด้านพี่วิภว์ก็ได้ให้คำแนะนำรวมทั้งสามเล่มไว้ว่า “ขอชื่นชมน้องๆ ว่าใช้โอกาสได้คุ้มค่ามาก น้องๆ ได้ใช้ความกล้าหาญกล้าลองสิ่งที่อยากทำ เป็นงานที่น่าประทับใจทั้งสามเล่ม สิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่านการทำงานของน้องๆ คือความเป็นทีมเวิร์กที่เป็นอารมณ์ร่วมของแต่ละเล่มของตัวตนน้องๆ ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งในชีวิตจริงน้องๆ ก็ต้องทำงานเป็นกลุ่มกับคนอื่นๆ อีกเช่นกัน”
ปัจฉิมนิเทศก่อนออกสู่สนามการทำงานจริง
หลังจากที่ได้เห็นถึงผลงานอันน่าทึ่งของน้องๆ นักเขียนเยาวชนรุ่นใหม่ทั้ง 3 เล่มไปแล้ว ก็มาถึงช่วงปัจฉิมนิเทศเรื่อง “เคล็ดลับนักเขียนมืออาชีพ” จากพี่ๆ นักเขียน ก่อนที่จะออกจากสนามซ้อม แล้วก้าวเข้าสู่สนามการทำงานจริงต่อไป
พี่เต้ยกล่าวว่า “อะไรก็ตามจากนี้ไป เราต้องเปิดรับสมาชิกกลุ่มใหม่ที่มาวิจารณ์เรา เพื่อนที่เริ่มต้นเขียนหนังสือพร้อมๆ กับผมส่วนใหญ่ก็หายไปแล้ว ปัจจัยการทำอาชีพนี้ให้ยืนระยะนอกจากการผลิตงานที่มีคุณภาพต่อเนื่องและการเลี้ยงชีพแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือการยอมรับเสียงวิจารณ์รอบข้าง ส่วนหนึ่งอาจเอาคำปรามาสมาเป็นพลัง แต่บางส่วนก็อย่าถือสา อย่าให้มาทำร้ายเราได้”
พี่คุ่นกล่าวว่า “บางทีเวลาที่เราเห็นคนคอมเมนต์เราในทางไม่ดี บางครั้งที่เรารู้สึกเจ็บกับมัน ผมรู้สึกว่ามันมีส่วนจริงอยู่ แต่ถ้าเรารู้ว่ามันไม่จริง เราจะไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เขาพูดมันไร้สาระ ซึ่งเวลาที่เรารู้เจ็บมันเป็นข้อดีที่ช่วยเสริมให้เราปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้ถูกด่าได้อีกแล้ว และเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับเรา แต่บางครั้งก็อย่าเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป อาชีพนี้ถ้าอยากอยู่กับมันไปนานๆ คือต้องมีใจและสนุกที่ได้ทำ ถ้าเครียดว่าเงินน้อย ถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่เหมาะเลย เพราะฉะนั้นคนที่ทำได้อย่างมีความสุข คือคนที่รักงานนี้จริงๆ แต่ในขณะเดียวกันวงการนี้เป็นวงการที่คนมีฝีมือจริงๆ อยู่ได้ ถ้าหากว่าน้องเขียนหนังสือได้ดีจริงๆ ไม่มีทางที่จะไม่มีงานทำ”
พี่ต๊ะกล่าวว่า “ในอนาคตอาจมีบางคนที่ได้ทำงานหนังสือตรงนี้จริงๆ แต่บางคนอาจจะได้แค่เฉียดๆ แต่ถ้ายังอยากเขียนก็เขียนไป และต้องเข้มแข็ง ดูแลตัวเองกันดีๆ เพราะยังมีอุปสรรคหลายอย่างรออยู่”
พี่แป้งกล่าวว่า “รู้สึกว่าน้องได้ให้อะไรกลับมาหาพี่มากมาย ถึงน้องจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เพราะฉะนั้นเวลาที่น้องๆ ไปอยู่ในจุดไหนก็ตาม เราควรตั้งใจ ขยัน และมุ่งมั่นเข้าไว้”
พี่วิภว์กล่าวว่า “เรื่องที่สำคัญมากในการทำงานและชีวิตจริง คือเรื่องมิตรภาพ อยากให้น้องๆ รักษาไว้ มันจะทำให้น้องได้สิ่งที่มีค่ากลับมาหลายอย่าง มันเป็นเคล็ดลับความสำเร็จอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่พี่คาดหวังไว้คือ ถ้าน้องๆ ยังมีความสุขอยู่กับการเขียนก็เขียนต่อไปเถอะ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหรือไม่เป็นอาชีพก็ตาม มันไม่สำคัญเท่ากับเรามีทักษะนี้อยู่ในตัว ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจแล้ว พี่ๆ คงจะดีใจถ้าได้เห็นผลงานเขียนของน้องๆ ตามที่ต่างๆ อีก”
เป็นอันเสร็จสิ้น ‘การซ้อมใหญ่’ ก่อนจะก้าวเข้าสู่สังเวียนนักเขียน เชื่อว่าน้องๆ นักเขียนเยาวชนหน้าใหม่ทุกคนต่างมีความพร้อมและความมั่นใจกันแล้ว เพราะตลอดการอบรมในค่าย TK Young Writer 2012 ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับจะหล่อหลอมให้น้องๆ สามารถเดินทางอยู่บนสังเวียนนักเขียนได้อย่างเข้มแข็งต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย