“ห้องสมุดประชาชนอำเภอน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์” คว้าแชมป์ห้องสมุดมีชีวิตใน “โครงการ TK park Library Award ครั้งที่ 4” จากผลงานผู้สูงอายุรักการอ่านเพื่อสุขภาพ ด้านนักวิชาการศึกษา ระบุบรรณารักษ์ ถือเป็นบุคคลสำคัญของสังคมในการเปิดโลกการเรียนรู้ และ “TK park” คือ แรงบันดาลใจของ “บรรณารักษ์” ปรับมุมมองใหม่ หันมาตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น เน้นทำงานเชิงรุกพร้อมปรับกลยุทธ์การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้สู่กลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์และชัดเจนขึ้น
คำกล่าวที่ว่า “Open a Book: Open the World เปิดหนังสือคือเปิดโลกกว้างไม่รู้จบ” และการอ่านยังเป็นประตูสู่ความรู้และนำไปสู่อาชีพได้เพราะยิ่งอ่านมากยิ่งมีความรู้มาก แต่สิ่งสำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรมและปลุกฝังนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในชุมชนตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ “ห้องสมุด”
โครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต TK park Library Award เป็นโครงการที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2549 โดยในปี 2555 นี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายแนวคิดการจัดการห้องสมุดในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” อย่างเป็นรูปธรรม และกระตุ้นให้ “บรรณารักษ์” ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุน ปลูกฝัง ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร
ในปีนี้ ได้รับความสนใจจากห้องสมุดทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 100 แห่ง และมีห้องสมุดที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ทั้งสิ้น 20 แห่ง ซึ่งได้มีการประกาศผลไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยผู้ชนะเลิศการประกวดห้องสมุดมีชีวิต TK park Library Award ครั้งที่ 4 คือ “ห้องสมุดประชาชนอำเภอน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์” และ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 - 4 ได้แก่ ห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองแค จ.สระบุรี, ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสงขลา, ห้องสมุดประชาชนอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ ห้องสมุดประชาชนอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ตามลำดับ นอกจากเงินรางวัลเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาห้องสมุดให้กับผู้ชนะและผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 20 แห่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 800,000 บาทแล้ว ผู้ชนะพร้อมกับผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชย ยังได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานห้องสมุด ณ ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ย. 2555
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการปฏิรูป ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินกล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันบทบาทหน้าที่ของบรรณารักษ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุกมากขึ้น หลายคนเริ่มปรับทัศนคติการทำงานจากเดิมที่นั่งอยู่กับที่ หันไปลงพื้นที่และจัดกิจกรรมเพื่อทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการอ่าน และพยายามเชื่อมโยงกิจกรรมกับวิถีชีวิตของประชาชน ที่จะส่งผลต่อการส่งเสริมการอ่านมากขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยงานด้านการศึกษา เช่น กองทัพ เริ่มเข้ามามีบทบาทด้านบรรณารักษ์มากขึ้น รวมทั้งการที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้ามาให้การสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี อีกทั้งวิธีการทำงานและการเข้ามามีส่วนร่วมก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน รวมถึงทัศนคติของประชาชนเองก็เริ่มเห็นคุณค่าในเรื่องของการอ่านมากขึ้น
สำหรับแผนการดำเนินงานของห้องสมุดที่ผ่านการคัดเลือกเข้าชิงชนะเลิศในโครงการนี้ คุณหญิงกษมา มองว่า รูปแบบหรือแผนการนำเสนอโครงการของห้องสมุดแต่ละแห่งแม้จะแตกต่างกัน แต่จุดหนึ่งที่บรรณารักษ์ทุกคนต้องพึ่งระวังและจะต้องทำให้ได้ คือ การเชื่อมระหว่างการอ่านกับการเรียนรู้ให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะทำให้สะพานเชื่อมระหว่างห้องสมุดไปสู่ชีวิตหรือไปสู่สังคมนั้นขาดหายไปได้ และหวังอย่างยิ่งที่จะได้เห็นผลงานนั้นนำไปสู่การสร้างสังคมอุดมปัญญาต่อไป
นอกจากนี้ คุณหญิงกษมา ยังได้ฝากถึงการเตรียมความพร้อมของบรรณารักษ์และห้องสมุดไทย กับการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนว่า “การอ่านไม่ใช่เครื่องมือที่หมดยุคสมัย ตรงข้ามการอ่านจะทำให้เด็กมีแต้มต่อในอนาคตหนังสือถือเป็นประตูสำคัญที่จะนำเราเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนได้ และสามารถหยิบอ่านได้จากห้องสมุด ขณะที่บรรณารักษ์เองจะต้องขวนขวายจัดหาหนังสือที่เกี่ยวกับอาเซียนมาอ่านเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับผู้ใช้บริการ หรือแม้จะไม่สามารถหาได้เอง แต่สามารถให้คำแนะนำ ก็จะช่วยคนได้มาก ”
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และ ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวย้ำว่า บรรณารักษ์ เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและเป็นผู้ให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการ จึงหวังว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิไปต่อยอดปรับใช้ในงานที่รับผิดชอบ เพื่อเพิ่มศักยภาพแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้เข้มแข็งและมีกิจกรรมที่น่าสนใจในการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในฐานะที่บรรณารักษ์เป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของสังคม และทั่วโลกยังให้การยกย่องเชิดชู จึงอยากเห็น “วันบรรณารักษ์ไทย” เกิดขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ นักวิชาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวยอมรับว่า TK park ถือเป็นแรงบันดาลใจและเปิดโอกาสให้กับบรรณารักษ์ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย หรือห้องสมุดมีชีวิต และปรับมุมองในการจัดกิจกรรมเชิงรุก รวมถึงรูปแบบที่มีการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือประชาชน เช่น โครงการส่งเสริมกิจกรรมการอ่านการเรียนรู้ที่เน้นกลุ่มเด็กเร่ร่อน หรือโครงการส่งเสริมกาอ่านในศูนย์เด็กเล็กและเด็กที่ยังไม่คลอด ถือเป็นลักษณะที่แตกต่างจากในอดีตที่เน้นเด็กนักเรียน หรือบุคคลทั่วไป และไม่ได้เพียงใช้ห้องสมุดหรือหนังสือเป็นสื่อในการส่งเสริมการอ่านเท่านั้น แต่ยังใช้ห้องสมุดและหนังสือเพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจให้เข้าไปทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับสังคมอีกด้วย
ซึ่งโครงการ TK park Library Award ทำให้คนทำงานบรรณารักษ์มองภาพได้ชัดเจนขึ้น เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ไม่ได้ตั้งรับเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเข้าไปหาชุมชน เข้าไปหากลุ่มเป้าหมายนั้นให้ได้“ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันบรรณารักษ์มีการพัฒนาตัวองมากขึ้น เริ่มมีมุมมองใหม่ๆ หันมาเพิ่มพูนทักษะความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานฝีมือหรือวิชาชีพอื่นๆ เพื่อนำมาจัดกิจกรรมดึงดูดให้คนหันมาเข้าห้องสมุดกันมากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่บรรณารักษ์จะมุ่งเน้นแต่การจัดการหนังสือหรือตำราภายในห้องสมุดโดยเฉพาะ เมื่อเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้ต่อไปเราไม่สามารถรู้อะไรได้เพียงอย่างเดียวแล้ว เราจะต้องมีความรอบรู้ให้รอบด้าน ซึ่งคนทำงานในห้องสมุดหรือที่เรียกว่า “บรรณารักษ์” เท่านั้น จึงจะเข้าใจว่า สิ่งนี้คือ ... การเปิดโลกของการเรียนรู้”
นางสาว ภัทรวดี ท้าวสาลี บรรณารักษ์อัตราจ้าง ห้องสมุดประชาชนอำเภอน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ TK park Library Award ครั้งที่ 4 กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก และถือเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ โดยผลงานที่ได้นำเสนอในการประกวดครั้งนี้ คือ โครงการผู้สูงอายุรักการอ่านเพื่อสุขภาพ ซึ่งทำให้ห้องสมุดฯ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ในครั้งนี้ “แนวคิดนี้เกิดจากการจัดทำกิจกรรมชุมชนรักการอ่านที่เราได้จัดมานานแล้วกับ 7 ชุมชนในพื้นที่ และนำมาขยายกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเห็นว่าในชุมชนของเรานั้นมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำดอกไม้จันทน์ หลังจากการทำดอกไม้จันทน์ ผู้สูงอายุก็จะเกิดความรู้สึกเหงาเหมือนถูกถอดทิ้ง ทำให้ซึมเศร้าและสุขภาพจิตถดถอย ทางห้องสมุดประชาชนอำเภอน้ำปาด จึงต้องการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับผู้สูงอายุ เพราะเชื่อว่าการอ่านจะช่วยให้ผู้สูงอายุหายเหงา และยังได้สาระความรู้ดีๆ กลับคืนทั้งด้านสุขภาพจิตและสุขภาพกาย”
ส่วนการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านห้องสมุด ณ ประเทศเกาหลีใต้นั้น นางสาวภัทรวดี กล่าวว่า “น่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะจะได้เรียนรู้และศึกษารูปแบบการส่งเสริมการอ่านของบรรณารักษ์และห้องสมุดที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการอ่านหนังสือมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะได้นำความรู้และแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขห้องสมุด หรือ การจัดกิจกรรมของห้องสมุดฯ ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาคุณภาพการเป็นห้องสมุดมีชีวิตต่อไป”