10 ตระกูลยิ่งใหญ่แห่งโลกวรรณกรรม
แม้ว่าเราหลายคนอาจจะไม่ได้เจริญรอยประกอบอาชีพตามพ่อแม่ของเรา แต่ความสามารถพิเศษบางอย่างสามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้ เราได้เห็นพลังของพันธุศาสตร์ศิลปะผ่านผลงานเขียนเล่มแรกของ โซฟี ครัมบ์ (Sophie Crumbs) ซึ่งพ่อของเธอช่วยตรวจแก้ ดูเหมือนว่าดีเอ็นเอทางด้านวรรณคดีจะมีศักยภาพที่จะถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไปได้มาก เรามาดู 10 ตระกูลยิ่งใหญ่แห่งโลกวรรณกรรมกัน
คิงส์ลี่ย์และมาร์ติน เอมิส (Kingsley and Martin Amis)
พ่อลูกนักเขียนชาวอังกฤษคู่นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคำว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ ท่านเซอร์ คิงส์ลี่ย์ ผู้เป็นบิดานั้นเป็นทั้งนักเขียน นักกวี และนักวิจารณ์ เป็นเจ้าของนิยายกว่า 20 เรื่องไม่รวมเรื่องสั้น บทโทรทัศน์และวิทยุ วรรณคดีวิจารณ์ ชีวประวัติ และบทกวีอีก 6 เล่ม ส่วนบุตรชาย มาร์ตินเป็นนักเขียนหนังสือรางวัลและขายดี อีกทั้งเป็นเพื่อนสนิทกับนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่างซัลแมน รัชดี (Salman Rushdie) และเอียน แมคอีแวน (Ian McEwan) พ่อลูกคู่นี้ต่างติดอันดับ 50 นักเขียนชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 เป็นต้นมา
ชาร์ล็อต เอมิลี และแอน บรอนเต้ (Charlotte, Emily, and Anne Bronte)
ชาร์ล็อต เอมิลี และแอน บรอนเต้เป็นที่รู้จักกันในแวดวงวรรณกรรมว่า ‘กวีหญิงตระกูลบรอนเต้’ ทั้งสามคนมีความเหมือนที่แตกต่างกันในด้านการเขียน พวกเขาเขียน แก้ไขงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และผลงานเล่มแรกต่างได้รับการตีพิมพ์ในระยะไล่เลี่ยกัน แถมพี่น้องตระกูลบรอนเต้ยังช่วยกันหลอกผู้อ่านโดยเขียนหนังสือด้วยนามปากกา ครอบครัวเบลล์ (เคอร์เรอร์, เอลลีส และแอคตัน เบล) ก่อนที่ตัวตนจริงจะถูกเปิดเผยในภายหลัง
จอห์น, เบ็นจามิน และซูซาน ชีเวอร์ (John, Benjamin, and Susan Cheever)
จอห์น ชีเวอร์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนเรื่องสั้นยอดเยี่ยมโดยสถาบันศิลปะและวรรณกรรมอเมริกัน ส่วนลูกทั้งสองต่างมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในขณะที่เบนจามินเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงทำงานให้กับ The New York Times และ The New Yorker และยังเขียนนวนิยาย 4 เล่มและแนวสารคดีอีก 2 เล่ม ซูซานบุตรสาวเป็นศาสตราจารย์สอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ในคณะศิลปะศาสตร์ที่นิว สคูล (New School) และยังเขียนนวนิยาย 5 เล่ม ชีวประวัติ 3 เล่ม และอัตชีวประวัติอีก 1 เล่ม
เดวิดและเอมี เซดาริส (David and Amy Sedaris)
ทั้งคู่เป็นนักประพันธ์เรื่องแนวขบขันที่โด่งดัง ด้วยจุดเด่นที่แตกต่างกัน เอมีมีชื่อเสียงในแนวจิกกัด เหน็บแนมที่ทำให้หนังสือแนวฮาวทูของเธอน่าอ่านวางไม่ลง (เรื่องล่าสุดคือ Simple Times: Crafts for Poor People) ส่วนเดวิดสร้างชื่อในฐานะนักเขียนเรียงความและเรื่องสั้นที่เฉียบคม
แมรี โวลล์สโตนคราฟต์ และ แมรี โวลล์สโตนคราฟต์ กอดวิน เชลลีย์(Mary Wollstonecraft and Mary Wollstonecraft Godwin Shelley)
แมรี เชลลีย์โด่งดังจากการเขียนเรื่องแฟรงเก็นสไตน์ (Frankenstein) เมื่อเธออายุได้เพียง 18 ปี แต่ในตอนนั้นเธอเป็นที่รู้จักในนามแมรี โวลล์สโตนคราฟต์ กอดวิน และชื่อเสียงของเธอเริ่มจืดจางลงเมื่อสมรสกับนักกวีแนวโรแมนติก เพอร์ซี เชลลีย์(Percy Shelly) แต่พรสวรรค์ด้านการเขียนของเธอไม่เคยดับลง มารดาของเธอ แมรี โวลล์สโตนคราฟต์ เป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย บทความ บันทึกการเดินทางและประวัติศาสตร์ ที่สนับสนุนสิทธิสตรีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในศตวรรษที่ 18 ก่อนจะเสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร
วิลเลียม ซอมเมอร์เซ็ท และโรบิน มอห์ม (William Somerset and Robin Maugham)
วิลเลียม ซอมเมอร์เซ็ทมอห์มตัดสินใจเป็นนักเขียนแทนที่จะทำงานกฎหมายซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เขากลายเป็นนักเขียนที่โด่งดังและงานชุกที่สุดในยุคนั้น เขาเขียนผลงานมากมายไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรียงความ บทละคร เรื่องสั้น รวมทั้งบทความในหนังสือพิมพ์นับร้อยๆบทความ ส่วนโรบินหลานชายของเขาก็ไม่น้อยหน้า ช่วยเชิดชูวงศ์ตระกูลมอห์มในฐานะนักเขียนนวนิยาย 20 เรื่อง รวมถึงบันทึกการเดินทาง บทละคร และบทโทรทัศน์และวิทยุอีกมากมาย
อีดิธ, ออสเบิร์ต และซาคีเวอเรล ซิทเวล (Edith, Osbert, and Sacheverell Sitwell)
คู่แข่งในแวดวงวรรณกรรมของกลุ่มบลูมส์เบอรี สามพี่น้องตระกูลซิทเวลช่วยกันตั้งสมาพันธมิตรนักเขียนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แม้ทั้งสามคนจะสร้างผลงานออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิยาย บทกวี บทวิจารณ์ แต่ทั้งหมดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะผู้ร่วมเขียน ‘วีลส์’ หนังสือชุดรวบรวมกวีนิพนธ์ของสามพี่น้อง และนักเขียนชื่อดังอย่างอัลดัส ฮักส์ลีย์ และแนนซี คูนาร์ด เป็นต้น
ตระกูลโทลคีน (The Tolkiens)
จะให้สาธยายผลงานที่โดดเด่นของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะมีมากมาย และยังโด่งดังและไม่เคยจืดจางไปตามการจากไปของเขาเลย คริสโตเฟอร์ ผู้เป็นบุตรชายยังช่วยสานต่อชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล ด้วยการเป็นบรรณาธิการและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหลายชายทั้งสองคน ไล่มาตั้งแต่ไมเคิลและไซมอน ยังสร้างชื่อในฐานะนักกวีและนักเขียนนวนิยายอีกด้วย
ชาร์ลส์ ดิกคินส์, โมนิก้า ดิกคินส์ และลูซินด้า ดิกคินส์ ฮอว์คส์ลีย์ (Charles Dickens, Monica Dickens, and Lucinda Dickens Hawksley)
แม้ว่าลูกหลานรุ่นต่อๆมาของเขาไม่สามารถเทียบรัศมีเขาได้ก็ตาม ในแง่การเขียนผลงานที่โด่งดังมากมายของชาร์ลส์ ดิกคินส์ แต่ลูกหลานเหลนโหลนในตระกูลดิกคินส์ หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงต่อมาอีกหลายทศวรรษ ก็ยังช่วยส่งเสริมชื่อเสียงวงศ์ตระกูลให้ยืนยงต่อไปได้ เริ่มตั้งแต่โมนิก้า ดิกคินส์ ผู้เป็นเหลนสาว ได้เขียนนวนิยายถึง 30 เล่ม และหนังสือชุดสำหรับเด็กอีก 3 ชุด ต่อมาก็มีทายาทรุ่นถัดๆมาอย่างลูซินด้า ดิกคินส์ ฮอว์คลีย์ ที่เป็นนักเขียนแนวสารคดีขายดี และระดับมีรางวัลเป็นเครื่องประกันความสำเร็จอีก
นาธาเนียล, ร้อดแมน, สตีเฟน และแฟรงค์ ฟิลบริค (Nathaniel, Rodman, Stephen, and Frank Philbrick)
นาธาเนียลได้เจริญรอยตามบิดาและพี่ชายของเขา โดยเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ก่อนจบออกมายึดอาชีพนักเขียน ได้รับรางวัล National Book Award เมื่อปี พ.ศ. 2544 จากผลงานเรื่อง The Heart of the Sea ทำให้เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงที่สุดในวงศ์ตระกูล ส่วนร้อดแมน ผู้พี่ชายก็ไม่ได้น้อยหน้าเขามากนัก โดยผลิตผลงานหนังสืออ่านทั้งสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก โดยมีผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขามากที่สุด เรื่อง Freak the Mighty และนวนิยายแนววิทยาศาสตร์เรื่อง The Last Book in the Universe ในขณะที่สตีเฟน ผู้เป็นพี่ชายอีกคน และแฟรงค์ ผู้เป็นหลานชาย ก็ร่วมกันเขียนเรื่อง the Backyard Lumberjack
แปลและเรียบเรียงจาก : 10 Literary Family Dynasties
ภาพประกอบจาก : Flavorwire.com