10 นักเขียนไทยกับหนังสือเด่นที่เป็นตำนาน
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ (พ.ศ. 2548-2557) มีนักเขียนไทยล่วงลับถึงแก่กรรมไปไม่น้อย ทิ้งผลงานทรงคุณค่าฝากไว้ในบรรณพิภพมากมาย หนังสือของแต่ละท่านล้วนมีอิทธิพลต่อสังคมไทยและนักอ่านเป็นอย่างสูง ไม่เพียงทางด้านของความรื่นรมย์ แต่ยังส่งผลต่อผู้อ่านในแง่ของการจุดประกายความคิด เกิดพลังใจสร้างสรรค์ตนเองและสังคม และเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวางยาวไกล
เรา – ผู้เดินตามมาทีหลัง ขอใช้ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นการปฏิบัติบูชา เพื่อเป็นเครื่องตอกย้ำความทรงจำและระลึกถึงเหล่านักเขียนผู้ล่วงลับทุกนาม แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงไม่สามารถหยิบยกผลงานของนักเขียนระดับครูมานำเสนอได้ครบถ้วนทั่วทุกคน คงทำได้เพียงแนะนำนักเขียน 10 ท่าน เพื่อมาเป็นตัวแทนบรรดานักเขียนไทยผู้วายชนม์ในรอบ 10 ปีที่มิได้เอ่ยอ้างถึง หาใช่เป็นเพราะท่านที่มีชื่อปรากฏนี้เด่นดีกว่าผู้ที่ไม่มีชื่อปรากฏไม่
1. เสนีย์ เสาวพงศ์ (2461 - 2557)
ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ เป็นนักการทูต นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2533 ผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือ ปีศาจ ซึ่งเขียนเมื่อ พ.ศ. 2496 ทว่ากลับได้รับความนิยมข้ามยุคสมัยและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความคิดของหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
โครงเรื่องของปีศาจเป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับสังคมศักดินาที่ยังยึดติดกับค่านิยมเดิมๆ โดยมี สาย สีมา และรัชนีย์ ตัวละครเอกของเรื่องที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียม โดยคนทุกคนสามารถกำหนดความเป็นไปของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยชาติกำเนิดหรือพรหมลิขิต คำพูดของสาย สีมา ในช่วงท้ายคือคำประกาศอย่างท้าทายซึ่งสะท้อนให้เห็นแก่นและที่มาของชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดี
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้แต่ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกะพันยิ่งกว่าอคิลลิสหรือซิกฟรีด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา”
2. ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (2475 - 2552)
ณรงค์ วงษ์สวรรค์ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2538 เจ้าของฉายา ''พญาอินทรีแห่งสวนอักษร'' นักเขียนผู้ผลิตผลงานออกมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คอลัมน์ในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี รวมไปถึงบทภาพยนตร์ ผลงานสร้างชื่อได้แก่ ใต้ถุนป่าคอนกรีท โดยเขียนเหน็บแนมคนไทยในอเมริกาช่วงยุคบุปผาชนกำลังเบ่งบาน ถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่น่ารักและน่าชังในคราวเดียวกัน
เอกลักษณ์ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือเรื่องของสำนวนภาษาที่มีความสวิงสวายแหวกขนบ เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร บ้างก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้ภาษาขั้น “วิบัติ” เช่นคำว่า นาฑี HA-HA
“ถนนเนืองนองผู้คน! ปืนคำรามขับไล่! กระสุนของมันโปรยปลิว! รถถังกัมปนาทน่าเกรงขาม! ผู้คนวิ่งพรูเข้าประจันหน้าด้วยมือเปล่าเปลือยๆ ! บางคนมีดุ้นไม้ที่หักรานจากข้างถนน ! ไฟไหม้! แสงแดดจ้านเปลี่ยนเป็นหม่นและมืดคลุ้มจากควัน! เฮลิคอปเตอร์ฉวัดเฉวียนเย้ยหยัน! เสียงร้องไห้และตะโกนเคียดแค้น! หลายคนพยายามเหยียดตัวของเขาให้แบนลงแนบถนนหลบกระสุนปืน! แล้วนาฑีต่อมา เขาเผ่นโผนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง! บางคนโดนฉีกแขนและขาขาดวิ่น! ในมือบางคนมีระเบิดขวดใบน้อยไม่น่ามีพิษถ้าเทียบกับรูเหล็กสีดำของปืนที่ซุ่มซ่อนตามซอกตึก! ผู้คนยังหลั่งไหลมาเนืองนอง! คาวเลือด! คราบเหงื่อและน้ำตา! กลิ่นควันลามกอนาจารของควันปืน! และลมหายใจของเสรีภาพ! “
3. ศรีฟ้า ลดาวัลย์ (2473 - 2556)
หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2539 เป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดีเกี่ยวกับชีวิตเจ้านายในวัง ท่านมีหลากหลายนามปากกา ที่คุ้นเคยกันได้แก่ สีฟ้า จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เป็นต้น งานเขียนของหม่อมหลวงศรีฟ้ามีจำนวนกว่าร้อยเรื่อง ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จำนวนมาก และบางเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า นวนิยายของท่านชี้ให้เห็นปัญหาและปรากฏการณ์ทางสังคมโดยไม่ตัดสินหรือชี้นำทางความคิด ผลงานที่โดดเด่น เช่น ขมิ้นกับปูน ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวของชนชั้นนำในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
4. อังคาร กัลยาณพงศ์ (2469 - 2555)
อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ทั้งทางด้านกวีและจิตรกรรม จนได้รับสมญานามว่าเป็น กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ที่ชุบชีวิตขนบวรรณศิลป์โบราณให้เติบโตสอดคล้องกับวรรณศิลป์ร่วมสมัย และมุ่งสร้างสรรค์บทกวีที่เตือนมนุษย์ให้ออกจากความโง่เขลาแล้วมุ่งสู่หนทางแห่งปัญญา โดยการพินิจธรรมชาติและเรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติ สุนทรียภาพทางภาษาของอังคารมีความแปลกแตกต่างไปจากผู้อื่น คือมีความแข็งกร้าวและโลดโผน บางครั้งก็ใช้ฉันทลักษณ์ที่ไม่ตายตัว
ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์
ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ
เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นฤๅ ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ
หยาบยโสกักขฬะอธรรม เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์
ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์ จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน
หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน ทรมานทุกข์ร้อนร้ายนิรันดร์เอย ฯ
อังคาร ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2532 จากเรื่อง กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ และได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2529 จากกวีนิพนธ์เรื่อง ปณิธานกวี
5. ชอุ่ม ปัญจพรรค์ (2464 - 2556)
ชอุ่ม แย้มงามเป็นทั้งนักเขียน นักแต่งบทละครวิทยุและละครโทรทัศน์ บรรณาธิการ และนักแต่งเพลงให้กับวงสุนทราภรณ์ งานเขียนของชอุ่ม ปัญจพรรค์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในนิตยสารสตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อน เช่น สตรีสาร ศรีสัปดาห์ แม่บ้านการเรือน เดลิเมล์วันจันทร์ แสนสุข และสกุลไทย ได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2546 จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผลงานสร้างชื่อได้แก่ ทัดดาวบุษยา ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นละครหลังข่าวถึง 5 ครั้ง
6. วาณิช จรุงกิจอนันต์ (2491 - 2553)
วาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียนหนังสือหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทกลอน เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร หนังสือสำหรับเด็ก สารคดี แม้กระทั่งบทละครจักรๆ วงศ์ๆ จนถูกตั้งฉายาว่าเป็น “นักเขียนโชห่วย” คือจะหยิบจับสิ่งใดก็นำมาเขียนได้สารพัดเรื่องราวอย่างไม่มีใครเทียบได้ วาณิชได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2527 จากหนังสือ ซอยเดียวกัน รวมเรื่องสั้นที่มีความหลากหลายทั้งเรื่องที่อ่านสนุกและสะท้อนภาพความเป็นไปของคนเมืองในแง่มุมต่างๆ อาทิ เรื่อง ครกกับสาก ที่ทำให้เห็นคนชายขอบในสังคมเมืองซึ่งต้องดิ้นรนในการสร้างฐานะ เรื่อง ผาติกรรม ที่นำเสนอความขัดแย้งเรื่องคุณค่าในการอนุรักษ์และมิติทางจิตวิญญาณซึ่งสวนทางกับเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรื่อง บ้านเราอยู่ในนี้ซอยเดียวกัน ที่ทำให้เห็นถึงปัญหาอาชญากรรมในสังคมเมือง แต่ผลงานที่ผู้คนรู้จักมากที่สุดคือนวนิยายเรื่อง แม่เบี้ย ซึ่งถูกนำไปทำเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้ง
7. กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (2509 - 2549)
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์เจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2539 จากหนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง แผ่นดินอื่น หนึ่งในสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของกลุ่มนาคร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ จึงทำให้งานเขียนของกนกพงศ์มีกลิ่นอายวัฒนธรรมท้องถิ่นปักษ์ใต้อยู่มาก ทว่าเนื้อหากลับมีความเป็นสากลร่วมสมัยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาชีวิตในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคม ผ่านเรื่องราวธรรมชาติพื้นถิ่นที่เขาอาศัยอยู่ ระหว่างปี 2531-2533 กนกพงศ์เป็นเจ้าของสถิตินักเขียนผู้มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในหน้านิตยสารมากที่สุด ทั้งยังเป็นนักเขียนที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงวรรณกรรมไทยยุคนั้น ด้วยเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวกว่าขนบทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลช่อการะเกด ถึง 2 ปีซ้อน จากเรื่องสั้น สะพานขาด ปี 2532 และ โลกใบเล็กของซัลมาน ในปี 2533
8. คำพูน บุญทวี (2471 - 2546)
คำพูน บุญทวีศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2544 นักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดี ในฐานะที่ท่านเกิดและเติบโตมากับสังคมอีสาน ทำให้ผลงานล้วนแล้วแต่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาวอีสาน ทั้งโดยการบอกเล่าภาพวิถีชีวิต การใช้ผญาและกลอนลำ และการนำเสนอเรื่องราวความเชื่อทางจิตวิญญาณ
ลูกอีสาน เป็นตัวแทนชีวิตในวัยเด็กของผู้เขียน ที่เติบโตมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น แสดงให้เห็นชีวิตชนบทที่มีความสุข ความทุกข์ และการต่อสู้อย่างทรหด อดทนกับความแปรปรวนของธรรมชาติ ผลงานเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2522 เป็นหนึ่งใน 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาฝรั่งเศส
9. สุวัฒน์ วรดิลก (2466 - 2550)
สุวัฒน์ วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 นักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย ละครเวที และนักหนังสือพิมพ์ ใช้นามปากกาหลากหลายชื่อ แต่ที่ผู้อ่านรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ รพีพร มีผลงานนวนิยายกว่า 88 เรื่อง ผลงานของสุวัฒน์ได้รับการกล่าวถึงว่ามีความสร้างสรรค์และสื่อถึงทัศนะอันลึกซึ้งต่อชีวิตและสังคม มุ่งเน้นถึงปัญหาที่มีลักษณะสากล ไม่ได้ผูกอยู่กับสังคมใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้บุกเบิกวงการละครเวทีของไทย ทำหน้าที่เขียนบท กำกับการแสดง อำนวยการแสดง ตั้งคณะละครขึ้นเองคือ “ชุมนุมศิลปิน” นวนิยายที่โดดเด่นคือเรื่อง ลูกทาส ซึ่งฉายภาพอดีตในสมัยที่สยามยังมีระบบไพร่ทาส หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เขาหันมาสนใจและทุ่มเทกับงานเขียนแนวการเมืองและนวนิยายสะท้อนสังคม
10. กรุณา กุศลาสัย (2463-2552)
กรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2546 นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนบทความและสารคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมอินเดีย เริ่มเขียนงานตั้งแต่ยังเป็นสามเณร โดยใช้นามปากกาว่า “สามเณรไทยในสารนาถ” เขียนบทความลงในธรรมจักษุ พุทธศาสนา และประชาชาติ
งานเขียนของท่านมีคุณค่าทางปัญญาและปรัชญาที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ นับเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาไทยที่เรียบง่ายแต่วิจิตรงดงาม ผลงานสร้างชื่อได้แก่ พบถิ่นอินเดีย แปลจาก The Discovery of India ของยวาหระลาล เนห์รู งานแปลชิ้นนี้ทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ทางด้านอินเดียศึกษา รวมถึงช่วยเปิดมุมมองถิ่นฐานทางด้านเอเชียใต้ให้กว้างขึ้นอีกด้วย อีกเล่มหนึ่งคือ คีตาญชลี โศลกแห่งการบูชาแปลจาก Gitanjali ของรพินทรนาถ ฐากุร ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและดาวน์โหลดหนังสือ “เต็มสิบ” 10 ปีทีเคพาร์ค : 1 ทศวรรษการอ่านของสังคมไทย
แหล่งภาพ
www.lokwannee.com/web2013/?p=105811
www.naewna.com/local/48760
http://th.wikipedia.org/wiki/ชอุ่ม_ปัญจพรรค์
www.thaipoem.com/fiction/12204
http://kiennews.exteen.com/20060219/entry
http://www.oknation.net/blog/nn1234/2012/09/04/entry-1
www.yasofocus.com/board/viewthread.php?tid=270
http://th.wikipedia.org/wiki/%27รงค์_วงษ์สวรรค์
www.oknation.net/blog/insanetheater
http://th.wikipedia.org/wiki/กรุณา_กุศลาสัย