การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังอาจฟังดูเป็นกิจกรรมแสนธรรมดาเกินกว่าที่พ่อแม่ยุคใหม่จะหันมาสนใจ ทว่าการอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือนิทานให้เด็กฟังนี่เองที่สามารถทำให้เด็กน้อยสามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้เหนือกว่าเด็กทั่วไปได้หลายขุม ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือนิทานเล่มเล็กๆ ที่บรรจุเรื่องราวความยาวเพียงสั้นๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสมองและสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจของเด็กให้สมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ดังเช่นโครงการ Bookstart หรือโครงการ “หนังสือเล่มแรก” ที่ดำเนินการในนานาประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าการเลี้ยงเด็กให้ฉลาดและมีสมรรถนะดีนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่อ่านหนังสือให้พวกเขาฟังครั้งละไม่กี่นาทีเป็นประจำทุกวันเท่านั้น
โครงการหนังสือเล่มแรกหรือ Bookstart เกิดขึ้นที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โครงการนี้ส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเป็นทารกอายุไม่ถึงหนึ่งขวบ ผลลัพธ์ที่ได้คือเด็กเล็กในโครงการจำนวน 300 คนมีพัฒนาการเป็นเลิศในทุกๆ ด้านเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านภาษาหรือการคำนวณ โครงการหนังสือเล่มแรกนี้ได้ขยายไปสู่ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งประเทศในทวีปยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลียไปจนถึงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ และในที่สุดมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กก็ได้นำโครงการหนังสือเล่มแรกเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กได้ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ TK park ดำเนินการโครงการ Bookstart จนสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินโครงการดังกล่าวกับเด็กๆ จาก 106 ครอบครัว และในฐานะแหล่งการเรียนรู้ของครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่มีความทันสมัย อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงไม่พลาดที่จะจัดกิจกรรมดีๆ ให้เชื่อมโยงกับโครงการหนังสือเล่มแรกเพื่อส่งเสริมการอ่านในครอบครัวเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ อย่างแน่นอน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาเด็กปฐมวัยให้ฉลาดและสมรรถนะดี” ที่สำคัญคือบรรดาวิทยากรผู้ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ประกอบด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กถึง 3 ท่าน ได้แก่ คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย และ คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมอุทยานการเรียนรู้ TK park
คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน (คุณโน) บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย กล่าวถึงกิจกรรมด้านการอ่านของอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า “ห้องสมุดมีชีวิต” คือแนวคิดหลักของอุทยานการเรียนรู้ TK park โดยมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับหนังสือหลายอย่าง ที่ผ่านมาอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรมให้พ่อแม่สามารถมาประดิษฐ์หนังสือทำมือให้กับลูก ผลปรากฏว่ามีทั้งคุณพ่อและคุณแม่มาร่วมเย็บหนังสือเป็นจำนวนไม่น้อย กิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นการจุดประกายให้ผู้ปกครองตระหนักรู้ว่าการอ่านรวมไปถึงกิจกรรมที่สืบเนื่องจากการอ่านนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ในครอบครัว
บรรยากาศการคุยเฟื่องเรื่องพัฒนาเด็กให้ฉลาดด้วยกิจกรรมการอ่านหนังสือ
อุทยานการเรียนรู้ TK park มองว่านิทานเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก จึงได้จัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่านิทานด้วยตนเอง และผลของกิจกรรมการเล่านิทานของเด็กก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยเห็นได้ชัดจากโครงการ “หนูน้อยนักเล่านิทาน”ของอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่มีหนูน้อยยอดนักเล่านิทานคือ น้องต้นหลิว - ด.ญ.ธรพชรพรรณ พูลศรี มาร่วมกิจกรรมทำหน้าที่นักเล่านิทานเป็นประจำ กระทั่งล่าสุดน้องต้นหลิวสามารถพัฒนาทักษะการเล่านิทานจนสามารถทำหน้าที่เป็นพิธีกรได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา
เริ่มต้นสีสันการเสวนากับ คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมอุทยานการเรียนรู้ TK park (ซ้าย)
และอาจารย์เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (ขวา)
นอกจากโครงการหนูน้อยนักเล่านิทานแล้วอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดโครงการ “ถุงผ้าลูกรักนักอ่าน” ซึ่งประยุกต์มาจากโครงการหนังสือเล่มแรก ซึ่งโครงการถุงผ้าลูกรักนักอ่าน เป็นสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกTK park ที่มีลูกตั้งแต่แรกเกิดถึง 12 ปี สามารถยืมหนังสือและของเล่นเพื่อการเรียนรู้ภายในห้องสมุดเด็กเพิ่มได้ที่มุมหนังสือลูกรักนักอ่าน ภายในถุงผ้าประกอบด้วยหนังสือสำหรับเด็ก 4 เล่ม หนังสือสำหรับคุณพ่อคุณแม่และของเล่นเพื่อการเรียนรู้ 1 ชิ้น พร้อมกระเป๋าผ้าสวยงาม 1 ใบ
ผลของโครงการคือเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น และทำให้พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือเพื่อลูก รวมทั้งอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังเป็นผู้จัดทำหนังสือนิทานสี่ภาคและหนังสือเสียงเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กอีกด้วย จากการจัดกิจกรรมด้านการอ่านอันหลากหลายดังกล่าวทำให้ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ตระหนักว่าพ่อแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอย่างมาก และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการอ่านของเด็กผ่านผู้ปกครอง
อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย (ซ้าย)
เตรียมให้แนวคิดสำหรับการพัฒนาเด็กด้วยการอ่านหนังสือในครอบครัว
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กอย่างเข้มข้น อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข หรืออาจารย์หวาน เริ่มต้นกล่าวกระตุ้นให้ผู้ใหญ่เล็งเห็นถึงความเฉลียวฉลาดและศักยภาพการเรียนรู้อันเป็นเลิศของเด็กทุกคนว่า เด็กเกิดมาพร้อมกับความกระหายใคร่รู้ ธรรมชาติได้ให้ความฝันและจินตนาการเป็นของขวัญกับเด็กๆ ทุกคนมาตั้งแต่เกิด โดยสามารถสังเกตง่ายๆ ว่า เมื่อพูดถึงไดโนเสาร์คำเดียวก็สามารถทำให้เด็กๆ จินตนาการไปได้อย่างกว้างไกล ในขณะที่ผู้ใหญ่อาจนึกถึงภาพแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมกันนั้นเด็กยังเกิดมาพร้มกับความปรารถนาที่จะเป็นคนดี กล่าวคือเด็กทุกคนอยากทำดีกับพ่อแม่ และสิ่งสำคัญคือเด็กเกิดมาพร้อมกับศักยภาพยิ่งใหญ่ที่เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ซึ่งพร้อมจะงอกงาม เพียงแต่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันรดน้ำพรวนดิน
วงเสวนารื่นรมย์ไปกับคุณศักดิ์ ปิ่นประทีป (ซ้าย) และ อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข (ขวา)
ด้านคุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก หรือที่เด็กๆ รู้จักกันในนามของ “พี่ตุ๊บปอง” เจ้าของผลงานหนังสือนิทานแสนสนุกหลายเรื่อง ได้ให้ข้อคิดด้านการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอีกว่า ทุกเรื่องของเด็กทุกคนเป็นเรื่องใหม่ อีกทั้งทุกช่วงของชีวิตล้วนเกิดการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น
จากการที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเป็นผู้ดำเนินการโครงการหนังสือเล่มแรกหรือ Bookstart ในประเทศไทย คุณเรืองศักดิ์กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ที่มาของโครงการหนังสือเล่มแรกมาจากคำถามตั้งต้นที่ว่าประเทศอื่นเขาทำอย่างไรให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีจนสังคมพัฒนา แล้วเราเล็งเห็นว่าโครงการ Bookstart ที่เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษทำให้เด็กเกิดพัฒนาการได้มาก อีกทั้งแนวคิดจากโครงการ Bookstart ยังได้รับการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นจนทำให้โครงการนี้เติบโตในญี่ปุ่นอย่างแพร่หลายด้วยความรวดเร็วอีกด้วย”
ในเบื้องต้นคุณเรืองศักดิ์ผู้เป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ของโครงการหนังสือเล่มแรกในประเทศไทยได้ให้แนวคิดสำคัญว่า ผู้ปกครองหลายคนอาจคิดว่าการใช้หนังสือเป็นสื่อการเรียนรู้จำเป็นต้องใช้กับเด็กที่สามารถอ่านออกเขียนได้แล้วเท่านั้น ทว่าสำหรับการทำโครงการ Bookstart ผู้ปกครองต้องละลายความคิดนี้ออกไปเสียก่อน เพราะในความเป็นจริง เราสามารถเริ่มใช้หนังสือกับเด็กตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะสามารถอ่านหนังสือออกได้เสียอีก ประเด็นสำคัญของการอ่านหนังสือคือการที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ เมื่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะส่งผลให้เด็กสามารถพัฒนาด้านอารมณ์หรืออีคิว (E.Q.)ได้ดีมาก และหลังจากนั้นเด็กจึงจะเกิดพัฒนาการด้านสติปัญญาหรือไอคิว (I.Q.) ตามมาจากสรรพสิ่งและข้อมูลที่ได้เรียนรู้จากการที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง การที่พ่อแม่อุ้มลูกและอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นสามารถพัฒนาชีวิตของเด็กได้เป็นอย่างดี หากพ่อแม่เล่านิทานให้เด็กฟังแล้ว ในลำดับถัดมาเมื่อเด็กมีความพร้อมเขาจะสามารถเล่านิทานให้พ่อแม่ฟังได้อย่างน่ามหัศจรรย์
จากการที่ผู้ปกครองมักคิดว่าตนเองเล่านิทานไม่เป็น อาจารย์ธิดาแสดงทัศนคติต่อความคิดดังกล่าวว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่พ่อแม่จะไม่เล่านิทานให้เด็กฟัง แต่สิ่งที่ควรทำคือพ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังต่างหาก เมื่อพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังไปหลายๆ วันแล้ว จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเฝ้ารอคอยช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่เปี่ยมสุขนี้ ส่งผลให้ทั้งพ่อแม่และลูกติดการเล่านิทานไปโดยปริยาย และในที่สุดพ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะการปฏิบัติต่อลูกเช่นนั้นจะทำให้ลูกสามารถหาความสุขจากการอ่านด้วยตนเองในวันข้างหน้า ผลที่ได้คือเด็กจะไม่เสพติดการดูโทรทัศน์ ไม่ติดเกม สาเหตุหลักของผลลัพธ์ดังกล่าวคือเมื่อพ่อแม่เปลี่ยนไปในทิศทางใดลูกจะเปลี่ยนไปตามทิศทางนั้นด้วย ตามธรรมชาติเด็กจะเชื่อในภาพที่เห็นมากกว่าคำพูดที่พ่อแม่สอน ดังนั้นหากพ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เด็กก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบจนก่อให้เกิดนิสัยรักการอ่าน
ผู้เข้าร่วมงานฟังการเสวนาอย่างตั้งใจ
พร้อมกันนั้นอาจารย์หวานยังแสดงความห่วงใยต่อเด็กๆ ด้วยว่า ทุกวันนี้เด็กมีความเปราะบางทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในปัจจุบันการที่คู่แต่งงานมีสถิติหย่าร้างกันถึงหนึ่งในสามถือเป็นภาวะอย่างหนึ่งที่เด็กต้องเผชิญ เด็กบางคนหมกมุ่นอยู่กับเกมจนไม่สามารถถอนตัวออกมาได้ เด็กบางคนใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปลูกฝังให้เด็กสามารถยืนหยัดอยู่ในโลกให้ได้ สมัยนี้พ่อแม่ตามใจลูกมากเกินไปจนเด็กไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร พ่อแม่จำเป็นต้องสอนเด็กให้แข็งแกร่ง อีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้เด็กมีหนังสือเป็นเพื่อนด้วย
จากการที่ “หนังสือ” เป็นคำตอบของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็ก การที่จะทำให้เด็กๆ มีหนังสือเป็นเพื่อนก็ทำได้ไม่ยาก โดยอาจารย์ธิดาเน้นย้ำแนวคิดของการใช้หนังสือในครอบครัวว่า เด็กๆ อยากฟังเสียงของพ่อแม่มากที่สุด ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรคิดว่ามีเพียงคุณครูเท่านั้นที่เล่านิทานได้สนุก ในทางกลับกันพ่อแม่ควรใช้เวลาสั้นๆ เพียงห้าถึงสิบนาทีต่อวันเล่านิทานให้ลูกฟัง เพราะช่วงเวลาของการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามหาศาล การอ่านหนังสือกับเด็กสามารถสร้างพัฒนาการทั้งด้านภาษาและให้คุณค่าทางจิตใจกับเด็กได้พร้อมกัน หนังสือนิทานสามารถสร้างช่วงเวลาคุณภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกได้เพราะพ่อแม่สามารถสอนลูกได้อย่างแนบเนียนร่วมไปกับการเล่านิทาน โดยเรื่องราวในนิทานจะไปกระตุ้นจินตนาการความคิดของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานและคล้อยตามไปกับเหตุการณ์และตัวละครต่างๆ ในนิทาน
สำหรับการเลือกหนังสือของเด็กนั้น อาจารย์หวานแนะนำว่า ผู้ปกครองควรเลือกหนังสือที่มีจำนวนหน้าไม่มากและควรเลือกหนังสือที่มีความแข็งแรงทนทานหรือหนังสือชนิด Board Book แม้ว่าในช่วงก่อนวัยเรียนเด็กจะไม่ได้อ่านหนังสือเอง แต่เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังจะทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นไปกับเรื่องราวในหนังสือได้เช่นกัน และเมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังหลายๆ รอบ จะส่งผลให้ตัวเด็กเองต้องการให้พ่อแม่นำหนังสือกลับมาอ่านให้ฟังซ้ำอีก นอกจากนี้ควรเลือกหนังสือนิทานที่มีภาพประกอบที่โดดเด่นเพื่อทำให้เด็กเล็กๆ รู้สึกสนใจ หลังจากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้นอีกระยะควรเลือกหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก เช่นนิทานที่ปรากฏฉากการรับประทานผักหรือการแปรงฟัน การอ่านนิทานที่มีลักษณะเนื้อหาดังกล่าวให้เด็กฟังทำจะช่วยทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงจินตนาการและเรื่องราวในนิทานเข้ากับการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองได้ทำให้เป็นการขัดเกลานิสัยเด็กโดยอ้อม โดยธรรมชาติเมื่อโตขึ้นเด็กจะเริ่มสนใจนิทานที่มีเรื่องราวการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ และเด็กจะเริ่มสะสมคลังคำศัพท์มากขึ้นเรื่อยๆ จากการฟังนิทานอีกด้วย
ในฐานะนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก คุณเรืองศักดิ์กล่าวเสริมถึงลักษณะนิทานที่เหมาะสำหรับเด็กอีกว่า จุดเด่นของนิทานของเขาคือการใช้คำคล้องจอง คุณเรืองศักดิ์หรือพี่ตุ๊บปองจะบรรจุเรื่องราวความรักไว้ในนิทานที่แต่งสำหรับเด็กๆ เสมอ เช่น การสอดแทรกเรื่องราวความรักระหว่างครอบครัว ความรักระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งเล็กๆ อีกทั้งในนิทานสำหรับเด็กของพี่ตุ๊บปองยังต้องมีความงามทั้งภาพและคำ รวมถึงประกอบด้วยเนื้อหาที่น่ามหัศจรรย์และลี้ลับ
ช่วงท้ายวิทยากรเปิดเวทีให้ผู้ฟังการเสวนาแสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อสงสัย
คุณเรืองศักดิ์ยังฝากข้อคิดเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับความสำคัญของการอ่านหนังสือให้เด็กฟังอีกด้วยว่า พ่อแม่ต้องให้อาหารสี่จานกับลูก จานที่หนึ่งคืออาหารกายหรือความสมบูรณ์ด้านโภชนาการ จานที่สองคืออาหารใจหมายถึงการปฏิบัติดีกับลูก เช่นการที่พ่อแม่โอบกอดลูก อาหารจานที่สองนี้จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงทางจิตใจและชีวิต ตัวอย่างที่สำคัญของอาหารประเภทนี้คือการที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง และในที่สุดจะทำให้ลูกมีจิตใจมั่นคงเพราะการปฏิบัติเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่รักเขาและเห็นเขามีความสำคัญ อาหารจานที่สามคืออาหารสมอง เช่น เสียงเพลง ดนตรี การเคลื่อนไหวตามจังหวะ ศิลปะและสุนทรียภาพจากการอ่านหนังสือ อาหารจานที่สี่คืออาหารธรรมะ หรือการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่ก็จะทำให้ลูกปฏิบัติดีตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศกุล ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ (ที่ 3 จากขวา) ร่วมถ่ายภาพกับวิทยากรและผู้เข้าฟังการเสวนา
ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยภัยของสิ่งยั่วยุต่างๆ มากมาย การพัฒนาลูกอันเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ให้แข็งแกร่งทั้งกายและใจ สามารถทำได้ด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่สร้างได้ทั้งความรักและความผูกพันในครอบครัว ที่สำคัญคือสร้างศักยภาพการเรียนรู้อันไม่รู้จบให้กับเด็กตัวน้อยๆ ที่จะนำไปพัฒนาได้ตลอดชีวิตอันรุ่งโรจน์ของพวกเขาในอนาคตได้อีกยาวไกล
ภิญญา ตันติวัตนะ
-------------------
เอกสารอ้างอิง
- Bookstart. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก www.bookstart.org.uk สืบค้น 4 เมษายน 2554.