อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
แต่ถ้าหากเราสามารถนำทั้ง “ความรู้” และ “จินตนาการ” มาผสมผสานจนเกิดเป็นกระบวนการต่อยอดอันสร้างสรรค์จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบนี้อาจค้นพบได้ในงาน “ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2554” ซึ่งจัดโดย อุทยานการเรียนรู้ TK park, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, นิตยสาร Mother&Care และภาคีเครือข่ายกว่า 20 หน่วยงาน
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยรับรู้และเห็นความสำคัญของวันหนังสือเด็กแห่งชาติ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดต่อเนื่องขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แต่ยังคงความเต็มอิ่มกับการรวบรวมแหล่งความรู้ที่พร้อมจะเปิดโลกจินตนาการของเด็กๆ ด้วยแนวคิดหลักที่ว่า “หนังสือ คือ จินตนาการ”
เริ่มต้นงานในวันที่ 1 เมษายน 2554 กับบรรยากาศเปิดงานที่แสนอบอุ่น ด้วยการรวมพลตัวมาสคอตขวัญใจของคุณหนูๆ ไม่ว่าจะเป็น กุ๋งกิ๋ง, น้านกฮูก หรือ อีเล้งเค้งโค้ง เพื่อต้อนรับเด็กๆ ในงานอย่างเป็นกันเอง พร้อมต่อกันด้วยการแสดงเต้นประกอบเพลงในช่วงเวลาอันแสนวิเศษจากเด็กพิเศษ โดยซีพี ออลล์ ก่อนจะปิดท้ายการแสดงจากนิทานแสนสนุก ที่บอกเล่าโดยหนูน้อยยอดนักเล่านิทาน ผู้ได้รับรางวัลจากโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานครั้งที่ผ่านมา
เหล่าบรรดามาสคอตมอบความสุขให้กับเด็กๆ
เมื่อการแสดงโหมโรงอย่างครื้นเครงได้จบลง ช่วงเวลาสำคัญก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้ขึ้นกล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน
“วันหนังสือเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักแต่งนิทานเด็กของโลกชาวเดนมาร์ก คือ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน อีกด้วย นอกจากนั้นคณะกรรมการนานาชาติด้านหนังสือเด็กและเยาวชน ยังได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน เป็น “วันหนังสือเด็กนานาชาติ” อีกด้วย
และตั้งแต่ในปี 2552 เป็นต้นมา สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทางด้านเด็กและเยาวชน จัด“โครงการร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ” ขึ้น และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการสนับสนุนของหน่วยงานภาคีที่มีมากขึ้นทุกๆ ปีและผู้เข้าร่วมงานที่ให้การตอบรับอย่างดียิ่งทุกช่วงวัย
สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้ง 3 วันนี้ ล้วนเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด ‘หนังสือ คือ จินตนาการ’ เพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัว เด็กและเยาวชนมีความตื่นตัวในเรื่องการอ่านมากขึ้น มีกิจกรรมรองรับสำหรับเด็กเล็ก เด็กโต คุณครู และผู้ใหญ่ที่สนใจทุกท่าน ซึ่งเราจะใช้พื้นที่ทั้งหมดของอุทยานการเรียนรู้ TK park แห่งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้พบกับนักเขียน นักเล่านิทาน นักแต่งนิทาน และนักวิชาการผู้คลุกคลีอยู่กับแวดวงหนังสือและวรรณกรรม เหล่าคนดังจากแวดวงต่างๆ มาร่วมทำกิจกรรมภายในงานอีกด้วย
สิ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือ อยากให้เกิดการอ่านหนังสือร่วมกันในครอบครัว ให้เป็นภาพแห่งความประทับใจ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาเป็นคนที่รักการอ่าน และเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับความมุ่งหวังของ คุณปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ที่ได้กล่าวต้อนรับว่า “อุทยานการเรียนรู้ TK park และเครือข่ายภาคี พร้อมที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนสังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยแนวคิดการส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหนังสือและสื่อมัลติมิเดียที่ทันสมัยเข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกท่านได้เก็บเกี่ยวความรู้ ความประทับใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากที่สุด”
ในที่สุด ช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยฝากให้ผู้ปกครองได้ใช้กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในงานนี้สานความสัมพันธ์กับครอบครัว และท่านยังได้ให้เกียรติเล่านิทานเรื่อง “หิวจัง หิวจัง” หนังสือนิทานเล่มแรกในวาระ 10 ปี มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้เด็กๆ และยังสร้างบรรยากาศของความอบอุ่นเสริมสร้างจินตนาการในการเริ่มต้นกิจกรรมได้เป็นอย่างดี
ร่วมถ่ายภาพความประทับใจ
และเพียงไม่นานเสียงเพลงการแสดงนิทาน เรื่อง “คำพ่อสอน” จากศูนย์หนังสือจุฬาและขบวนการนักอ่านก็ดังขึ้น เรียกความสนใจจากผู้เข้าร่วม ซึ่งเรื่องนี้ให้ข้อคิดดีๆ จากหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อดำเนินตนให้เป็นคนทีมีคุณภาพของสังคม ต่อกันด้วยการแสดงประกอบเพลง “ป่าลั่น” จากน้องๆ สุดน่ารัก โดยสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย ลีลาอ่อนช้อยและรอยยิ้มจากเด็กน้อย ก็ชวนสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้เข้าร่วม และปิดเบรกการแสดงจากสำนักพิมพ์สกายบุ๊กส์ ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ มาเล่านิทานชาดก “พระเจ้า500 ชาติ” ซึ่งพูดได้เพียงคำเดียวว่าทักษะการเล่านิทานของเด็กๆ เก่งเกินอายุ เพราะสามารถดัดแปลงเรื่องที่ยาก ให้สามารถเข้าใจได้อย่างสนุกสนานและได้ความรู้
เหล่าน้องๆ นักแสดงเล่านิทานมากความสามารถ
เริ่มต้นภาคบ่ายอย่างมีสาระด้วย “เสวนาเกี่ยวกับโปสเตอร์วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” ซึ่งปรากฏภาพโปสเตอร์เป็นเด็กน้อยนั่งอ่านหนังสือในท่าเอนกายสบายบนก้อนเมฆ รอบๆ มีดอกบัวผุดพรายเปรียบดังแสงที่สว่างทางปัญญา และเบื้องบนเป็นกลุ่มสีทองสว่างเต็มไปด้วยอักษรไทยนานาคำ
ภาพโปสเตอร์วันหนังสือเด็กแห่งชาติ
โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แก่ คุณพรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก,อาจารย์สุรเดช แก้วท่าไม้ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบ และคุณอี้ - แทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการสำคัญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมากมาย
“ภาพโปสเตอร์นี้วาดโดย อาจารย์ธีระวัฒน์ คะนะมะ ซึ่งเป็นภาพลายไทยประกอบการวาดอย่างสวยงาม และสร้างมิติให้ผู้คนได้จินตนาการตามแบบที่ตนเองเข้าใจ แต่ทั้งหมดก็ยังคงขึ้นอยู่กับแนวคิดหลักคือ จินตนาการจากการอ่าน” อาจารย์สุรเดชได้ให้คำวิเคราะห์ภาพอย่างชื่นชม
เช่นเดียวกับคุณพรอนงค์ที่ได้กล่าวว่า “ภาพโปสเตอร์ในวันหนังสือเด็กแห่งชาติทุกๆ ปีเต็มไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์และต้องการสื่อให้เห็นความสำคัญของวันหนังสือเด็กที่ไม่ได้จัดขึ้นแค่ในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังจัดขึ้นไปทั่วโลกอีกด้วย”
ด้านคุณอี้ แทนคุณ ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวแทนด้านการสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนแล้ว ยังเป็นตัวแทนในฐานะของพ่อได้กล่าวฝากคำทิ้งท้ายไว้ว่า “การอ่านนอกจากเสริมทักษะความรู้ให้กับเด็ก ยังสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับครอบครัว เป็นการเชื่อมต่อความรักความผูกพันของพ่อแม่ลูกในช่วงเวลาพิเศษของการอ่านหนังสือ ซึ่งจะทำให้เด็กพัฒนาตนเองอย่างดีมากยิ่งขึ้น”
บรรยากาศการเสวนาที่ได้รับสาระความรู้มากมาย
ยังไม่หมดกับกิจกรรมสุดสนุกที่พร้อมดึงดูดใจเด็กๆ ด้วยการแสดงบรรเลงเพลงประกอบเรื่องราว “มหัศจรรย์แห่งการอ่าน” โดยสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ซึ่งเน้นย้ำอย่างให้เห็นแง่คิดว่าการอ่านหนังสือสำคัญมากเพียงไร นอกจากนี้ยังพบกับการบอกเล่าประวัติบุคคลสำคัญ “ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน” ซึ่งมีวันคล้ายวันเกิดในวันที่ 2 เมษายน และเป็นนักเขียนนิทานชาวเดนมาร์กคนสำคัญ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากจินตนาการจนสืบต่อมายังปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนิทานเรื่องลูกเป็ดขี้เหร่, เจ้าหญิงเงือกน้อย และ เด็กหญิงขายไม้ขีดฝัน โดยอาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ ก่อนพบกับการเล่านิทานจากหนูน้อยยอดนักเล่านิทาน ที่จะมาแสดงฝีไม้ลายมือที่ผู้ใหญ่เห็นยังต้องทึ่ง และปิดท้ายด้วยนิทานเพลง แสนสนุกดนตรีฟังสบาย ให้ผู้เข้าร่วมเก็บภาพความประทับใจไปอย่างเต็มอิ่ม
กิจกรรมดีๆ ที่ได้ทั้งความรู้และความบันเทิงในหนึ่งเดียว
งานร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติยังได้ขนขบวนพาเหรดอัดแน่นตลอดช่วงระยะเวลา 10.30-18.00 น. ในวันที่ 1-3 เมษายน 2554 เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์จินตนาการ และมอบความรู้อย่างมีสาระให้กับผู้ใหญ่ พร้อมทั้งยังสามารถเกาะติดกิจกรรมภายในงานแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.tkpark.or.th
แล้วคุณจะรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องเทียบความสำคัญระหว่าง “จินตนาการ” หรือ “ความรู้” เพราะทั้งสองสามารถเคียงคู่ไปด้วยกัน โดยร้อยเรียงผ่านกิจกรรมการอ่านอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพของเยาวชนไทยสืบต่อไป
พลอยบุษรา