เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญของไทย เนื่องจากในวันที่ ๑๓ เมษายน หรือวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ ซึ่งคำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่า ย่างขึ้น, ก้าวขึ้น, การย้ายที่ หรือเคลื่อนที่ อันเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ย่างจากราศีมีนสู่ราศีเมษ คนไทยจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัด “เทศกาลสงกรานต์ บานตะไท ๒๕๕๕” ขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๓-๒๒ เมษายน ๒๕๕๕ พร้อมกิจกรรมดีๆ มากมายมาให้สมาชิกได้สนุกไปกับการเรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณและหาชมได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕ อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลฯ ที่ TK park จัดขึ้นนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้ถึงส่วนผสมและขั้นตอนการทำน้ำอบแบบฉบับดั้งเดิม อันเป็นน้ำหอมของคนไทยในสมัยก่อน และรู้จักกับน้ำอบไทยสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต่อยอดความรู้จากน้ำอบไทยโบราณ โดยเพิ่มคุณค่าของน้ำอบไทยและปรับส่วนผสมให้สามารถใช้ได้ทุกโอกาส เหมาะกับคนในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการแสดงวงโปงลาง วงดนตรีมโหรีอีสานที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย หากยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของดนตรีพื้นเมืองแบบดั้งเดิม
เรียนรู้วิธีชีวิตไทยโบราณจาก “น้ำอบไทย”
“น้ำอบไทย” เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่งที่คนไทยในสมัยก่อนนิยมใช้เป็นเครื่องประทินผิวนับตั้งแต่แต่สมัยสุโขทัย แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป เกิดน้ำอบฝรั่งที่ผลิตจากหัวน้ำหอม ค่านิยมในการใช้น้ำอบไทยจึงลดลง คงไว้ใช้เฉพาะในพิธีการงานสำคัญเท่านั้น อาทิ งานมงคลสมรส งานสงกรานต์ งานขึ้นปีใหม่ การสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือการใช้ในงานศพ เป็นต้น
ผศ.ไศลเพชร ศรีสุวรรณ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เล็งเห็นคุณค่าของของน้ำอบไทย จึงพัฒนาน้ำอบไทยสูตรดั้งเดิมให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ได้มากยิ่งขึ้น จนได้ผลิตภัณฑ์น้ำอบสามฤดูที่เหมาะกับคนในยุคปัจจุบันและอุดมไปด้วยคุณค่าจากสมุนไพรไทย สามารถนำมาใช้ได้ตลอดทั้งปี
อาจารย์ไศลเพชร เล่าถึงคุณสมบัติและประโยชน์ของน้ำอบแต่ละสูตรว่า “น้ำอบฤดูร้อน มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการจากการแสบร้อน ผดผื่นคัน ที่เกิดจากอากาศร้อน แสงแดด หรือเหงื่อไคล และให้ความรู้สึกเย็นสดชื่น น้ำอบฤดูฝน มีสรรพคุณช่วยรักษาและป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เกิดจากความชื้น ซึ่งสกัดได้จากสมุนไพรไทย เช่น ดอกอัญชัน มีกลิ่นหอมของดอกคาบาน่า ส่วน น้ำอบฤดูหนาว เป็นน้ำอบกลิ่นดอกกุหลาบ น้ำมันที่สกัดได้จากดอกกุหลาบมีสรรพคุณช่วยคงความชุ่มชื่นของผิว นอกจากนี้ยังมี น้ำอบสูตรดอกบัว ซึ่งใช้ได้ในทุกฤดูกาล” ทั้งนี้น้ำอบสามฤดูยังได้รับรางวัลจากการประกวดในงาน Seoul International Invention Fair 2009 (SIIF2009) อีกด้วย
กิจกรรมในวันนี้นอกจากเด็กๆ และผู้ปกครองจะได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์ ตลอดจนความเป็นมาและคุณค่าของน้ำอบไทยแล้ว ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อป “การทำน้ำอบไทย” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมปรุงสูตรพิเศษ
ส่วนผสมของการทำน้ำอบไทย ได้แก่ ใบเตยหอม ไม้จันทน์เทศ ไม้ชะลูด แป้งหิน หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แป้งร่ำ หัวน้ำหอมกลิ่นมะลิ พิมเสน และเทียนหอม สำหรับวิธีการทำน้ำอบไทยเริ่มจากต้มน้ำสะอาดให้เดือด โดยระหว่างรอน้ำเดือดให้มัดใบเตยหอมที่ล้างทำความสะอาดแล้วให้เป็นปมขนาดพอดีกำมือ เมื่อน้ำเดือดจึงใส่ใบเตยหอม ไม้จันทน์เทศ และไม้ชะลูดที่ควั่นเป็นกิ่งเล็กๆ ลงไปต้มด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ ๑๕-๒๐ นาที จากนั้นพักไว้ให้เย็นโดยไม่เปิดฝา
ขั้นตอนต่อไปเป็นการอบด้วยเทียนหอม โดยจุดเทียนแล้วดับเทียนให้เกิดควัน วางเทียนลงบนทวน (ภาชนะวางเทียน) ตั้งไว้ตรงกลางโถหรือหม้ออบเพื่อให้กลิ่นหอมจากเทียนหอมกระจายโดยทั่วกัน ทั้งนี้การอบแต่ละครั้งจะใช้เวลาอบครั้งละประมาณ ๒๐ นาที อบเช่นนี้ทั้งหมด ๘ ครั้ง สุดท้ายเป็นขั้นตอนในการปรุงน้ำอบ นำแป้งหินมาตำหรือบดในครกให้ละเอียด แล้วเทลงในภาชนะเพื่อผสมกับน้ำสะอาด กวนจนแป้งละลายเป็นเนื้อเดียวเดียวกับน้ำ จากนั้นเติมหัวน้ำหอมกลิ่นมะลิและผงพิมเสนลงไปเล็กน้อย กวนให้เข้ากัน นำน้ำอบที่ได้มาบรรจุลงในภาชนะตามต้องการ
การปรับปรุงน้ำอบไทยจนได้ผลิตภัณฑ์น้ำอบสามฤดูนี้นับเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อันเกิดจากภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งไม่เพียงแต่ให้กลิ่นหอม หากยังเพิ่มคุณค่าด้วยสรรพคุณทางยาจากสมุนไพรไทยนานาชนิด นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยโบราณที่สอดแทรกมากับภูมิปัญญาไทยอย่างการทำน้ำอบ กล่าวได้ว่าเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป
ร่วมสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยกับ “วงโปงลาง”
กิจกรรมส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ บานตะไท ๒๕๕๕ ยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยที่เข้ากับบรรยากาศของเทศกาลรื่นเริงมาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชมกัน กับการแสดง “เถิดเทิงรำซิ่ง สนุกเซิ้งโปงลาง” วงมโหรีอีสาน วงดนตรีพิ้นเมืองชื่อดังของภาคอีสาน ซึ่งมี “โปงลาง” เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกของวง
แม้ชื่อวงดนตรีจะมีชื่อว่าวงโปงลาง แต่ภายในวงประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสานอีกหลายชนิด ได้แก่ โปงลาง พิณโปร่ง แคน โหวด ไหซอง กลองหาง รำมะนาหรือกลองตุ้ม หมากกะโหล่งหรือหมากกั๊บแก๊บ ฉาบเล็กและฉาบใหญ่
โปงลาง-พิณโปร่ง
โหวด
แต่เดิมเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสานนิยมเล่นเดี่ยวตามความถนัดของนักดนตรีในแต่ละท้องถิ่น เช่น พิณ แคน ซอ หรือกลอง เป็นต้น แต่จะมาเล่นดนตรีร่วมกันเฉพาะในโอกาสงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ ต่อมานักดนตรีแต่ละท้องถิ่นมีการไปมาหาสู่ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีในท้องถิ่นตน กอปรกับเล่นดนตรีเข้าจังหวะกันมากขึ้น กระทั่งเริ่มกลายเป็นวงดนตรีและพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นวงโปงลางดังเช่นปัจจุบัน
พิณเบส
ในสมัยก่อนการแสดงของวงโปงลางจะแสดงเสียงสดของเครื่องดนตรีโดยไม่มีเครื่องขยายเสียง แต่เครื่องดนตรีของวงโปงลางที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น พิณโปร่งเปลี่ยนมาใช้ใช้พิณไฟฟ้าเพื่อให้สะดวกต่อการปรับใช้เครื่องดนตรีกับเครื่องขยายเสียง นอกจากนี้ยังมีพิณเบส (มีเสียงเหมือนเบสสากลแต่ปรับรูปลักษณ์ให้เข้ากับวงโปงลาง) เพิ่มเข้ามาคุมจังหวะแทนไหซอง ซึ่งแต่เดิมนั้นไหซองเป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง มีนักดนตรีชายเป็นผู้ดีดให้จังหวะ แต่ในปัจจุบันนางไหหรือคนดีดไหเป็นผู้หญิง และดีดไหเพื่อแสดงท่วงท่าการร่ายรำอันสวยงาม
เมื่อวงโปงลางเริ่ม “การบรรเลงเปิดวง” ท่วงทำนองอันรวดเร็ว สนุกสนานตามแบบฉบับของดนตรีพื้นเมืองอีสาน บริเวณลานสานฝันจึงมีผู้คนหนาตาขึ้น อาจารย์ตุ๊ก จิรานนท์ ผู้ฝึกสอนและควบคุมวงอธิบายหลังจากการบรรเลงเปิดวงจบลงว่า การแสดงชุดนี้เป็นสัญญาณบอกให้ผู้ชมรับทราบว่าการแสดงโปงลางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ชุดที่สองคือ “มโหรีอีสาน” เป็นการผสมผสานท่วงทำนองของเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ได้รับความนิยม โดยมีเครื่องดนตรีหลัก ได้แก่ กลองตึ้ง รำมะนา ฉาบ และเครื่องดนตรีบรรเลงทำนองอย่างน้อย ๑ ชนิด เป็นเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะ ซึ่งแต่ละวงอาจมีลูกเล่นหรือท่วงทำนองเพลงที่แตกต่างกันไป เราสามารถชมรูปแบบการแสดงเช่นนี้ได้ในขบวนแห่งานบุญประเพณีต่างๆ
ลำดับถัดมาเป็นการแสดงชุด “ฟ้อนภูไท ๓ เผ่า” ที่นำเอามรดกทางวัฒนธรรมของชาวภูไทที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม มาปรับใช้ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ กรมศิลปากรได้จัดส่งคณะอาจารย์และนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ดลงพื้นที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม เพื่อรวบรวมท่าฟ้อน กลอนรำ ดนตรี และการแต่งกายของชาวภูไท จนเกิดเป็นการแสดงชุดนี้ขึ้น หลังจากชมท่วงท่าการฟ้อนอันงดงามแล้ว กลับมาครึกครื้นด้วยจังหวะดนตรีที่คึกคักอีกครั้งกับ “เต้ย ๓ จังหวะ” การแสดงประกอบท่าร่ายรำประกอบเพลงเต้ย ๓ จังหวะ คือ เต้ยธรรมดา เต้ยโขง และเต้ยพม่า ซึ่งวงโปงลางนิยมบรรเลงปิดท้ายการแสดงในแต่ละครั้ง และนักแสดงทุกคนจะขึ้นมาร่ายรำบนเวทีร่วมกันอย่างสนุกสนาน
“การรักษาวัฒนธรรมไทยนั้นเปรียบเสมือนการรักษาชาติ เพราะทุกความคิดและการกระทำของเราล้วนบ่งบอกความเป็นตัวตนของเรา หากเราใส่ใจที่จะเรียนรู้และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยไม่ว่าจะเป็นดนตรี นาฏศิลป์ หรือศิลปะแขนงอื่นๆ ก็ถือเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย และย้ำเตือนความเป็นไทยที่มีอยู่ในตัวเรา” อาจารย์จิรานนท์ยังฝากข้อคิดดีๆ แก่เยาวชนและผู้ปกครองก่อนปิดท้ายการแสดงโปงลางด้วยการแสดงชุด “ลำเพลิน”
แล้วกลับมาพบกับกิจกรรมดีๆ ให้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park และติดตามข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.tkpark.or.th หรือ www.facebook.com/tkparkclub
**เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวงโปงลาง**
แต่เดิม “โปงลาง” มีชื่อเรียกว่า “เกราะลอ” เป็นเครื่องดนตรีที่ท้าวพรหมโคตร ซึ่งเคยอยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาก่อนเป็นผู้คิดทำขึ้น โดยเลียนแบบเกราะที่ใช้ในหมู่บ้าน เกราะลอทำจากไม้หมากเลื่อม (ไม้เนื้ออ่อน สีขาว มีเสียงกังวาล) มัดร้อยเรียงกันด้วยเถาวัลย์ ใช้ตีไล่ฝูงนกกาที่มากินข้าวในไร่นา ต่อมาท้าวพรหมโคตรได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกลางเหมือน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ถ่ายทอดการตีเกราะลอให้แก่นายปาน นายปานได้เปลี่ยนเกราะลอ จาก ๖ ลูก เป็น ๙ ลูก มี ๕ เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา เมื่อนายปานเสียชีวิต นายขานน้องนายปาน ได้รับการถ่ายทอดการตีเกราะลอ และนายขานเป็นผู้ถ่ายทอดการตีเกราะลอให้ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สาขาศิลปะการแสดงผู้พัฒนาโปงลางให้เป็นเครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้ศึกษาค้นคว้า ปรับปรุง และพัฒนาโปงลางตลอดระยะเวลา ๔๐ ปี จนทำให้เกราะลอที่เป็นเพียงสิ่งที่ใช้ตีไล่นกกาตามไร่นา พัฒนาเป็น "โปงลาง" เครื่องดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานเคียงคู่กับแคน
..อรวันดา..