ถ้าอยากจะลองชมละครเวทีสนุกๆ โชว์มายากลเจ๋งๆ ฟังละครเพลงเสียงใส หรือละครใบ้เรียกเสียงฮา เราคงหาชมกันได้ยากพอดู เพราะคงไม่มีที่ไหนที่จะรวบรวมการแสดงเหล่านี้มาไว้ในที่เดียวกัน
แต่ในวันที่ 14 - 15 กรกฎาคม 2555 อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับศูนย์นวัตกรรมศิลปะการแสดงเพื่อพัฒนาเยาวชน (IPAC) และคนรักศิลปะกว่า 30 เครือข่าย ได้ร่วมกันแปลงโฉมลานสานฝัน ให้เป็นเวทีสำหรับเยาวชนคนมีฝันและใจรักศิลปะ ที่รวบรวมทุกการแสดง ทุกโชว์ มาไว้ในงานเทศกาลศิลปะสร้างสรรค์เพื่อเยาวชน ภายใต้แนวคิด The Little Big Project คนเล็ก หัวใจใหญ่ เพื่อพัฒนาเยาวชนและแสดงออกถึงพลังสร้างสรรค์ของงานศิลปะแขนงต่างๆ
นอกจากจะมีการแสดงให้ชมกันอย่างจุใจแล้ว รายได้จากการจำหน่ายเสื้อที่ระลึกภายในงานยังนำไปช่วยเหลือน้องๆ ซึ่งป่วยด้วยโรคออทิสติกและดาวน์ซินโดรมด้วย
เมื่อเดินผ่านเข้ามาในงาน จะพบนิทรรศการและศิลปะประดิษฐ์ Little Frame Big Memory เป็นฐานที่ให้น้องๆ ได้วาดรูประบายสี บอกเล่าความในใจผ่านงานศิลปะ และร่วมกันประดิษฐ์สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ โดยมีพี่ๆ ในฐานคอยให้ความดูแลและช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการถ่ายภาพผู้ร่วมงานเป็นที่ระลึก ซึ่งจะนำมาประดับบนฉากหลัง เปรียบเหมือนการที่ทุกคนได้มาร่วมงานในวันนี้ เก็บภาพประทับใจเป็นภาพใบเล็กๆ แต่สิ่งที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ในความทรงจำนั้นช่างยิ่งใหญ่และยาวนานกว่านั่นเอง
กิจกรรม Little Frame Big Memory
หลังจากไปร่วมสนุกในนิทรรศการการประดิษฐสิ่งของกันเรียบร้อยแล้ว เราก็มานั่งชมการแสดงโชว์ชุดต่างๆ ที่เป็นหัวใจหลักในงานครั้งนี้กัน โดยตลอดวันจะมีการแสดงกว่า 10 ชุด มานำเสนอกันตลอดทั้งวัน ให้เสพกันอย่างจุใจ
เริ่มต้นจากการแสดงละครใบ้ เรื่อง “พระจันทร์สีส้มอมชมพู” โดย สถาบันละครใบ้ คนหน้าขาว และการแสดงมายากลในการแสดงชุด “Clown Comedy” ของตัวตลก Pan Show เรียกเสียงหัวเราะจากเด็กๆ เป็นอย่างมาก การแสดงชุดนี้มีลูกเล่นมากมาย ตั้งแต่การพูดด้วยเสียงเล็กแหลมชวนน่าขบขัน การเล่นมายากลที่พร้อมกับเฉลยเทคนิคด้วยท่าทางยียวนกวนอารมณ์ ผสมกับการชวนให้น้องๆ ได้มาร่วมสนุกเป็นผู้ช่วยในการแสดงมายากลด้วย เช่น การเสกดอกไม้ การเป่าลูกโป่ง
การแสดงมายากลสนุกๆ ของ Pan Show
การแสดงที่เด็กๆ ให้ความสนใจมากนั้น มีละครเรื่อง “Dream so good” จากทีม MOZARZ ACADEMY ที่บอกเล่าเกี่ยวกับเด็กหญิงคนหนึ่ง ได้ฝันว่าตัวเองไปในดินแดนสวรรค์ และต้องช่วยเทวดานีโอ ตามหาคนทำความดีให้ได้สามคน เพื่อขัดขวางไม่ให้ซาตานมายึดครองสวรรค์ เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างสนุกสนาน เข้าใจง่าย และสอดแทรกคติสอนใจว่าด้วยการต่อสู้ของความดีความชั่ว ที่สุดท้ายแล้วพลังของธรรมะต้องชนะอธรรมอย่างแน่นอน
อีกเรื่องหนึ่ง คือ “ไม่ร้ายอย่างที่คิด” โดย ค่ายละครติสท์แตก ซึ่งนำเสนอเหล่าตัวละครในนิทานมาเล่าด้วยมุมมองใหม่ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ “เออร์ซูล่า” แม่มดปลาหมึกใจร้ายจาก นิทานนางเงือกน้อย ที่อีกด้านหนึ่งแล้วเธอเป็นคนขี้เหงาว้าเหว่ “หมาป่า” จากนิทานเรื่องลูกหมูสามตัว และ “ยักษ์จินนี่” จากอาลาดินกับตะเกียงวิเศษ ซึ่งแม้ว่าทั้งคู่จะมาจากนิทานคนละเรื่อง แต่พวกเขาทั้งสองกลับเป็นเพื่อนสนิทกัน ทั้งสามคนต้องมาร่วมแข่งขันเล่าเรื่องในรายการ “เรื่องจริง Got Talent” โดยผู้ที่เล่าเรื่องได้สนุก และมีคนให้ความสนใจ จะได้รับรางวัลที่หนึ่งไปครอบครอง
เทวดานีโอ และเหล่าซาตาน
เหล่าตัวละครจากโลกนิทานในละคร “ไม่ร้ายอย่างที่คิด”
การแสดงยังทยอยโชว์กันอย่างต่อเนื่องไม่หยุด มีทั้งฝีมือการแสดงจากน้องๆ นักเรียนวัยประถมฯ-มัธยมฯ ที่ออกลีลาบทบาทได้เทียบเท่ากับนักแสดงมืออาชีพเลยทีเดียว เช่นละครเพลงเรื่อง “Lido Theatre de Lamoure : โรงละครแห่งรัก” จากน้องๆ โรงเรียนพรตพิทยพยัต เนื้อหาเล่าถึงชาร์ลอตต์นักเต้นสาวชื่อดัง ที่แอบหลงรักกับชายหนุ่มตกยาก ความรักของทั้งคู่ถูกกีดกันโดยแม่ของชาร์ล็อตเอง ข้อเด่นที่น่าสนใจของการแสดงชุดนี้ มีทั้งการร่ายรำชวนตื่นตาตื่นใจ บทละครเข้มข้นชวนลุ้น และยังมีเพลงเพราะๆ ให้ฟังทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย เรียกได้ว่ามางานเดียวได้เรียนรู้ไปสองภาษาเลย
ส่วนการแสดงอีกหนึ่งชุดจากฝีมือน้องๆ โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ ใน “ละครใบ้แสนสนุก” แบ่งเป็นละครหลายๆ ตอน คือตอนไม้ตีแมลงวัน เมื่อเด็กชายคนหนึ่งต้องพยายามหาอาวุธมาปราบเจ้าแมลงวันตัวน่ารำคาญ ตอนลูกโป่ง นักแสดงต้องออกท่าทางเหมือนลูกโป่งนั้นเป็นของที่หนักยากเกินกว่าจะควบคุมได้ ตอนหุ่นยนต์เล่าถึงหุ่นยนต์ตุ๊กตาไขลานที่ขยับได้ดั่งมีชีวิต และตอนสุดท้ายนักดนตรี ที่ใช้เสียงจากเครื่องดนตรีสื่อถึงอารมณ์ต่างๆ ของตัวละคร เช่น กลองแทนการตื่นเต้น ตื่นตัว ไวโอลินแทนความเศร้า กีตาร์แทนความร่าเริง สดใส
ส่วนการแสดงรุ่นใหญ่ ของนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษานั้น มีการแสดงจาก คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการแสดง มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่นำแรงบันดาลใจจากหนังสือ มาดัดแปลงเป็นบทละคร ถึง 3 เรื่อง 3 รส คือ “เจ้าหญิงน้อย” จากหนังสือ “เจ้าหญิงน้อย” บอกเล่าเรื่องราวของเด็กน้อย ซึ่งยังคงเป็นเจ้าหญิงอยู่เสมอ ไม่ว่าในยามที่ฐานะร่ำรวยผู้คนยกย่อง หรือในยามที่ยากจน ผู้คนห่างเหินหนี แต่หัวใจของเธอ ก็ยังเป็นเจ้าหญิงไม่เปลี่ยนแปลง
“Cheese” จากหนังสือ “ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? (Who moves my cheese?)” เล่าถึงคนแคระสองคนคือฮอว์กับเฮ็ม และหนูสองตัว ที่กินเนยแข็งเป็นอาหาร จนวันหนึ่งเมื่อเนยแข็งที่มีอยู่เกิดค่อยๆ หมดไป และหายไป พวกเขาจะต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้และจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
บี - จีรวัฒน์ งามโสภณลุยกุล นักแสดงในเรื่อง เล่าถึงที่มาที่ไปของการเตรียมตัวว่าการเลือกเรื่องนี้คือมองถึงกลุ่มคนดูว่าเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ และการนำมาดัดแปลง น่าจะทำให้เด็กๆ เยาวชนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นด้วย
ส่วนในเรื่องการซักซ้อมและเตรียมพร้อมก่อนการแสดงนั้น นิก - จุฑามาศ กิตตินาทกำธร ยอมรับว่าบทที่ต้องเล่นเป็น “หนู” ในเรื่องนั้นยากมาก และต้องแสดงให้เหมือนจริง
“ปัญหาใหญ่สุดคือด้านกายภาพ ต้องย่อตัวตลอดเวลา มือต้องไม่อยู่สุข ต้องวิ่งตลอดเวลา ต้องฟิตร่างกายมากๆ แต่ก็เต็มที่มากค่ะ ดีใจมากๆ ที่เด็กๆชอบ”
ส่วนละครเวทีอีกเรื่องซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานเรื่องเล่าของไทยคือ “ท้าวแสนปม” เนื้อหาสะท้อนถึงคนที่มีปมในใจเรื่องความรัก ด้วยเพราะรูปร่างที่อัปลักษณ์ แม้ว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเล่าจักรๆ วงศ์ๆ แต่เป็นละครที่สนุกสนานและเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก ด้วยลีลาการแสดงและกลวิธีที่ให้เหล่านางสนม ต้องมาพลิกบทบาท สวมบทเป็นนายทหาร และพระราชาไปพร้อมๆ กันในฉากเดียว
ทราย - สุภาภรณ์ แสงไพสรรค์ และ ปูเก้ - ปรารถนา ใจปานแก่น ที่ต้องรับบททั้งนางสนม สลับกับพระราชาและนายทหาร บอกว่า การเล่นเปลี่ยนรับบทใหม่ๆ เป็นความสนุก และทำให้เรื่องดูมีสีสันมากขึ้น แต่วิธีการนี้ก็เป็นการยากที่ต้องสวมหลายบทในเวลาเดียวกัน ต้องซักซ้อมให้แม่น
ด้าน นัท - ปิยณัฐ ช้างวิเศษ ผู้รับบทนางอุษา นางเอกของเรื่องในวันนี้เล่าว่า แม้เนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องไทยๆ ที่คนดูอาจจะคิดว่าเชยและล้าสมัย แต่การใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม หรือการปรับบทให้ผู้ชายมาเล่นเป็นนางเอก หรือให้บทตัวละครอื่นๆ เปลี่ยนสลับไปมา ก็สร้างความน่าสนใจและทำให้คนดูได้หันมาสนใจวรรรณกรรมชิ้นนี้
ลีลาในท้าวแสนปม
ต่อมา เป็นการแสดงจาก นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รุ่น 16 และรุ่น 18 ที่นำเสนอถึง 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่อง “I am (ข้าคือ)” เนื้อหาเกี่ยวกับการตัดสินว่าใครเป็นผู้สำคัญกว่า ระหว่างความสร้างสรรค์ ร่ำรวย ชื่อเสียง อำนาจ เวทมนตร์ พละกำลัง และวิทยาศาสตร์ หรือ “แม่” ผู้ให้กำเนิด ส่วนอีกเรื่องคือ “กาลละครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” เมื่อคุณตาเล่านิทานของผู้กล้าที่ต้องต่อสู้ปราบมังกรร้าย และคนตัวใหญ่เพื่อความสงบสุขของชาวบ้าน สุดท้ายแล้ววีรบุรุษต้องเป็นผู้ชนะเสมอไปหรือไม่? เป็นการทิ้งคำถามให้กับคนดูได้อย่างน่าคิด
ใครคนไหนจะเป็นผู้ชนะ ใน “I am (ข้าคือ)”
ฉากบางตอนใน “กาลละครั้งหนึ่งนานมาแล้ว”
ปิดท้ายด้วยละครเรื่อง “CA airline” จาก น้องๆ คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารการแสดง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่องราวความโกลาหลวุ่นวาย ของผู้คนหลายชีวิต ที่ต้องมาอยู่ในเครื่องบินลำเดียวกัน มีทั้งกัปตัน แอร์โอสเตส หญิงชรา พ่อแม่ลูก สาวประเภทสอง คู่รัก และนักการเมือง จนเกิดเหตุการณ์ปล้นกลางอากาศ มีการฆาตกรรม เครื่องบินกำลังจะโหม่งโลกและอุปกรณ์ชูชีพที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร ละครเรื่องนี้ใช้เทคนิคการเล่าโดยการย้อนเรื่องราวของตัวละครแต่ละคนก่อนจะเดินทางมาขึ้นเครื่องบิน แสดงให้เห็นว่าตัวละครทุกตัวนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มีเหตุผลในการแสดงพฤติกรรมอย่างไร รวมถึงสะท้อนเรื่องความรัก และการเสียสละของคนในครอบครัว
สายการบินที่แสนวุ่นวาย
หลังจากการแสดงทั้งหมดจบลง เราแวะมาพูดคุยกับ เจ๊ท - สมเจตน์ ยามาเจริญ ตัวแทนจากศูนย์นวัตกรรมศิลปะการแสดงเพื่อพัฒนาเยาวชน (IPAC) ได้ให้ความคิดเห็นว่าเยาวชนรุ่นใหม่มีความสามารถ และทำงานได้ดีมาก แม้ในขั้นตอนแรก จะพบกับปัญหาและอุปสรรค รวมถึงความกังวลใจในเรื่องต่างๆ ทั้งงบประมาณ สถานที่ หรือผู้ร่วมแสดง แต่ทุกคนก็สามารถเริ่มต้น เรียนรู้จากปัญหาเหล่านั้น ได้พบเจอเครื่อข่าย หน่วยงานและเพื่อนฝูงที่ดี ที่พร้อมให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือ ทำให้คนทำงานมีกำลังใจในการสู้ต่อไป จนผลักดันให้งานในวันนี้สำเร็จเกิดขึ้นมาได้
“สิ่งหนึ่งที่สังเกตคือ ทุกคนที่มาวันนี้มีความสุขมาก งานนี้ทำให้ได้เจอเพื่อน ได้เจอคนที่มีใจ ชอบอะไรคล้ายๆ กันมารวมกัน ได้มาพบเจอคนที่เหมือนเรา ชอบเหมือนเรา ถ้าไม่มีใจ คงไม่มีใครมา ถ้าไม่ได้ชอบงานเด็กและเยาวชน คงไม่มีใครมา แต่งานนี้ทุกคน ได้มีพื้นที่ในการโชว์ผลงานของตัวเอง ได้เก็บเกี่ยวรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะจากคนดูกลับไป สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะศิลปินแล้ว”
สมเจตน์ ยามาเจริญ หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญของโครงการครั้งนี้
แม้งานเทศกาลในวันนี้อาจจะจบลงแล้ว แต่ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องที่จัดการแสดงเพื่อให้เยาวชนได้พัฒนาตัวเอง และสร้างสรรค์สังคมไปพร้อมกัน แม้ว่าจะเป็นการรวมพลังของเยาวชนคนตัวเล็กๆ แต่ผลงานศิลปะที่สำแดงกันนั้น “ใหญ่” เกินกว่าที่ผู้ใหญ่หลายคนจะคาดคิดเอาไว้เสียอีก
พลตรัย