กิจกรรมการส่งต่อเรื่องราวที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ในกิจกรรม ‘Inspire by Idols’ ยังคงจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2556 เวลา 14.00 – 15.00 น. ที่ผ่านมา บริเวณลานสานฝันได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ คุณกิตติพจน์ อรรถวิเชียร อดีตบรรณาธิการ นิตยสาร Be Magazine มาเป็นผู้นำในการบอกเล่าประสบการณ์ การจัดทำ Mini Magazine ASEAN BLOOMS นิตยสารเพื่อเล่าประสบการณ์อาเซียนของเยาวชนไทย จากโครงการประกวดบทความ “ชีวิตชีวาอาเซียน Asean Blooms (บุปผาอาเซียน)”
Inspired by คุณกิตติพจน์ อรรถวิเชียร
พล เวย์ แม็ค 3 เยาวชนร่วมเล่าประสบการณ์
โครงการการประกวดบทความดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ BE Magazine เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 18-24 ปี ได้แสดงทัศนคติและมุมมองของตนเองต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยการคัดเลือกและตัดสินผลงานจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน คือ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คุณทราย-อินทิรา เจริญปุระ พิธีกร นักแสดง นักเขียน และ คุณกิตติพจน์ อรรถวิเชียร อดีตบรรณาธิการบริหาร BE Magazine ซึ่งมีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่ พล-ทรงพล วุฒิไกรศรีอาคม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปปฏิบัติงาน ณ ฮานอย-ฮาลองเบย์ ประเทศเวียดนาม, เวย์-พิชญา เพ็งจันทร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปปฏิบัติงาน ณ หลวงพระบาง ประเทศลาว และ แม็ค-รัชชานนท์ เกตุรามฤทธิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไปปฏิบัติงาน ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทั้ง 3 คน ได้ร่วมออกเดินทางไปเก็บข้อมูลประเด็นทางสังคมร่วมกับทีมงาน BE Magazine ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรม Inspired by Idol ได้เชิญบรรณาธิการและเยาวชนผู้ร่วมโครงการมาบอกเล่าเรื่องราวในการทำงานเพื่อที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจต่อไป
Mini Magazine ASEAN BLOOMS
“น้องๆ ทุกคนจะต้องเขียนงานแล้วก็เลือกประเทศที่ตัวเองอยากจะไป นำเสนอประเทศนั้นๆ เท่าที่ตัวเขาจะพอนึกภาพได้ ซึ่งเขาทำออกมาได้ดีจนน่าจะพาไปดูว่าที่ประเทศจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร” คุณกิตติพจน์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการทำงาน ซึ่งผลงานทั้ง 3 ชิ้นนี้ได้ผ่านการคัดเลือกมาจากบทความกว่า 150 ชิ้นจากทั่วประเทศ
เริ่มจากประเทศเวียดนาม พล-ทรงพล วุฒิไกรศรีอาคม เจ้าของบทความ ฟอเรนจ์-แฟมิเลีย ความต่างในความคุ้นเคยของฮานอย-ฮาลองเบย์ ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับมาว่า “ผมมองว่าประเทศเวียดนามมีหลายสิ่งที่คล้ายกับไทย ทั้งทำเลที่ตั้ง ทรัพยากร วิถีชีวิต แล้วประเทศไทยก็ถือว่ามีความเจริญก้าวหน้าซึ่งเวียดนามเขาพยายามขึ้นมาเทียบชั้นกับไทย ซึ่งผมก็อยากจะรู้ว่าจะมีอะไรในประเทศนั้นที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศเขาขับเคลื่อนไป แล้วก็รากฐานของประเทศเขาเป็นอย่างไร ผมเลยสนใจที่จะไปเวียดนาม”
“ก่อนไปก็มีการค้นหาข้อมูล แต่ว่าสิ่งที่ได้ก็จะเป็นการพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยว แต่การที่เราได้ไปอยู่กับเขาจริงๆ ก็เป็นการไปดูชีวิตไปเห็นสภาพวิถีสังคม”
แน่นอนว่าการเดินทางไปในครั้งนี้ไม่ใช่การไปท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนจะต้องกลับมาเขียนบทความเพื่อที่จะรวบรวมเป็นนิตยสาร คุณกิตติพจน์จึงได้กล่าวเสริมถึงวิธีการเตรียมตัวว่า “น้องๆ ก็ต้องค้นข้อมูลก่อนที่จะไป อันดับที่สองคือการวิเคราะห์ว่าสังคมที่เขาได้ไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยนั้น สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาต้องใช้ชีวิตเองหมด โดยต้องทำงานร่วมกับช่างภาพด้วย ต้องคิดว่าอยากจะได้ภาพแบบไหนกลับมาทำงาน นี่คือการวางแผนของพวกเขา”
พลได้เริ่มเล่าถึงเรื่องราวที่ได้ไปพบเจอระหว่างการเดินทาง “ปัญหาที่พบ คือ ไกด์ที่เราจ้างมาเขาเป็นชาตินิยมมาก แล้วเขาเคยมาเที่ยวไทย เขาก็บอกว่าประเทศไทยก็งั้นๆ แหละ เคยไปเที่ยวแล้ว แล้วสถานที่ส่วนใหญ่ที่เขาพาเราไปก็จะเป็นสถานที่ที่เกี่ยวกับความเป็นชาตินิยม ซึ่งอาจเป็นด้วยประวัติศาสตร์ที่เวียดนามเคยผ่านสงครามมา แต่เขาก็มีเรื่องดีในหลายๆ เรื่อง เช่น การวางรากฐานให้กับเยาวชน ซึ่งเขาเน้นในเรื่องของการอ่านอย่างมาก เขามีวิหารที่สอนเกี่ยวกับลัทธิขงจื้ออยู่ตรงใจกลางเมืองของฮานอย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้เยาวชนได้มาร่วมกันรำลึกถึงศาสนาที่จะสอนในหลักจริยธรรม โดยเขาจะมุ่งให้ทุกคนในสังคมเป็นคนที่มีคุณธรรม”
“การไปที่เวียดนามก็ต้องใช้เรื่องการสังเกตในการหาข้อมูล อีกประเด็นหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องเกษตรกรรม นาข้าวของเขาจะเต็มข้างทางเลย แต่เราก็ยังไม่ได้ศึกษาลงลึกในเรื่องของคุณภาพ แต่ความเป็นประเทศที่อยู่ด้วยภาคการเกษตรก็ยังเห็นได้ชัด อีกอย่างคือเรื่องการลงทุนจากภายนอก เช่น ร้านสะดวกซื้อก็ยังค่อนข้างน้อย วิถีชีวิตยังคงมีเอกลักษณ์ความเป็นตัวเองอยู่ แล้วผมก็ได้มีโอกาสไปศูนย์หัตกรรมของคนพิการ ซึ่งเป็นสถานที่รับคนพิการมาให้ความรู้ในการประกอบอาชีพที่ศูนย์นี้ ซึ่งผู้คนเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมาจากเมื่อครั้งสงคราม ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เขายังคงช่วยเหลือคนในสังคมของเขา เป็นสิ่งที่ดีที่ได้พบเห็น” พลบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาประทับใจ
ประสบการณ์จากเวียดนาม
ทางด้าน เวย์-พิชญา เพ็งจันทร์ ที่เลือกเขียนเรื่อง หลวงพระบาง...กางหัวใจ เริ่มเล่าถึงเหตุผลการเลือกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว “เราเห็นประเทศลาวเหมือนประเทศเล็กๆ ใกล้ตัว และลาวเป็นประเทศที่ใช้ชีวิตไปอย่างช้าๆ ก็เลยอยากเปลี่ยนบรรยากาศจากกรุงเทพไปใช้ชีวิตช้าๆ ที่ลาวดู” เวย์เริ่มเล่าถึงที่มาและเราต่อถึงเรื่องราวที่ได้ไปพบเจอ “มีอยู่วันหนึ่งเราไปเดินตลาดมืดกัน ตลาดมืดของที่นั่นก็คล้ายๆ ถนนคนเดินบ้านเรา แล้วคนก็เยอะมากชาวต่างชาติก็เยอะมาก เราก็ไปซื้อขนมครก แล้วก็เดินเล่นไปเรื่อย แต่พอก็กลับที่พักถึงรู้ว่ากระเป๋าสตางค์หาย ก็ตกใจมาก เลยรีบกลับไปหา เพราะผ่านมาเกือบ 2 ชั่วโมงแล้ว พอไปถึงร้านขนมครกก็ปิดไปแล้วเหลือแต่ร้านเฝอที่ขายก๋วยเตี๋ยว พีทีมงานที่ไปด้วยกันก็ช่วยกันถาม แล้วพี่ช่างภาพเขาก็ไปเจอว่ามีคนเก็บไว้ให้อยู่ที่ร้านเฝอ โดยที่ของในกระเป๋ายังอยู่ครบ เราก็ดีใจมากเลยและรู้สึกว่าคนลาวน่ารัก เป็นเรื่องที่ประทับใจมากๆ”
แต่โจทย์ในการทำงานคือการศึกษาในเรื่องของสภาพสังคมที่กำลังจะพัฒนา ต้องศึกษาในเรื่องของการลงทุน และประเด็นเรื่องการศึกษาเพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย “ตอนที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาปกครองลาว เขาได้สอนให้คนลาวชอบที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงานมาก เพรากลัวว่าพอทำงานมากแล้วจะเก่ง เพราะฉะนั้นลาวจึงมีการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างช้า นี่เป็นเรื่องที่ไกด์ของลาวบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เวย์เขาต้องมองและวิเคราะห์ออกมาด้วยว่าตรงจุดนี้คนลาวเขามองในเรื่องนี้อย่างไร และในมุมมองคนไทยด้วยว่าคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้” คุณกิตติพจน์กล่าวถึงโจทย์ที่ต้องหาคำตอบจากประเทศลาว
“ประเด็นเรื่องการศึกษา ถ้ามองจากปริมาณหนังสือคือที่ลาวจะมีน้อยมาก ยิ่งถ้าเป็นภาษาลาวเลยจะยิ่งมีน้อย อย่างตอนที่ไปตลาดก็ได้ไปเจอร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่ง เราก็ถามเขาว่าทำไมไม่ค่อยเห็นหนังสือหรือร้านหนังสือในหลวงพระบางเลย เขาก็ตอบว่าที่นี่ค่าต้นทุนในการผลิตมันแพง เราก็มองย้อนกลับมาที่ไทยว่าที่จริงเรามีหนังสือดีๆ เยอะมาก ซึ่งต่างจากที่ลาว เพราะมีช่วงที่ได้เข้าไปในส่วนที่เป็นชนบทแล้วก็เอาหนังสือไปให้เขาด้วย เด็กๆ ที่นั่นก็จะดีใจมาก” เวย์เล่าถึงเหตุการณ์อีกมุมหนึ่ง ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของคนในชนบท
ลาว หลวงพระบาง...กางหัวใจ
ในส่วนของ แม็ค-รัชชานนท์ เกตุรามฤทธิ์ ที่ได้เลือกไปศึกษาที่สิงคโปร์ และตั้งชื่อบทความว่า เกาะแก้วพิสดาร เริ่มเล่าถึงที่มาว่าทำไมถึงเลือกไปที่ประเทศนี้ “ผมเรียนเศรษฐศาสตร์มา ผมเลยอยากมองประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อที่จะใช้สิ่งที่เรียนมานำมาวิเคราะห์ได้ด้วย อย่างแรกเราต้องนำเสนอว่าสิงคโปร์เขามีองค์ประกอบเมืองมีอะไรบ้าง”
“ในส่วนของแม็คเขาต้องไปศึกษาว่าระหว่างรัฐและคนสิงคโปร์ ว่ามีความร่วมมือในการพัฒนาประเทศอย่างไร” คุณกิตติพจน์ ในฐานะบรรณาธิการช่วยบอกเล่าถึงแนวทางในการศึกษางานที่ประเทศสิงคโปร์
“สิงคโปร์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติทั้งจีนและมาเลเซีย ประชากรเป็นคนที่มีความขยันและมีความตั้งใจที่จะผลักดันประเทศให้เป็นเมืองเศรษฐกิจอยู่แล้ว และคนรุ่นใหม่ก็ใส่ใจในเรื่องของการศึกษาและภาษา คือแทบจะทุกคนรู้ภาษาที่สอง คือรู้ภาษาอังกฤษด้วยรู้ภาษาจีนด้วย” แม็คบอกเล่าถึงประเด็นแรกๆ ที่เขารู้สึก
ทางด้านคุณกิตติพจน์ที่ได้เดินทางไปด้วยช่วยเสริมว่า “คนสิงคโปร์เป็นคนที่มีวินัยในการใช้ชีวิตมาก เวลาทำงานคือทำงาน เวลากินคือกิน เขาแบ่งสัดส่วนในการใช้ชีวิตได้ดีมาก เราเลยไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเมืองเขาถึงเติบโตไปอย่างมีระบบแบบนี้ ประเทศเขาเจริญได้นั้นเป็นเพราะประชาชนของเขา”
“ผมจะเน้นในเรื่องระบบการศึกษา เพราะว่าได้มีโอกาสไปดูหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งมีความรู้ที่ครบถ้วนและทันสมัยมาก โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ของชาติเขาและความรู้เรื่องการวิจัย ที่สำคัญคือหนังสือที่มีคุณภาพจากทั่วโลกจะถูกนำมารวบรวมไว้ที่นี่ แล้วหอสมุดแห่งนี้มีความสูงหลายชั้นมาก ซึ่งแต่ละชั้นก็จะเก็บรวบรวมหนังสือแต่ละประเภท ความรู้จากหนังสือของเขาจึงมีความหลากหลายและครอบคลุมมาก ระบบการจัดการยืมคืนก็ดีมาก” แม็คเล่าถึงประเด็นในการศึกษาและสิ่งที่ประทับใจ
สิงคโปร์ เกาะแก้วพิสดาร
ในช่วงท้ายของการพูดคุยเจ้าของบทความทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันกล่าวถึงสิ่งที่ตัวเองรู้สึกหลังจากที่ได้กลับมาถึงประเทศไทยแล้ว “ความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับกลับมา คือ รู้สึกว่าตัวเองต้องฝึกภาษาอังกฤษเพิ่ม ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการดำเนินชีวิตชีวิต โดยเฉพาะถ้าเราเปิดประเทศเป็นอาเซียนแล้วด้วย อีกอย่างคือเราต้องศึกษาถึงความเป็นมาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะคนแต่ละประเทศมีความหลากหลายมาก” แม็คผู้ที่ได้ไปประเทศสิงคโปร์เริ่มกล่าวเป็นคนแรก
ตามมาด้วยเวย์ “เมืองลาวถ้าเปรียบเทียบเรื่องธรรมชาติไม่แพ้เมืองลาวนะคะ อาจจะสวยกว่าด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เรานับถือคนลาวคือความมีจิตวิญญาณในชาติเขา เขารักประเทศเขา มีคนลาวคนหนึ่งได้พูดว่า เขาไม่ได้รักเฉพาะหลวงพระบางนะ เขารักทั้งประเทศ เราเป็นคนลาวเพราะเราเป็นคนลาว เราเลยหันมามองตัวเองว่าบางทีที่เรามองว่าประเทศอื่นเขาด้อยกว่าเรา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย”
ในส่วนของพลที่ได้ได้กล่าวว่า “ประเทศเวียดนามบางทีที่เราเคยมองเห็นเขาในมุมหนึ่งที่จริงแล้วเขามีความหลากหลาย เราไม่ควรไปมองเขาในเรื่องของการท่องเที่ยวแค่อย่างเดียว สภาพสังคมก็ยังมีมุมที่น่าศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของคนที่เขามีความรักชาติ มีความขยัน และใส่ใจในเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการอ่าน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เขาพัฒนา ก็ทำให้เรากลับมามองประเทศของเราว่าตอนนี้อยู่ในจุดไหน”
เมื่อผู้เข้าร่วมโครงการได้กล่าวถึงความรู้สึกไปแล้ว ในฐานะของบรรณาธิการ คุณกิตติพจน์ อรรถวิเชียร ได้แสดงความคิดเห็นเป็นการทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “สิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องเรียนรู้ คือ บางทีที่เราคิดจากตัวเองมากเกินไป เรามองว่าตัวเองดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วจากที่ผมได้ไปเจอมาก็คือเขารู้ภาษาไทยหมดเลย ลาวรับช่องโทรทัศน์จากไทยเขารู้สถานการณ์ของเราทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ แต่เราอาจจะไปมองเขาว่าเขายังไม่พัฒนา ซึ่งที่จริงแล้วเขาอาจจะพัฒนาไปแล้วแต่เป็นเราเองที่ยังไม่พัฒนา พอเราได้ไปมา 3 ประเทศนี้ก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่า เรากำลังอยู่กันอย่างไร เราอยู่บนพื้นฐานที่เรารับอย่างเดียวหรือเปล่า หรือ เราอยู่บนพื้นฐานที่ยังไม่ได้พัฒนาตัวเองหรือเปล่า ทุกประเทศมีข้อดีหมดเลยครับ แต่บางทีเราไปรับแค่ผิวเขามา ผมว่ารากเหง้าเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเรียนรู้”
ในปี 2558 ที่จะถึงในอีกไม่นานนี้ การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อม การทำความรู้จักและเปิดใจที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ อุทยานการเรียนรู้ TK park ยังคงร่วมเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงหลักที่จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในสังคมไทยต่อไป