‘งานเขียนคือการวิ่งมาราธอน’ : สกัดแก่นแท้ของคนทำงานเขียนในแบบของศิวะภาค เจียรวนาลี
การเขียนแบบ non-fiction หรือเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง ทักษะการเขียนเรียบเรียงความคิด การตั้งคำถาม การฟัง และการสังเกต ถือเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี อดีตบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร a day และปัจจุบัน Creative Director หัวเรือใหญ่ของสื่อในเครือ Daypoets วิทยากรในโครงการ TK Young Writer 2019 อาสามาเล่าประสบการณ์การทำงานเขียนตลอด 11 ปี ตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงาน จนถึงขั้นการเป็นนักเขียนบทความมืออาชีพ นักสัมภาษณ์ คนผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนประสบการณ์ในฐานะบรรณาธิการ เพื่อให้เห็นภาพรวมของชีวิตคนทำงานเขียน พร้อมทั้งแนะแนวทักษะที่ต้องหมั่นฝึกมือก่อนเขียนบทความและทำคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ
ถ้าพร้อมแล้ว จับกระดาษปากกาให้มั่น เพราะบรรณาธิการของเราพร้อมมาถ่ายทอดวิชาการเขียน ถอดบทเรียนชีวิต และสกัดทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้รักการเขียนทุกคนแล้ว!
งานเขียนคือการวิ่งมาราธอน
“งานเขียนคือการวิ่งมาราธอน ในความหมายที่ว่า ถ้าเราไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์ในวันนี้ เราแค่ทำต่อไปเรื่อยๆ มันจะส่งผลกลับมาเอง”
เอี่ยวเฉลยให้ฟังว่าเหตุใดเขาจึงเปรียบการเขียนเป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นเพื่อหวังถ้วยรางวัล ในมุมมองของเอี่ยว การเขียนคือการใช้ชีวิตระยะยาว คือมุมมองที่ส่งผ่านไปยังโลก ฉะนั้นการเขียนหนังสืออีกนัยหนึ่งคือการกลั่นกรองตัวตน ความคิด และร้อยเรียงประสบการณ์ให้ออกมาในรูปแบบตัวหนังสือ
เอี่ยวขยายเพิ่มว่า ความครีเอทีฟก็เหมือนการวิ่งมาราธอน เพราะเป็นเรื่องของโมงยามแห่งการฝึกฝน การซ้อมมือ และการทำแบบค่อยๆ เป็นค่อยไป สำหรับชีวิตของคนทำงานเขียน การมองให้กว้างเป็นเรื่องจำเป็น เพราะยิ่งเห็นเยอะ เห็นรอบด้าน ก็ยิ่งมีข้อมูลให้หยิบมาเล่ามากกว่า
การเล่าเรื่องที่ดีอาจจะต้องเริ่มจากการมองเห็นเรื่องที่จะเล่าก่อน เช่น อาจจะลองเข้าไปคุยกับคน เพราะผู้คนคือสะพานเชื่อมต่อเรื่องเล่าที่มีข้อมูลเชิงลึกแบบที่หาไม่ได้จากอินเทอร์เน็ต เอี่ยวแนะนำว่า “ไม่ว่าจะได้โจทย์การเขียนแบบไหนมาก็ตาม ลองคิดให้กว้าง มองให้รอบ เหมือนกับการหาจังหวะการวิ่งของตัวเองให้เจอก่อน โดยอาจจะลองหาเรื่องที่อิน แล้วค่อยลองหาน้ำเสียงที่จะเล่า หามุมมองที่เฉพาะตัว ถึงค่อยออกแบบวิธีการส่งต่อเรื่องราวออกไป”
และหากใครที่อยากจะเริ่มต้นเขียนงานสักชิ้น งานเขียนที่ดีนั้นควรเริ่มจากตัวเรา เอี่ยวอธิบายว่า ตัวของเราเหมือนเบ้าหลอมประสบการณ์ ที่ผ่านเข้ามา บทเรียนบางอย่างจะฝังอยู่ในตัวตนของเรา ซึ่งทุกอนุภาคล้วนมีผลต่องานเขียนของเราทั้งนั้น ให้เราคิดว่าตัวเราคือฟองน้ำที่ดูดน้ำเข้ามาและส่งต่อเรื่องราวออกไป
วิ่งให้ล้ำคนอ่านหนึ่งก้าวเสมอ
เอี่ยวมีคำแนะนำสำหรับนัก (อยาก) เขียนหน้าใหม่ว่า “ต้องนึกเสมอว่างานเขียนของเรามีคนอ่านเสมอ เราจะได้ไม่หลงทางว่าเราเขียนไปเพื่ออะไร ก่อนลงมือต้องคิดว่าคนอ่านคือใคร และพยายามระลึกเสมอว่าคนอ่านเสียเวลากับเรา ถ้าเขาเสียเวลามาอ่านแล้ว เราจะให้อะไรเขาได้บ้าง”
เอี่ยวแชร์ประสบการณ์ตรงที่เคยทำงานร่วมกับบรรณาธิการว่า “บรรณาธิการไม่ใช่คนที่เขียนเก่งที่สุด แต่คือคนที่ก้าวไปข้างหน้ามากกว่านักเขียนหนึ่งก้าวเสมอ นักเขียนเองจึงต้องก้าวไปข้างหน้ามากกว่านักอ่านหนึ่งก้าวด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเราเขียนแล้วไม่ได้เพิ่มพูนอะไรให้คนอ่านเลย งานเขียนของเราอาจจะไม่มีคนอ่านหรือมีคนอ่านน้อย เพราะมันเท่ากับที่คนอ่านรู้อยู่แล้ว”
เอี่ยวจึงแนะนำวิธีการก้าวให้ล้ำไปกว่าผู้อ่านอีกขั้น คือต้องหาเรื่องที่อยากเล่าให้เจอก่อน ซึ่งการหาประเด็นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป หรือง่ายเกินไป หัวใจของการหาเรื่องมาเขียนคือต้องลองออกไปเสาะแสวงหาเรื่องนั้น การเขียนหนังสือจึงไม่ใช่แค่นั่งอยู่ในถ้ำอย่างที่หลายคนยังมีภาพฝังหัว ยิ่งงานเขียนนิตยสารคือการออกไปข้างนอก ไปพบเจอผู้คน ไปลองประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสั่งสมเรื่องราวให้มากกว่าที่คนอ่านรู้อยู่แล้ว
“ถ้าเราออกเดินทางเพื่อรู้จักโลกกว้างเยอะๆ คิดเสมอว่าเรากำลังทำตัวเป็นฟองน้ำ ถ้าเห็นเยอะ เราจะเห็นว่าโลกมีทางเลือกมากมาย เราไม่จำเป็นต้องตัดสิน เพียงแต่ลองเฝ้ามองและส่งต่อเรื่องราวหลากหลายนั้นออกมา ฉะนั้น การเป็นนักเขียนนอกจากจะต้องทำตัวเหมือนเป็นนักวิ่งมาราธอนแล้ว การเป็นฟองน้ำที่ดีก็สำคัญ คนเขียนหนังสือต้องฟังมาก เห็นมาก รู้มาก ถึงจะถ่ายทอดเรื่องราวให้ออกมารอบด้านและน่าสนใจ” เอี่ยวทิ้งท้าย