เรื่องเล่าจากลวดลายวัฒนธรรมผ้าบาติก
บาติก ผืนผ้าที่บันทึกความหมายด้วยลวดลายสีสันอันหลากหลาย คุณค่าทางวัฒนธรรมที่สืบทอดผ่านผ้าบาติกเป็นอย่างไร รศ.นันทา โรจนอุดมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบาติกและการย้อมสี และเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบาติกคนแรกของประเทศไทย กว่า 40 ปี อาจารย์พี พงษ์พันธ์ หวังปัญญา เจ้าของธุรกิจแฟชั่น ร้านร้อยลายดอทคอม ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแพทเทิร์นและการตัดเย็บ และ อาจารย์ดุลฟิรตรี เจ๊ะมะ อาจารย์พิเศษภาควิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของร้าน The deep shops ผู้นำเข้าและจำหน่ายผ้าบาติกโบราณ จะมาเล่าเรื่องจากลวดลายวัฒนธรรมผ้าบาติก ซึ่งช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามบนผืนผ้าจากรุ่นสู่รุ่น
ผ้าบาติก วัฒนธรรมร่วมของคนทั้งโลก
ผ้าบาติก หรือ ผ้าปาเต๊ะ เป็นผ้าชนิดหนึ่งที่ผลิตโดยการใช้เทียนหรือวัสดุอื่นปิดเนื้อผ้าในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี หรือว่ามันเป็นจุดเล็กๆ ก็ได้ แล้วใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการ ให้สีติดลงไปบนผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงามตามต้องการ ผ้าบาติกไม่ได้เป็นวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมกันของโลก
รศ. นันทา : “นักวิชาการยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่าผ้าบาติกมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด เพราะพบทั้ง อียิปต์ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น หนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ชมช่อมาลตี และ บุหงารำไป กล่าวไว้ว่าผ้าบาติกอาจจะมีหลายประเทศ เป็นวัฒนธรรมร่วมแทบทั่วโลก แต่ผ้าบาติกที่อยู่ในอินโดนีเซียมีเทคนิคแตกต่างและสูงกว่าที่อื่น นักวิชาการบอกว่า วัฒนธรรมผ้าบาติกในอินโดนีเซียนั้น มีมาก่อนที่วัฒนธรรมอินเดียจะเข้าไปถึงอินโดนีเซีย ดิฉันจึงคิดว่าเป็นศิลปะดั้งเดิมของอินโดนีเซีย จึงมีเทคนิคสูงกว่าประเทศอื่นๆ”
ผ้าบาติก จากอินโดฯ สู่มาเลย์ จนถึงเมืองไทย
ผ้าบาติกที่เราคุ้นเคยดีว่าเป็นผ้าที่อยู่ในท้องถิ่นของประเทศไทยนั้น แท้จริงแล้วได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางมาเลเซียก็รับการเผยแพร่มาจากทางอินโดนีเซียนั่นเอง และเป็นธรรมดาที่ผ้าบาติกของแต่ละท้องที่จะแตกต่างกันไปทั้งลวดลายและสีสัน ที่เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของถิ่นนั้นๆ รวมถึงสีที่ใช้ทำผ้าบาติก จากที่เคยใช้สีจากธรรมชาติ ที่จะต้องย้อมสีซ้ำๆ นับสิบครั้ง ได้พัฒนามาเป็นสีสังเคราะห์ที่เรียกว่า สีแนปทอล ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น สีรีเอคทีฟ ที่ใช้ง่ายกว่า มีสีสันสวยกว่า และติดทน และที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับสีชนิดเดิม
รศ. นันทา : “การเข้ามาของผ้าบาติก เริ่มจากช่างไทยที่สุไหงโกหลก นราธิวาส ไปเรียนรู้วิธีการทำผ้าบาติกของมาเลเซีย แล้วกลับมาตั้งโรงงานเยอะมาก ต่อมาวิทยาลัยครูยะลาหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในปัจจุบันได้ช่วยเผยแพร่ผ้าบาติกให้เป็นที่รู้จักในสายวิชาการ จนเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน และสีสันลวดลายผ้าก็จะเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่”
ลวดลายผ้าบาติก แฝงความหมาย ไม่ใช่แค่สวยงาม
ในอดีต ผ้าบาติกของอินโดนีเซียจะประกอบด้วย บาติกชายหาด และ บาติกราชสำนัก บาติกชายหาดจะทำในกลุ่มของสามัญชน โดยแม่บ้านที่พ่อบ้านไปทำประมง สำหรับบาติกราชสำนักนั้น จะอยู่ในความอุปถัมภ์ของสุลต่านแต่ละราชวงศ์ ถือว่าเป็นบาติกชั้นสูง มีความคลาสสิก และมีลายต้องห้าม เช่น ลายครุฑ ซึ่งประชาชนห้ามใช้ลวดลายนี้ หากใครใช้จะถูกจับไปลงโทษ แต่กฎนี้ได้จบลงเมื่ออินโดนีเซียตกอยู่ในอาณานิคมของดัตช์ ชาวดัตช์ได้ออกกฎระเบียบให้ประชาชนทุกคนมีฐานะเท่ากัน ทำให้ลวดลายผ้าบาติกของราชสำนักและสามัญชนผสมผสานกัน ประกอบกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียอย่างชาวจีน ทำผ้าบาติกลวดลายและสีสันที่แตกต่างจากเดิม ทำให้เกิดผ้าบาติกลวดลายใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก และบาติกก็กลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของอินโดนีเซียในเวลาต่อมา
รศ. นันทา : “ลักษณะเด่นของผ้าบาติกคือ ลายจะเต็มผืน เพราะกฎเกณฑ์ความงามของอินโดนีเซียคือ รังเกียจพื้นที่ว่าง บาติกชายหาดจะลายหยาบ ผืนใหญ่ ของไทยก็จะมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ต่างกันไป อย่างภูเก็ตจะวาดลายทะเล ธรรมชาติ สามจังหวัดชายแดนใต้ลายจะเล็กและละเอียดกว่า ฝั่งจังหวัดอันดามันลายจะใหญ่ดอกดวงชัดกว่า บาติกส่วนใหญ่เป็นแบบเขียนเทียนมากกว่าแบบปั๊มลายหรือพิมพ์ลาย วิธีดูง่ายๆ คือบาติกแบบเขียนจะมีรอยจุดการเริ่มต้นของเทียนที่ต่อๆ กันเส้นเทียนไม่เท่ากัน เทียนเลอะ สีด่าง ราคาของผ้าบาติกจะแพงหรือไม่แพงอยู่ที่ลวดลายการเขียน เทคนิค และรายละเอียดของลวดลาย”
จากผืนผ้ามาเป็นเครื่องแต่งกาย ทำแพทเทิร์นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องเข้าใจ
อ.พงษ์พันธ์ : “การทำแพทเทิร์นเสื้อผ้า ปกติเราจะวางตามแนวยาวของผ้า แต่ถ้าเป็นผ้าบาติกเราจะวางแบบปกติไม่ได้ เพราะผ้าแต่ละผืนจะมีลายเฉพาะและมีความหมายต่างกันไป ซึ่งถ้าเราตัดเย็บโดยไม่รู้จักลาย ไม่รู้ความหมายของผ้าผืนนั้น ลายก็จะผิดเพี้ยน ทำให้ผ้าผืนนั้นถูกใช้แบบผิดความหมายไป เมื่อเราได้ผ้ามา อันดับแรกที่ต้องรู้คือ ผ้าที่ได้มาเขากำลังสื่ออะไรถึงเรา เขากำลังเล่าอะไรให้เราฟัง ลายพวกนี้มีความหมาย อย่างลายราชสำนักที่เป็นครุฑ เขาอาจไม่ได้วาดเป็นครุทอย่างชัดเจน ลายเจดีย์ เขาอาจจะวาดเป็นนามธรรม เราก็ต้องรู้ความหมายเพื่อจะได้จัดวางผ้าได้ถูกต้อง”
สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอเมื่อนำผ้าบาติกมาใช้ตัดเย็บคือ จะใช้ผ้าอย่างไรให้เกิดคุณค่า เพราะผ้าหนึ่งผืนกว่าจะวาดขึ้นมาได้ไม่ใช่ง่ายๆ และต้องใช้เวลามาก ถ้าผ้าบาติกสวยบวกกับการออกแบบและใช้ผ้าอย่างคุ้มค่า ก็จะทำให้ผ้าบาติกผืนนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด
พี่ตองก้า