จุดเริ่มต้นคนรักการอ่าน-เขียน
พี่เต้ - จิราภรณ์ วิหวา เล่าให้ฟังว่าตนเป็นลูกคนเดียวและเพื่อนน้อย ชอบอยู่คนเดียวเล่นคนเดียว จึงชอบอ่านหนังสือเพราะเวลาอ่านหนังสือก็เหมือนมีเพื่อนมาเล่นกับเรา ทำให้เราสนุกได้ในบ้านเงียบๆ ส่วนหนังสือที่อ่านก็อ่านทุกอย่างที่มีในบ้าน ส่วนมากจะเป็นหนังสือหรือนิตยสารของคุณแม่ เช่น ขวัญเรือน หรือหนังสือประเภทสอนงานประดิดประดอย สูตรอาหาร แม่ห้ามไม่ให้อ่านนวนิยายในขวัญเรือนเพราะมีฉากหวือหวา แต่ก็แอบอ่าน ส่วนมากจะอ่านวรรณกรรมเยาวชนเพราะแม่ยอมให้อ่าน
พอโตมามีเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เพื่อนชอบชวนไปอ่านนวนิยาย ซึ่งแต่ละคนก็จะชอบอ่านคนละแบบ เช่น ว.วินิจฉัยกุล ทมยันตี
เริ่มก้าวเข้าสู่วงการการเขียน
พี่เต้เล่าว่าเลือกเรียนด้านสื่อสารมวลชนในคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และค้นพบว่าถนัดการเขียนมากที่สุด เพราะถือกล้องก็ไม่ไหว ใช้อุปกรณ์อย่างอื่นก็ไม่เป็น ขณะที่การทำงานเขียนมีอุปกรณ์แค่เรา
ช่วงวัยรุ่น ตนรู้สึกว่าตนเองค่อนข้างเป็นเด็กแนว ชอบไปเดินดูงานแฮนด์เมด เช่น หนังสือทำมือ ก็รู้สึกว่ามีวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่สนุกกว่าที่เราคิดว่าสนุกเสียอีก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สมัครฝึกงานที่อะเดย์ตอนขึ้นปีสี่ และได้เป็นอะทีมจูเนียร์ของอะเดย์ และทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร รวมเวลาที่ทำงานนิตยสารก็ยาวนานเป็นสิบปี
ฝึกปรือฝีมือ จากคอลัมน์สู่หนังสือ
พี่เต้เล่าว่าตอนทำงาน บก.ก็ค่อนข้างเคี่ยวกรำให้เขียนให้ดี เราก็พยายามคิดอะไรใหม่ๆ ในการเล่าในการนำเสนอ ถ้าทำเรื่องไหนออกมาดีแล้วบก.ชมก็จะดีใจมาก
แต่พอถึงช่วงหนึ่งชีวิตการทำงานก็เริ่มเสถียร เพราะเราไม่ต้องเอาชนะใจบก.แล้ว เลยเบื่อๆ จ๋องๆ ช่วงหนึ่งจึงมีคนบอกให้เขียนหนังสือ แต่เราก็ไม่มีอะไรจะเล่า แต่ในที่สุดจึงลองเขียนเรื่องสั้นดู และได้รวมเล่มเรื่องสั้น 12 เรื่อง คือ “ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ”
นวนิยายเล่มแรก : สนธิสัญญาฟลามิงโก
พี่เต้กล่าวว่าชอบเขียนเรื่องที่มันหลุดไปจากความเป็นจริงไปเลย เพราะอยากแตกต่างจากนิตยสารที่เราต้องเขียนความจริงและมีเนื้อหาที่อิงกับความจริงตลอด โดยเริ่มมาจากความคิดที่ว่าเราเป็นคนชอบนั่งคาเฟ่ จึงเริ่มคิดมาจากจุดนั้นว่าถ้าเราจับแมว ยีราฟ มานั่งในคาเฟ่ล่ะ อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าเรื่องไม่จริงน่าจะเหมาะกับเราเพราะเราอาจจะเอาเรื่องจริงมันจะไม่อยู่หมัด แต่ก็ไม่อยากให้มันไม่จริงมากๆ เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะลอยเหมือนเล่านิทาน
โดยเรื่องราวเล่าถึง “มี” แมวสาวนักเขียนที่ได้ไปรู้จักกับรัตติ ฟลามิงโกหนุ่มนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของเครื่องแปรรูปพลังงานความลับหรือ SI-RI มีได้สิทธิพิเศษให้ได้ฟังความลับจากสัตว์อื่นๆ ที่มาเล่าความลับให้ SI-RI ฟัง และได้เรียนรู้บางอย่างจากการได้รู้ความลับของคนอื่น อย่างตอนมีสติแตกมากๆ เหมือนคนอกหัก เราอยากให้เห็นว่าเขาได้รับผลกระทบมากจากการที่ได้รู้ความลับจากรัตติ
การสร้างตัวละคร
พี่เต้กล่าวว่าเลือกคาแร็คเตอร์จากสัตว์ที่ชอบดูเวลาเข้าสวนสัตว์คือฟลามิงโก เราก็จะค่อย ๆ สร้างพล็อตมาเพื่อให้มันเป็นคีย์สำคัญของเรื่อง
ส่วนตัวละครพระเอกนางเอกเป็นคู่รักแมว เพราะเราเลี้ยงแมว จึงรู้จักและเข้าใจนิสัยของแมว แมวคล้าย ๆ เรา ถ้าเลือกใช้แมวเราก็คงจะเอาอยู่เพราะเรารู้จักมันค่อนข้างดี ตัวละครเอกที่เป็นแมวก็คือเรานั่นแหละ
การสร้างเรื่องราว
พี่เต้เล่าว่าเครื่องแปรรูปพลังงานความลับหรือ SI-RI นั้นไม่ได้นำมาจากไอโฟน แต่มาจากภาษาสวาฮิลีที่แปลว่าความลับ โดยได้ไอเดียเรื่องตู้เก็บความลับนี้มาจากเฟซบุ๊ก เพราะเราอาจคิดว่าเราเล่าอะไรก็ได้ในเฟซบุ๊ก แต่ความจริงแล้วเฟซบุ๊กคอยเก็บช้อมูลของเราไปทำการตลาดตลอด
ถึงตอนนี้มีนักอ่านท่านหนึ่งร่วมแชร์ความประทับใจจากการอ่านว่า ชอบเรื่องความสัมพันธ์ของคู่รักแมว ทั้งที่ตัวละครเป็นแมวแต่อ่านเรื่องรู้สึกว่าเรื่องราวลึกซึ้งและสมจริงมาก โดยเฉพาะประโยคของแมวพระเอกที่ว่า “ชีวิตมันคือเรื่องเดิมๆ ความสัมพันธ์ก็คือเรื่องเดิมๆ กับคนเดิมๆ” อ่านแล้วรู้สึกอิ่มใจ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องย่อยที่ประทับใจคือแมวนักชิมที่ทรยศเจ้านาย ซึ่งเป็นเรื่องย่อยที่ใหญ่มาก ชอบเรื่องนี้มากกว่าตัวละครกระต่ายซึ่งพี่เต้วางไว้ให้เป็นตัวละครหลักที่เล่าความลับ เนื่องจากเจ้านายทำสิ่งที่โหดร้ายคือการนำหอยจริงๆ ที่ไม่ได้มาจากการโคลนนิ่งมากิน ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับคนฆ่าคนเอามาทำเป็นอาหาร เป็นเรื่องที่สะเทือนใจเหมือนเรื่องการค้ามนุษย์เลย
พี่เต้เล่าว่าที่นำตัวละครกระต่ายมาเป็นตัวละครหลักในการเล่าความลับเพราะคิดว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ดูน่าสงสาร ถ้านำมาเล่าความลับต่อหน้าเครื่อง SI-RI ก็น่าจะดี
นอกจากนี้ตั้งใจไว้ว่าอยากให้เรื่องเล่านี้เป็นอาณาจักรของสัตว์ เลยอยากมีสัตว์หลายๆ แบบ เราเคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อน เลยเสียดายพล็อต มีพล็อตมีเรื่องราว มีอาณาจักรในหัวเยอะแยะมากมาย เช่น อาณาจักรบาดาล ซึ่งไม่ได้เขียน อันไหนเข้ากับเรื่องที่ตั้งไว้ก็เลือกมาเขียน เลยชอบมาก
นวนิยายคือรูปแบบหนึ่งของสมุดบันทึก
พี่เต้เผยว่านวนิยายเรื่องนี้เขียนบนความอัดอั้นของชนชั้นกลางที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากบ่นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ได้บ่นอะไรเลยก็ไม่ชอบอยู่ดี นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการระบายความอัดอั้นใจ มีเรื่องสภาวะแวดล้อมของสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังชอบที่นวนิยายได้ทำหน้าที่ของมันคือ เมื่อเราเถียงกับมันไม่จบ เราก็ให้คนอื่นไปเถียงต่อ เมื่อก่อนเราได้เห็นเพื่อนนักเขียนที่ซาบซึ้งไปกับฟีดแบ็คเมื่อนวนิยายออกสู่ตลาด แต่เราไม่เคยอินทั้งที่เราก็ออกหนังสือมาแล้ว แต่เรื่องสนธิสัญญาฟลามิงโกเป็นเรื่องแรกที่เราซาบซึ้งไปกับมันจริง ๆ เพราะมันตอบโจทย์ที่ว่าคนอ่านได้ขบคิดตีความต่อ เราอาจจะเริ่มต้นเรื่องความลับมาจากเฟซบุ๊ก แต่นักอ่านหลายคนก็ตีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเมือง ซึ่งเราชอบมากที่นวนิยายเราไปสู่การถกเถียงและไปได้ไกล และไม่คิดว่าจะมีภาคต่ออีก
จากสมุดบันทึกสู่กระบวนการเป็นนวนิยาย
พี่เต้เผยว่าแม้นวนิยายเรื่องนี้เริ่มต้นจะเป็นเสมือนสมุดบันทึกเรื่องราวและความรู้สึกของเรา แต่เมื่อเขียนไปจนใกล้จบเรื่อง เราได้ส่งให้บก.ลองอ่าน ซึ่งบก.ก็ชอบมาก จากที่เราเขียนเรื่อย ๆ อยู่ 2 ปีเลยกลายเป็นมีเดดไลน์มาเกี่ยวข้อง (หัวเราะ)
ถึงตอนนี้มีนักอ่านท่านหนึ่งถามวิธีการขับเคลื่อนงานเวลาที่เขียนไม่ออกเมื่อมีเดดไลน์ พี่เต้ตอบว่าชอบคิดให้เสร็จก่อน เป็นคนชอบขบคิดเรื่องราวต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อคิดบ่อยๆ เวลาเขียนมันก็จะอัตโนมัติ ต่อให้ไม่จริงขนาดไหน แต่ตรรกะมันจะไม่เพี้ยน และเราต้องเชื่อเรื่องนั้นด้วย คือถึงแม้ตัวละครจะเป็นสัตว์แต่เรื่องราวมันมีตรรกะที่เป็นไปได้ มันมาจากการคิดเกี่ยวกับตัวเองมากๆ และตรวจสอบบ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการเขียน
พี่เต้เสริมว่าเดดไลน์เป็นแค่ตัวขับเคลื่อนเท่านั้น เพราะเรามีเรื่องอยู่ในหัวแล้ว อีกทั้งเมื่อเริ่มเขียนมาสักระยะหนึ่งตัวละครก็จะมีทิศทางมีเหตุผลของมันเอง ช่วงใกล้ ๆ ตอนจบแม้ว่าจะมีคนอ่านที่ใกล้ชิดกับเราคือ สามีและบก.ทักท้วง แต่หากเราคิดเรื่องมาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เราก็จะมีเหตุผลที่จะเขียนในแบบของเรา และปรับเปลี่ยนเรื่องไปเพียงนิดเดียว
ความสุขของการเป็นนักเขียน
พี่เต้เผยว่าความสุขของการเป็นนักเขียนคือ ตอนที่เขียนมันสนุกมากว่าเราอยากเรื่องราวเป็นอย่างไร ให้ตัวละครเป็นอะไรเราก็ทำได้ทั้งหมด ซึ่งมันไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง
อยากเขียนนวนิยายอีกไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งเป้าถึงขนาดว่าต้องเขียนนวนิยายปีละเล่ม แต่อยากเขียนหนังสือที่บันทึกความรู้สึกของเราตอนนั้นจริงๆ ชอบที่ได้บันทึกสิ่งที่เราเป็นในขณะนั้นอย่างครบถ้วน
พี่เต้เสริมว่าปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ คอนเทนต์ดีไซเนอร์ และเป็นบรรณาธิการบทความเว็บไซต์ greenery.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. เล่าเรื่องเกี่ยวกับการกินดีอยู่ดีแบบคนเมือง แม้ไม่ได้ลึกถึงขั้นอนุรักษ์แต่ก็เล่าถึงการเบียดเบียนธรรมชาติน้อยลง แม้เมืองจะน่าเบื่อมากๆ แต่เราก็หาทางมีความสุขกับการอยู่ในเมืองเพราะเราเป็นคนเมือง
ฝากอะไรถึงนักอ่าน
คงไม่ต้องบอกว่าหนังสือดีอย่างไรเพราะหนังสือเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าดี อยากให้อ่านหนังสือกันไปเรื่อยๆ
Chestina Inkgirl