TK Reading Club ตอน “ย้อนคืน” ซีรี่ส์นวนิยายสืบสวนสอบสวนชุดไมรอน โบลิทาร์ จากปลายปากกาของฮาร์ลาน โคเบน แปลโดยคุณมณฑารัตน์ ทรงเผ่า
จุดเริ่มต้นคนแปลหนังสือ
พี่ปุ๋ยเล่าว่าเติบโตมากับการ์ตูนและนิตยสารมากมาย เช่น สกุลไทย ฟ้าเมืองไทย ชอบอ่านบทความ แต่ถ้าเป็นการ์ตูนจะชอบมาก อ่านได้ทุกแนวที่เป็นของญี่ปุ่น อ่านการ์ตูนทั่วไป เช่น ของวิบูลย์กิจ สยามสปอร์ต การ์ตูนผีก็อ่านหมด
ต่อมาเรียนจบด้านภาษาและได้ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอเยนซี่โฆษณา ต่อมาเริ่มได้ทำงานแปลต่อเนื่องหลายเล่ม จึงลาออกมาทำเป็นอาชีพหลัก
งานแปลชิ้นแรก
พี่ปุ๋ยเล่าว่าช่วงนั้นงานวรรณกรรมแปลมาแรง อย่างเช่น ไดอารี่ของบริดเจ็ท โจนส์ เดอะริง ต่อมามีโอกาสได้แปลนวนิยายเล่มแรก คือ ชิงหมาเกิด ของสำนักพิมพ์มติชน เขียนโดยคาร์ล ไฮยาซั่น ซึ่งเป็นนักข่าว เขียนเชิงเสียดสีการเมือง การอนุรักษ์สัตว์และป่าในฟลอริดา ซึ่งมีนกฟลามิงโกและนกอื่นๆ อีกมากมายเป็นแนวที่ชอบมาก ต่อจากนั้นได้แปลนวนิยายชุด The Princess Diaries เขียนโดยเม็ก คาบอท ของสำนักพิมพ์อมรินทร์ ซึ่งสำนักพิมพ์ต้องการใช้นักแปลคนเดียว จึงได้แปลมาเรื่อยๆ และจุดประกายให้คิดอยากออกจากงานประจำ
ซีรี่ส์สืบสวนสอบสวนของฮาร์ลาน โคเบน
พี่ปุ๋ยเล่าให้ฟังว่านักแปลคนเดิมคือคุณอริณี เมธเศรษฐ ซึ่งภายหลังติดภารกิจ พี่ปุ๋ยจึงมารับช่วงต่อและแปลหลังจากซีรี่ส์ไมรอนเล่มที่ 7 และหลังจากนั้นก็แปลมาตลอดและทำมานานเปนสิบปีได้แล้ว นับไม่ถ้วน
พี่ปุ๋ยกล่าวว่านวนิยายของโคเบนโดดเด่นที่พล็อตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แม้ดูเผินๆ อาจคิดว่าพล็อตคล้ายๆ กันแต่โดยรายละเอียดแล้วต่างกัน ส่วนด้านภาษานั้นแกรมมาร์ไม่ซับซ้อนผู้เขียนเขียนเรียบง่าย เหมาะกับคนที่อยากฝึกภาษาอังกฤษ แนะนำให้อ่านภาษาอังกฤษก่อน ถ้าประโยคไหนไม่เคลียร์ก็ค่อยมาเปิดดูฉบับแปลภาษาไทย
Home (ย้อนคืน)
ซีรี่ส์สืบสวนสอบสวนชุดไมรอน โบลิทาร์ เป็นเรื่องราวไมรอนกับวิน ทั้งคู่เป็นเพื่อนรักกัน เรียนที่มหาวิทยาลัยดุ๊กด้วยกัน วินรักไมรอนมากและยอมไมรอนคนเดียว ไมรอนเป็นนักบาสเกตบอลที่หมดอนาคต จึงหันมาเป็นเอเยนซี่กีฬาแทน แต่แท้จริงแล้วไมรอนเป็นนักสืบที่เรียนกฎหมายและมีความรู้เรื่องการต่อสู้ด้วย เป็นพระเอก ส่วนใหญ่วินจะมาช่วยเบื้องหลัง แต่เล่มนี้เป็นครั้งแรกที่วินขอความช่วยเหลือจากไมรอน
พี่ปุ๋ยกล่าวว่าเล่มนี้เป็นเล่มล่าสุดของโคเบนหลังจากหยุดเขียนไปถึง 5 ปี คงเป็นเพราะความผูกพันจึงกลับมาเขียน เล่มเดี่ยวของเขายังไม่มีคนติดเท่าซีรี่ส์ไมรอนที่คนรักมาก ส่วนตัวคิดว่าไม่มีทางจบง่ายๆ เพราะโคเบนคงมีอะไรอยากเล่าอีกมาก
ผลตอบรับต่างประเทศและประเทศไทยคือคนรอคอยที่จะกลับมาอ่าน และโคเบนก็เขียนได้ดีทั้งที่ผ่านไปหลายปี มีมาตรฐาน ฟอร์มไม่ตกต่อเรื่องติด จังหวะการผูกเรื่องดี เฉลี่ยบทดี ตัวละครพูดแล้วกระแทกใจ ตัวละครเสถียรและมีเสน่ห์ วินดังเพราะหล่อไฮโซและโหด แต่จริงๆ ไมรอนคือพระเอก
ประโยคเด็ดที่มีทุกเล่ม : เอกลักษณ์ของซีรี่ส์ไมรอน โบลิทาร์
พี่ปุ๋ยกล่าวว่าในซีรี่ส์นี้จะมีคำพูดติดปากของตัวละครที่โคเบนใส่มาทุกเล่มและกลายเป็นเอกลักษณ์ที่คนชื่นชอบ คือ วินมีโค้ดลับที่ตกลงกับไมรอนว่าหากอยู่ในเหตุการณ์คับขันที่ต้องการความช่วยเหลือให้พูดว่า “พูดชัดๆ”
ส่วนไมรอนจะมีประโยคที่ชอบพูดว่า “มนุษย์วางแผน พระเจ้าหัวเราะ”หมายถึงมนุษย์ทำอะไรเยอะแยะแต่คนบงการที่แท้จริงคือพระเจ้าต่างหาก และอีกประโยคก็คือ “ความจริงที่โหดร้ายดีกว่าคำโกหกที่สวยงาม”ซึ่งในเรื่องย้อนคืนจะเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม
นอกจากนี้พี่ปุ๋ยยังเสริมว่ามีอีกประโยคที่แปลแล้วเบื่อคือ “I said nothing” ของวิน เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมมีอะไรแล้วไม่พูด (นักอ่านหัวเราะ)
เสน่ห์ของซีรี่ส์ไมรอน โบลิทาร์
พี่ปุ๋ยกล่าวว่างานของโคเบนเหมือนถอดมาจากภาพยนตร์ คือระทึกขวัญตั้งแต่ฉากแรกเพื่อให้เราตื่นเต้นและตามต่อ งานสืบสวนสอบสวนของโคเบนจะหักมุมทั้งหมด ช่วงหลังมีงานเยาวชนคือ มิคกี้ โบลิทาร์ หลานชายของไมรอน โบลิทาร์ ความโหดน้อยลงนิดเดียว แต่พล็อตซับซ้อนน้อยกว่า
ส่วนนักอ่านหลายท่านในห้องร่วมแสดงความคิดเห็นกันว่า เสน่ห์ของเรื่องคือ พระเอกดูบื้อๆ เล็กน้อย ส่วนวินเซ็กซี่แล้วก็โหด เก่ง ที่สำคัญคือชอบคำพูดจิกกัดประชดประชัน ทำให้รู้สึกว่าคนเขียนเก่งมาก ชอบทุกตัวละคร ทั้งเอสเปอรันซา บิ๊กซินดี้
นอกจากนี้ในด้านการแปล พี่ปุ๋ยเสริมว่าแปลไม่งง ไม่ขัด รู้ว่าใครพูดใครทำอะไรเพราะโคเบนเขียนมาระดับนี้แล้ว อีกทั้งเวลาอ่านจะเป็นไปตามที่คนเขียนต้องการให้ทำ เช่น เขียนให้สงสัยตรงนี้คนอ่านก็สงสัย คือถูกล่อหลอกไปด้วย
กระบวนการแปล
ถึงตรงนี้มีนักอ่านเสนอแนะว่าคำศัพท์บางคำ เช่น ปืน บาสเกตบอล ใช้ทับศัพท์ไปเลยดีกว่า พี่ปุ๋ยจึงชี้แจงข้อข้องใจว่าแล้วแต่การคุยกับบรรณาธิการด้วย เพราะบางทีคนอ่านส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะส่วนการเลือกเรื่องมาแปลก็เช่นกัน สำนักพิมพ์เป็นผู้เลือก คนแปลไม่ได้เลือกส่วนวิธีการทำงานคือ เมื่อแปลเสร็จแล้วก็ส่งให้บรรณาธิการซึ่งก็จะมีอีกหลายส่วนหลายคนที่อ่านงานให้ คือ ซับเอดิเตอร์ ปรู๊ฟรีดเดอร์ ทำให้เบาใจมากขึ้น แต่ก็ต้องส่งงานตามกำหนด เช่น สมมติจะวางในงานหนังสือเดือนตุลาคมก็อาจจะต้องส่งงานตั้งแต่มิถุนายน
ส่วนลักษณะการเขียนของโคเบนจะเป็นประโยคสั้นๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนเขียน การแปลนวนิยายก็เช่นกันคือมาแค่ไหนก็แปลแค่นั้น ไม่เติมแต่ง
อุปสรรคของงานแปล
พี่ปุ๋ยกล่าวว่าซีรี่ส์ไมรอน โบลิทาร์ครึ่งซีรี่ส์แรกจะเป็นแนวกีฬา และค่อยๆ ขยายไปถึงดารานักร้องเพื่อให้เรื่องกว้างมากขึ้นก็แปลง่ายขึ้นแต่ช่วงที่ยังเป็นเรื่องกีฬาเยอะๆ อย่างคริกเก็ตนี่ไม่มีความรู้เลย เพราะในไทยก็ไม่มีกีฬานี้ ทำให้ไม่คุ้นเคย ย่อหน้าเดียวต้องใช้เวลาค้นเป็นวันๆ ดีใจมากที่ครึ่งหลังของซีรี่ส์ไม่ค่อยมีเรื่องกีฬา
ส่วนงานแปลแนวอื่นที่ไม่ใช่ของฮาร์ลาน โคเบนที่แปลยากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์ ต้องค้นเยอะ เช่น จะแปลว่าบาทหลวงหรือนักบวช โชคดีมากที่กูเกิลช่วยได้แทบทุกอย่าง วิกิพีเดียก็ช่วยได้เยอะเพราะวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีเรเฟอเรนซ์ดี
พี่ปุ๋ยเสริมว่า ส่วนที่ยากคือการรู้ความหมายแต่จะเลือกคำอย่างไรให้ตรง ต้องคิดเยอะ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเจอเป็นปกติ เวลาทำงานก็เบื่อบ้าง แต่ความสนุกคือการคิดคำแล้วได้คำที่อยากได้
แนะนำผู้ที่เริ่มอ่านงานสืบสวนสอบสวนของฮาร์ลาน โคเบน
พี่ปุ๋ยเสนอว่าไล่ไปตามลำดับที่โคเบนเขียนจะดีกว่า ส่วนที่เป็นซีรี่ส์ก็เช่นกัน แม้แต่ละเล่มจะจบในตัว ดูมีพล็อตย่อยต่างหาก แต่จริงๆ มันมีพล็อตใหญ่อยู่ ควรไล่อ่านตามลำดับ
หลักในการเลือกรับงานแปล
พี่ปุ๋ยกล่าวว่าหลักในการเลือกรับงานแปลมีง่ายๆ 2 ข้อ คือ 1.ดูเดดไลน์ก่อนว่าทำทันไหม ถ้าทำงานแปลอยู่และคิดว่าทำไม่ทันก็จะไม่รับ 2. พิจารณาเนื้อหา โดยเนื้อหาที่ไม่รับแน่ นอนคือเรื่องฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่เรื่องที่เต็มไปด้วยศาสนาและสัญลักษณ์อย่างThe Da Vinci Code ต่อให้มีเวลาแปล 1 ปีก็ไม่น่าจะทำไหว
วิธีทำงาน
พี่ปุ๋ยกล่าวว่าชีวิตประจำวันก็ไม่ได้หวือหวา คล้าย ๆ เดิมทุกวัน คือ ตื่นมาทำงานไปเรื่อยๆ ส่วนวิธีแปลจะแปลเก็บไปทีละบท ไม่ได้แปลหยาบแล้วมาเกลา แต่จะแปลให้ดีไปเลยบทต่อบท ส่วนความเร็วในการแปลขึ้นอยู่กับความหนา ความยากง่าย และความเคยชิน เช่น The Princess Diaries ของเม็ก คาบอท ทำได้เยอะเพราะชินกับโครงสร้างประโยค เดือนเดียวก็เสร็จ
อาชีพนักแปลในวงการหนังสือ
พี่ปุ๋ยเผยว่านักแปลเป็นอาชีพที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว เพราะทำงานคนเดียว ทำให้ไม่ค่อยมีสังคม และไม่มีตำแหน่ง บางครั้งก็นึกน้อยใจบ้าง เพราะอาชีพอื่นๆ เช่น บรรณาธิการก็มีการปรับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการบริหารหรืออื่นๆ แต่นักแปลก็ยังคงเป็นนักแปล อย่างไรก็ตาม เราก็ได้ทำงานที่เรารัก เป็นอาชีพอิสระที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และไม่ต้องเผชิญปัญหารถติด ซึ่งก็เป็นความสบายใจอย่างหนึ่ง
พี่ปุ๋ยเล่าว่าแต่เดิมยอดขายมีผลต่อรายได้ของนักแปลจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันมักจะเป็นการให้ค่าตอบแทนแบบเหมาจ่าย ขายได้มากน้อยไม่มีผลกับเรา ส่วนการตีพิมพ์เยอะๆ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ กับยุคนี้แล้ว อย่างงานแปลของพี่ปุ๋ยเองก็มีงานที่พิมพ์มากที่สุด 5 ครั้ง
ด้านรายได้คือทำงานแปลมา 20 ปีก็ยังคงเรตเดิม และน่าจะเรตเดิมตลอดชีวิต (หัวเราะ) เพราะว่าคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนักแปล นักแปลถูกมองเป็นแค่ตัวกลาง แต่เราก็เป็นเจ้าของสำนวนปลายทางด้วย
รายได้ก็ถือว่าโอเค เช่น บางคนมีวินัยแปลได้เดือนละเล่มมันก็อยู่ได้สบายแต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เราทำอะไรไม่ได้ เช่น รอหนังสือออก ถ้าหนังสือเลื่อนเราก็ยังไม่ได้เงิน เพราะสำนักพิมพ์ต้องคำนวณจากจำนวนเล่มคูณเปอร์เซ็นต์จากราคาหน้า เว้นแต่เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายก็จะได้เลย
นอกจากนี้ชื่อเสียงก็ไม่ได้มีผล คือ สำนักพิมพ์มีเรตของเขา งานแปลก็จะได้ 7-8% จากราคาหน้าปก ถ้าแก้เยอะก็อาจจะเหลือ 5-6% สำนักพิมพ์ต้องดูทุกอย่างจากต้นทุน
ในแง่ลิขสิทธิ์เราจะมีสิทธิ์ในการแปลดราฟต์แรกของเรา ส่วนเวอร์ชันที่สำนักพิมพ์อีดิตก็คือลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ เช่น สำนักพิมพ์จ่ายไป 5 ปีให้เมืองนอก ตัวเราเองก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดีเพราะไม่ได้เซ็นกับนักเขียน
ถึงตรงนี้มีนักอ่านถามว่าอยากลองเขียนนวนิยายบ้างหรือไม่ พี่ปุ๋ยตอบว่าไม่คิดจะเปลี่ยนอาชีพจากนักแปลเป็นเขียน เพราะเราไม่ได้จินตนาการได้แบบนั้น
วงการหนังสือในอนาคต
พี่ปุ๋ยแสดงความคิดเห็นว่า วงการหนังสือกำลังรอวันเปลี่ยนแพลตฟอร์มเท่านั้น ถ้าคนไทยหันมาอ่านคินเดอร์ก็อาจมีโอกาสขายหนังสือได้มากขึ้น ตอนนี้หลายสำนักพิมพ์เริ่มปรับกลยุทธ์คือ ทำให้หนังสือเป็นสิ่งเก๋ไก๋ ขายเอกซ์พีเรียนซ์ เป็นเหมือนแอคเซสซอรี่ส์ คือจะขายหนังสืออย่างไรให้คนอยากซื้อ เหมือนทำไมคนเราต้องถ่ายรูปแก้วสตาร์บัคส์ลงโซเชียล
ฝากถึงนัก (อยาก) แปล
พี่ปุ๋ยกล่าวว่าสิ่งสำคัญของงานแปลคือ ภาษาไทยและอังกฤษต้องดี ต้องมีความรู้รอบตัวเยอะๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะต้องไปเจออะไรบ้าง จะเรียนวิทยาศาสตร์หรือเรียนอะไรก็ได้ อย่างตนเองมีความรู้เรื่องการตลาด บัญชี การเงินก็มีประโยชน์ ภาษาอังกฤษยังมีเรเฟอเรนซ์เยอะแต่ความรู้ต่างหากที่สำคัญ