ชื่อและนามปากกาอันเป็นเอกลักษณ์
มุนินทร์ สายประสาท เผยว่าใช้นามปากกาว่า “มุนินฺ” โดยใส่พินทุเพื่อต้องการให้เป็นภาพจำ อีกทั้งเป็นภาษาบาลี แปลว่านักปราชญ์ แต่การใช้พินทุก็กลายเป็นว่าคนจำผิดจำถูก อ่านไม่ออก ค้นเพจแล้วหาไม่เจอ พิมพ์ไม่ถูก ซึ่งก็ต้องยอมรับแต่ก็ได้ผลในแง่ที่คนจำได้ แต่เพิ่งรู้ความจริงไม่กี่ปีมานี้ว่าชื่อมุนินทร์มาจากแม่อินกับละครเรื่องแรงเงาคือ มุนินทร์ มุตตา จึงนำมาตั้งชื่อ ซึ่งก็ยังโชคดีที่เราไม่ได้ชื่อมุตตา (หัวเราะ)
จุดเริ่มต้นการวาดภาพ
พี่มุนินทร์เล่าว่าเริ่มจากพ่อชอบอ่านขายหัวเราะ อ่านแก๊กให้ฟัง แล้วเราก็ดูรูปประกอบ ชอบดูและเริ่มวาดตามถึงจะยังอ่านไม่ออก วาดตามลายเส้นของพี่ต่ายขายหัวเราะ วาดเซเลอร์มูน คือวาดตามไปก่อน ไปจนถึงหนังสือภาพเรื่องร่างกายของฉันที่สอนความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับร่างกาย เราก็ดูแล้วดูอีกและวาดตาม
นักเขียน/นักวาดในดวงใจ
พี่มุนินทร์บอกว่านักวาดในดวงใจคือ พี่ต่าย ขายหัวเราะ เพราะคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หัดวาดรูป ต่อมาพอขึ้นม.ต้นก็เริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น คือ บ้านนี้พี่กระเปิ๊บ น้องกระป๊าบ เป็นการ์ตูนครอบครัวที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเขียนเล่าเรื่องครอบครัว
ลงมือวาด
พี่มุนินทร์เล่าว่าเริ่มเขียนการ์ตูนจากการแต่งเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนกับรุ่นพี่ที่เพื่อนแอบชอบ เพราะอย่างน้อยก็รู้สึกว่าต้องมี 1 คนแน่ๆ ที่อยากอ่าน คือ เพื่อนที่เป็นตัวละครหลักที่เราเอามาเล่า (หัวเราะ) แต่ต่อมาเพื่อนในห้องคนอื่นๆ ก็อ่านจนลามไปยังห้องอื่น เราจึงรู้สึกว่าสนุกดี เพื่อนก็รออ่านตอนต่อไป จึงเขียนจนถึงชั้นมัธยมปลาย และเริ่มห่างไปจากการวาดการ์ตูน เพราะต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ส่วนคาแร็คเตอร์ตัวละครที่วาดตอนนั้นก็ยังเลียนแบบคนอื่นอยู่ คือ ตาโต แขนขายาว ยังไม่สวยเป็นรูปร่าง แต่เริ่มคุ้นเคยจากการเลียนแบบลายเส้นแล้ว ส่วนกระดาษก็ใช้กระดาษเอสี่พับสี่ช่องเหมือนการ์ตูน เขียนเป็นเล่มๆ จนภายหลังเพื่อนก็หากระดาษดี ๆ มาให้วาด ทำแล้วสนุก
คอมมิกส์ นวนิยายที่มีภาพประกอบ และนวนิยายภาพ
พี่มุนินทร์กล่าวว่าถ้าเป็นการ์ตูนแบบคอมมิกส์ คนอ่านจะอินเพราะเป็นจักรวาลของมันเลย คนที่อ่านคอมมิกส์ไม่ใช่ทุกคนจะเปิดใจอ่าน ค่อนข้างต้องดูละเอียด เข้าถึงยากกว่านวนิยายที่มีภาพ เพราะบางคนไม่รู้เลยว่าอ่านการ์ตูนช่องนี้แล้วไปต่อตรงไหนต่อ พอเป็นนวนิยายภาพจะเข้าถึงง่ายกว่า ไม่ต้องพยายามมาก ส่วนนวนิยายภาพจะเหมือนจอภาพยนตร์ คือ จอกว้างๆ เหมาะกับเนื้อหาเน้นอารมณ์ ไม่เหมาะกับแอ๊คชั่นแฟนตาซีแบบคอมมิกส์ ส่วนนวนิยายที่มีภาพประกอบจะแตกต่างออกไปอีก เพราะแก่นหลักอยู่ที่เรื่องเล่า ไม่ใช่ภาพ
การแต่งนวนิยายเป็นภาพ
พี่มุนินทร์กล่าวว่า การแต่งนวนิยายเป็นภาพคือความผูกพันที่เราชอบวาดชอบดูการ์ตูน ไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ ถ้าเป็นหนังสือก็ต้องมีภาพประกอบมาคั่นเพื่อดึงความสนใจ ไม่อย่างนั้นจะหลุดจากหนังสือไปเลย ไม่ชอบตัวหนังสือเยอะ ๆ เคยลองเขียนนวนิยายแบบปกติก็ไม่จบ ไม่สำเร็จ ไม่ถนัด
นักวาดและนักเล่า
พี่มุนินทร์เผยว่า นักวาดบางทีก็เล่าเรื่องได้ แต่นักเขียนอาจจะวาดไม่ได้ เป็นงานคนละแบบกัน โชคดีที่เราเป็นนักวาดที่พอเล่าเรื่องได้ด้วย บางคนวาดรูปได้แต่เขียนเล่าเรื่องไม่ได้ ไม่กลม ก็ต้องทำงานเป็นทีม เช่น เรื่องโดย... ภาพโดย...
i sea u
พี่มุนินทร์เผยว่า Sea มาจากทะเล ชื่อไทยคือ ฉัน ทะเล และเธอ เล่าเรื่องราวของทะเล เราก็เอามาพ้องกับคำว่า I see you ซึ่งได้ความหมายที่ดีเหมือนกัน ส่วน u นี้ใช้แทน you เพราะว่าอยากให้สัดส่วนบนหน้าปกสวยเท่า ๆ กัน คือ i sea u
ตอนนั้นคิดจะเขียนซีรี่ส์ยาว จึงมานั่งนึกว่าควรมีคอนเซ็ปต์ เริ่มจากอยากให้เป็นภาพสบาย ๆ สีสวย เลยนึกถึงทะเล เพราะแต่ละคนน่าจะมองทะเลกันได้หลายแง่มุมและมีความทรงจำเกี่ยวกับทะเลที่ต่างกันไป
มาถึงตรงนี้มีนักอ่านถามว่านำมาจากเรื่องจริงหรือไม่ พี่มุนินทร์ตอบว่าการ์ตูนที่เขียนในเพจ พื้นฐานมาจากเรื่องจริงเอามาแต่งเติม ส่วนเรื่อง i sea u มีส่วนจริงตรงเรื่องความผูกพันในวัยเด็ก แต่ไม่ได้นำมาจากคนจริงๆ ส่วนตัวชอบความผูกพันในวัยเด็กตรงที่ผ่านไปเป็นสิบปีเราก็ไม่ลืม เราไม่ลืมเพราะมันมีความทรงจำของคนที่เรารักและสนิทมาก อย่างของมุนินทร์คือน้องชายที่ประสบอุบัติเหตุจากไป เราจำได้เยอะมาก เราเชื่อว่าความทรงจำวัยเด็กเป็นเรื่องฝังลึกเหมือนที่ภาพยนตร์เรื่อง Inside out บอก
ตอนแรกไม่ได้คิดจะมีภาคต่อด้วยซ้ำ เพราะมันกลายเป็นเรื่องสั้นๆ อื่นที่แทรกเข้ามาหลายเรื่องเพื่อพยุงคนอ่าน เพราะเราเคยเขียนสั้น ๆ จบมาตลอด กลัวคนอ่านจะไม่สามารถอ่านยาวๆ ได้เลยต้องแทรก จนพอถึงเล่มสามแล้วก็หยุดเพราะรู้ว่าคนอ่านติดแล้ว อ่านยาวๆ ได้ ซึ่งพอได้ทำเป็นซีรี่ส์ทีวี เขาก็พยายามเอาพวกเรื่องสั้นไปโยง
แต่เมื่อเล่าเรื่องสั้น ๆ จนใกล้จบเล่มหนึ่ง ปรากฏว่าวกกลับมาที่ทะเลอีกรอบ แล้วจริงก็โผล่เข้ามา ตอนนั้นเรารู้สึกทันทีว่า “เฮ้ย! ต้องมีต่อแล้วแหละ” มันเหมือนเราด้นสดไปเรื่อยๆ แต่ความจริงคือตัวละครบอกเราว่าเขาจะไปต่อ พอภาคสองเลยต้องวางแผน และพอท้ายเล่มสองเรารู้สึกแล้วว่าต้องมีใครต่อ จึงวาดปีเตอร์กลับมาเจอทะเล แต่เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ปีเตอร์ ต้องมีต่อแล้วแหละ เพราะตัวละครเราแข็งแรงมาก เขามีชีวิตของตัวเอง
ทะเล ปีเตอร์ และจริง
พี่มุนินทร์เล่าว่าตัวละครเริ่มจากแค่มีเด็กสองคนเล่นทะเล เราก็วาดตัวละครหลายๆ แบบแล้วเลือกเหมือนการแคสติ้งตัวละคร เลยได้ทะเลกับปีเตอร์ จากนั้นก็มาแตกภาพเด็กทั้งสองคนว่า เวลาดีใจเสียใจเป็นอย่างไร ในที่สุดเหมือนเค้ามีตัวตน มีชีวิตจริง ๆ และกลายเป็นธรรมชาติของเขาเลย เพราะตอนนั้นเรารู้แล้วว่าเวลาเขาดีใจเสียใจเขาจะเป็นยังไง
ทะเลเป็นเด็กผู้หญิงแก่นๆ ตอนวาดทะเลก็จะเป็นเด็กผู้หญิงถักเปียที่มีใบไม้ใบหญ้าติดผมเต็มไปหมด ส่วนปีเตอร์มาจากเด็กลูกครึ่งที่มีความขี้อาย มีโลกส่วนตัว แล้วเราก็วางพื้นเพปีเตอร์แบบคิดไว้แล้วในใจ คือ เกิดจากแม่คนไทยที่พ่อฝรั่งหนีไป ชื่อก็ต้องง่ายเท่าที่แม่คนหนึ่งจะนึกออก พอปีเตอร์เจอทะเลก็เหมือนทะเลเป็นโลกทั้งใบของเขา
ส่วนจริง คาแร็คเตอร์คือเพื่อนคณะสถาปัตย์ของเรา เราก็ดึงมาผสม ไม่ใช่มาจากคนคนเดียว จริงมีคาแร็คเตอร์แบบพระเอกครบ เป็นไปได้แน่นอนที่จะเป็นพระเอกในท้ายที่สุด เพราะในความเป็นจริงถ้าใครคนหนึ่งหายไปจากชีวิตเรานานเป็นสิบปีเหมือนปีเตอร์กับทะเล เราก็คงไม่รอ ซึ่งต้องขอโทษ “ทีมปีเตอร์” ด้วย (หัวเราะ)
ถึงตรงนี้มีนักอ่านถามว่านางเอกรักผู้ชายทั้งสองคนใช่หรือไม่ พี่มุนินทร์ตอบว่าเป็นความรักคนละแบบกัน รักปีเตอร์คือการรักที่มากกว่ารักชายหญิง แม้แต่เล่ม i sea u 24 hours ซึ่งเป็นเล่มพิเศษที่เพตั้นนึกว่า “หากย้อนเวลาได้ คงจะ...” ก็ทำให้เห็นว่าปีเตอร์ไม่มีวันใช่ เพราะความรักที่ทะเลมีให้ปีเตอร์มันมากกว่าคนรักและไม่ใช่คนรัก มันคือครอบครัว
ตัวละครที่ชอบมากที่สุด
พี่มุนินทร์กล่าวว่าชอบเพตั้นตรงที่นิสัยต่างกันมากกับพี่ และเป็นคนปิดล็อกตัวเองทุกอย่าง จริงๆ เป็นคนอ่อนโยน พึ่งพาได้ แต่คนชอบมองข้าม เขาแอบชอบเอพริลแต่ก็ไม่ได้บอกเพราะเอพริลชอบปีเตอร์ ซีนหนึ่งที่ชอบคือไปช่วยเอพริลที่จมน้ำ ตัวละครไปของมันเอง มีชีวิตของตัวเอง เราก็เหมือนคนเฝ้าดู โดยซีนนี้มีขึ้นเพื่อช่วยย้ำว่าไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม ปีเตอร์ไม่มีทางลงน้ำแน่นอนเพราะกลัวน้ำ เป็นการบอกใบ้ว่าฉากที่ปีเตอร์มาเจอทะเลแล้วชวนกันเล่นน้ำมันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว
เล่มพิเศษ : i sea u 24 hours
พี่มุนินทร์กล่าวว่าเขียนเล่มพิเศษ “i sea u 24 hours” เพราะทนกระแสดราม่าไม่ไหว และใจเราก็อยากเห็นด้วยว่ามันจะเป็นยังไงหากเราย้อนเวลากลับไปได้และปีเตอร์ไม่ตายโดยให้เพตั้นเป็นคนนึก แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการเน้นย้ำเช่นกันว่าปีเตอร์ไม่ใช่คนที่จริงรักในแบบคนรัก
ถึงตรงนี้มีนักอ่านถามว่าลูกสาวของทะเลคือ เป็นใจในเล่มที่ 5 เหมือนปีเตอร์หรือไม่ พี่มุนินทร์ตอบว่าไม่ใช่ เป็นใจเหมือนทั้งพ่อกับแม่คือจริงกับทะเล แต่ต้องการให้ซีนจบเป็นเด็กเล่นริมทะเลเท่านั้นเอง ให้เป็นเรื่องความบังเอิญที่ต้องการให้ทะเลคิดถึงปีเตอร์ เป็นการจบด้วยความคิดถึง
วิธีการทำงาน
พี่มุนินทร์กล่าวว่าพวกเรื่องสั้นการ์ตูนมุนินฺก็เขียนไปเลย ไม่ได้สเก็ตช์หรือร่างในสมุด ส่วนเวลาเขียนก็วางทั้งเรื่องและอารมณ์ก่อน มีโครงเรื่อง มีธีม มีคอนเซ็ปต์ และวาดแคสต์ตัวละครไปเรื่อย ๆ เหมือนคัดเลือกนักแสดง สำหรับตัวหลักเราก็ต้องรู้ว่าอายุเท่าไหร่ ชอบกินอะไร ส่วนการตั้งชื่อก็ยาก เพราะต้องตั้งชื่อให้มันเข้าปากด้วย ยิ่งตอนนี้มีการแบ่งทีมกันเราก็ต้องคิดชื่อที่เหมาะกับการตั้งทีมด้วย (ผู้ฟังหัวเราะ)
การซ่อนกิมมิคในงาน
พี่มุนินทร์เล่าว่า ใช้กลวิธีการเล่าแล้วแฟลชแบ็กซ้ำ ๆ โดยสิ่งที่ซ่อนอยู่คือความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องราว เช่น แววตา ถ้าเก็บอารมณ์ของตัวละครได้ก็จะเข้าใจเลย นอกจากนี้เรื่องตัวละครมันมีทรงผมช่วยก็จริง แต่เราใช้เรื่องสีมาช่วย คือ ทะเลสีชมพู ปีเตอร์สีเขียวแดง เอพริลสีม่วง จริงสีหม่น ๆ เพราะนวนิยายภาพจะต่างจากละครที่เป็นคนซึ่งจะมองเห็นชัด
เคล็ดลับเวลาคิดไม่ออก
พี่มุนินทร์กล่าวว่าเมื่อเขียนแล้วรู้สึกตันให้ถอยออกมาก่อน แต่อย่าถอยนานมาก ส่วนตัวเป็นคนเชื่อเรื่องจังหวะ ถ้าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ก็พักก่อน บางครั้งก็ไปเจอแรงบันดาลใจหรือบังเอิญเจออะไรสักอย่างตรงหน้าแล้วรู้สึกว่าเอามาใส่ได้ก็มี
จากนวนิยายภาพสู่ซีรี่ส์ทีวี
พี่มุนินทร์เล่าว่า i sea u ได้รับการติดต่อไปทำเป็นซีรี่ส์ทางช่องทรูโฟร์ยู ซึ่งความต่างคือ นวนิยายภาพจะมีความเป็นภาพยนตร์ แต่ซีรี่ส์จะคล้ายละคร ในละครนักแสดงถึงต้องพูดคนเดียว บทพูดเยอะ ทำให้ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ แต่ภาพยนตร์คือภาพ ใช้ภาพในการเล่าเรื่องมากกว่า เมื่อนวนิยายภาพจะกลายเป็นซีรี่ส์จึงต้องเพิ่มเติมในส่วนของบท คือ เขียนบทเพิ่มให้ตัวละครมีชีวิต มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น จริงก็ต้องมีเพื่อนที่คณะบ้าง ซึ่งในนวนิยายภาพของเราไม่มี
นอกจากนี้ในนวนิยายภาพจะไม่มีฉากจริงอยู่กับปีเตอร์เลย แต่ในซีรี่ส์ต้องมี เพราะต้องชิงหัวใจนางเอกกัน จึงต้องเพิ่มบท เขาก็เอาบทมาให้เราอ่านก่อน เป็นการหารือร่วมกัน ตอนถ่ายทำก็ไปดูบ้าง ส่วนนักแสดงก็ดี แพตตี้เล่นเป็นทะเล ก็เหมาะสมและเป็นมืออาชีพ เล่นได้อยู่แล้ว ไบร์ทรับบทปีเตอร์ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพตั้นที่มาหาทะเล ก็เหมาะสม ส่วนเมฆเล่นเป็นจริง ก็เหมาะสมเพราะเขาเป็นคนเซอร์จริงๆ
ผลงาน
พี่มุนินทร์เล่าว่าปีนี้เข้าปีที่ 9 ที่อยู่ในวงการมา มีผลงานมาแล้วประมาณ 20 เล่ม ผลงานล่าสุดมีคอนเซ็ปต์แล้ว คิดถึงมันมาตลอดหลายเดือน คิดถึงตัวละครมาตลอด แต่ยังเหลือพล็อต เป็นซีรี่ส์เรื่องยาว ชื่อ OST รักนี้ไม่มีกำหนดคืน เล่าเรื่องราวของนางเอกที่เป็นลูกเจ้าของร้านเช่าดีวีดี เพราะเราผูกพันกับร้านเช่าหนัง ชอบอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ การ์ตูน ซึ่งคงมีอะไรให้เล่าเยอะ วางไว้ 12 เล่ม น่าจะปีละ 2 เล่ม ไม่เหมือนกับ i sea u ที่เขียนประมาณปีละเล่มเพราะทำเรื่องอื่นด้วยหลายสำนักพิมพ์ เหมือนเด็กที่กำลังค้นหาตัวเอง
ตอนนี้เปิดสำนักพิมพ์เองก็เลยมีเวลา คือ สำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร ทำหนังสือ มีนักเขียนอิสระ 5-6 คน เรื่อง “ประโยคสัญลักษณ์” ของเราก็ออกเองที่นี่ เป็นการทดลองกับสำนักพิมพ์ของตัวเองว่า ถ้าเล่าเรื่องเหมือนภาพยนตร์เงียบจะเป็นอย่างไร มาจากการทดลองว่าจะไม่เขียนเยอะ จะเขียนให้น้อยกว่าเดิม น้อยกว่า i sea u อีก
ในแง่ของการทำงานสำนักพิมพ์เหนื่อยกว่าตอนเป็นนักเขียนอย่างเดียวมาก เพราะเราต้องทำทุกอย่างทั้งเข้าโรงพิมพ์ ส่งสายส่ง เป็นบรรณาธิการให้นักเขียนคนอื่นๆ ด้วย มันเป็นการแบ่งเวลาจากตัวเองไป เราเสียเวลาไป ส่วนผลตอบรับที่ได้กลับมาก็ดีมาก เพราะเราลงมือทำเองทุกอย่างก็จะได้คุยกับคนอ่านด้วย และพบว่ากลุ่มนักอ่าน 80% ของเรา คือ สายวิทยาศาสตร์ เช่น หมอพยาบาลที่เครียด ต้องอ่านหนังสือเยอะอยู่แล้ว ก็ชอบงานเรามากเพราะผ่อนคลายโดยไม่ต้องอ่านเยอะ และเป็นเรื่องบวก ๆ คลายเครียดหน่อย
นอกจากนี้ยังมี 10 มิลลิลิตร เป็นคาเฟ่แกลเลอรี่ย่านรัชดา ที่ทำร่วมกับพี่สาว สอนวาดรูป ปั้นดิน ทำสติกเกอร์ไลน์ขาย
แนะนำน้องๆ ที่อยากเป็นนักวาด
พี่มุนินทร์ทิ้งท้ายว่าสำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นนักวาดว่า นักวาดก็เหมือนนักกีฬา คือ ต้องฝึกบ่อยๆ ให้กล้ามเนื้อจดจำ ทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ มันก็จำ มันจำแม้กระทั่งลมหายใจ เช่น วาดคนแก่ โค้งมาแบบนี้ก็หยุดได้แล้ว มันคือทักษะ อาจจะวาดแล้วไม่เหมือนกัน 100 % ก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างไรการใช้มือวาดก็ทำให้เป๊ะหมดไม่ได้อยู่แล้ว
ส่วนโอกาสในการสร้างชื่อก็มี อย่าหยุดทำ อย่าวอกแวกหรือท้อถอย ทุกวันนี้มีเพจ มีทุกอย่างเร็วมาก เราต้องบอกคนอื่นว่าเราทำอะไร แต่การบอกว่าเราเป็นใครทำอะไรไม่ได้ใช้เวลาแป๊บเดียว ต้องทำต่อเนื่อง
Chestina Inkgirl