“โลกในทุกวันนี้ไม่ใช่โลกที่เราคุ้นเคยในวัยเด็ก และไม่ใช่โลกที่รุ่นลูกหลานของเราจะอยู่อาศัย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โรงเรียนของเราจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับนักเรียนอย่างเด็กยุคดิจิทัล และครูสมัยนี้ก็ไม่ได้รับการอบรมมาให้สอนนักเรียนเหล่านั้น”
นี่คือบทนำจากการบรรยายเชิงวิชาการ โดยเอียน จูคส์ (Ian Jukes) ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างสถาบันการศึกษา และการออกแบบการสอนสำหรับคนยุคดิจิทัล จากประเทศแคนาดา หนึ่งในวิทยากรระดับโลกที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park เชิญมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ใหม่ด้านการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลในงานสัมมนาวิชาการTK Forum 2014“Learning in the Digital Era” ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ และวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
จูคส์ บรรยายในหัวข้อ Understanding the Digital Generation: Strategies for Teaching Digital Learners in Today’s Classrooms ซึ่งพูดถึงการสำรวจผลกระทบที่เกิดจากสิ่งที่พรั่งพรูถาโถมเข้ามาจากโลกดิจิทัล จากการที่เด็กๆ ในภูมิทัศน์ดิจิทัลได้เจอกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ตลอดเวลา และพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลต่ออนาคตของการศึกษาอย่างไร
เขากล่าวในตอนหนึ่งว่า “เด็กทุกวันนี้ ดูภายนอกแล้วก็เหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก แต่ในภายแล้วเด็กเหล่านี้แตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเด็กเหล่านี้ถูกกระหน่ำด้วยสรรพสิ่งจากระบบดิจิทัล สมองของพวกเขาจึงได้ปรับเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่รายล้อมอยู่รอบตัว
เด็กเหล่านี้คือสิ่งที่ Don Tapscott เรียกว่า “Screenager” หรือ วัยรุ่นติดจอ ซึ่งเป็นคนรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นมากับเมาส์คอมพิวเตอร์หรือแทร็คแพด และเชื่อว่าภาพที่อยู่บนจอเป็นสิ่งที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ใหม่ของพวกเขาและเป็นสิ่งที่สามารถแสดงความเป็นตัวตนของพวกเขา พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่ Marc Prenskyเรียกว่า “ชนพื้นเมืองดิจิทัล” (digital natives)พวกเขาได้พัฒนา “สมองด้านวัฒนธรรม” ที่ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมดิจิทัลอย่างมาก จากการที่ถูกรุมล้อมด้วยดิจิทัล สมองของเด็กสมัยนี้จึงเปลี่ยนไปทั้งทางด้านกายภาพและเคมี
เขายังได้กล่าวถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ซึ่งพบว่า สมองจัดการภาพได้เร็วกว่าข้อความถึง 60,000 เท่า มนุษย์เราจริงๆ แล้วเป็นผู้เรียนประเภทที่เรียนรู้ได้ดีจากภาพ จึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่นักเรียนของเรามีแนวโน้มที่อยากจะประมวลผลข้อมูลจากภาพมากกว่าข้อความ
จูคส์กล่าวว่า “นักเรียนส่วนใหญ่ในห้องเรียนไหนๆ ไม่ได้เป็นผู้เรียนที่เรียนรู้จากการฟังหรือการอ่านข้อความตัวอักษรอีกต่อไปแล้ว ผลจากการถูกกระหน่ำทางดิจิทัลทำให้นักเรียนเหล่านี้คิดเป็นภาพ และเป็นผู้ที่เรียนรู้ทางสายตาจากการเห็นภาพ (visual learner)หรือจากการเห็นภาพและการเคลื่อนไหว/สัมผัส (visual kinesthetic)พวกเขาได้รับการเดินระบบสายมาสำหรับมัลติมีเดีย”
Marc Prenskyประมาณว่าเมื่อเด็กรุ่นดิจิทัลอายุได้ 21 ปี พวกเขาจะทำสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว:
- เล่นวิดีโอเกมส์เป็นเวลากว่า 10,000 ชั่วโมง
- ส่งและรับอีเมลและข้อความ 250,000 ชิ้น
- ใช้เวลาในการคุยโทรศัพท์ 10,000 ชั่วโมง
- ดูโทรทัศน์มากกว่า 20,000 ชั่วโมง
ตอนที่เราเป็นเด็ก ทั้งเราและพ่อแม่ของเราแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์อย่างที่ลูกหลานของเรามีเหล่านี้เลย คุณคิดว่าสิ่งนี้มีอิทธิพลต่อวิธีการคิดของคนรุ่นดิจิทัลไหม? วิธีที่พวกเขาเรียนล่ะ? หรือการมองโลกของพวกเขา? หรืออะไรคือสิ่งที่พวกเขาสนใจ?
จูคส์ตอบคำถามของ Prenskyว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่เด็กยุคใหม่ชอบมีอยู่ 8 รูปแบบหลัก ได้แก่
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบการได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วจากสื่อมัลติมีเดียหลายๆ แหล่ง
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบจัดการกับข้อมูลภาพ เสียง สี และวิดีโอ มากกว่าข้อความ
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบเข้าถึงข้อมูลมัลติมีเดียที่เชื่อมโยงหลายมิติโดยไม่มีแบบแผน
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบสร้างเครือข่ายกับอีกหลายๆ คนไปพร้อมๆ กัน
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบเรียน “เมื่อถึงเวลา”
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบได้รับคำชมหรือรางวัลทั้งทันทีและภายหลัง
- ผู้เรียนยุคดิจิทัลชอบการเรียนรู้ที่ตรงประเด็น มีประโยชน์ทันที และสนุก
จูคส์สรุปว่า “ระบบการศึกษาทุกวันนี้กำลังพยายามที่จะจับนักเรียนที่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมยัดใส่ลงไปในโรงเรียนที่เป็นช่องกลมๆ โดยใช้ข้อสอบมาตรฐานในการวัดผลสมองซึ่งล้วนแตกต่างกันไปไม่ได้มีลักษณะเป็นมาตรฐาน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพิจารณาว่าจะปรับโครงสร้างประสบการณ์ในห้องเรียน วิธีที่เราสอน วิธีที่นักเรียนเรียนรู้ และวิธีวัดผลสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้เสียใหม่ได้อย่างไร”
คุณเตรียมพร้อมหรือยังที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างตั้งแต่เดี๋ยวนี้?
ผู้สนใจสามารถอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้จากหนังสือ “รวมมิตร คิด เรื่อง การเรียนรู้ประสบการณ์ภาคปฏิบัติจากคนยุคอนาล็อกถึงชนรุ่นดิจิทัล” ซึ่งสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายของวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศ พร้อมบทสัมภาษณ์วิทยากรชาวไทยในหัวข้อต่างๆ อาทิ
- ลักษณะการเรียนรู้ของชนยุคดิจิทัลโดย เอียน จูคส์ (Ian Jukes), แคนาดา
- กระบวนทัศน์ใหม่สำหรับห้องสมุดสาธารณะและหอสมุดแห่งชาติไต้หวันในยุคดิจิทัล โดย ดร.เจิ้ง ฉู่ เสียน (Tseng Shu-hsien), ไต้หวัน
- โมเดลปฏิรูปการเรียนรู้เด็กไทย โรงเรียนไม้ไผ่ “มีชัยพัฒนา” โดย ดร.มีชัย วีระไวทยะ
- เปลี่ยนการศึกษาไทย สู่ศตวรรษที่ 21 โดย ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์
- จักรวาลความรู้ในยุคดิจิทัล โดย นายวรสรวง ดวงจินดา
- คอลอแต ร้านน้ำชา โรงเรียนชีวิต โดย นางสาวซูไรยา อาแด
- ครูนอกกรอบ โรงเรียนนอกกะลา โดย นายวิเชียร ไชยบัง
- เมื่อครีเอทีฟเสพติดงานอาสาสมัคร ผลลัพธ์คือ... นวัตกรรมสังคม โดย นายธนบูรณ์ สมบูรณ์
- ความสุขอยู่หนใด ในยุคดิจิทัล โดย นายนที จารยะพันธุ์ และ นายคณิต อร่ามกิจโพธา
พร้อมให้อ่านแล้ววันนี้ที่ห้องสมุดทีเค อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) โทร 02-264-5963 ถึง 65 ต่อ 113 (ฝ่ายวิชาการ) หรือเว็บไซต์ http://tkforum.tkpark.or.th/