TK Reading Club ตอน ลูกอีสาน
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมร่วมพูดคุยนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” นวนิยายเรื่องนี้ทำให้คุณคำพูน บุญทวีได้รับรางวัลซีไรต์ปี พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นซีไรต์ปีแรกของประเทศไทย เรื่องลูกอีสาน ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ (ใช้ชื่อว่า A child of the northeast) รวมถึงได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ด้วย นอกจากนี้คุณคำพูน บุญทวียังได้รับราวงวัลอื่นๆ อีกมากมาย เช่น รางวัลชมเชย งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติประจำปี 2520 จากเรื่องนายฮ้อยทมิฬ นักเขียนรางวัลช่อการะเกดเกียรติยศประจำปี พ.ศ.2542 และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปี พ.ศ.2544 ทั้งนี้ในวันนี้อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้รับเกียรติจากคุณลันนา เจริญสิทธิชัย หรือนามปากกาว่า “กิมหลั่น” ภริยาของคุณคำพูน บุญทวีมาเป็นวิทยากร
“ลูกอีสานที่เปรียบเสมือนเป็นเรื่องชีวิตจริงอิงนิยายของครอบครัว ข้าพเจ้ากับเพื่อนบ้านที่ประสบภัยแล้งและความอดอยากปากแห้งสมัยนั้น”
(คำนำลูกอีสาน, 2552)
ลูกอีสานเป็นนวนิยายสะท้อนภาพสะท้อนชีวิตลูกอีสานหรือชาวอีสาน นวนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในชนบท โดยเล่าวิถีชีวิตของชาวอีสานผ่านครอบครัวมีเด็กชายคูน พ่อแม่ และน้องสาว คูนเป็นเด็กช่างสงสัยชอบซักถาม ซึ่งพ่อของคูนก็เต็มใจตอบและดูแลเสมอ
เหตุใด “ลูกอีสาน” จึงครองใจนักอ่าน
คุณลันนากล่าวว่า หนังสือของคำพูน บุญทวีมีความโดดเด่นที่ความซื่อ ความเป็นธรรมชาติของการถ่ายทอดให้เห็นวิถีชีวิตคนอีสาน สะท้อนให้เห็นความอดทนของคนอีสานสมัยก่อน เพราะภูมิประเทศมันแล้งมากๆ
คุณลันนายังเสริมอีกว่า เรื่องลูกอีสานเป็นอมตะ ใครๆ ที่อ่านก็รัก ใครๆ ก็อยากเอาใจช่วยเด็กชายคูน ซึ่งดังที่กล่าวไปว่าก็คือตัวลุงคำพูนเอง ทั้งยังสะท้อนภาพครอบครัวของลุงคำพูนที่ทำนาอยู่ยโสธรด้วย ในส่วนของนวนิยายทำให้เห็นวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนต่างจากยุคนี้ เช่น ในครอบครัวลูกจะมีนิสัยอ่อนน้อม เชื่อฟังพ่อแม่ สมัยก่อนพ่อแม่มีทัศนะในการเลี้ยงลูกให้ขยัน มีศีลธรรม พ่อต่องเก่ง เลี้ยงครอบครัวได้ หรือในด้านชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ สมัยก่อนอยากกินปลาต้องไปจับ สมัยนี้ต้องไปซื้อ คนอีสานที่ได้อ่านก็มักมาบอกว่าอ่านแล้วคิดถึง ซาบซึ้ง เพราะทุกวันนี้ภาพชีวิตเหล่านั้นที่ปรากฏในหนังสือเริ่มไกลตัว เริ่มหายไปแล้ว เด็กไม่ได้ซึมซับ เด็กบางคนไม่เคยเห็นเกวียนด้วยซ้ำ ในฐานะที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ตนจึงสวมใส่ผ้าซิ่นเวลาออกงานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไปด้วย
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่าชอบเรื่องลูกอีสานมาก โดยเฉพาะเรื่องชีวิตครอบครัวที่พ่อแม่สอนลูก ๆ เอง ชอบที่เด็กชายคูนเป็นเด็กช่างซักถาม ได้เห็นภาพความผูกพันของพ่อแม่ลูก คุณลันนาเสริมว่าคุณพ่อของลุงคำพูนก็เป็นแบบนั้น เป็นคนธัมมะธัมโม ชอบอธิบาย
คำพูน บุญทวีในความทรงจำ
คุณลันนาเล่าย้อนความหลังครั้งที่ได้รู้จักคำพูน บญทวีว่า ตนเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และรู้จักคำพูน บุญทวีจากนิตยสารฟ้าเมืองไทย แล้วก็ชอบสไตล์การเขียนของคำพูน บุญทวี ต่อมามีโอกาสได้พบกัน คบกันเพียง 3 เดือนก็แต่งงานกันเลย
คุณลันนาเผยความประทับใจเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องลูกอีสานว่า เป็นนวนิยายที่ชื่นชอบ เพราะมีความเป็นธรรมชาติมาก ตัวละครเอกคือเด็กชายคูนก็เหมือนลุงคำพูน บุญทวีที่เป็นคนขยัน ซื่อ ใจดี อดทน เรียบง่าย สมถะ ลุงเหมือนตัวละครในหนังสือมาก
คุณลันนาเล่าภาพลุงคำพูนในความทรงจำให้ฟังว่า ถ้าไม่รู้จักจะนึกว่าเขาเป็นคนสติไม่ดี เช่น หายออกจากบ้านไปเลย ไม่เคยรู้ว่าเขาหายไปไหน บางทีก็หายไปหนึ่งเดือน ทีแรกก็นึกว่าโดนทิ้งแล้ว แต่มาทราบภายหลังว่าเขาหายไปเก็บข้อมูลเขียนหนังสือ ซึ่งเขาจะบอกตอนกลับมาแล้ว เขาจะเล่าให้ฟัง แต่หากถามตั้งแต่ก่อนไปว่าเขาจะกลับเมื่อไหร่ เขาจะตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะได้ข้อมูลครบตามต้องการเมื่อไหร่ แต่ถามว่าห่วงลุงไหมก็ไม่ห่วงเท่าไหร่เพราะภายหลังก็รู้แล้วว่าเขาเป็นแบบนี้
3 ปีแรกที่อยู่ด้วยกันเกือบจะขอเลิกตลอด พี่ชายถึงกับจ้างให้เลิก ตอนแต่งกับลุง ตนไม่ได้เข้าบ้าน 10 ปี เพราะแต่ก่อนคนจีนมักไม่ชอบคนอีสาน อีกทั้งพี่ชายยังรู้สึกว่าลุงเป็นสามีที่ไม่ดูแลภรรยา คุณลันนาเสริมว่าเขาไม่ถามเราเลยว่ามีเงินใช้ไหม เคยมีแต่โทรเลขมาขอเงินเพราะไม่มีเงินซื้อตั๋วรถไฟกลับบ้าน (ทุกท่านหัวเราะ)
ด้วยเหตุนี้คุณลันนายังเสริมว่าตนเคยไปปรึกษาคุณอาจินต์เรื่องลุงคำพูน คุณอาจินต์บอกว่า “ถ้ารักก็ต้องยอม” ต่อมาคุณลันนาถึงกับเซ็นสัญญาทุก 3 ปีว่าช่วง 3 ปีนี้ถ้าอยู่กันไม่ได้ก็เลิกกันไป ไม่ต้องมีลูกกัน ในที่สุดช่วงที่ต่อสัญญากันมา 6 ปีเราก็ปรับตัวได้ เข้าใจได้ว่านี่คือนิสัยของเขา
ถึงตรงนี้นักอ่านท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่าเคยอ่านพบว่าคุณคำพูนชอบไปขลุกอยู่กับคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้เป็นบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทย คุณอาจินต์ช่วยเหลือดูแลลุงคำพูนมากตั้งแต่การผลักดันให้ลุงคำพูนเป็นนักเขียน แต่ไม่ให้ยืมเงินเพราะกลัวเสียนิสัย คุณลันนาเสริมว่าเวลาจะส่งต้นฉบับลงนิตยสาร คุณคำพูนเป็นคนเขียนหนังสือแบบนาทีสุดท้าย ถ้ามีเงินจะเขียนไม่ได้เลย ต้องไฟลนก้น หรือเหลือเวลาอีกแค่ชั่วโมงเดียวต้องส่งต้นฉบับ ถึงจะเขียนออกมาได้
วิธีทำงานของนักเขียนลูกอีสาน
คุณลันนาเล่าวิธีการทำงานของคำพูน บุญทวีว่า ลุงไม่ได้เขียนหนังสือแบบนั่งนึกเอา แต่ต้องไปหาข้อเท็จจริง ต้องเห็นกับตา ลุงจึงมักไปนอนที่สวนลุมพินี นอนที่สนามหลวง เพื่อสังเกตอากัปกิริยาท่าทางของคน แล้วนำมาเขียนเป็นบุคลิกตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น ตอนเขียนหนังสือเรื่องลูกลำน้ำโขง ลุงคำพูนต้องการเขียนเรื่องการจับปลาบึก ก็เดินทางไปดูการจับปลาบึกจริง ๆ จึงได้เห็นว่าการจับปลาบึกแต่เดิมมีการทำพิธีต่าง ๆ พิธีทางไสยศาสตร์ก็มี หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตการล่าปลาบึกของคนริมฝั่งโขง วิธีการล่าปลาบึก ประเพณีการล่าปลาบึก การละเล่นและความเป็นอยู่ของคนริมฝั่งโขง การเขียนหนังสือของลุงจึงเหมือนทำการวิจัย ต้องเก็บข้อมูล
หรืออย่างหนังสือเรื่อง ผจญภัยทุ่งกุลาร้องไห้ ลุงคำพูนก็พาไปดูสถานที่ ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นทุ่งที่กว้างใหญ่มาก ไม่มีต้นไม้เลย ตามตำนานเชื่อว่ามีเมืองอยู่ใต้ทุ่งกุลาร้องไห้ ลุงคำพูนอยากเขียนเล่าเรื่องตำนานเหล่านี้ ขณะที่คุณป้าลันนาเผยว่ากลัวไม่มีคนอ่าน เพราะคนไม่น่าจะสนใจเรื่องเล่าตำนาน แต่ลุงกลับบอกว่านวนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ยังเล่าเรื่องตำนานได้เลย ลุงจึงเขียนเล่าเรื่องนี้ในลักษณะนวนิยายที่เล่าตำนาน
เคล็ดลับการเป็นนักเขียน
ตนอ่านหนังสือของลุงคำพูนทุกวันจนกระทั่งลุงพูดขึ้นมาว่า “ทำไมไม่ลองเขียนบ้าง” จากนั้นลุงคำพูนจึงเริ่มสอนให้เขียนหนังสือ จากแต่เดิมเธอเป็นคนเซ่อซ่า ไม่ค่อยรู้จักโลก แต่เมื่อมาอยู่กับลุงคำพูน ลุงได้สอนอะไรหลายอย่างแก่เธอ โดยเฉพาะ “การเป็นนักเขียน”
วิธีการเขียนหนังสือที่ลุงคำพูนสอน คือ ต้องสังเกตแล้วจดบันทึก เช่น มองดูคนขึ้นรถเมล์ว่าก้าวขึ้นบันไดด้วยเท้าซ้ายหรือขวา เมื่อตนบ่นว่าทำไมต้องสังเกตขนาดนั้น ลุงคำพูนก็บอกว่าจะเป็นนักเขียนต้องแม่นเรื่องข้อมูล คนอ่านต้องจับผิดเราไม่ได้
คุณลันนาเสริมว่า นอกจากนี้ลุงคำพูนยังสอนว่าให้เขียนเรื่องที่ใกล้ตัวที่เรารู้ดีที่สุด แต่ตนไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไร ลุงคำพูนจึงแนะนำให้เขียนเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนจีนกับคนอีสาน ซึ่งหมายถึงการเล่าเรื่องการใช้ชีวิตของคุณลันนากับลุงคำพูนนั่นเอง เนื่องจากคนจีนกับคนอีสานมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เช่น คนจีน เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนก็ต้องไหว้เป็ดไก่ แต่ลุงคำพูนไม่กินเลย เขารักษาวัฒนธรรมของเขาเหนียวแน่น พอถึงเวลากิน เขาก็ไปหาไข่มดแดง หาบึ้ง (แมงมุม) กิน นอกนั้นเขาก็กินแต่ปลาร้า พริกป่น กินแค่นี้ ไม่เคยกินอาหารแบบอื่นเลย
ในที่สุดคุณลันนาซึ่งใช้นามปากกาว่า กิมหลั่น ก็เขียนนวนิยายเรื่อง "เจ๊กบ้านนอก" สำเร็จ ใช้เวลาเขียนถึง 2 ปี โดยมีคุณคำพูนคอยดูแลและให้คำแนะนำ และในภายหลังคุณลันนายังได้เขียนหนังสือเรื่องเจ๊กปนลาว ที่บอกเล่าเรื่องราวการอยู่ร่วมกันของคนสองวัฒนธรรมอย่างคุณป้าลันนากับลุงคำพูนอีกด้วย
คติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีของอีสาน
แม้ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่คุณลันนาก็มีความรักและผูกพันกับความเป็นอีสานด้วย
คุณลันนากล่าวว่าประเพณีอีสานที่น่าสนใจมีหลายอย่าง เช่น การ “ผูกเสี่ยว” โดยใช้เส้นฝ้ายผูกข้อมือ ปัจจุบันยังมี ทำเพื่อเรียกขวัญกำลังใจ เรียกความเคารพและความร่วมมือ โดยก่อนเริ่มงานก็จะผูกเสี่ยว ซึ่งจะทำให้งานราบรื่น
นอกจากนี้ยังมีประเพณีเผาศพ โดยตั้งโครงไม้ แล้ววางศพเผาบนไม้นั้นเอง คนที่ไปร่วมงานจะเห็นศพงอหงิก เพราะเส้นเอ็นยึด แต่ปัจจุบันเผาที่เมรุ งานแต่งงานก็เช่นกันแต่ก่อนจัดงานกันง่าย ๆ สมัยนี้ต้องมีหมอลำซิ่ง
นักอ่านท่านหนึ่งเสริมว่าชอบตอนที่หนังสือเล่าเรื่องการไล่ผีปอบ เนื่องจากตนเองก็เป็นคนอีสาน จึงรู้จักประเพณีนี้ดี คือการที่ผู้ชายในหมู่บ้านนอนไหลตาย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมี ชาวบ้านจึงนำเสื้อแดงมาแขวนกันผีปอบเพราะเชื่อว่าช่วยได้ จึงกลายเป็นหมู่บ้านเสื้อแดง
คุณลันนาเสริมว่าการเป่าคาถาของหมอผีก็น่าสนใจ เช่น เป็นการรักษาคนไข้ด้วยการเป่าคาถา แต่พอหมอผีตายไปก็คงหมด เพราะไม่มีใครสืบต่อ
ส่วนเรื่องการคลอดสมัยก่อนก็มีเล่าไว้ในหนังสือ โดยจะต้องใช้ไม้ไผ่เหลาบางตัดสายสะดือทารก เตรียมหม้อไว้สำหรับใส่รก แล้วนำหม้อไปฝังใต้ที่นอน แต่ถ้าในปัจจุบันใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดืออาจจะเป็นบาดทะยักได้
ประเพณีการขี่วัวเทียมเกวียนก็เป็นวิถีชีวิตอีกอย่างที่น่าสนใจ คือการที่ชาวบ้านไปซื้อของต่างหมู่บ้าน ไปกันเป็นขบวน แล้วเอาของกลับมาขายในหมู่บ้าน สมัยนี้ก็ยังมี แต่ถ้าเป็นคนต้อนวัวควายมาขายจะเรียกว่านายฮ้อย สมัยก่อนมีความเชื่อว่าคนจะเป็นนายฮ้อยต้องมีอิทธิฤทธิ์ด้วย เรื่องเกี่ยวกับนายฮ้อยนี้ลุงคำพูนก็เคยเขียนคือเรื่องนายฮ้อยทมิฬ ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง
เสน่ห์ภาษาอีสาน
เนื่องจากคุณคำพูน บุญทวีเขียนเล่าเรื่องอีสาน ภาษาที่ตัวละครใช้จึงเป็นภาษาถิ่นหรือภาษาอีสานไปด้วย ทำให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่คนอีสานอ่านได้ไม่เร็วนัก เรื่องนี้คุณอาจินต์เคยกล่าวและให้คำแนะนำแก่คุณคำพูน บุญทวีว่า “ภาษาอีสานมีเสน่ห์” ไม่ควรจะใส่วงเล็บบอกความหมาย เพราะจะทำให้เสียอรรถรส แต่ให้ใช้วิธีการเขียนอธิบายบริบทจนผู้อ่านสามารถเข้าใจได้
ชีวิตนักเขียนซีไรต์ที่ไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ
คุณลันนาเล่าว่างานเขียนของลุงคำพูนส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอีสาน แม้ว่าจะได้รับรางวัลซีไรต์จากเรื่องลูกอีสานแล้ว แต่ลุงคำพูนก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอีสานอยู่ จึงมีซีรีส์เรื่องอีสาน เช่น เลือดอีสาน อีสานพเนจร ไปจนถึงการเล่าเรื่องเกี่ยวกับอีสานในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ผักพื้นบ้าน แมลง วิถีชีวิต ไปจนถึงพจนานุกรมภาษาอีสาน
อย่างไรก็ตามคุณลันนากลับได้ยินถ้อยคำที่บั่นทอนจิตใจว่า ไม่มีใครสนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับอีสานอีกต่อไป คุณลันนาจึงมุ่งมั่นที่จะเปิดสำนักพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์หนังสือทุกเล่มของคุณคำพูน เพื่อเป็นการยืนยันว่าลุงคำพูนเขียนหนังสือดี ในที่สุดสำนักพิมพ์โป๊ยเซียนที่จัดพิมพ์หนังสือทุกเรื่องของคุณคำพูน บุญทวีจึงถือกำเนิดขึ้น และมีคุณลันนาดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเป็นบรรณาธิการหรือการขายหนังสือ
จากสำนักพิมพ์สู่มูลนิธิเพื่อการศึกษา
นอกจากจะตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมาแล้ว คุณลันนายังอยากเห็นการเรียนการศึกษาไทยก้าวหน้ามากขึ้น อันเป็นการต่อยอดไปสู่มูลนิธิคำพูน บุญทวีด้วย
สมัยก่อนเรียนในวัด บางครอบครัวพ่อแม่ก็อยากให้เรียนแต่ไม่มีโรงเรียน แต่คุณลุงคำพูนยังโชคดีได้เรียนหนังสือ พ่อก็เป็นครู เมื่อลุงคำพูนได้มาอยู่กรุงเทพ ประกอบอาชีพขี่สามล้อก็ขี่สามล้อด้วยอ่านหนังสือไปด้วย ลุงเป็นคนชอบอ่าน ความจำดี ชอบสังเกตคน
นักอ่านท่านหนึ่งเสริมว่า ตนเองเป็นคนอีสานทำให้เข้าใจลึกซึ้งเรื่องการศึกษาในภาคอีสาน เห็นพ่อแม่ไปทำนาส่งลูกเรียน บางคนก็ตั้งใจเรียนเพื่อจะไปช่วยเหลือแบ่งเบาพ่อแม่ แต่บางคนที่คิดว่าตัวเองเรียนไม่เก่งก็ออกมาทำนาช่วยพ่อแม่ คุณลันนาเสริมว่าปัจจุบันนี้คนอีสานทะเยอทะยาน มีมานะอดทน และมีโอกาสได้เรียนหนังสือกันมาก
ด้วยเหตุนี้เอง คุณลันนาจึงนำเงินที่ได้จากการขายหนังสือของสำนักพิมพ์มาริเริ่ม “กองทุนคำพูน บุญทวี” เพื่อแจกหนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนและเรือนจำในภาคอีสาน รวมถึงภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยสามารถติดต่อทางสำนักพิมพ์หรือคุณป้าลันนาได้โดยตรง ทั้งนี้ปัจจุบันยังมี “มุมหนังสือคำพูน บุญทวี” ที่ห้องสมุดสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อเป็นที่ศึกษาค้นคว้าสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจด้วย
สุดท้ายคุณลันนาเสริมว่าเรื่องของการศึกษาอยู่ที่ครูและกระทรวงศึกษาที่ต้องร่วมมือกันปลูกฝัง แต่ในฐานะนักอ่าน เราก็ควรเรียนรู้เรื่องราวของทุกคน ไม่ใช่แค่คนอีสาน เราควรอ่านเพื่อเรียนรู้คนเหนือ คนใต้ คนจีน หรือคนอื่น ๆ แล้วเราจะได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตจิตใจของมนุษย์
Chestina Inkgirl