TK Reading Club ตอน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในตอน “นวนิยายอิงประวัติศาสตร์” โดยได้หยิบยกนวนิยายชั้นครูของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง “สี่แผ่นดิน” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ตีพิมพ์ซ้ำ รวมถึงดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และละครเวทีหลายครั้ง มาเป็นหัวข้อเสวนาในวันนี้ และได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ คุณหมอพงศกร จินดาวัฒนะ นักเขียนนวนิยายชื่อดังที่ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์มากมาย เช่น สาปภูษา รอยไหม และพี่ทัย-จีริหทัย กิติยากร นักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงมาร่วมเสวนาด้วย ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
ฉากและบรรยากาศในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน
สำหรับนักอ่านที่เคยอ่านนวนิยายเรื่องนี้มาแล้วคงมีไม่น้อยที่ประทับใจการบรรยายสถานที่ต่าง ๆ อย่างละเอียดลออ โดยเฉพาะที่พระบรมมหาราชวัง จนนักอ่านบางคนอย่าง พี่ทัย ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายชื่อดัง ที่มาร่วมวงเสวนาในวันนี้ ได้เล่าให้ฟังว่าตนเองอินมากถึงขั้นไปเดินหาบ้านแม่พลอยทั้งที่รู้ว่าไม่มีอยู่จริง นอกจากนี้พี่ทัยยังกล่าวอีกว่าวังในนวนิยายที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กล่าวถึงเป็นวังที่จินตนาการมาจากวังฝ่ายใน ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นวิทยาลัยในพระบรมมหาราชวัง
คุณหมอพงศกรเสริมว่าสถานที่ที่ปรากฏในนวนิยายจำลองมาจากสถานที่จริงทั้งหมด เช่น ตำหนักของเจ้าดารารัศมี ซึ่งปกติไม่เปิดให้เข้ายกเว้นบางโอกาสพิเศษ ซึ่งก็นับเป็นโอกาสดีที่ผู้อ่านได้รู้จักจากนวนิยายเล่มนี้ นอกจากนี้คุณหมอยังเล่าให้ฟังว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้นำมาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ยกเว้นเพียงตัวละครเท่านั้นที่แต่งขึ้นมา แม้แต่ความเชื่อ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยก็เป็นเรื่องจริง เช่น การเข้าพระตำหนักฝ่ายในของเจ้านายฝ่ายหญิงจะต้องจุดเทียนเพื่อให้เห็นหน้า เพราะในสมัยรัชกาลที่สี่ มีชายลักลอบเข้าไปหานางในวังและลอบได้เสียกันจนนางในตั้งครรภ์ จากนั้นจึงมีกฎว่าผู้ที่จะเข้าออกพระตำหนักฝ่ายในจะต้องจุดเทียนส่องหน้า
พี่ทัยยังเสริมเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกหลายเรื่อง เช่น การแต่งตัวตามสีวันที่เป็นมงคล เช่น วันจันทร์ให้นุ่งน้ำเงินห่มเหลือง เป็นต้น
สี่แผ่นดินในฐานะนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย
คุณหมอพงศกรยกย่องว่าสี่แผ่นดินเป็นนวนิยายที่เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยได้ค่อนข้างครบถ้วนที่สุดเล่มหนึ่ง หากใครสนใจประวัติศาสตร์ไทยก็สามารถเริ่มต้นอ่านจากสี่แผ่นดินก่อนได้ คุณหมอพงศกรเสริมว่าการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์เป็นความฝันหนึ่งของนักเขียนหลายคน เพราะการเขียนนวนิยายไม่เหมือนสารคดี เราต้องใส่ตัวละครที่มีชีวิต เลือดเนื้อในนั้น ต้องรู้บริบทสังคม ทั้งเพลง การพูดจา เพราะคนยุครัชกาลก่อน ๆ คงไม่พูดว่า “ฟินเวอร์” (ผู้ฟังหัวเราะ)
พี่ทัยเสริมว่านวนิยายเรื่องนี้สอดแทรกเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น พระราชพิธีโสกันต์ หรือพิธีโกนจุกของพระราชโอรสและพระราชธิดา พิธีลอยพระประทีปที่มีการอธิบายการตกแต่งเรือของกษัตริย์อย่างสวยงาม พี่ทัยยังเสริมอีกว่าคุณกฤษณา อโศกสิน เคยเล่าให้ฟังว่า ยิ่งเขียนย้อนยุคไปไกลเท่าไรก็ยิ่งหาข้อมูลยาก เพราะแม้แต่ในพงศาวดารก็เล่าแค่ว่าใครทำอะไร ที่ไหน แต่ไม่ได้ลงลึกเรื่องรายละเอียด
คุณหมอพงศกรเล่าประสบการณ์การเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของตนเองเรื่อง “สาวหลงยุค” ให้ฟังว่า เป็นเรื่องของนางเอกคนหนึ่งที่ย้อนเวลาไปอยู่ในยุคสมัยรัชกาลที่หก มีฉากหนึ่งที่นางเอกหนีไปหัวหิน นางเอกก็หิ้วชะลอม ขึ้นรถไฟไปหัวหิน โดยขึ้นรถไฟจากหัวลำโพง แต่ก็ได้รับการทักท้วงจากบ.ก.ว่าไม่สามารถไปถึงหัวหินได้ เพราะยังไม่มีสะพานข้ามไป หากจะไปหัวหินต้องต่อเรือ
คุณหมอเสริมว่าปัญหาอีกประการของการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์คือ เสียดายข้อมูล อยากเล่าไปหมดเพราะอ่านมาเยอะ เช่น นวนิยายเรื่องสาวหลงยุคนี้ นางเอกเดินจากบ้านที่บางลำพูเพื่อจะไปโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ปรากฏว่าเขียนเล่าไปสองบทก็นางเอกก็ยังเดินไม่ถึง สุดท้ายบ.ก.ขอตัดออก เพราะเหตุผลที่ว่าเนื้อเรื่องไม่เดิน
สี่แผ่นดินกับการสะท้อนภาพวิถีชีวิตและการเมืองของไทย
คุณหมอกล่าวว่าหากเทียบชีวิตของแม่พลอยกับคนไทยในสมัยนั้นจะเห็นว่า สมัยรัชกาลที่ห้า สนุกและมีสีสันที่สุด สมัยรัชกาลที่เจ็ดเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ดูได้จากชีวิตของอ้นกับอั้น ซึ่งเป็นลูกแม่พลอย กล่าวคือเป็นสมัยที่คนไทยแบ่งฝักฝ่าย มีความขัดแย้งกันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนไทยมีความกังวลเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจก็ไม่ดี ส่วนสมัยรัชกาลที่แปดก็เป็นช่วงยุคที่สั้นมาก เพราะพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อต่างประเทศก่อนจะกลับมาและเสด็จสวรรคต
ส่วนนักอ่านแสดงความเห็นว่าเรื่องราวในแต่ละรัชกาลก็สอดคล้องกับวัยของคน คือ ในสมัยรัชกาลที่ห้า แม่พลอยยังเป็นวัยรุ่น เรื่องราวเลยสนุกสนาน พอถึงสมัยรัชกาลที่หก แม่พลอยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ แต่งงาน สามีตาย อยู่กับลูก เรื่องก็เริ่มไม่สนุกเท่าชีวิตในช่วงวัยรุ่น
คุณหมอเสริมว่าวิถีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ห้ายังเป็นแบบสโลว์ไลฟ์ (นักอ่านหัวเราะ) มีมหรสพให้ชม มีความบันเทิงมากมาย ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์นานและทรงงานหนัก จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยได้ชัดเจน ทั้งสาธารณสุข การศึกษา เช่น ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ทางรถไฟสายแรก เป็นสมัยที่ประเทศมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ส่วนเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ห้าที่ส่งผลกระทบต่อแม่พลอยโดยตรงก็จะเป็นเรื่องของกษัตริย์ เพราะแม่พลอยเติบโตในวัง มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ ประกอบกษัตริย์ในสมัยนั้นเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า อีกทั้งในสมัยนั้นคนไทยก็ไม่มีความกังวลเรื่องปากท้อง สงครามแม้จะมีบ้างคือ ร.ศ.112 แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อคนไทยส่วนมาก แต่ในภายหลังจากรัชกาลที่ห้า เริ่มมีเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ และสั่นไหวสังคมไทย คือสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่หก ส่วนแม่พลอยก็ประสบกับความประหลาดใจเรื่องบทบาทกษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงไป คือช็อกที่เห็นรัชกาลที่หกทรงเล่นละคร จากที่พลอยเคยยึดถือกษัตริย์หรือในฐานะรูปเคารพก็กลับกลายเป็นรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงกษัตริย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่หก ผู้ชายต้องแต่งตัวมากขึ้น แม่พลอยช็อก แต่สามีมีความสุขมากขึ้น เพราะการทำงานในวังไม่ต้องยึดขนบหรือตามครรลองมากเท่าสมัยรัชกาลที่ห้า รัชกาลที่หกทรงพระราชนิพนธ์บทประพันธ์ต่าง ๆ มากมาย และทรงเป็นคนทันสมัย แม้จะพระองค์จะทรงครองราชย์สั้น ๆ แค่สิบห้าปี แต่ก็ทำให้ประเทศไทยมีความสนุกสนาน จนผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้ในที่สุดว่าภายหลังพลอยก็เริ่มปรับตัวได้ จากที่เคยไว้ผมทรงดอกกระทุ่มก็ไว้ยาว จากฟันดำก็เปลี่ยนเป็นขาว และนุ่งซิ่นตามสมัยนิยม
ตัวละครในสี่แผ่นดินกับการสะท้อนภาพสังคมการเมืองไทย
คุณหมอพงศกรกล่าวว่าในแง่ของสามีภรรยาระหว่างคุณเปรมกับพลอยก็สะท้อนให้เห็นสถานภาพของคนไทยในสังคมที่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง คือ เปรมเป็นหลานเจ้าพระยา มาจากตระกูลเจ้าสัว แต่พลอยเป็นลูกเจ้าพระยา มีเชื้อเจ้า พอแต่งงานกันก็ต้องเรียนรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ ประเพณีใหม่ เช่น เชงเม้ง ตรุษจีน ซึ่งคนจีนหรือเจ้าสัวมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ขณะที่พลอยก็เกื้อหนุนให้สามีมีหน้าตาในสังคมมากขึ้นด้วย
คุณหมอพงศกรเสริมว่า ตัวละครที่สะท้อนภาพการเมืองไทยที่ชัดเจนคือ อ้นกับอั้น ที่แบ่งฝักฝ่ายเป็นราชาธิปไตยกับประชาธิปไตยชัดเจน โดยเฉพาะอั้นที่เป็นกลุ่มคณะราษฎร์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ยังคงเทิดทูนกษัตริย์ด้วย จึงเกิดเป็นความแตกแยกในสังคม คนที่มีความรู้และคนชั้นสูงรู้สึกเดือดร้อน แต่ชาวบ้านยังไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงนับเป็นสิ่งที่กระทบกับสภาพชีวิตและจิตใจคนไทยในสมัยนั้นมาก
ส่วนช้อยก็รู้สึกเหมือนโลกแตกสลาย เพราะเป็นห่วงเจ้านาย ส่วนพลอยก็อึดอัด เศร้า กลัว เป็นห่วงกษัตริย์ พี่ทัยเสริมว่าภายในใจพลอยไม่ยอมรับ แต่ก็ทนอยู่ได้ เพราะผ่านประสบการณ์ชีวิตมาพอสมควรจึงปรับตัวได้
ความเป็นเฟมินิสต์กับภาพลักษณ์ของสตรีไทยในสี่แผ่นดิน
พี่ทัยกล่าวว่าสมัยก่อนคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่การเป็นแม่บ้านแม่เรือน เนื่องจากเมื่อผู้ชายไทยสมัยก่อนไปรบ ผู้หญิงไทยต้องเป็นผู้นำและเป็นผู้กุมอำนาจในครัวเรือน ต้องบริหารจัดการครอบครัวได้ ทั้งทำอาหาร ถักทอเครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงทำบัญชีครัวเรือน บังคับให้คนใช้ไปทำนาทำไร่ พี่ทัยเน้นว่าเรื่องในบ้านผู้หญิงมีอำนาจ แต่พอเป็นเรื่องการเมือง ผู้หญิงก็ยังไม่ค่อยกล้าพูดแสดงความเห็นทางการเมืองมากนัก ไม่ได้เถียงอย่างตรง ๆ แต่ก็มีเทคนิคหรือวิธีการโน้มน้าวใจ ดังเช่น แม่พลอยที่แสดงความเห็นโน้มน้าวใจเรื่องการเรียนของลูกอย่างอ้อม ๆ
ส่วนในเรื่องความเป็นเฟมินิสต์นั้น คุณหมอพงศกรยกตัวอย่างแม่ช้อยว่า ค้านขนบทุกอย่างที่สังคมคาดหวัง ทั้งกระโดกกระเดก ไปขายของ ลุกขึ้นมาเลี้ยงดูตัวเอง แหกกฎหมาย เช่น ในสมัยรัชกาลที่แปดไม่ให้เคี้ยวหมาก ก็จะเคี้ยว ขณะที่แม่พลอยไม่ค่อยกล้าค้านใคร ยกเว้นบางเรื่องเช่นเรื่องการศึกษาของลูก ๆ อย่างที่พี่ทัยกล่าว พี่ทัยเสริมว่าแม่พลอยอยู่ในกรอบในขนบมาก ไม่ปะทะใคร อาจจะดูเป็นตัวละครแบน ๆ แต่ก็ขับให้โดดเด่นทั้งคู่
คุณหมอพงศกรเสริมว่า คุณอุ่นยังมีความเป็นเฟมินิสต์มากกว่าพลอย เพราะเป็นคนบงการทุกอย่าง เช่น เกลียดแม่ของพลอยก็หาเมียน้อยมาให้พ่อของพลอย
ความประทับใจในสี่แผ่นดิน
คุณหมอพงศกรกล่าวว่าประทับใจมาก อ่านตอนเด็กก็ต่างจากอ่านตอนโต ตอนเด็กก็รู้สึกว่าพลอยโง่ แต่พอตอนโตก็เห็นว่าชีวิตแม่พลอยมันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอด ทำให้เห็นสัจธรรมของชีวิต นอกจากนี้ยังประทับใจเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในประวัติศาสตร์ที่แทรกอยู่ในเรื่อง ซึ่งอธิบายละเอียดกว่าในพงศาวดาร
ส่วนพี่ทัยกล่าวว่าประทับใจมากเพราะเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเราคงไม่มีโอกาสเห็นได้ง่าย ๆ
สุดท้ายคุณหมอพงศกรได้ฝากผลงานนวนิยายเรื่อง ลวง ซึ่งลงในนิตยสารพลอยแกมเพชร เป็นเรื่องราวของตัวเอกที่สามารถมองเห็นออร่าของคน และใช้เป็นความสามารถในการมองหาคนร้าย เรื่องบุหงาบาติก ในนิตยสารขวัญเรือน ซึ่งเป็นนวนิยายชุดซีรีส์ผ้า เรื่องกุณฑลสวาท ลงในนิตยสารสกุลไทย เป็นเรื่องเกี่ยวกับตุ้มหูผี น่าจะรวมเล่มเดือนตุลาคมปีหน้า นอกจากนี้ยังมีนวนิยายที่ได้รับการดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์อีกด้วย เช่น เล่ห์ลุนตยา เคหาสน์นางคอย พยัคฆ์ร้ายสายเดี่ยว กำไลมาศ ฯลฯ
ส่วนพี่ทัยมีผลงานนวนิยายเรื่อง พรหมพยาบาท ซึ่งกำลังจะเป็นละครทางช่อง 3 เร็ว ๆ นี้
กิจกรรม TK Reading Club ตอนวรรณกรรมซีไรต์จบลงพร้อมความรู้และความสนุกสนาน นักอ่านทั้งหลายหลังจากได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกันแล้ว ทุกท่านก็ได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
แล้วกลับมาพบกับกิจกรรมดีๆ เพื่อนักอ่าน TK Reading Club ได้ใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์
เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน…
Chestina Inkgirl