Podcast Society: รวมพลคนทำ Podcast เรื่องราวความสนุกของสังคมคนทำ Podcast ในเมืองไทย สื่อแนวใหม่ที่ฟังเพลิน ครบรสความสนุก วิทยากรที่มาให้ความรู้ คือกลุ่มนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ผู้ไม่ปล่อยให้ตัวเองตกยุค และกำลังสนุกกับ Podcast ที่ให้ทั้งสาระและความบันเทิง ทอม- จักรกฤต โยมพยอม แขกรับเชิญใน Podcast หลายรายการ แทนไท ประเสริฐกุล พิธีกรรายการ WiTcast แซม - พลสัน นกน่วม พิธีกรรายการ Get Talks และยูธูป และดำเนินรายการโดย ยู - กตัญญู สว่างศรี พิธีกรรายการ Get Talks
แนวคิดในการเริ่มต้นทำ Podcast
แซม – พลสัน: ‘ยูธูป’ มันเริ่มจากเราอยากฟังรายการผีประเภทหนึ่งที่ไม่จริงจังมาก อยากได้รายการที่ฟังแล้วผ่อนคลายเหมือนดูหนังผีตลก คนจัดเป็นมิตรกับคนฟัง สามารถแซวคนฟังและกินขนมระหว่างจัดรายการได้ ส่วนอีกรายการหนึ่งคือ Get Talks เกิดจากการที่เริ่มเป็นผู้ฟังรายการของเพื่อนเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว พอฟังแล้วก็รู้สึกอยากทำอะไรแบบนี้บ้าง เลยชวนกตัญญูมาทำรายการ Podcast ที่เหมือนเพื่อนคุยกัน บางครั้งอาจจะชวนใครสักคนมาช่วยเสริมประเด็นในสิ่งที่เราสนใจ เป็นมุมมองการสัมภาษณ์แบบไม่ต้องจริงจังนักเหมือนเพื่อนมาเล่าให้ฟัง
ยู - กตัญญู: เรื่องจริงคือพวกเราแค่อยากเท่ วันหนึ่งคนก็ทำคอนเทนต์กันเยอะ ทำวิดีโอทำนู่นทำนี่ พวกเราทำงานประจำกันอยู่ ไม่ค่อยมีเวลาแต่เราอยากพูด อยากให้เสียงของเรามีคนฟัง อยากมีตัวตนในโลกออนไลน์ ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ นะ ก็เลยชวนเพื่อนมาทำอะไรเท่ๆ ที่บ้าน วันนั้นมีนักเขียนท่านหนึ่งอยู่ที่บ้านพอดี ชื่อวิชัย เลยชวนมาทำรายการมั่วๆ ชื่อ ‘เท็จทอล์ก’ ล้อกับชื่อของเวที TED Talks แต่ของเราเป็นความโกหกมดเท็จ ทั้งหมดนี้ทำโดยไม่มีหลักการอะไรเลย ตอนแรกทำเรื่องคำหยาบ ปรากฏว่าคนฟังเป็นพัน ส่วนหนึ่งก็คงเพราะเทคโนโลยีมันเอื้อ ยุคนี้คนทั่วไปมีสมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลาย
แทนไท: ผมเริ่มจากเป็นผู้ฟังก่อนเหมือนกัน ในประเทศที่มีอารยธรรมทันสมัย Podcast มันรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงปี 2005 สมัยนั้นผมขับรถทางไกลบ่อย จากกรุงเทพฯ ไประยอง 2-3 ชั่วโมง เลยหารายการของฝรั่งฟัง แล้วก็เจอรายการวิทยาศาสตร์ที่ชอบ แทนที่จะรายงานข่าวอย่างเป็นทางการ เขากลับนั่งคุยอย่างเป็นกันเองเหมือนกลุ่มเพื่อน ผมฟังแล้วก็รู้สึกอยากทำบ้าง เลยเก็บความคิดนี้ไว้ก่อนรอวันที่ปัจจัยของเราพร้อม จนมาถึงปี 2012 ผมมีแฟนที่สามารถคุยกันได้อย่างออกรส และมีเพื่อนคือ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ เขาจะถนัดเรื่องฟิสิกส์ ดวงดาว กายภาพ ผมชอบชีวิตสัตว์ ชีวิตคน ชีววิทยา ส่วนแฟนผม อาบัน สามัญชน เป็นตัวแทนของคนธรรมดาที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์มา คอยยิงคำถามช่วยคนฟังที่ไม่เข้าใจ
การเตรียมตัวก่อนจัดรายการ
แทนไท: ในฐานะที่เป็นรายการวิทยาศาสตร์บางทีเราก็เลือกจากข่าวที่กำลังเด่นดังหรืออะไรที่เราไปเจอมาแล้วสะดุดใจอยากเล่า ส่วนคุณป๋องแป๋งเขาจะมีช่วงที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ช่วงนี้ก็วาไรตี้มากขึ้นเรื่อยๆ มีเล่นเกม ป๋องแป๋งเล่าเรื่องตัวเองอกหัก รีวิวร้านอาหาร เนื่องจากมันไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเหมือนรายการวิทยุเราจึงใส่ไอเดียได้เต็มที่ แต่ต้องยังทำให้ผู้ฟังสนุกอยู่นะครับ จริงๆ มันก็หลุดจากธีมวิทยาศาสตร์ไปเหมือนกัน แต่พอคนฟังเขารับรู้ชีวิตส่วนตัวของเรามากขึ้น เวลาเราเล่าเรื่องวิทย์เขาก็จะอยากฟังมากขึ้น
แซม – พลสัน: สำหรับยูธูปเรามีการทำการบ้านอย่างจริงจัง ผมจะคุยกับพี่แอน – ปรัชญา สิงห์โต พิธีกรคู่ของผมว่าสัปดาห์นี้เราจะทำเรื่องผีธีมอะไร เช่น ปีใหม่ เราทำเรื่องสวัสดีผีใหม่ดีไหม และรายการก็จะแบ่งออกเป็นช่วงๆ มีช่วงลองของ คือเอาขนมมากินอวดคนฟัง ไม่เกี่ยวกับผีเลยเป็นช่วงลองของกิน ซึ่งมันมีเหตุผลคือเราอยากมีช่วงที่ปูก่อนว่าวันนี้เราจะเล่าเรื่องอะไรและทำให้คนฟังผ่อนคลาย ต่อมาคือช่วงจุดธูปเป็นช่วงเริ่มต้นของการเล่าเรื่องผี แล้วก็มีช่วงที่ให้คนทางบ้านโทร.มาเล่าเรื่องผีในรายการ ซึ่งเราเป็นรายการผีตลกที่พยายามบอกทุกคนว่ามันงมงาย คนที่โทร.มาเล่าจึงเหมือนกำลังเล่าให้เพื่อนฟังและใส่มุกเข้าไปได้
ทอม- จักรกฤต: ผมขอพูดถึง ‘JUST ดู IT’ รายการพูดคุยเรื่องหนังที่เคยไปเป็นแขกรับเชิญละกัน รายการนี้มีน้องแชมป์กับน้องเจอร์รี่เป็นเจ้าของรายการ ก่อนเข้าไปดูหนังทั้งสองคนจะหาข้อมูลไปเป็นอย่างดี แล้วพอเข้าโรงหนังก็มีสมุดไปจดด้วยว่าเห็นประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง พอหนังจบปั๊บบรรดานักวิจารณ์ เพื่อนๆ จากเพจต่างๆ ก็จะมารวมตัวกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าใครเห็นประเด็นไหนบ้าง
กระบวนการจัดการกับไฟล์เสียง
แซม – พลสัน: รายการยูธูปเราใช้เครื่องอัดเสียงจริงจังและใช้โปรแกรม GarageBand ในการอัด จากนั้นพี่แอนก็จะนำไฟล์เสียงไปตัดต่อให้มันฟังแล้วลื่นไหล มีการใส่เพลงด้วยการเอาโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องมาเปิดเพลง เป็นวิธีง่ายๆ คนไม่มีพื้นฐานในการตัดต่อก็สามารถทำได้ และบางทีก่อนปล่อยงานออกไปเราก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองบ้างเหมือนกัน ถ้าเกิดหลุดพูดชื่อคน สถานที่ หรือคึกคะนองพูดอะไรเกินเลยไป
แทนไท: รายการ WiTcast ก็จะมีการตัดช่วงน่าเบื่อหรือเดดแอร์ออกบ้าง ใส่เสียงเอฟเฟ็กต์ สมมติว่าหนึ่งตอนยาวชั่วโมงครึ่ง จะใช้เวลาตัดต่อประมาณ 4-5 ชั่วโมง สำหรับรายการวิทยาศาสตร์มันต้องมานั่งฟังทั้งหมดอีกรอบหนึ่งด้วยว่าเราพูดอะไรผิดไปบ้าง ถ้ามีข้อมูลผิดก็ต้องอัดเสียงเพิ่มเข้าไปแก้ หลังจากนั้นก็อัปโหลดไฟล์เสียง ต้องหารูปประกอบและคิดแคปชั่น
การหารายได้จาก Podcast
แทนไท: ตอนผมเริ่มทำใหม่ๆ ยังไม่ได้คิดในแง่การค้ามากนัก แค่บอกไปว่าใครชอบรายการก็บริจาคมาละกัน โดยเอาแบบอย่างมาจากรายการฝรั่ง ก็มีคนบริจาคเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่ 100-1,000 บาท มีอยู่ครั้งหนึ่งประทับใจมาก ป๋องแป๋งนั่งอยู่ในร้านกาแฟแล้วมีคุณพ่อคนหนึ่งเดินมาที่โต๊ะบอกว่าเขาฟังรายการ WiTcast กันทั้งบ้าน อยากเจอตัวมานานแล้วจะได้บริจาคเงินให้ คุณพ่อเทเงินออกมาให้หมดกระเป๋าประมาณ 5,000 บาท
ช่องทางต่อมาคือสปอนเซอร์ มีอยู่ปีนึง National Geographic แผนกรายการโทรทัศน์ติดต่อมาว่าอยากให้เรารีวิวเสริมความรู้จากรายการของเขาแต่ละตอน หรือได้ทุนจากรัฐบาล เนื่องจากเขาต้องการส่งเสริมให้คนทั่วไปเข้าถึงความก้าวหน้าของงานวิจัยไทยมากขึ้น นอกจากนี้เรายังตั้ง WiT shop ขึ้นมา ขายสินค้าที่แฟนรายการน่าจะชอบ เช่น เสื้อรายการ กล้องจุลทรรศน์สำหรับติดกล้องมือถือ สร้อยรูปเซลล์ประสาท และสุดท้ายคือพอคนรู้จักเราในวงกว้างก็จะได้รับเชิญไปออกงานอีเวนต์ จัดรายการมาสี่ปีครึ่ง ได้เฉลี่ยเดือนละ 2-3 พันเป็นค่าขนม นานๆ ทีมีงานใหญ่ๆ บ้างแต่ไม่ได้มาตลอด
ทอม- จักรกฤต: บางรายการก็ได้รับการว่าจ้างให้ไปเป็นพิธีกร Live สดในงานเปิดตัวสินค้าหรือบริการเพื่อโพสต์ลงในเพจ ทำให้มีรายได้และมีคนติดตามเพิ่มขึ้นด้วย
แซม – พลสัน: ยูธูปมีเหมือนกันแต่จะบริจาคเป็นของกินมากกว่า เพราะเราจะเด่นเรื่องของกิน บางทีก็มีคนฟังถ่ายรูปมาให้ดูว่าซื้ออันนี้ตามยูธูปนะ
การต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นและมิตรภาพจากคนฟัง
ยู - กตัญญู: ว่ากันตามตรง Podcast ตอนนี้มันก็เหมือนทำกันสนุกๆ ได้เล่าเรื่องที่เราหลงใหล ผมว่ามันยังไม่ใช่รายได้หลักแต่สามารถต่อยอดไปให้เกิดสิ่งอื่นได้ อย่างผมจัด Get Talks แล้วก็มาทำโชว์ Stand-up comedy พอทำสิ่งที่หลงใหลไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มเห็นทางว่าเราจะไปต่อกับสิ่งที่เรารักยังไง การทำ Podcast มันน่าจะสนุกตรงที่เราได้หมกมุ่นกับความหลงใหลของตัวเอง
แทนไท: ของผมนอกจากจะได้โปรโมตวิทยาศาสตร์ที่หลงใหลแล้ว ผมยังได้รับมิตรภาพจากคนฟังด้วย
แซม – พลสัน: เวลาเห็นคนฟังมีปฏิสัมพันธ์กับเรา ผมก็รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว มีคนอยากร่วมสนุกกับเรา หรือเจอข้างนอกก็ทักทายกัน
ทอม- จักรกฤต: ในฐานะคนฟังเราก็รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมกับคนพูด
แทนไท: ในโลกที่ทุกคนดูจอของตัวเอง เสียบหูฟังตลอดเวลา เทคโนโลยีบางอย่างกลับทำให้เราเข้าถึงกันได้มากขึ้น แต่เฉพาะกับคนที่เราเลือกแล้ว
สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล