TK Reading Club ตอนนวนิยายรัก
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ในตอน “นวนิยายรัก” โดยได้หยิบยกนวนิยายชั้นครูของศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2548 นวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ตีพิมพ์ซ้ำ รวมถึงดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และละครเวทีหลายครั้งมาเป็นหัวข้อเสวนา ในวันนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ภริยาของคุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ (บุตรชายของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์) มาร่วมฟังการเสวนาด้วย นอกจากนี้ยังมีแขกรับเชิญที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร คุณปาริฉัตร ศาลิคุปต หรือที่เหล่านักอ่านรู้จักกันดีในนามปากกา “กิ่งฉัตร” นักเขียนนวนิยายชื่อดังที่ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์มากมาย เช่น สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ตามรักคืนใจ ฯลฯ ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
การอ่านข้างหลังภาพในช่วงเวลาที่แตกต่าง
พี่ปุ้ยเล่าให้ฟังว่าอ่าน “ข้างหลังภาพ” 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อตอนที่ยังเด็กมาก เป็นหนังสือนอกเวลา และเคยได้ดูภาพยนตร์เมื่อครั้งที่คุณอรัญญา นามวงศ์รับบทเป็นคุณหญิงกีรติ ส่วนการอ่านครั้งที่สองต่างจากครั้งแรกมาก เพราะอ่านด้วยความเป็นผู้ใหญ่
ตอนเด็กอ่านจบจะซาบซึ้งใจในความรัก แต่ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วอ่านแล้วรู้สึกว่า “แว่นสีชมพูแตก” ไปหน่อย เพราะตอนเราเด็กเราก็อินกับความรัก แต่พอเราโตมาก็เห็นอะไรมากขึ้น มองทุกอย่างตามประสบการณ์มากขึ้น เรามองเหตุการณ์ต่าง ๆ จากประสบการณ์ของเราเอง มันอยู่ที่คนอ่านจะตีความยังไงมากกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักเขียนแล้ว
เมื่อนักเขียนชายเขียนนวนิยายรัก
นักเขียนผู้ชายของไทยเขียนแนวรักน้อย แต่ถ้าเขียนจะโดดเด่นมาก อย่างพนมเทียนตอนเขียนเรื่องสกาวเดือน รัศมีแข ก็มีความละเอียดอ่อนโดดเด่นมาก ศรีบูรพาก็เช่นเดียวกัน เขียนด้วยพรรณาโวหารที่ดี และตัวละครมีมิติของความเป็นมนุษย์
ฉากและบรรยากาศในเรื่องข้างหลังภาพ
ศรีบูรพาเข้าใจฉากและชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นอยากลึกซึ้ง ตอนเด็กอ่านแล้วรู้สึกเปิดโลก เพราะญี่ปุ่นในสมัยนั้นไปยาก ไม่ง่ายเหมือนตอนนี้ ทำให้รู้สึกว่าญี่ปุ่นมีแง่มุมที่น่าสนใจ พอเปรียบเทียบกับเมืองไทยก็ยิ่งน่าสนใจ
โดยเฉพาะคติของคนญี่ปุ่นที่อ่านแล้วประทับใจมาก คือ เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นให้ดีที่สุด เช่น สมมติเป็นคนเก็บขยะก็ต้องเป็นให้ดีที่สุด ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขณะที่คนไทยเราอาจไม่ได้สอนกันแบบนั้น เราสอนว่าอยากให้เป็นหมอ เป็นพยาบาล แต่ไม่ได้สอนว่าไม่ว่าทำอะไรก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
ภาษาและโวหารที่งดงามในเรื่องข้างหลังภาพ
พี่ปุ้ยยกย่องว่านวนิยายเรื่องนี้มีวรรณศิลป์ที่งดงาม อ่านแล้วเห็นภาพ แสดงให้เห็นความเป็นนายของภาษาของผู้ประพันธ์ สื่อความ สละสลวย อ่านแล้วเห็นภาพ เหมือนภาพวาด เป็นภาษาร้อยกรองที่เหมือนกับร้อยแก้ว แต่น่าเสียดายที่ยุคสมัยปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไป คนอ่านปัจจุบันไม่ชอบความเยิ่นเย้อ ทั้งที่จริง ๆ แล้วโวหารพรรณนาเหล่านี้ทำให้จิตใจอ่อนโยนละมุนละไมมากขึ้นด้วย
นอกจากประเด็นเรื่องภาษาที่ไพเราะมาก อีกทั้งวรรณกรรมคลาสิกเองก็ถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ด้วย นวนิยายเรื่องนี้ก็ยังสอดแทรกเรื่องราว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของญี่ปุ่นด้วย เช่น ฉากที่นพพรแปลเพลงก็ทำให้คนอ่านคล้อยตามไปได้ คือ ไม่ได้เป็นซากุระก็ขอให้เป็นดอกไม้ที่สวยที่สุดในสายพันธุ์ของตนเอง
นวนิยายเรื่องข้างหลังภาพเป็นหนังสือเล่มเล็ก แต่เก็บความคิดความเชื่อวัฒนธรรมไว้ได้ละเอียด แต่น่าเสียดายที่บางทีเราอ่านเห็นแต่เรื่องความรัก จนอาจกลบสิ่งเหล่านี้ไป นอกจากนี้นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนคือความคิดความเชื่อและการพัฒนาประเทศ เช่น ผู้ประพันธ์สอดแทรกความคิดเรื่องที่ว่า ทำไมเราพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีแบบญี่ปุ่นไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นสิ่งที่ร่วมสมัยอยู่
ความรักที่เห็นแก่ตัวของคุณหญิงกีรติกับนพพร
ในเรื่องทุกคนเห็นแก่ตัวหมด ทั้งนพพรและคุณหญิงกีรติ คือมีความเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่ไม่ได้งดงามสวยหรู เป็นเรื่องราวความรักความเห็นแก่ตัวของสองคนที่ไม่ละเมิดศีลธรรม ต้องยกประโยชน์ให้เรื่องเวลา ขณะที่คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือท่านเจ้าคุณ อย่างในเรื่องพูดถึงท่านเจ้าคุณว่าเป็นชายชราวัยห้าสิบ ซึ่งคุณหญิงกีรติมองว่าท่านเจ้าคุณอยู่ในวัยชราแล้ว คือคุณหญิงกีรติมองสามีอย่างแคบ ๆ ว่า ไม่ก้าวหน้าเพราะแก่แล้ว ห้าสิบแล้ว ส่วนฉันยังสาวอยู่ ฉันรักเขาไม่ได้เพราะชายชรารักกับหญิงสาวไม่ได้ พี่ปุ้ยยังเสริมอีกว่า เรื่องอายุค่อนข้างเห็นต่างกับคุณหญิงกีรติ เพราะยุคสมัยต่างกัน สมัยก่อนอายุห้าสิบก็อาจจะแก่แล้วจริง ๆ แต่ตัวพี่ปุ้ยเองก็อายุใกล้จะห้าสิบแล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแก่ (ผู้ฟังทั้งห้องหัวเราะ) ในขณะที่คุณหญิงกีรติแม้ว่าจะดูแลตัวเองดี ยังติดตามแฟชั่น อ่านนิตยสาร Vogue ซึ่งถือว่าทันสมัยมาก แต่คุณหญิงเองก็ไม่ได้สาวมากขนาดที่จะรักกับท่านเจ้าคุณไม่ได้ เพราะคุณหญิงก็อายุสามสิบห้าปีแล้ว คุณหญิงกีรติมองหารักแท้ มองหาความจริงใจ แต่เอาแต่ไปแสวงหากับคนอื่น มองแต่คนอื่น ทั้งที่ท่านเจ้าคุณก็รักคุณหญิง หากคุณหญิงกีรติเปิดใจให้ท่านเจ้าคุณก็อาจไม่เกิดโศกนาฏกรรมความรัก และก็อาจไม่มีนิยายให้เราอ่านและประทับใจขนาดนี้ (ผู้ฟังหัวเราะ)
ความรักของผู้ชายเหมือนไม้ขีดไฟ ความรักของผู้หญิงเหมือนเทียน
ศรีบูรพาน่าจะต้องการเทียบเคียงให้เห็นความรักของชายหญิงที่แตกต่างกัน คือ ความรักของผู้ชายนั้นรุนแรง มอดแล้วก็มอดเลย แต่ของผู้หญิงนั้นระอุอยู่ตลอดเวลา นพพรเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก ไม่ได้รักลึกซึ้ง นพพรไม่ได้สนใจหรือรู้ด้วยซ้ำว่า คุณหญิงอายุเท่าไหร่ เพราะไม่ได้จำ ไม่ได้สนใจคนอื่นนอกจากตัวเอง เป็นคนเอื่อยเฉื่อย และยิ่งเมื่อกลับมาเมืองไทยก็สนใจแต่การงานมากกว่าความรัก มุ่งมั่นแต่จะทำงานเป็นเหมือนไฟลุกแบบไม้ขีด แต่คุณหญิงเป็นรักแบบเทียน ลุกตลอดเวลาจนมอดไหม้หมด จนกินตัวเองไปด้วย ความรักของนพพรถ้ากะดูก็แค่ประมาณหนึ่งปี รักแบบหลงรักลุ่มหลง แต่ไม่เคยมองอนาคต นพพรไม่ใช่คนมองไกลไปข้างหน้า เป็นคนไปตามน้ำ ไม่มีเป้าหมายตรงหน้า เจอคุณหญิงก็รัก พ่อบอกให้แต่งงานก็แต่งทั้งที่ไม่ได้รัก ก็เลยหวังให้เขาต่อสู้เพื่อเธอไม่ได้ ขณะที่คุณหญิงกีรติเป็นผู้หญิงยุคโบราณที่เก็บงำความรักไว้
รักต่างวัย ต่างฐานะของนพพรกับคุณหญิงกีรติ
การนำเสนอความรักผ่านตัวละครผู้หญิงที่อยู่ในกรอบมาก อายุมากขึ้นด้วย และมีปัจจัยอย่างอื่นอีก คือ การเปรียบเทียบตนเองกับน้องสาวที่แต่งงานแล้วและมีครอบครัวที่มีความสุข คุณหญิงกีรติจึงรอคนที่จะเข้ามา ผู้เขียนนำเสนอความรู้สึกของผู้หญิงที่มีตำแหน่งทางสังคมสูงแล้วถูกกดไว้ว่าจะเป็นอย่างไร และความโหดร้ายของเรื่องคือ คุณหญิงมีความหวังอยู่ตลอด ยังหลอกตัวเองว่ามีความสุข
ส่วนนักอ่านท่านอื่น ๆ ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับความรักระหว่างนพพรกับคุณหญิงกีรติ เช่น นักอ่านท่านหนึ่งชอบความรักที่สวยงามของคนรักต่างวัย ในขณะที่นักอ่านอีกท่านชอบตรงที่ความซับซ้อนระหว่างความรักของนพพรกับคุณหญิง คือ ความรักต้องมีความใกล้ชิดและความใคร่ แล้วรู้นึกว่าท่านเจ้าคุณก็สนองตอบไม่ได้ เพราะมนุษย์ทุกคนก็อยากได้รับความรัก นอกจากนี้ยังมีนักอ่านที่ตั้งคำถามว่าคุณหญิงตายโดยปราศจากคนที่รักคุณหญิง แต่คุณหญิงก็อิ่มใจที่มีคนที่เธอรัก แสดงว่าเธอรู้จักรักอย่างแท้จริงหรือเปล่า
พี่ปุ้ยตอบว่าสำหรับคุณหญิง นพพรคือความหวังเดียวที่ยึด คือความสุขที่มี คุณหญิงก็พอใจในจุดนี้ ไม่ได้คิดว่าจะครอบครอง แม้ว่าที่จริงลึก ๆ ก็อยากครอบครองนพพร แต่คุณหญิงก็ยังอยู่ในกรอบศีลธรรม จึงพยายามผลักออก นพพรหลงรักคุณหญิงเพราะว่าเธอสูงส่งกว่าตัวเอง ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นความรักแบบหลง รักแบบวัยหนุ่ม ขณะที่สำหรับคุณหญิง นพพรเป็นสิ่งที่ตัวคุณหญิงไม่เคยได้ คือวัยหนุ่มที่ร่าเริงสดใส นอกจากนี้เธอยังชอบที่นพพรหลงใหลอยากได้เธอ ทำให้เธอหัวใจพองโต และเป็นสิ่งที่เธอต้องการอยู่พอดี “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจที่มีคนที่ฉันรัก” เป็นเพราะใคร ๆ ก็อยากได้รับความรัก แสวงหาความรัก และมีความหวัง แม้ว่าคุณหญิงจะเศร้ามาตลอดในชีวิต แต่เธอก็มีความสุขที่ได้รักแล้ว
พี่ปุ้ยยังเสริมด้วยว่า ความรู้สึกห้ามไม่ได้ แต่ศีลธรรมห้ามได้ ความรักไม่มีเหตุผล แต่ชีวิตต้องมีเหตุผล
นักอ่านอีกท่านแสดงความคิดเห็นว่านวนิยายเรื่องข้างหลังภาพทำให้ได้ข้อคิดว่า เรารักใครก็รักจริง แต่จะไปด้วยกันรอดไหมนั้นเป็นอีกเรื่อง ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าความรักต้องการการผูกมัดที่สูงมาก จึงรู้สึกว่าคุณหญิงกีรติเองก็ไม่ได้พร้อมจะเสี่ยงขนาดนั้นจึงหยุดแค่นี้
พี่ปุ้ยกล่าวว่าคุณหญิงกีรติน่าจะคิดว่าเธอได้พบรักแท้แล้ว ก็ไม่ได้อยากจะได้รับความรักจากใครอีก อีกทั้งแม้คุณหญิงจะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณหญิงเป็นคนมองการณ์ไกล มีเหตุผล อยู่กับกรอบศีลธรรม แต่คุณหญิงเองก็มีความหวังลึก ๆ ตลอด นักอ่านเสริมว่าฉากที่ญี่ปุ่นน่าจะเป็น “ช่องโหว่ทางศีลธรรม” เพราะถ้าเป็นฉากที่เมืองไทยก็ทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ คุณหญิงกับนพพรคงเดินไปไหนมาไหนกันไม่ได้ เพราะสถานที่ไม่เอื้อ ขณะที่ฉากที่ญี่ปุ่นเป็นการเปิดให้ตัวละครเป็นอิสระจากพันธะของสังคม
นักอ่านท่านหนึ่งร่วมเสวนาว่า หากพล็อตเรื่องเปลี่ยนแปลงไป คือ คุณหญิงสูญเสียสามีแล้วเป็นม่าย จะได้ลงเอยกับนพพรหรือไม่ พี่ปุ้ยตอบว่าต่อให้คุณหญิงเป็นม่ายก็ไม่น่าจะได้ลงเอยกัน เพราะดูจากบุคลิกตัวละครและนิสัยที่ผู้ประพันธ์วางมาแล้ว ไม่น่าที่จะแฮ็ปปี้ได้
กิจกรรม TK Reading Club ตอนนวนิยายรักจบลงพร้อมความรู้และความสนุกสนาน นักอ่านทั้งหลายหลังจากได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกันแล้ว ทุกท่านก็ได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
แล้วกลับมาพบกันใหม่ เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน…
เนื่องในโอกาสวันครบรอบชาตกาล 111 ปี “ศรีบูรพา” กองทุนศรีบูรพา ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดงาน วันครบรอบชาตกาล 111 ปี “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559 เวลา 14.30 - 17.30 น. ณ บ้านศรีบูรพา (บ้านเลขที่ 35 ซอยราชวิถี 4) กรุงเทพมหานคร โดยมีกำหนดการดังนี้
14.30 น. ลงทะเบียนที่บ้านศรีบูรพา วางดอกไม้เคารพหน้ารูปกุหลาบ สายประดิษฐ์และ ชนิด สายประดิษฐ์
15.00 น. ชมห้องสมุด “ศรีบูรพา” นำชมโดย คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา
15.30 น. ประยอม ซองทอง ประธานกองทุนศรีบูรพากล่าวคารวะ “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต” บูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระลึกถึง “ศรีบูรพา” และ “จูเลียต”
16.00 น. อ่านบทกวี “111 ปีศรีบูรพา” โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง/ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ / พินิจ นิลรัตน์ นักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์
16.30 น. การเสวนา “อ่าน “จนกว่าเราจะพบกันอีก” อีกครั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดย พินิจ นิลรัตน์,/จรูญพร ปรปักษ์ประลัยและผู้แทนนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ ดำเนินรายการตลอดงานโดย วโรบล ไทยภักดี
17.30 น. เดี่ยวไวโอลิน โดย ด.ช. พลศิศฎ์ โสภณสิริ
พิธีกรตลอดงาน วโรบล พันธุ์แก้ว ไทยภักดี
Chestina Inkgirl