เปิดตัวอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ณ โรงสีแดง สุดยิ่งใหญ่
ภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ครบวงจร เปิดมิติใหม่ทางวัฒนธรรมแก่ชุมชน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ณ โรงสีแดง (หับ โห้หิ้น) ถ.นครนอก อ.เมือง จ.สงขลา พล.อ.อ ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1” อย่างเป็นทางการโดยมี พล.ต.ท.วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผศ.ดร.นพปฎล สุนทรนนท์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ นางณัฏ โล่ห์สุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และคณะตัวแทนภาคีเครือข่ายท้องถิ่นให้การต้อนรับ
อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 ณ โรงสีแดงแห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) เทศบาลนครสงขลา และ ปตท.สผ. โดยเปิดบริการเพื่อสร้างการรับรู้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นในเบื้องต้น ก่อนการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา หรือ Songkhla Smart Center พื้นที่แห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองสงขลาที่จะเปิดให้บริการในอีกสองปีข้างหน้า
นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้เปิดเผยว่านับแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2548 อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการคือ สร้างและพัฒนาต้นแบบสิ่งเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ และเป็นเวทีเปิดให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เกิดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์และยังต่อยอดออกไปอย่างกว้างขวางตามวิถีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานท้องถิ่นทุกภาคส่วนของประเทศไทยสร้างแผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาคในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” จวบจนปัจจุบันได้ขยายผลสู่อุทยานการเรียนรู้เครือข่ายจำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 28 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึง “อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 ณ โรงสีแดง” ซึ่งเปิดตัวในวันนี้ด้วย
นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ระยะที่ 1 เกิดขึ้นได้เพราะความตั้งใจของท้องถิ่นเป็นหลักสำคัญ เพราะชุมชนมีความต้องการที่จะสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการเข้าถึงห้องสมุดที่ทันสมัยสำหรับเด็ก เยาวชนและผู้คนในท้องถิ่น โดยไม่ได้มีการสร้างอาคารใหม่แต่อย่างใด เพราะปรับปรุงอาคารเก่าโรงสีแดง (หับ โห้หิ้น) โรงสีข้าวเก่าแก่ที่เป็นที่ตั้งของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาบสงขลาให้แกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ในการร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ เพื่อนำไปสู่การก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้นครสงขลาต่อไปในอนาคต ทุกกระบวนการของการทำงานได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่เพื่อรับฟังแนวคิดและความต้องการถือเป็นมิติใหม่ของห้องสมุดที่คำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคม ภูมิปัญญา และความงามของวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างแท้จริง
ด้านนายอารยะ มาอินทร์ กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้ TK park พร้อมที่จะร่วมมือกับภาคท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เด็ก เยาวชนและประชาชนของประเทศมีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างสรรค์นวัตกรรมและกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ จากการผสมผสานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ค่านิยมหรือวิถีชีวิต รวมทั้งวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งและให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ด้านการวางแผน การจัดการพื้นที่ใช้สอย ตลอดจนการพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติต่างๆ และแนะนำการคัดสรรหนังสือและสื่อคุณภาพ ทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และในรูปแบบของห้องสมุดออนไลน์เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ
“โดยล่าสุดอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้มอบหนังสือสาระท้องถิ่นสำหรับเยาวชนซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองเก่าสงขลา อันเป็นผลงานของจากนักวาดภาพและนักเขียนชื่อดัง จำนวน 3 เล่มคือ พาเพื่อนแลเมืองเก่า ของหรอยบ่อยาง และวันสุขเที่ยวไหนดี ให้แก่เทศบาลนครสงขลาเพื่อถ่ายทอดความรู้วิถีชุมชนสู่เด็กและเยาวชนรุ่นต่อไป” นายอารยะกล่าว
นายพงศธร ทวีสิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า การสร้างความรู้ให้แก่สังคมด้วยการสร้างเสริมปัญญา จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนและ ปตท.สผ.เล็งเห็นว่าโครงการอุทยานการเรียนรู้นครสงขลาจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เยาวชนแสวงหาความรู้ในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ สอดคล้องความต้องการชุมชนอย่างแท้จริง บริษัทฯ จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้รูปแบบใหม่สำหรับเยาวชนที่มีการบูรณาการความรู้ใหม่และเทคโนโลยีเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น และผสมผสานกันอย่างลงตัว เพื่อสร้างเสริมให้อุทยานการเรียนรู้แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจรมากขึ้น
ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งของอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ยังได้รับการประกาศให้เป็นเมืองเก่า 1 ใน10 เมืองของไทย จากคุณลักษณะพิเศษทางศิลปะ สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย ทั้งไทย จีน และมุสลิม ซึ่งได้รับการผสมผสานกันอย่างลงตัวมาหลายร้อยปี จึงมีการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าสงขลา โดยเน้นการท่องเที่ยวให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของท้องถิ่นและสร้างสีสันทางการท่องเที่ยวด้วยศิลปะบริเวณย่านเมืองเก่าสงขลา ตามโครงการศิลปะข้างถนน หรือ “สตรีทอาร์ต” ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่แล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งและอุทยานการเรียนรู้นครสงขลาก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ร่วมสร้างความรู้ให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวได้อย่างอย่างคงเอกลักษณ์และยั่งยืน
ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ TK park มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนการเรียนรู้สู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยได้มุ่งมั่นขยายเครือข่าย มุ่งเป้าหมายในการกระจายโอกาสการเรียนรู้สู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง