ปลากัดไทย ผ่านสายตาของ… วิศรุต อังคทะวานิช
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘วิศรุต อังคทะวานิช’ ช่างภาพอิสระเจ้าของผลงานภาพถ่ายชุด ‘ปลากัดไทย’ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า เขาถ่ายภาพปลากัดแหวกว่ายในสายน้ำได้อย่างไร ทำไมภาพถ่ายถึงบ่งบอกเอกลักษ์ของปลากัด และเขาเริ่มต้นอย่างไร ถึงกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
ย้อนกลับไปถึงวิศรุตในวัย 15 ปี กำลังศึกษาชั้น ม.2 โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (บางรัก) ได้เริ่มถ่ายภาพจากกล้องฟิล์ม ตามคุณพ่อที่แม้จะประกอบอาชีพแพทย์ แต่ก็ถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก โดยในบ้านมีอุปกรณ์ถ่ายภาพ หนังสือถ่ายภาพ ทำให้เขาซึมซับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการถ่ายรูปไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งหลังจากเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังคงถ่ายรูปสม่ำเสมอ เหมือนมือใหม่หัดถ่ายดอกไม้ สวนสาธารณะ พระอาทิตย์ขึ้น -พระอาทิตย์ตก จนเรียนจบทำงานเป็นฟรีแลนซ์ด้านกราฟิกดีไซน์ ก็ประสบปัญหาด้านค่าตัวช่างภาพโฆษณา ที่มีราคาสูง ปิดงานไม่ได้ เพราะยังหาช่างภาพไม่ได้ เขาจึงแก้ไขปัญหาทั้งหมดด้วยการหัดถ่ายภาพเพื่อการโฆษณาด้วยตนเอง…
“สมัยก่อนพอถ่ายงานโฆษณา อุปกรณ์มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีกล้องดิจิตอล อุปกรณ์เลยคล้ายๆ กัน เวลาถ่ายต้องมีภาพในใจก่อน เช่น ถ้าจะถ่ายกระเป๋า จะวางตำแหน่งไหน มุมต้องคิดเอาไว้ เส้นขอบฟ้าอยู่ตรงไหน เป็นการฝึกมองภาพให้จบก่อนที่จะจับกล้อง แล้วงานโฆษณาก็ต้องตอบโจทย์ด้านการตลาด ไม่เหมือนถ่ายภาพทั่วๆ ไป ที่แค่สวยก็พอ อย่างการถ่ายภาพอาหารก็ต้องพูดถึงความอร่อย โดยมองให้เป็นรูปธรรม เช่น ถ่ายภาพเนื้อวัว ความอร่อยคือ ความชุ่มของน้ำ มีสีแดง มีน้ำเนื้อออกมา ดังนั้น ถ้ามองเป็นรูปธรรมที่เหลือก็ถ่ายไม่ยาก”
วิศรุต ถ่ายภาพเพื่อการโฆษณาเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งไปเดินดูงานประกวดปลา เลยเห็นปลาทอง และปลากัดที่มีหลากหลายสายพันธุ์ แตกต่างจากปลาทองและปลากัดที่คุ้นเคยในวัยเด็ก จึงตัดสินใจซื้อปลาทองมาเลี้ยง เมื่อลองถ่ายภาพ ก็พบหน้าตาปลาทองที่น่าสนใจ เลยกลับไปซื้อปลากัดมาถ่ายบ้าง ขณะนั้นก็นึกภาพในใจ เห็นเขาแหวกว่าย เห็นการเคลื่อนไหว เห็นพลัง ทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายทอดออกมา
“หลังจากถ่ายภาพปลากัดไปสักพัก ก็อยากรู้ว่าคนอื่นถ่ายปลายังไง เลยเข้าไปดูใน google เห็นภาพส่วนมากที่ถ่าย มักเป็นปลากัดด้านข้าง ภาพจะออกมานิ่งๆ แบนๆ ผมก็เลยไม่มีต้นแบบ ลองผิดลองถูก ค่อยๆ ทำไป ผมอยากถ่ายทอดการว่ายน้ำของปลากัดให้ออกมาเป็นรูปภาพ”
ภาพปลากัดของวิศรุต รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น หลังนำผลงานไปโพสต์ในเว็บไซต์ http://500px.com/bluehand สักพักก็มีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์ และงานถ่ายภาพที่น่าสนใจ นำผลงานของวิศรุตไปโพสต์ลง เลยทำให้ผลงานของเขา กระจายไปตามเว็บต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์ มีแมกกาซีนจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา เพื่อขอนำรูปไปลงบ้าง ขอสัมภาษณ์บ้าง นำผลงานไปลงโฆษณา และทำสินค้า เช่น ผ้าพันคอ และได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายปลากัด ใช้ชื่อว่า ‘Auacade’ จัดที่ La Lanta Fine Arts (ละลานตา ฟายน์ อาร์ต) ชั้น 2 ห้าง Central Embassy นอกจากนี้ตอนหลังก็ได้ทราบว่าเกษตรผู้เลี้ยงปลา มีรายได้มากขึ้น จากเดิมที่ขายรวมกันล็อตใหญ่ๆ ก็สามารถแยกขายเฉพาะตัวที่สวยได้
หลักการถ่ายภาพของวิศรุต ไม่ใช่เพียงกดชัตเตอร์แล้วจบ หากทุกขั้นตอนล้วนสำคัญเหมือนกันหมด ได้แก่
1. นึกภาพสุดท้ายในใจก่อนถ่ายภาพ
2. ขณะเลือกปลาให้ดูคาแรคเตอร์ ดูว่าเขามีอะไรโดดเด่น มีสีสันอย่างไร พอเห็นปลาที่จะถ่าย ต้องนึกถึงการใช้สีสัน การใช้แบล็คกราวน์ การโพสต์ท่าทาง การจัดแสงเพื่อสื่ออารมณ์ พอนึกทั้งหมดออก ค่อยซื้อปลา ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ในทันที ต้องไปหลายครั้งกว่าจะได้ปลาที่ต้องการ ดังนั้นแบบจึงสำคัญ แสดงให้รู้ว่าได้มองเห็นอะไรจากตรงนั้น
3. ตู้ปลาต้องทำจากกระจกเกรดดี น้ำต้องผ่านการกรอง ถ้าไม่กรอง น้ำก็จะมีขี้ปลา พอนำน้ำใส่ตู้ ก็ต้องเคลียฟองอากาศขนาดเล็กออกให้หมด เพราะการทำงานกับสัตว์ขนาดเล็ก แค่ฝุ่นนิดเดียวก็มองเห็น
4. จัดไฟ ตามจินตนาการที่คิดขึ้น ต้องการเล่าอารมณ์แบบไหน เช่น ลึกลับ ร่าเริง มีพลัง หรือหรูหรา ปลาแต่ละตัวจึงมีการเซ็ทไฟต่างกัน
5. การถ่ายภาพ เช่น ปลากัดสีแดง ให้ความรู้สึกตื่นเต้น ดุดัน ต้องหาทางทำยังไงให้เขาตื่นเต้น อาจลองถ่ายตอนเขาเห็นตัวผู้อีกตัว อาจเห็นเงาสะท้อน เขาก็จะสะบัดตัวดูดุดัน บางตัวมีสีขาว ดูแล้วหรูหรา ก็จะไม่ถ่ายจังหวะ ซึมๆ หรือดูดุ แต่จะถ่ายตอนเริงร่า
6. การรีทัชภาพ คือเอาแค่ฝุ่นออก แม้ว่าจะทำงานละเอียดขนาดไหน แต่ก็อยู่ในห้องแอร์ แอร์ก็จะเป่าฝุ่นลงผิวน้ำ ต้องลบฝุ่นออก หรือมีขอบตู้ก็ลบออกไป แต่ต้องรักษาความเป็นจริงของงานให้เยอะที่สุด ถ้าเอาปลาที่เราพยายามหา มาเปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนรูปทรง จะเป็นการทำลายธรรมชาติ เปลี่ยนความเป็นตัวตนของเขา
“การถ่ายภาพคือการเล่าเรื่อง โดยมีอุปกรณ์เป็นกล้อง แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องราวที่จะเล่า ถ้าเราเป็นช่างภาพ แต่ไม่มีเรื่องราว ไม่ได้รู้ลึก สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาก็ฉาบฉวย ผมเลยมองว่า ถ้าเราจะถ่ายทอดอะไร ควรมีความรู้ในสิ่งที่ถ่ายให้เยอะ เพื่อแง่มุมในการเล่ามากขึ้น มีของในหัวมากกว่ากล้อง ผมมองว่าเทคนิคไม่สำคัญ เพราะ งานจะซ้ำๆ
ไม่โดดเด่นอะไร แต่เมื่อใช้อินเนอร์ ใช้แรงบันดาลใจ เทคนิคก็จะงอกออกมาจากแรงบันดาลใจมากกว่า”
วิศรุตพูดปิดท้ายว่า คงจะถ่ายภาพปลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอิ่มตัว โดยเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า สิ่งที่ถ่ายได้ดีที่สุด คือสิ่งที่คลุกคลีกับมัน ภาพถ่ายที่ดีที่สุด คือภาพถ่ายที่เป็นตัวเอง ภาพที่อยากจะเล่าให้ผู้อื่นรู้สึก
กลีบลำดวน