ทุกวันนี้แม้เราจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เขียนถึงกันมากขึ้น จนหลงลืมกระดาษ หนังสือกันไปแล้ว แต่สำหรับนักดีไอวายกลับมองว่ากระดาษมีเสน่ห์ในตัวของมัน และยังสามารถรังสรรค์ออกมาเป็นผลงานได้ไม่รู้จบ
ด้วยเหตุนี้อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงชวนผู้ที่มีใจรักหนังสือ ร่วมเวิร์คช้อปในกิจกรรม “Bookmaker ซ่อมหนังสือง่ายๆ สไตล์คุณ” กับคุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิอโซก้า(ประเทศไทย) ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 18 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา
พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ หรือคุณนุ้ย ยอมรับก่อนเริ่มกิจกรรมว่า ตัวเองเป็นคนหนึ่งที่ต้องมนต์เสน่ห์ BOOK ARTS และหลงรักหนังสือมาก เพราะรู้สึกว่าหนังสือช่วยพาให้เธอได้พบเจอโลกใบใหม่ พร้อมแสดงผลงานสมุดทำมือสวยๆ ที่เน้นไอเดียเฉพาะตัวให้กับผู้ร่วมเข้าเวิร์คช้อปได้ดูกันก่อนจะแนะนำเทคนิคเคล็บลับการซ่อม การเย็บหนังสือแบบง่ายๆ โดยวิธีที่คุณนุ้ยเลือกสอนในวันนี้คือ การเย็บแบบคอปติก (coptic binding) เป็นการเย็บแบบส้นเปลือย สามารถมองเห็นลวดลายของเส้นด้ายที่ใช้เย็บ รูปร่างคล้ายห่วงลูกโซ่หรือการถักเปีย
คุณนุ้ย เริ่มด้วยการแนะนำอุปกรณ์สำหรับการเย็บสมุดที่จำเป็น ได้แก่ เครื่องเขียน, กรรไกร, กระดาษ, เข็มเย็บสมุด, ด้าย Linen หรือ Cotton, คัตเตอร์, ไม้รีดกระดาษ(bone folder), ที่เจาะรู, สีน้ำ(สำหรับวาดลวดลายบนปก), กาว
ขั้นตอนแรกนำกระดาษแข็งที่มีความหนาเพื่อใช้เป็นปกมาตัดตามขนาดที่เราต้องการเตรียมรอไว้ จากนั้นนำกระดาษร้อยปอนด์ทั้งแผ่นมาละเลงสีลงไป และเพื่อเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และสนุกสนาน คุณนุ้ยให้ทุกคนจับกลุ่ม 3 คน และช่วยกันระบายสีให้เต็มกระดาษทั้งหมด โดยกำหนดโจทย์ว่าห้ามวาดรูปแต่ระบายอะไรก็ได้ จากนั้นจะมีผู้ช่วยนำไปตัด ซึ่งจะทำให้ทุกคนไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองจะได้มุมไหนของกระดาษแผ่นนั้นที่ทุกคนร่วมกันวาด
การทำงานกับกระดาษควรทดลองกระดาษ ด้วยการบิดหรือลองพับเบาๆ เพื่อหาแนวเกรนกระดาษ (ทิศทางของเส้นใย) คุณนุ้ยบอกว่าสิ่งนี้จำเป็นมาก เพราะการทำความเข้าใจว่าเกรนกระดาษอยู่แนวไหน จะช่วยให้เรารู้ว่าด้านไหนพับง่าย การพับขวางแนวเกรนกระดาษจะทำให้กระดาษขาดง่ายขึ้น และสมุดที่เราทำนั้นใช้ได้ไม่นาน ที่สำคัญการเลือกกระดาษควรเลือกกระดาษที่ไม่มีกรด เพื่อเพื่อความคงทนในการใช้งาน
ขั้นต่อมาคือการตัดกระดาษใส้ในสมุด โดยการตัดครึ่งกระดาษเอสี่นับเป็นเล่ม เล่มละ 8 แผ่น และพับครึ่งด้วยไม้รีดกระดาษ เพื่อความเรียบ สวยงาม แต่กระดาษด้านในนี้แล้วแต่ดีไซน์ความชอบของตัวเองอาจจะเป็นกระดาษหลายๆ สี หรือจะมีจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ จากนั้นใช้ไม้บรรทัดวัดจากขอบกระดาษให้ห่างจากมุมทั้งสองมุมประมาณครึ่งนิ้ว และกะระยะห่างแกนกลางตามสมควร พร้อมทำเครื่องหมาย และกำหนดเส้นไว้เตรียมเจาะรูทั้ง 4 รู
หลังจากสีที่ระบายไว้แห้งให้ทากาวด้านหลังเพื่อนำมาห่อปกที่เราตัดรอไว้ โดยต้องทากาวให้ครบทุกจุดไม่ให้เกิดฟองอากาศ รอกาวแห้งสักพัก และเจาะรูปกให้เท่ากับเล่มด้านใน
นำด้ายที่เคลือบด้วยขีผึ้งมาวัดจากความสูงของสมุด โดยกำหนดให้แต่ละเส้นมีความยาวจากสมุดเล็กน้อย และนับทบไปให้เท่ากับจำนวนเล่มด้านใน เช่น ทำเล่มด้านในว่า 6 เล่ม ก็ให้ทบเส้นด้ายไป 6 ครั้ง และบวกปกด้าน ปกหลัง รวมเป็น 8 ทบ
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการเย็บ เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญของแต่ละคน ซึ่งคุณนุ้ยบอกว่างานทำหนังสือไม่ใช่งานยาก แค่ต้องทำความเข้าใจ พอเข้าใจก็จะทำได้ตลอดชีวิต จากนั้นเราก็จะสามารถดัดแปลงเป็นสไตล์ต่างๆ ของตัวเองได้ หรือทำเป็นอาชีพก็ยังได้
การเย็บทุกครั้งต้องเริ่มจากด้านในของเล่มแรก และร้อยขึ้นมาอ้อมปกหน้า จากนั้นแทงกลับรูเดิมทุกครั้ง ก่อนจะไล่ทำแบบนี้จนครบรูสุดท้าย และเตรียมกระดาษใส้ด้านในชุดที่ 2 มาเย็บต่อกัน โดยเย็บจากด้านนอกสู่ด้านใน สอดเชือกอ้อมเล่มก่อนหน้า ทำแบบเดิมจนครบชุดกระดาษที่เตรียมไว้ ระหว่างเย็บต้องคอยดึงด้ายให้แน่น เพื่อสร้างความทนทานและเป็นลายเปียสวยงาม
หลังจากกิจกรรม “Bookmaker ซ่อมหนังสือง่ายๆ สไตล์คุณ” สิ้นสุดลง ผู้เข้าร่วมเวิร์คช้อปต่างภูมิใจกับผลงานของตัวเองที่มีเล่มเดียวในโลก พร้อมร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งก็ตรงกับที่คุณนุ้ยคอยย้ำตลอดการสอนกลเม็ดเคล็ดลับการเย็บหนังสือว่า เวลาได้ทำสิ่งที่ตัวเองไม่คิดว่าจะทำออกมาได้ เวลาทำสำเร็จแล้วมันช่วยสร้างความมั่นใจ กำลังใจให้กับตัวเราเอง ที่สำคัญงานฝีมือไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ค่อยๆ ทำไป และเราจะได้อะไรจากการปฏิบัตินั้นแน่นอน
สำหรับท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมกับอุทยานการเรียนรู้ TK park สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ www.tkpark.or.th ยังมีกิจกรรมสนุกๆ รอทุกท่านอยู่อีกเพียบ.
ศศิกานต์