สงกรานต์บานตะไท
เย็นชุ่มฉ่ำใจด้วยวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม
เทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้มีเพียงการเล่นสาดน้ำเท่านั้น แท้จริงแล้วเทศกาลปีใหม่ไทยยังมีกิจกรรมอีกมาก ซึ่งแต่ละอย่างได้ซ่อนกุศโลบายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนาและสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างดีงาม แก่นแท้ของสงกรานต์เป็นอย่างไร วางปืนฉีดน้ำไว้ แล้วเข้าไปสัมผัสพร้อมๆ กัน
สรงน้ำพ่อแม่วันสงกรานต์
สมัยก่อน คนไทยถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบปฏิทินสากลเมื่อปี พ.ศ.2484 จนกระทั่งปัจจุบัน เดิมทีเทศกาลสงกรานต์จะกำหนดวันงานไว้ 3 วันด้วยกัน โดยถือเอาวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายนเป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายนเป็นวันเถลิงศก ขึ้นจุลศักราชใหม่ตามสุริยคติ
สงกรานต์ตามแบบวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม จะประกอบไปด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัดและครอบครัว โดยชาวพุทธเชื่อกันว่าการได้ทำบุญทำทานในช่วงสงกรานต์ จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพราะถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดี วันสงกรานต์จึงเริ่มต้นด้วยการตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบังสุกุลอัฐิญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตแล้ว และทำการสรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการขนทรายเข้าวัด และก่อพระเจดีย์ทราย กิจกรรมที่มาจากความเชื่อของคนไทยสมัยโบราณว่า การนำสิ่งของที่เป็นของวัดกลับมาบ้านนั้นเป็นเรื่องบาป แม้จะเป็นเพียงเม็ดดินหรือเม็ดทรายก็ตาม เมื่อมีโอกาสจะต้องขนทรายกลับไปถวายคืนวัด โดยชาวบ้านจะนัดหมายวันขนทรายเข้าวัด ที่นอกจากจะเป็นการนำทรายถวายคืนแล้ว ทรายที่ขนมานั้นพระสงฆ์ยังนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และยังการสร้างความสามัคคีของชาวบ้านในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงอีกด้วย
สำหรับครอบครัว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องได้มาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา พูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ร่วมกัน “รดน้ำดำหัว” ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมไปสำหรับการรดน้ำดำหัว คือ น้ำอบ น้ำหอม พานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าตัดเสื้อ ผ้านุ่งหรือของขวัญไปมอบให้แก่ผู้ที่เราจะไปรดน้ำดำหัว เพื่อที่จะได้ขอพรและรับพรเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งยังเป็นการขอขมาลาโทษในสิ่งที่เคยได้ล่วงเกินไป เป็นกุศโลบายที่สร้างความสัมพันธ์ครอบครัวให้แน่นแฟ้น ไม่หลงลืมผู้มีพระคุณ
ส่วนเรื่องการสาดน้ำ ในสมัยก่อนก็มีการละเล่นแบบนี้อยู่เช่นกัน สาเหตุมาจากช่วงสงกรานต์นั้นถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในรอบปี จึงใช้น้ำเป็นตัวคลายความร้อน เพียงแต่การเล่นสาดน้ำในสมัยก่อนจะเป็นแค่การปะพรมกันพอให้เย็นชื่นใจ หรือใช้ขันเล็กๆ รดน้ำใส่กัน น้ำที่นำมาใช้อาจใส่น้ำปรุงเพิ่มกลิ่นหอมหรือใส่ดอกไม้สีสันต่างๆ เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานให้กับคนในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงสงกรานต์ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ก็คือเสื้อผ้าสีสดใส ไม่ว่าจะเป็นเสื้อลายดอก ลายตาราง ที่นิยมในสมัยนี้ รวมถึง “ผ้าขาวม้า” ที่นิยมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้คนจะนิยมสวมเสื้อผ้าลายดอก และผูกด้วยผ้าขาวม้าที่ศีรษะหรือเอว หรืออาจนำผ้าขาวม้ามาใช้เป็นของให้ผู้ใหญ่ เพราะผ้าประเภทนี้เรียกได้ว่าเป็นผ้าอเนกประสงค์ เป็นผ้าที่มีทุกภูมิภาค เพียงแต่ชื่อเรียกจะแตกต่างกันไป เช่น ผ้าห่มตาแสง (ภาคเหนือ) ผ้าจวนตานี (ภาคใต้) โดยผู้คนแต่ละภาคต่างใช้ประโยชน์จากผ้าชนิดนี้สารพัด ทั้งผูกรัดร่างกาย อุ้มเด็ก ห่อของ โพกศีรษะ ห่มตัว หรือพัฒนาต่อยอดนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ้าขาวม้าจึงเป็นของที่มีคุณค่าควรแก่การให้ญาติผู้ใหญ่
นอกจากกิจกรรมหลักๆ ที่กล่าวมาแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีกิจกรรมอื่นๆ รวมอยู่ด้วย อย่างเช่น การทำขนมหวาน การชมการแสดงเพื่อความบันเทิงของคนในครอบครัว “การทำขนมหวาน” ในช่วงปีใหม่ไทย ผู้คนสมัยก่อนนิยมทำขนมหวานเพื่อแจกจ่ายและเป็นของทานเล่นในช่วงเทศกาล โดยจะทำขนมให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์เพราะเมื่อถึงวันงาน จะต้องทำกิจกรรมอย่างอื่น ทั้งทำบุญเลี้ยงพระ ก่อพระเจดีย์ทรายที่วัด รดน้ำดำหัวเล่นสงกรานต์ซึ่งกินเวลาไปหลายวัน ขนมปีใหม่ของไทยจึงเป็นขนมพื้นเมืองที่สามารถเก็บได้นาน อย่าง กาละแม ข้าวเหนียวแดง หรือขนมอื่นๆ ที่อาจช่วยกันทำและทานในงานสงกรานต์เลย อย่าง ขนมถั่วแปปปากหม้อ วุ้นรวมมิตร ขนมนกปล่อย(หรือขนมลอดช่อง) ถั่วกวน เผือกกวน
ส่วนการแสดงเพื่อความบันเทิงในช่วงสงกรานต์ จะเป็นการแสดงที่คนทุกวัยรับชมได้ อย่างเช่น “การแสดงหุ่นกระบอก” ซึ่งมีขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตัวหุ่นสร้างจากไม้ที่มีน้ำหนักเบาอย่างไม้มะรุม แกะสลักและประดิษฐ์เครื่องแต่งกายเพื่อให้เป็นตัวละครในวรรณคดี เนื้อเรื่องในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ อย่าง พระอภัยมณี แก้วหน้าม้า จันทรโครพ โดยอาจเลือกแสดงในบางตอนของเรื่องนั้นที่มีเนื้อหาสนุกสนาน เช่น พระอภัยมณี ตอน นางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวพระอภัยมณี
สำหรับขั้นตอนการแสดงหุ่นกระบอก เริ่มต้นด้วยการออกแขกเพื่อพูดคุยกับคนดูก่อนว่าจะได้รับชมการแสดงอะไร ตามด้วยการร่ายรำ เช่น ระบำศรีวิชัย ก่อนเริ่มแสดง ซึ่งการแสดงหุ่นกระบอกนั้น จะใช้ผู้เชิดหุ่นที่มีทักษะในการร่ายรำตามแบบอย่างละครรำ เพราะต้องบังคับกลไกให้หุ่นแสดงท่าร่ายรำแทนตัวละคร
อีกการแสดงเพื่อความบันเทิงช่วงสงกรานต์ที่ได้รับความนิยมคือ “การแสดงลิเก” การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านของไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้นำเรื่องราววรรณคดี นิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ นำมาแสดงเช่นเดียวกับละครเวที เพียงแต่รูปแบบการร้อง ฉาก เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย และขั้นตอนการแสดงบางอย่างจะมีความแตกต่างกันไป ก่อนการแสดงมีการออกแขกเช่นเดียวกับการแสดงหุ่นกระบอก โดยกุศโลบายที่ซ่อนอยู่ในการทำขนมหวานรวมถึงการแสดงต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ ก็เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ เพราะการทำขนมหวานต้องผ่านกระบวนการมากมาย ซึ่งต้องใช้เวลา การทำขนมร่วมกันจึงเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้คนในครอบครัวได้มีกิจกรรมและพูดคุยกัน ส่วนการแสดงต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ นอกจากความบันเทิงแล้ว ก็ยังเป็นการสานสัมพันธ์ทางครอบครัวอีกทาง เพราะการแสดงต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่สามารถรับชมได้ทุกวัย คนในครอบครัวไม่ว่ารุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว หรือเด็ก ก็สามารถทำกิจกรรมนี้ร่วมกันได้
หรืออาจจะสรุปอย่างกระชับได้ว่า สงกรานต์คือเทศกาลที่สานความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วยวิธีการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและประเพณีไทยนั่นเอง
เรื่องน่ารู้วันสงกรานต์
- เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แพทย์จึงออกมาเตือนว่า ผู้ใหญ่ไม่ควรเล่นน้ำติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง และเด็กไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง เพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้ไม่สบายได้
- เว็บไซต์ askmen.com ของอเมริกา ได้จัดให้เทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดเชียงใหม่ติดอยู่ในอันดับ ๗ จาก ๑๐ อันดับเทศกาลที่แปลกที่สุดในโลก แต่ละปีจะมีผู้คนมาร่วมงานสงกรานต์นับแสนคน เพื่อสาดน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างจิตใจให้สะอาด ก่อนเข้าสู่ปีใหม่แบบไทย
- จากจุดเริ่มต้นของถนนข้าวสาร ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างคึกคัก ทำให้จัดหวัดอื่นๆ ได้นำชื่อไปตั้งเป็นถนนสารพัดข้าว เช่น ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่ ถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี ถนนข้าวสุก จังหวัดอ่างทอง
พี่ตองก้า