TK แจ้งเกิด กล้าฝัน
อุทยานการเรียนรู้ TK park นอกจากจะทำหน้าที่สร้างสรรค์ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้สู่สังคมไทยแล้ว ยังได้ริเริ่มโครงการบ่มเพาะเยาวชน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า TK แจ้งเกิด เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษามีโอกาสเสริมสร้างทักษะความรู้ด้านต่างๆ ผ่านการปฏิบัติจริง โดยได้รวบรวมผลงานจากเยาวชนที่เคยผ่านการอบรม จากโครงการ TK แจ้งเกิด 6 สาขาอาชีพในฝัน ได้แก่ นักเขียน (TK Young Writer) ดนตรี (TK Band) กราฟิกแอนด์มัลติมีเดีย (TK Graphic & Multimedia) ภาพยนตร์ (TK Filmmaker) การตลาด (TK Marketer) และสื่อสร้างสรรค์ (TK Teen) และได้มีการจัดงาน TK แจ้งเกิด กล้าฝัน ในรูปแบบนิทรรศการแนะนำโครงการและผลงานเยาวชน พร้อมด้วยกิจกรรมดีๆ ในวันเสาร์ที่ 31 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2558
ภายในงานมีกิจกรรมที่จุดประกายความกล้ามากมาย เริ่มจาก ห้อง Learning Auditorium มีการบรรยายในหัวข้อ ‘สมัครงานให้ได้งาน สัมภาษณ์ให้โดนใจ’ โดย ชนาภรณ์ ฉันทประทีป HR ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์กว่า 18 ปี
วิทยากรเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงขั้นตอนของการรับบุคคลเข้าทำงานของบริษัทต่าง โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่
1. Resume screening เป็นขั้นตอนที่ฝ่ายบุคคลจะอ่าน resume หรือ CV ที่ผู้สมัครส่งเข้ามา เมื่อเจอใบสมัครที่น่าสนใจก็จะนำไปสู่ขั้นตอนที่
2. Skill tests เป็นขั้นตอนที่ทดสอบความสามารถในด้านต่างๆ ตามแต่ที่บริษัทต้องการ หากเห็นแววก็จะผ่านไปสู่ขั้นตอนที่
3.Interview สัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติ วิสัยทัศน์ ลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายในตัวผู้สมัคร ในกรณีที่บางบริษัทต้องการคัดผู้สมัครที่มีความสามารถสูงอาจมีขั้นตอนที่ 4.
4. Similations คือ การยกกรณีศึกษา หรือ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในบริษัทให้ผู้สมัครได้แสดงความสามารถในการแก้ไข และดูลักษณะในการแก้ปัญหาของผู้สมัคร เมื่อผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย
5. Reference หาผู้ที่สามารถยืนยันว่าสิ่งที่ผู้สมัครให้สัมภาษณ์นั้นเป็นความจริง
วิทยากรอธิบายเพิ่มเติมว่า Resume ที่ดีนั้นไม่ควรเกิน 2 หน้ากระดาษ โดยสำหรับผู้ที่เริ่มทำงานได้ไม่ถึง 10 ปี แค่หน้ากระดาษเดียวก็เพียงพอ ในแง่ของการดีไซน์นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะไปสมัครงานอะไร ในสายงานครีเอทีฟก็จำเป็นที่จะต้องออกแบบให้มีสไตล์ มีรสนิยม Resume หรือ CV เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น แต่การสัมภาษณ์ต่างหากที่สามารถวัดคุณภาพ วิสัยทัศน์ ความต้องการที่แท้จริงของผู้สมัครจากการเข้าทำงาน ความคล่องแคล่วในการทำงาน การคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
หลังจากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนและประสบการณ์ ในหัวข้อ ‘เคล็ดลับแจ้งเกิดในโลกออนไลน์’ โดย แชมป์-ทีปกร นักเขียนนักวาดและผู้ก่อตั้ง www.exteen.com ร่วมด้วยเจ้าของเพจเฟสบุ๊ค ‘หมาจ๋า’ และ นักเขียนนิยายชื่อดังเรื่อง The Whte Road ‘Dr.Pop’
พิธีกรก็เปิดประเด็นสนทนาว่าคอนเทนท์แบบไหนถึงจะเป็นกระแสดัง แชมป์ อธิบายว่าขึ้นอยู่กับเนื้อหา ผู้อ่านยุคนี้ชอบเรื่องที่เป็นส่วนตัวหรือเฉพาะตัว เพราะช่องทางการสื่อสารได้ทำลายข้อจำกัดลง ดังนั้นเนื้อหาจึงเป็นปัจจัยเดียวที่ตัดสินความดัง ประเภทเนื้อหาที่จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษก็จะเป็น ประเภทที่เขียนด้วยภาษารุนแรง หยาบคาย แต่ประเภทนี้จะเป็นกระแสอยู่ได้ไม่นาน Dr.Pop และ หมาจ๋า เสริมในประเด็นนี้ว่า จำเป็นที่จะต้องค้นหาตัวเองให้ชัดว่าอยากเขียนแบบไหน ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ในบางครั้งคอนเทนท์ที่สร้างขึ้นเราอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นกระแส แต่ถ้าเป็นกระแสขึ้นมาแล้วก็ควรต่อยอดให้เป็นกระแสต่อไป และเมื่อเป็นกระแสแล้วเราจะทำอย่างไรกับมันต่อ
Dr.Pop สรุปทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราจะโพสต์นั้น เราควรคิดก่อนว่ามันจะทำร้ายใครไหม สังคมจะได้อะไรจากการอ่าน และนำไปพัฒนาอะไรต่อได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่เราโพสต์จะอยู่ตลอด
หลังจากนั้นเป็นคิวของน้องๆ TK Band และ เยาวชนคนดนตรีจากภาคใต้ขึ้นมาให้ความบันเทิงกับผู้ร่วมงานด้วยเพลงที่แต่งขึ้นและอยู่ในอัลบั้มรวมผลงาน อาทิเช่น เพลง ในถ้วยนั้น, ฝากลม และ วันนี้ไม่มีเธอ
และเสวนาช่วงสุดท้ายของวันเสาร์ที่ 31 มกราคม 2558 ในหัวข้อ ‘คนทำหนังรุ่นใหม่ ต้องเจออะไรในชีวิตจริง?’ โดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ และ ไท ประดิษฐเกษร โดยมีคำถามยอดฮิตของเด็กทำหนังรุ่นใหม่ว่า จะทำหนังจำเป็นต้องมีเงินหรือไม่ โดยเต๋อ นวพล ให้ความเห็นว่าสมัยนี้เครื่องมือราคาถูกลง ช่องทางการเผยแพร่ก็มากขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงิน หรือจะส่งประกวดก็ได้ มีรายการประกวดหนังสั้นเดือนละครั้งด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่คนทำหนังมักไม่ค่อยมีก็ คือ ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ เราจะต้องรู้ตัวเองว่า มีวัตถุดิบเท่านี้ จะทำหนังได้ระดับไหน การทำหนังไม่มีสูตรตายตัว
วรรณแววกล่าวเสริมว่า คนทำหนังต้องเตรียมใจกับผลตอบรับ ความคิดเห็นในโซเชียลมันอาจจะรุนแรง เราต้องเปิดใจยอมรับ รับมาปรับปรุง อย่าเสียสติ ส่วนไท เสนอว่าควรจะบาลานซ์หนังของตัวเองให้ได้ระหว่างศิลปะและธุรกิจ
เต๋อ-นวพลเล่าต่อว่าวงการภาพยนตร์ในไทยเริ่มเสถียร เพราะถ้าหนังดีจริงก็ยังสามารถก้าวไปคว้ารายได้พันล้านได้ ส่วนหนังอิสระก็ต้องกล้าลุย กล้าติดต่อกับโรงฉาย สมัยนี้โรงฉายเริ่มเปิดโอกาสให้กับภาพยนตร์นอกกระแสมากขึ้น รวมถึงคนดูหนังอินดี้ก็เริ่มกว้างขึ้นมาก
ช่วงท้ายนวพลกล่าวสรุป ถึงน้องๆ ที่สนใจจะเป็นคนทำหนังว่า ต้องหาทางบาลานซ์ชีวิตให้ได้ เพราะกว่าหนังเรื่องหนึ่งจะเสร็จต้องใช้เวลานาน อาจหมายถึงไม่มีรายได้เข้ามาเลยในเวลาหลายเดือน ฉะนั้นอาจจะต้องรับงานเพื่อรองรับความฝันของเรา อย่าเร่งตัวเองมาก ฝึกหลายๆ อย่าง เรียนรู้ให้ครบทุกองค์ประกอบของการทำหนัง
และกิจกรรมสุดท้ายของวัน ได้รับเกียรติจาก ศุ บุญเลี้ยง และ อุ้ม พิมพ์จุฑา พงศ์อุดมกิจ นักไวโอลินจากวง Siam Sinfonietta มาร่วมแต่งเพลงกับผู้เข้าร่วมในงานกันสดๆ สร้างความสนุกสนานและความบันเทิงก่อนจะไปลุยกันต่อกับมินิคอนเสิร์ตช่วงสุดท้ายของ TK Band และ เยาวชนคนดนตรีภาคใต้