ทำอย่างไรให้ก้าวไกลในองค์กรใหญ่
ถ้าอยากก้าวหน้ากว่าใครในองค์กรใหญ่ มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรรู้ คุณบี - ชนาภรณ์ ฉันทประทีป เจ้าของประสบการณ์กว่า 16 ปีในงาน HR บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Kimberly-Clark Thailand, Whirlpool, Unilever และ PepsiCo มีคำตอบมาฝากในการบรรยาย-เวิร์คช็อปเรื่อง ‘ทำอย่างไรให้ก้าวไกลในองค์กรใหญ่’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘TK แจ้งเกิด กล้าฝัน’ วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
โดยปกติแล้ว องค์กรใหญ่จะมีระบบการเลื่อนตำแหน่งพนักงานที่ชัดเจน หากอยากมีอนาคตการงานที่ก้าวหน้า จึงต้องเข้าใจก่อนว่าระบบองค์กรใหญ่กำลังมองหาคนแบบไหน และมีกระบวนการคัดสรรผลักดันพนักงานให้ก้าวหน้าอย่างไรบ้าง ปัจจัยหลักที่กำหนดว่าเราจะมีอนาคตในองค์กรหรือไม่มีอยู่สามประการ ได้แก่ หนึ่ง หัวหน้างาน สอง ระบบที่บริษัทวางไว้ และสาม ตัวเราเอง
ซึ่งการบรรยายครั้งนี้ จะเน้นให้ข้อมูลเรื่องระบบของบริษัทเป็นหลัก เพราะเป็นส่วนที่น้องใหม่วัยเริ่มทำงานส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ คุณบีอธิบายในเบื้องต้นว่า ปัจจัยสองข้อแรกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางทีก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตาด้วยว่าจะเจอบริษัทที่ดีไหม ได้เจอเจ้านายที่ดีหรือไม่ แต่สุดท้ายปัจจัยสำคัญที่สุด ก็คือตัวเราเองที่ต้องหาวิธีกำหนดสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตตัวเองด้วย “บริษัทใหญ่ๆ มักมีระบบในการพัฒนาคนอยู่แล้ว แต่เขาจะพัฒนาคุณหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองด้วย หากคุณไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้บริษัทรู้สึกว่าเขาสามารถส่งเสริมคุณให้ก้าวหน้าได้ ชีวิตคุณก็จบแล้ว”
ด้วยความที่แต่ละบริษัทมีพนักงานหลายตำแหน่งที่รับผิดชอบงานแตกต่างกันออกไป บริษัทจึงต้องมีการประเมินค่างาน (Job Evaluation) จากขอบเขตเนื้องาน คุณสมบัติ และระดับความรับผิดชอบ เพื่อคำนวณค่างานออกมาเป็นตัวเลขว่าใครจะเป็นพนักงานเลเวลไหน ซึ่งจะมีผลต่อการจ่ายเงินเดือนและการจัดสรรสวัสดิการ องค์กรใหญ่จะมีค่ากลางในการจ่ายเงินเดือนที่วางไว้เป็นระบบชัดเจน และมีการเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน โดยค่ากลางจะเป็นค่าเฉลี่ยของเงินเดือนที่เก็บสถิติมาจากทั้งคนที่มีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ทำงาน
ขั้นตอนการรับสมัครพนักงานขององค์กรใหญ่มักมีหลายกระบวนการ และมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท แต่สิ่งที่องค์กรใหญ่มักใช้เหมือนๆ กันเมื่อต้องการรับเด็กจบใหม่คือ การพิจารณาจากใบสมัครและเรียกสัมภาษณ์ “มีรายงานฉบับหนึ่งบอกไว้ว่าใบสมัครหรือ CV หนึ่งใบ ฝ่ายบุคคลส่วนใหญ่ใช้เวลาดูประมาณ 7 วินาที ถ้าไม่มีอะไรที่ดูโดดเด่นก็จะปัดตกทันที เพราะใบสมัครขององค์กรใหญ่มีจำนวนเยอะมาก” นอกจากนี้ ยังต้องมีการทดสอบทักษะเพื่อประเมินว่าผู้สมัครมีความสามารถมากพอสำหรับตำแหน่งที่สมัครหรือไม่ ซึ่งตรงส่วนนี้การสัมภาษณ์ไม่สามารถวัดผลได้ หลายบริษัทจึงต้องมีอีกหลายโจทย์เพื่อใช้คัดกรอง “สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว Reference เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฝ่ายบุคคลตรวจสอบแล้วพบว่าที่ทำงานเก่าบอกว่าพนักงานคนนี้ไม่โอเค ฉะนั้น ต้องระมัดระวังเรื่องชื่อเสียงให้ดีด้วย ควรตระหนักเสมอว่าทุกอย่างที่เราทำมันจะติดตัวเราไปตลอดชีวิต”
คนจะมีอนาคตในบริษัทได้ต้องดูจากผลงานว่าเราทำได้ดีหรือไม่ ในขณะเดียวกันไม่ได้แปลว่าเก่งอย่างเดียวแล้วจะเติบโตเสมอไป
ระบบของบริษัทในการผลักดันพนักงานให้เติบโต จะประกอบด้วยปัจจัยหลัก 6 ข้อด้วยกัน
1. Past & Present Performance ผลงานที่ผ่านมาในอดีตและผลงานปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ผลงานเก่าก็ไม่ได้การันตี 100% ว่าในอนาคตเมื่อเลื่อนไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นแล้วจะยังทำงานได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ บริษัทจึงต้องพิจารณาทักษะอื่นๆ ในข้อ 2 - 5 ประกอบด้วย
2. Leadership Skills ต้องมีความเป็นผู้นำที่ดี มีทักษะในการสื่อสาร และสามารถทำงานเป็นทีมได้ รวมถึงมีวิสัยทัศน์ในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้า
3. Functional Knowledge ต้องมีความรู้รอบด้านในตำแหน่งงานที่จะเติบโตขึ้นไป ถ้าอยากจะเลื่อนตำแหน่งก็ต้องดูว่าตัวเองขาดทักษะอะไร และพยายามหาวิธีเติมเต็มให้ได้เสียก่อน ถ้าบริษัทปัจจุบันไม่สามารถเติมเต็มให้ได้ ก็อาจจะต้องมองหาบริษัทอื่นที่มีคุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการ
4. Industry Knowledge มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ทั้งในภาพรวมและรายละเอียดต่างๆ
5. Relevant Key Experience มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานในหลายๆ ด้าน เพราะคนที่จะขึ้นไปสู่ระดับหัวหน้า จะต้องเข้าใจภาพรวมของแผนกเป็นอย่างดี
6. Opportunity ถ้าเรามีทักษะครบทุกด้าน วันหนึ่งหากมีโอกาสมาถึงเราก็จะเป็นคนที่ถูกเลือก หรืออย่างน้อยก็ได้เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ
หากรู้สึกว่าตัวเองยังขาดคุณสมบัติด้านไหน ก็ควรเรียนรู้หาประสบการณ์เพิ่มด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอันดับแรกเราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงของตัวเราคืออะไร จากนั้นจึงมาวิเคราะห์ว่าถ้าอยากก้าวหน้าเราต้องพัฒนาตัวเองยังไงบ้าง เช่น เข้ารับการฝึกอบรม หรืออ่านหนังสือเพิ่มเติม แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยให้คนทำงานพัฒนาตัวเองได้มากที่สุดก็คือเนื้องานที่ทำอยู่เป็นประจำ
“70% ของการเรียนรู้ทั้งหมดมาจากงานจริง เด็กจบใหม่จึงควรพยายามหางานในองค์กรที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ แบบนั้นแหละจะทำให้เติบโตได้เร็ว และสามารถนำประสบการณ์ไปใช้ต่อยอดได้ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำงานที่ไหนก็ตาม” คุณบีเน้นย้ำก่อนจะกล่าวปิดท้ายว่า “หากช่วงเริ่มต้นยังทำงานไม่เก่งแต่มีความพยายาม แบบนี้ยังพอสอนกันได้ แต่เรื่องความสุจริตสำคัญมากเพราะชื่อเสียงจะอยู่กับตัวเราไปตลอด และถ้าอยากเติบโตต้องจำไว้เลยว่าการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอสำคัญที่สุด”