10 ปีทีเค
Dare to Dream “จุด” ประกายฝัน
เคยเล่นเกมลากเส้นต่อจุดไหม?
เกมที่มีจุดดำกระจายอยู่เต็มหน้ากระดาษ แต่ละจุดมีหมายเลขกำกับ คนเล่นเพียงแค่ขีดเส้นลากจากจุดที่หนึ่งไปจุดที่สองและจุดต่อๆ ไปตามลำดับ เมื่อมาถึงจุดสุดท้ายก็จะปรากฏภาพภาพหนึ่งขึ้นมา
เรากำลังจะบอกว่าเกมเกมนี้คล้ายๆ กับหน้าที่ของ “อุทยานการเรียนรู้ TK park” เพียงแต่จุดในเกมไม่ใช่จุดดำธรรมดา แต่เป็นจุดที่เต็มไปด้วยความฝันของเด็กและเยาวชน ทำให้พวกเขา “กล้าที่จะฝัน” และลงมือทำมันให้เป็นความจริง
24 มกราคม 2548 วันแรกที่อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดให้บริการบนพื้นที่ 3,700 ตารางเมตร เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กและเยาวชนได้สานฝันออกมาเป็นรูปร่าง โดยอยู่บนปรัชญาการทำงานอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ปลูกนิสัยรักการอ่านสู่มือคนทุกวัย บนพื้นที่ที่ปล่อยให้เด็กนอนเกลือกกลิ้ง หรือเลือกรับความรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ตามนิยามสั้นๆ ว่า “ห้องสมุดมีชีวิต” ต้นแบบแหล่งเรียนรู้ที่ควบคู่กับความสุข
ถึงวันนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว แน่นอนว่ามีหลายความฝันที่ได้ลากจุดออกมาเป็นภาพที่สมบูรณ์ และบางส่วนก็ได้ปรากฏอยู่ในงาน 10 ปีทีเค Dare to Dream จุดประกายฝัน ที่เรากำลังจะเข้าไปในงานพร้อมๆ กัน...
...22 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2558 อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้เป่าเทียนวันเกิดเป็นครั้งที่ 10 พร้อมกับจัดนิทรรศการ “10 ปีทีเค Dare to Dream จุดประกายฝัน” เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการบ่มเพาะจากอุทยานการเรียนรู้ TK park ทำให้เราได้เห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ค่อยๆ เชื่อมไปยังจุดต่อๆ ไปในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของอุทยานการเรียนรู้ TK park
นิทรรศการ 10 เรื่องดี TK park
นิทรรศการที่คัดสรรเรื่องดี 10 เรื่องที่เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลา 10 ปีในอุทยานการเรียนรู้ TK park ร้อยเรียงเอาไว้ภายในห้องนิทรรศการ อย่างการปลุกปั้นเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ค้นพบเส้นทางสายที่เป็นตัวเอง การสร้างเครือข่ายห้องสมุดบนความภูมิใจในวิถีชีวิตท้องถิ่นและชุมชน โดยกระจายองค์ความรู้แก่เครือข่ายพร้อมขยายพื้นที่ห้องสมุดมีชีวิตสู่ทุกภูมิภาค ซึ่งยืนยันถึงการเป็นองค์กรที่ผลักดันให้เกิดสังคมรักการอ่าน ทั้งอ่านผ่านเล่มและสื่อมัลติมีเดีย เกิดเป็นโครงการมากมายตลอด 10 ปี
และนี่คือบางส่วนเท่านั้น
2548 – สร้างห้องสมุดมีชีวิตในรูปแบบทันสมัย สนุกสนาน เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
2549 – จัดทำสารานุกรมดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แหล่งข้อมูลดนตรีครอบคลุมทุกมุมโลก
2550 – เกิดห้องสมุดไทยคิด ศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดขนาดเล็กสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
2551 – สร้างนักเขียนก้าวสู่มืออาชีพในโครงการ Ibook TK Young Writer Academy
2552 – เริ่มโครงการ TK แจ้งเกิด เปิดโอกาสให้เยาวชนเตรียมพร้อมสู่อาชีพที่สนใจ
2553 – เปิดตัวโครงการ Read Me Egazine ต่อยอดองค์ความรู้เยาวชนนักเขียนในรูปแบบนิตยสารออนไลน์
2554 – นิทรรศการพิพิธอาเซียน ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวของประเทศสมาชิกอาเซียน
2555 – โครงการแจ่มเจิด TK แจ้งเกิด Festival อีกครั้งกับโอกาสสำหรับเยาวชนจาก 6 สาขา
2556 – ต่อยอดเรื่องการอ่านผ่านโครงการ Read Thailand อ่านเถิดเด็กไทย
2557 – เรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด ผ่าน Facebook Instagram Twitter
ซึ่งจะสานต่อทุกประกายความฝันในการเข้าสู่ปี 2558
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานยังได้เรียนรู้เรื่องราวของการอ่าน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่รวบรวมมาไว้ในรูปแบบที่ให้คนได้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความสำเร็จของเยาวชน TK park หนังสือยักษ์ หรือห้องสมุดย่อส่วนแบบต่างๆ ที่ได้จำลองมาให้ชม ทั้งห้องสมุดมือถือ ห้องสมุดย่าม หรือห้องสมุดตู้เย็น
เติมความรู้ฉบับรวบรัด
ผ่านกิจกรรมการเสวนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ จากผู้มีชื่อเสียงหลากหลายสาขาอาชีพ ที่จะช่วยสรุปย่อสาระสำคัญไว้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทั้งการเสวนา “ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015” จากผู้ร่วมเสวนาระดับปรมาจารย์อย่าง วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไทยพีบีเอสและนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์ นักเขียน และนักแปล โตมร ศุขปรีชา อดีตบรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม นักเขียน และนักแปล ซึ่งมาร่วมพูดคุยว่าด้วยเทรนด์การอ่านในปี 2015 ของทั่วโลกและเมืองไทย รวมถึงวิธีการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ
หรือการเสวนาแบบสบายๆ ที่เหมาะกับสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน อย่างการเสวนา Book Talk พูดคุยถึงเส้นทางความฝันจนมาสู่ความสำเร็จของ บอม กษิดิศ เจ้าของเพจ คนอะไรเป็นแฟนหมี ที่โด่งดังในโลกโซเชียล สู่หนังสือและสติกเกอร์ Line ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนได้หวนนึกถึงความฝันของพวกเขาว่าคืออะไร และเป็นแนวทางที่จะสานต่อจนสำเร็จ
รวมไปถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่าง “การอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เรื่องนี้ต้องขยาย” จากคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และสามารถนำทักษะดังกล่าวไปใช้เพื่อการพัฒนาและเด็กเยาวชนต่อไป หรือการถ่ายทอดเรื่องราวจากตัวหนังสือผ่านทักษะการเล่าเรื่องที่ใช้น้ำเสียง ท่าทาง เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก จากการอบรม “Reader Theater อ่าน เล่น เป็นสุข” โดย รองศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง จากภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณนิกร แซ่ตั้ง ศิลปินศิลปาธร
สาระบันเทิง เพลิดเพลิน ที่สร้างแรงบันดาลใจ
ความเพลิดเพลินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการ 10 ปีทีเค ก็ไม่พลาดที่จะนำกิจกรรมแสนสนุกและช่วยจุดประกายฝันมาอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งผลผลิตจากโครงการของอุทยานการเรียนรู้ TK park อย่าง การฟังนิทานจากหนูน้อยนักเล่านิทาน จากโครงการลับสมองประลองปัญญาสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน โครงการสุดน่ารักที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หรือการแสดงละครใบ้ของ “Baby Mime” ที่สามเกลอนักแสดงละครใบ้ เรียกเสียงฮาเริงร่าและรอยยิ้มได้ตลอดการแสดง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้เสียง แต่ก็สื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบันเทิงสำหรับเยาวชนที่โตขึ้นมา อย่างการแสดงเทคนิคการเปิดแผ่นมิกซ์เพลงแบบสดๆ ของ DJ. Taidy ที่มาประชันการเต้น B-Boy Dances นอกจากจะทำให้บริเวณลานสานฝันร้อนเป็นไฟ ยังทำให้เด็กๆ ที่อยู่ในงานต้องขยับแข้งขยับขาออกมาโชว์สเตปแดนซ์กลางลานสานฝัน ก่อนจะกลับไปนั่งฟังเพลงเพราะๆ จากนักร้องสาวใต้เสียงสวย น้ำมนต์ กมลเพชร ที่ทำให้บรรยากาศภายในงานอบอวลไปด้วย
และที่ขาดไม่ได้อีกเช่นกัน นั่นคือการให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการได้มีร่วมสนุกกับงาน ด้วยการเล่นเกมหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในจุดต่างๆ หรือการเล่นเกมเพื่อวัดทักษะความรู้ด้านการอ่าน เช่น เกมหนอนหนังสือพันธุ์แท้ ที่ให้เด็กๆ นักอ่านได้ทายชื่อหนังสือที่ปรากฏขึ้นมา
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (อุทยานการเรียนรู้ TK park) กล่าวว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น อุทยานการเรียนรู้ TK park มุ่งมั่นต่อพันธกิจหลัก ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ การสร้างนิสัยรักการอ่านและการแสวงหาความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน และการขยายผลภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริงและเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในนิทรรศการเหล่านี้คงเป็นคำตอบอย่างชัดเจนแล้วว่า อุทยานการเรียนรู้ TK park ไม่ได้เป็นแค่ห้องสมุดมีชีวิต แต่เป็นห้องสมุดที่สร้างชีวิต ที่ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นจุดแรก ก่อนจะค่อยๆ โยงเส้นต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นรูปร่างในแบบฉบับของตัวเอง
พี่ตองก้า