
“หนังสือ” เปรียบเหมือนถ้ำที่ห่อหุ้มขุมทรัพย์แห่งปัญญาให้นักอ่านเข้าไปขุดค้นสิ่งใหม่ที่จะช่วยขยายเลนส์ความคิด มองเห็นประเด็นและปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ เสมือนได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง บางคนค้นพบอาชีพที่ใช่จากการอ่าน บางคนอ่านเพื่อสำรวจความลื่นไหลที่หลากหลายในโลกใบนี้
เป็นเหตุให้ School of Changemakers องค์กรที่มุ่งบ่มเพาะความรู้และให้การสนับสนุนทรัพยากรแก่นักเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมให้สามารถริเริ่มขับเคลื่อนโปรเจ็กต์เพื่อสังคมที่ดีขึ้น เลือกนำการอ่านหนังสือ มาบรรจุไว้ในกระบวนการส่งเสริมการสร้างนักเปลี่ยนแปลงสังคม และปรากฏเป็นกิจกรรม Reading for Change อ่านเพื่อเปลี่ยน ขึ้นที่ TK Park เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

TK Park ได้มีโอกาสพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับคุณนุ้ย – พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบุกเบิกโปรเจ็กต์เพื่อสังคมกับหนังสือ ในฐานะเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งกับตัวเราเอง คนใกล้ตัว และสังคมรอบข้าง
“การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างควรเริ่มจากตัวเราก่อนเป็นอันดับแรก” คุณนุ้ยกล่าว พร้อมเสริมว่าโดยปกติแล้ว มนุษย์ต้องการความสุข และเมื่อชีวิตตนเองมีความหมายและมีคุณค่าแล้ว คุณค่านั้น ๆ ก็อาจถูกส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ “หากจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ให้เราเริ่มจากทุก ๆ วันที่ตื่นนอน วันนี้เราทำประโยชน์อะไรให้กับตนเองแล้วหรือยัง ถ้าได้แล้ว เริ่มหันไปมองคนอื่น มีอะไรที่เราช่วยเขาได้ไหม เริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ แล้วเริ่มขยับไปช่วยชุมชน หรือสังคมที่เราอาศัยอยู่”

คุณนุ้ยจึงนำเสนอชุดเครื่องมือ 2 ชุดเพื่อเป็นแนวทางจะช่วยให้เรามองเห็นปัญหา เพื่อนำไปสู่โปรเจ็กต์ที่จะแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างตรงจุดและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1) วิธีเปลี่ยนแปลงตนเอง ใน 4 ขั้นตอน
Starting Point – จุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีควรเริ่มจากสิ่งที่เรามีความรู้สึกร่วมไปกับประเด็นปัญหานั้น ๆ โดยเริ่มจากต้นทุนที่เรามี เช่น การใช้ทักษะตามความถนัดเข้าไปช่วยเหลือผู้คนรอบข้าง
Problem Insight – ศึกษา ค้นคว้าข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์จนมองเห็น insight หรือโอกาสในการแก้ไข และหากว่าเราเป็นคนตัวเล็ก ทรัพยากรและเวลามีจำกัด ต้องมองหาสิ่งที่ทำน้อย แต่มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่มาก
Idea & Prototype – เมื่อเห็นโอกาสแล้ว ให้ข้าสู่กระบวนการคิดหาไอเดียต้นแบบ เมื่อได้แล้วให้ลงมือทำทันที
Scale – ประเมินขนาดของการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เราสร้างได้ เพราะปัญหาสังคมมีความซับซ้อน เราอาจมองเห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ไม่ทั้งหมด สิ่งที่ดีคือการลงมือทดลองทำและเรียนรู้พร้อม ๆ กันไปทีละขั้น เพื่อดูว่าไอเดียที่เราคิดมามีประโยชน์ต่อคนที่เราเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร มากเพียงใด หรือทำให้เขาได้รู้จักการแก้ปัญหาได้ดีขึ้นหรือไม่

2) โมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg)
ใช้โมเดลนี้เพื่อประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราตั้งใจให้เกิดขึ้น เกิดในระดับใด ตัวอย่างสถานการณ์สมมติว่า เพื่อนของเราชอบพูดคำหยาบ พูดจาไม่เพราะ จนเราอยากที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง ให้เราวิเคราะห์ระดับของการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ระดับ 1 – Situation หรือ Behavior เช่น เราเพียงแสดงปฏิกริยาตอบสนองต่อพฤติกรรมของเพื่อน เช่น บอกให้เพื่อนหยุดพูดคำหยาบ
ระดับ 2 – Pattern คือวิธีแก้ปัญหาโดยมองลึกไปเห็นรูปแบบการเกิดซ้ำของพฤติกรรม เช่น เราตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อนพูดจาไม่เพราะในวันที่พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงอารมณ์ไม่ดี
ระดับ 3 – Structure คือการเข้าไปแก้ไขในระดับโครงสร้าง เช่น ประเมินว่าโครงสร้างใดที่เอื้อให้เพื่อนต้องนอนดึกจนพูดจาไม่เพราะ วัฒนธรรมการแข่งขัน หรือผังเมืองที่ผลักให้ผู้มีรายได้น้อยต้องอาศัยอยู่ที่ชานเมืองและต้องเดินทางยากลำบาก เมื่อเราเห็นโครงสร้างแล้วให้พิจารณาว่า เราสามารถเปลี่ยนผังเมือง หรือ วัฒนธรรมการแข่งขันได้หรือไม่
ระดับ 4 – Mental Model การสร้างแบบจำลองความคิดที่สามารถเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คนอื่น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผังเมือง หรือวัฒนธรรมการแข่งขันได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และต้องระดมผู้คนมากและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
ทว่า เราในฐานะคนตัวเล็กที่อยากเห็นผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของเรา อาจสามารถลองแก้ไขในระดับ Pattern ซึ่งอาจย้อนมาสู่การเปลี่ยน Behavior หรือ Situation เพื่อเปลี่ยนให้ดีขึ้นในเบื้องต้นได้

และในโอกาสนี้ คุณนุ้ยยังจัดชุดหนังสือดี ๆ มาแนะนำ (ว่าที่) นักเปลี่ยนแปลง ถึง 4 ชุดด้วยกัน
1) Books to Change from Within ชุดหนังสือที่จะช่วยแนะนำการเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน
- Atomic Habits โดย James Clear เล่มแปลไทย “เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น” เน้นการเปลี่ยนนิสัยของตนเองเพียงวันละ 1% แต่ภายใน 1 ปี เราจะกลายเป็นคนที่ดีขึ้นในเรื่องนั้น ๆ ถึง 37.78%
- The Power of Habit โดย Charles Duhigg เล่มแปลไทย “พลังแห่งความเคยชิน” ที่นักเขียนใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาการเปลี่ยนนิสัยของผู้คน แล้วเขียนถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ
- Start with Why โดย Simon Sinek เล่มแปลไทย “ทำไมต้องเริ่มด้วย ทำไม” เพราะหัวใจของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเปลี่ยนใจคนได้นั้น เกิดจากการตั้งคำถามเป็นอันดับแรก เราต้องรู้ตัวเสมอว่า เราทำทำไม เล่มนี้ได้ชี้แนะพฤติกรรมของผู้อื่นได้ลึกในระดับที่สามารถทำความเข้าใจที่มาของการกระทำได้
2) Books to Understand Complexity of Problem ชุดหนังสือที่จุดประกายการทำโปรเจ็กต์ คุณนุ้ยแนะนำ 2 ประเด็นหลัก
การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
- Helping Children Succeed โดย Paul Tough เล่มแปลไทย “ปั้นให้รุ่ง” และ Giving Kids a Fair Chance โดย James Heckman เล่มแปลไทย “การศึกษาเพื่อสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กทุกคน” สองเล่มนี้พูดถึงเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน ไม่มีงานที่ดี เงินเดือนน้อย จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร สองเล่มนี้ช่วยขยายทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่โรงเรียนและครู แต่เราเองก็มีส่วนร่วมต่อการสร้างการศึกษาที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้
ปัญหาด้านสุขภาพจิต
- Lost Connections โดย Johann Hari เล่มแปลไทย “โลกซึมเศร้า” ปัญหาสุขภาพจิตที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้ามักเกิดจากการที่มนุษย์หลุดหรือตัดขาดจากความสัมพันธ์ 9 อย่าง หนังสือเล่มนี้อาจช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยให้เพื่อนที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตกลับมาเชื่อมโยงกับผู้คน ธรรมชาติ และตนเองได้
- The One-Straw Revolution โดย Masanobu Fukuoka เล่มแปลไทย “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” เพราะคนในสังคมควรทำความเข้าใจว่า การเกษตรเกี่ยวข้องกับอาหาร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในสังมคอย่างไร
- Happy City เล่มแปลไทย “เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง” เล่าถึงกรณีตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่ดีในแต่ละประเทศทั่วโลก

3) Books to Choose a Changemaking Framework ชุดหนังสือที่ว่าด้วยวิธีคิดและการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง
- The Tipping Point โดย Malcolm Gladwell เล่มแปลไทย “กลยุทธ์จุดกระแส”หนังเล่มนี้นำเสนอแนวทางการเอาชนะกระแสหลักที่มีอยู่เดิมและเป็นปัญหา โดยการเปลี่ยนกระแสรองที่ดีกว่าให้กลายมาเป็นกระแสหลักให้ได้
- The Lean Startup โดย Eric Ries เล่มแปลไทย “ลีนสตาร์ตอัพ” เคล็บลับการทำธุรกิจที่เริ่มจากศูนย์ หรือไม่ต้องรอให้พร้อมก็ลงมือทำได้เลย เล่มนี้เน้นวิธีการที่น้อยแต่ผลลัพธ์รวดเร็ว
- Sprint โดย Jake Knapp เล่มแปลไทย “Sprint สร้างไอเดียไหนก็ได้ใจลูกค้าใน 5 วัน” หากอยากคิดไอเดียและพัฒนางานในเวลาอันสั้น เล่มนี้จะบอกวิธีอย่างละเอียดในการทำโปรเจ็กต์ภายใน 5 วัน ว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง
- The Design Thinking Playbook โดย Michael Lewrick เล่มแปลไทย “คู่มือการคิดเชิงออกแบบ” ฝึกวิธีการคิด Design Thinking โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง หรือแก้ปัญหาสังคมโดยเน้นตอบโจทย์ชีวิตและความต้องการของผู้คน
- Business Model Generation โดย Alexander Osterwalder และ Yves Pigneur เล่มแปลไทย “คู่มือสร้างโมเดลธุรกิจ” วิธีคิดโมเดลธุรกิจแบบง่าย ๆ ด้วยตาราง 9 ช่อง โดยเน้นคิดเป็นภาพ และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบคุณค่าและสามารถรักษากลุ่มเป้าหมายไว้
4) Backs to Find Ways to Deal with the Toughest ชุดหนังสือที่ว่าด้วยเทคนิคการทำงานเป็นทีม
- The Magic of Thinking Big โดย David J. Schwartz เล่มแปลไทย “คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก” และ How to Win Friends & Influence People โดย Dale Carnegie เล่มแปลไทย “วิธีชนะมิตรและจูงใจผู้คน” สองเล่มนี้จะชวนดูวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกับคนอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน