สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) แหล่งเรียนรู้ที่เน้นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีใจรักการอ่าน และการแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทันสมัยในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต”
ที่มาของโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต
สอร. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นครั้งแรกในปี 2549 เพื่อให้มีการขยายแนวคิดการจัดการห้องสมุดในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” ออกไปอย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ “บรรณารักษ์” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุน ปลูกฝัง ส่งเสริมด้านการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชนตลอดชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ “บรรณารักษ์” ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่อันสำคัญของตนเองมากขึ้น การดำเนินโครงการดังกล่าว จึงเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาทักษะแสดงความสามารถ และศักยภาพของตนเอง อันจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนของชุมชน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
• เพิ่มพูนทักษะความรู้ในการวางแผนและบริหารจัดการห้องสมุดแก่บรรณารักษ์ เพื่อนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน
• แบ่งปันประสบการณ์และแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” ระหว่างอุทยานการเรียนรู้กับห้องสมุดต่างๆ ตลอดจนกระตุ้นและส่งเสริมให้นำเอาประสบการณ์หรือแนวคิดไปปรับใช้ในแหล่งเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ห้องสมุดประชาชนในสังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), ห้องสมุดโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ห้องสมุดกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ด้วยกลวิธีการจัดอบรมและนำไปสู่การประกวด ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความกระตือรือร้นในการปรับปรุงประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นรูปธรรม นำไปทดลองปฏิบัติใช้ทันที ซึ่งผลจากการประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งแรก ได้จุดประกายให้ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดโรงเรียนจำนวนมาก เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาห้องสมุดในชุมชนของตนเองให้เป็น “ห้องสมุดมีชีวิต” และจากการดำเนินโครงการฯ ครั้งที่ 2 ในปี 2551 ยังได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีห้องสมุดจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แต่ด้วยข้อจำกัดที่กำหนดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไว้เพียงปีละ 200 แห่ง ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากหน่วยงานห้องสมุดอีกหลายแห่งที่ต้องการเข้าร่วมอบรมและประกวด
สอร. จึงได้จัดโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต หรือ TK park Living Library Award ครั้งที่ 3 ขึ้นในปี 2553 โดยมีห้องสมุดที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ ทั้งสิ้น 10 แห่ง จากจำนวนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบแรก 30 แห่ง จากจำนวนห้องสมุดที่สมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ ทั้งสิ้น 200 แห่ง ทั่วประเทศ และจะมีการประกาศผลผู้ชนะเลิศ “ห้องสมุดมีชีวิต” ขึ้นในวันพุธที่ 26 มกราคม 2554 นี้
รายชื่อห้องสมุดที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 แห่ง ประกอบด้วย
1. ห้องสมุดประชาชนจังหวัดชลบุรี จากจังหวัดชลบุรี (ในสังกัด กศน.)
2. ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงเรียนบ้านฝั่งตื้น จากจังหวัดเชียงราย (ในสังกัด สพฐ.)
3. ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเพชรบุรี จากจังหวัดเพชรบุรี (ในสังกัด กศน.)
4. ห้องสมุดมีชีวิตโรงเรียนบ้านตลาดเขตมิตรภาพที่ 105 จากจังหวัดกาญจนบุรี (ในสังกัด สพฐ.)
5. ห้องสมุดโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ จากจังหวัดนนทบุรี (ในสังกัดเอกชน)
6. ห้องสมุดประชาชนจังหวัดนราธิวาส จากจังหวัดนราธิวาส (ในสังกัด กศน.)
7. ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองลำพูน จากจังหวัดลำพูน (ในสังกัด กศน.)
8. ห้องสมุดโรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง จากจังหวัดตราด (ในสังกัด สพฐ.)
9. ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังจันทร์ จากจังหวัดระยอง (ในสังกัด กศน.)
10. ห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ จากจังหวัดศรีสะเกษ (ในสังกัด กศน.)
สำหรับผลจากการประกวดครั้งที่ 1 และครั้ง 2 ที่ผ่านมา มีจำนวนห้องสมุดที่ผ่านการอบรมในโครงการประกวดห้องสมุดมีชีวิต หรือ TK park Living Library Award แล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง