Self–Esteem น่าจะเป็นคำที่คุณพ่อคุณแม่คุ้นหู หรือเคยผ่านตามาบ้าง ความหมายของ Self–Esteem คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับการเลี้ยงลูก ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา จะมาพูดคุยถึงความหมายและความสำคัญของ Self-Esteem รวมทั้งเจาะลึกรายละเอียดเทคนิคการเลี้ยงลูกให้ภาคภูมิใจในตัวเอง และมีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง เพื่อให้ลูกรับมือกับความผิดพลาดต่างๆ ได้ เมื่อต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก
Self-Esteem คือการสร้างความมั่นใจในตัวตนของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญต่อเด็กมาก เพราะการให้เด็กเติบโตโดยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ตัวเองเป็นคนสำคัญ จะทำให้เขาพัฒนา Self–Esteem ขึ้นมาได้ อย่างแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องนึกถึงคือ ในวันที่ลูกซุกซนไม่น่ารัก เราผลักไสไล่ส่งเขาหรือเปล่า หรือทำลาย Self-Esteem เขาด้วยไหม เช่น พูดว่าไปอยู่คนเดียวเลย ไม่รักแล้ว เพราะคำพูดนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรักเขาเฉพาะเวลาเขาเป็นเด็กดี ทั้งที่ตัวตนของเด็กมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากทำให้เขามี Self – Esteem ต้องยอมรับลูกรอบด้าน สอนสิ่งที่เขาต้องปรับปรุงพัฒนา ไม่ทิ้งเขาไว้ลำพัง Self – Esteem ไม่ใช่ความกล้าแสดงออก ไม่ได้แปลว่าจะต้องขึ้นไปพูดบนเวทีได้ เด็กที่มี Self-Esteem คือเด็กที่สามารถยืนหยัดบนตัวเขาเอง ปฏิเสธอย่างเหมาะสม บอกความต้องการได้ มีความมั่นคงในตัวเอง ต้องสร้างตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ตั้งแต่เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นให้ความรัก หิวให้นม ร้องไห้ให้กอด ไม่สบายให้อุ้ม เขาจะรู้ว่าเป็นที่ต้องการ และอย่าลืมสอนให้เขารู้จักช่วยเหลือตนเอง ดูแลข้าวของเครื่องใช้ตัวเองได้ เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้จะมีการพัฒนา Self-Esteem ที่มั่นคง เมื่อลูกมี Self-Esteem ที่ดี จะทำให้เมื่อเขาเจออุปสรรคอะไร เขาจะบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร เขามีแรงจะสู้ใหม่ เขามีความสามารถ ถ้า Self-Esteem ไม่ดี เขาจะรู้สึกว่าวันนี้ไม่อยากทำแล้ว ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เวลาเจออะไรที่รุนแรงเขาอาจจะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชได้ พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่แบบไหนที่ทำให้ Self-Esteem ต่ำลง พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้วจึงเผลอทำไป เช่น ปกป้องลูกจนเกินเหตุ ทำให้ทุกอย่างให้หมดเพราะอยากให้ลูกสบาย เด็กที่ไม่เคยลองทำอะไรเขาจะกลัวความผิดพลาด กลัวทำแล้วไม่ดีเหมือนคุณพ่อคุณแม่ทำให้ คิดว่าจะต้องเป็นแบบแผนนี้อย่างเดียวแบบที่แม่ทำเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือการเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ฉันทำให้ดีที่สุดของฉันแล้วก็ยังไม่ดี นั่นเพราะมีคนที่ดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะในชีวิตเรามีคนที่ดีกว่าอยู่แล้ว ผู้ใหญ่ควรชมเด็กอย่างไร เพื่อไม่ให้ชมแล้วเหลิง จนสุดท้ายกลายเป็นไม่กล้าชม การชมมีสองแบบ แบบแรกชมไว้ก่อน เด็กไม่เข้าใจหรอกว่าเขาทำอะไรดี แบบที่สองคือการชมที่ดี คือการชมเพื่อพัฒนา ชมที่การกระทำของเด็ก อย่างเช่น ลูกช่วยล้างจาน ก็ชมลูกว่า “ขอบคุณมากเลยลูกวันนี้ช่วยแม่ล้างจาน” ถ้าบอก “เยี่ยมเลยลูก” เด็กจะไม่เข้าใจว่าอะไรเยี่ยม และถ้าอยากให้เขาทำได้ดีกว่านี้ ก็อาจจะพูดกับเขาว่า “เดี๋ยวคราวหน้าหนูลองใช้ฟองน้ำอันนี้เพิ่มนะ” เราแนะวิธี แต่ไม่บอกว่าเขาดีไม่พอ การชมที่การกระทำจะทำให้เด็กพัฒนาไปไกล แต่การชมแบบขอไปทีจะทำให้ไม่เกิดผล เขารู้สึกว่าคำชมเฝือ ไม่แตกต่าง วันไหนที่ลูกพยายามมากคุณพ่อคุณแม่ต้องชมมากว่าวันอื่น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องชมทั้งคู่ เพราะอย่างน้อยเขาก็ลงมือทำ แต่ควรจะแตกต่างกันให้เด็กได้รู้ว่าความพยายามที่แตกต่างกันทำให้เขาได้รับคำชื่นชมที่แตกต่างกันด้วย และสุดท้ายเมื่อลูกช่วยเหลือตัวเองได้ เขาจะเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ซึ่งเป็นการยืนยันกลับมาว่าตัวเขามีคุณค่า สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ เกิดเป็นความภูมิใจในตัวเอง เด็กที่มี Self–Esteem จะมีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อพบความผิดหวัง Self–Esteem ที่ดีจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดี และการรับผิดชอบต่อการกระทำ เด็กที่มี Self–Esteem จะมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง รับผิดชอบต่อการเลือกของตัวเขาได้ ดังนั้นถ้าเขาเลือกแล้วผิดพลาด เขาจะสามารถรับความผิดหวังได้เพราะเขาเลือกเอง แต่เด็กที่ไม่ได้ใช้ Self–Esteem เป็นตัวตั้ง แต่ใช้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น หรือเลือกตามคนอื่น เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะมีสองอย่างตามมา คือ ไม่อยากรับผิดชอบเพราะเขาไม่ได้เป็นคนเลือก เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ใดๆ เมื่อเกิดปัญหาเขาจะเลือกหนีปัญหา หรืออีกแบบหนึ่งคือเขาจะรู้สึกว่าตัวเองแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ จะเลือกใช้วิธีเกรี้ยวกราด ไม่ทำ หรือให้คนอื่นรับผิดชอบต่อการกระทำตัวเอง เพราะที่ผ่านมามีคนทำแทนให้ ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ให้เขารับผิดชอบตัวเองตามวัย คุณพ่อคุณแม่จะสื่อสารอย่างไรกับลูกเพื่อไม่ให้เป็นการลด Self–Esteem Self–steem จะถูกพัฒนาในวัยเด็ก เขากำลังลองผิดลองถูกเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นช่วงที่เด็กทำพลาดมาก ด้วยอุปสรรคร่างกายที่ยังไม่โตเต็มที่และสมองที่ยังไม่โตเต็มวัย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องรับรู้ก่อนว่า ไม่ใช่เรื่องแย่ที่ลูกจะผิดพลาด ต้องยอมรับได้ และค่อยๆ สอนอย่างตั้งใจ ใจเย็น ไม่ดุทันทีที่ทำพลาด เด็กจะพัฒนาการรับรู้ได้ว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ และไม่เป็นไรที่จะทำพลาด แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยจ้องจับผิด คอยบ่น เก็บทุกรายละเอียดว่าทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ เด็กจะคิดว่าฉันไม่ควรทำอะไรเลย จะกลายเป็นว่าฉันไม่ควรทำแบบนี้เพราะฉันทำไม่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่ทำแล้วกัน เด็กเล็กเป็นวัยที่ชอบเป็นผู้ช่วย เขาอยากทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่มุ่งประเด็นไปที่การเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ เด็กจะเรียนรู้ว่าฉันสามารถทำสิ่งนี้ได้ แม้จะไม่ดีแต่ก็ต้องฝึกฝนแล้วเขาจะทำได้ดีขึ้น แต่ถ้ามุ่งไปที่ผลลัพธ์ว่าทำงานบ้านจะต้องสะอาด จะกลายเป็นเราบ่นเขาเมื่อเขาทำเสร็จ ทำให้เขาไม่กล้าลงมือทำอะไรอีกเพราะกลัวถูกบ่น ถ้าเด็กผิดหวังจากการไม่เป็นที่รักของใครสักคน เขาจะรู้ว่าพอกลับมาบ้านเขายังมีคุณพ่อคุณแม่ที่รักเขา เขาจะค่อยๆ เรียนรู้และปรับวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น เขาจะไม่รู้สึกว่าแค่เพื่อนคนเดียวปฏิเสธเขา หมายถึงโลกทั้งใบจะปฏิเสธเขา เขาจะกล้าไปทำความรู้จักกับเพื่อนคนอื่น เขาจะรู้ว่าไม่จำเป็นว่าคนทุกคนต้องชอบเขา เด็กที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่ที่รักเขามากๆ เขาจะรู้สึกว่าการที่เขาไม่ได้รับความรักจากใครสักคนเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเขาไม่เคยได้รับมันมาก่อน ดังนั้นพอถูกปฏิเสธความรักจึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นสิ่งที่เขาขาด แต่ถ้าเขามีความรักที่เต็มจากคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว เขาจะรู้สึกว่าไม่เป็นไร เพราะเขายังมีความรักตรงนี้อยู่ จะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ที่ผิดหวังในตัวลูกอย่างไร เพื่อให้เข้าใจลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องกลับมาทบทวนว่าเด็กทำผิดไม่ใช่เพราะเขาอยากทำผิด ต้องหาสาเหตุว่าที่เขาทำผิดเพราะอยากให้เราสนใจเขาหรือเปล่า สังเกตว่าช่วงเวลานั้นเราให้ความสำคัญกับลูกน้อยลงไปหรือไม่ เช่น คุณพ่อคุณแม่มีลูกอีกคนที่ยังเล็ก ลูกคนโตอาจจะเรียกร้องให้กลับมาสนใจเขาบ้าง ถ้าแบบนั้นต้องกลับไปให้เวลาเขามากขึ้น การที่เด็กทำผิดเพราะเขาได้รับความกระทบกระเทือนใจหรือเปล่า เขาเลยกระทำแบบนี้ออกมา หรืออาจจะเป็นการเลียนแบบผู้ใหญ่ในรูปแบบของเด็ก เช่น พูดล้อเลียนตามผู้ใหญ่ เด็กที่ทำผิดซ้ำๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าที่ถูกคืออะไร คุณพ่อคุณแม่บ่นเขาอย่างเดียวหรือเปล่า เคยสอนเขาไหมว่าที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร เด็กทุกคนเวลาทำผิดเขาต้องการคนที่มาสอนเขา มาคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น จึงจะเป็นวิธีแก้ที่ดี