เด็กเติบโตขึ้นด้วยนิทาน อาจจะเป็นหนังสือ การ์ตูน เรื่องเล่า โทรทัศน์ นิทานจะเดินทางเข้ามาทักทายเด็กๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือจะมีเด็กคนไหนที่รอดพ้นจากการสื่อสารของนิทานบ้างไหมนะ นี่คือประโยคแรกของ เวย์-พิชญา เพ็งจันทร์ อธิบายสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมอบรมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างสรรค์สาระท้องถิ่นนครศรีธรรมราช”
ฉันไม่เคยสงสัยหรือตั้งคำถามว่า “ทำไมเด็กกับนิทาน จึงเป็นของคู่กัน” แต่พอได้ลองตั้งคำถามและคิดหาคำตอบ ก็พบคำตอบที่สอดคล้องกับการเติบโตตามวัย พบว่าในวัยเด็ก เด็กช่วงวัยหนึ่งจะมีความสามารถในการจินตนาการสูง ซึ่งนิทานที่อาศัยจินตนาการในการดำเนินเรื่องก็จะสามารถสื่อสารกับเด็กวัยนี้ได้ดี เมื่อเกิดการสื่อสารก็จะเกิดการเรียนรู้
ในวัยเด็กของฉันเติบโตมาพร้อมนิทานชุดวอลท์ ดิสนีย์ สองภาษาที่มีหนังสือนิทานประกอบเทป คือ สามารถอ่านหนังสือนิทานและฟังเสียงคนที่อ่านให้เราฟังไปพร้อมๆ กันได้ ตอนเปลี่ยนหน้าก็จะมีสัญญาณส่งเสียงบอกว่าอ่านหน้าถัดไปแล้วนะ นิทานทั้ง 6 เรื่องคือนิทานที่ฉันจำได้ดีฟังซ้ำบ่อยๆ ได้แก่ โพคาฮอนทัส , อะลาดิน , สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด, เดอะ ไลอ้อน คิง, พิน็อคคิโอ และ 101 ดัลเมเชี่ยน ซึ่งนิทานแต่ละเรื่องก็จะมีจุดเด่นและสาระใจความสำคัญของมันอยู่ แต่สำหรับเด็กในวัยนั้นแล้ว ฉันว่าความสนุกมาอันดับหนึ่ง ที่จะทำให้เด็กอยากกลับไปเปิดอ่านหรือดูนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ
เติบโตขึ้นหนังสือที่เราอ่านก็เปลี่ยนไปตามวัยโดยอัตโนมัติ เรามักเลือกอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาสาระที่เราอยากรู้ สงสัย จนเลิกอ่านหนังสือนิทาน เลิกดูการ์ตูน และเรื่องราวเหล่านี้ก็ไกลตัวเราออกไปเรื่อยๆ และจะวนกลับมาสู่ชีวิตเราอีกทีเมื่อพบว่ารอบตัวเรามีเด็กเล็กๆ ป้วนเปี้ยนอยู่
ลองทำหนังสือนิทานกันเถอะ!
ในวันเสาร์ที่ 3- วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสดีมากๆ ในการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “สร้างสรรค์สาระท้องถิ่นนครศรีธรรมราช” โดยผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้กระบวนการการทำหนังสือเด็ก และได้ลงมือสร้างสรรค์ ชุด “สาระท้องถิ่น” ของ TK Park โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็กของเมืองไทย โดยรับจำกัดเพียง 40 ท่านเท่านั้น และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ความคาดหวังในการเข้าร่วมในครั้งนี้ของฉัน คือ การได้รู้จักและเข้าใจหนังสือนิทานเด็กมากขึ้น รวมทั้งได้เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ท้องถิ่นอีกหนึ่งทาง นอกเหนือจากนั้นฉันก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก แต่สิ่งที่ฉันได้รับในสองวันนี้กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยได้รับมาก่อน รวมถึงบรรยากาศทุกอย่างล้วนถูกคัดเลือกมาแล้วว่าส่งเสริมการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นที่สุด
เวลาทั้ง 2 วันผ่านไปไวมาก แต่ก่อนจะไปเล่าถึงว่าพวกเราได้ทำอะไรกันบ้าง ฉันขอเล่าถึงบรรยากาศโดยรวมก่อน กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park กรุงเทพฯ ร่วมกับ CLP นครศรีธรรมราช โดยมุ่งเน้นส่งเสริมท้องถิ่นผ่านการสร้างสรรค์นิทาน สถานที่ที่เป็นที่อบรม คือ โรงแรมแมนดี้นก ก็เอื้อต่อบรรยากาศในการสร้างสรรค์ผลงานมาก เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็มีผลงานศิลปะ เป็นประติมากรรม หรือภาพเขียนจากศิลปินชื่อดังตกแต่งเต็มไปหมด ทั้งโซนล็อบบี้ ห้องอาหาร หรือตามทางเดินไปยังห้องต่างๆ รวมถึงในห้องด้วย เรียกได้ว่าทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยงานศิลปะ ลำดับที่สอง คือ เรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารว่าง หรืออาหารมื้อหลัก เมนูทุกอย่างก็จะเป็นอาหารท้องถิ่นแท้ๆ น้ำพริกและผักหลากหลายชนิด คือสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของคนใต้ ในห้องอบรมก็จะมีผ้าขาวม้าเป็นผ้าปูโต๊ะ จากทุกอย่างที่เล่าไปคือส่งเสริมบรรยากาศในการอบรมให้เป็นไปอย่างกลมเกลียวและธรรมชาติมาก โดยไม่รู้สึกว่าขาดหรือเกิน
ส่วนเวลา 2 วันที่ผ่านไปไวนั้น ฉันขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับวิทยากรและเพื่อนร่วมห้องทุกคน ที่มีตั้งแต่นักเรียนมัธยมปลาย นักศึกษามหาลัย คุณครูภาษาไทย คุณครูสอนศิลปะ ครูมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ CLP เองที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยตั้งแต่ต้นยันจบ กิจกรรมแบบนี้ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมมือร่วมใจกันดี อะไรมันก็จะออกมาดีเสมอ
Collage Arts & Words
ความสนุกในห้องเรียนวันแรก ทีมวิทยากร คุณระพีพรรษ พัฒนาเวช หรือ พี่แต้ว ที่พวกเราเรียกกัน และ พี่ก้อย สกุณี ณัฐพูลวัฒน์ เริ่มต้นด้วยการเล่านิทานให้พวกเราฟังเพื่อการผ่อนคลายก่อนเริ่มกิจกรรม ทันทีที่พี่แต้วเริ่มหยิบหนังสือนิทานขึ้นมาเปิดแล้วอ่านให้พวกเราฟังที่ละหน้าๆ พวกเราก็เหมือนต้องมนต์สะกดและราวกับว่าพวกเราย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง น้องข้างๆ ที่เป็นครูสอนศิลปะเด็ก ป.1-ป.-3 หันมากระซิบบอกกับฉันว่า “ให้ฟังทั้งวัน หนูก็ฟังได้” ฉันพยักหน้าเห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น
หลังจากฟังนิทานไปสองสามเรื่อง พี่แต้วก็ให้พวกเราแนะนำตัวกันพอเป็นพิธี และเริ่มต้นลับสมองด้วยการทำศิลปะแบบตัดแปะ หรือ collage arts อธิบายง่ายๆ คือ การตัดกระดาษจากหลากหลายแห่งเอามาปะติดกันและสร้างเป็นรูปๆ ใหม่ขึ้นมา กลายเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ฉากหลัง หรืออะไรก็ตามที่เราอยากให้เป็น เพื่อเพิ่มความไม่ธรรมดาให้กับกระดาษสีเรียบๆ พี่ก้อยและพี่แต้วก็เตรียมสีชอล์คให้เราละเลงบนกระดาษสีต่างๆ ก่อนฉีกมันออกมาเป็นชิ้นๆ เพื่อนำไปแปะเป็นรูปที่ตามจินตนาการบนกระดาษแผ่นใหญ่ขนาด A3 อีกที ฉันจำไม่ได้ว่าฉันเคยทำอะไรแบบนี้เมื่อไหร่ คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยทำ แต่ก็ไม่เหมือนกับที่ได้ทำในวันนี้ มันเพลินมากจนแทบไม่ต้องคิดอะไร ราวกับสมองกับจินตนาการถูกผนึกเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวกับมือของเรา ทุกอย่างเป็นไปด้วยความไหลลื่นและสนุกสนาน
หลังจากนั้นพี่แต้วก็ให้พวกเราช่วยกันคิดคำขึ้นมาที่สะท้อนความเป็นนครศรีธรรมราช แล้วพี่ก้อยก็เขียนคำเหล่านี้ลงไปบนกระดาษด้านหน้าห้องให้ทุกคนมองเห็น คลังคำเหล่านี้ถูกเก็บไว้ก่อน แล้วคลังคำชุดใหม่จากพี่ๆ ก็โผล่มา 20 คำถ้วน พร้อมบอกพวกเราว่าให้นำคำเหล่านี้ไปแต่งเป็นเรื่องออกมา แต่งยังไงก็ได้แต่ให้มีคำเหล่านี้อยู่ในเรื่อง หลังจากแต่งเรื่องกันเสร็จ ทุกคนก็ออกไปหน้าห้องเพื่ออ่านเรื่องที่ตัวเองแต่งให้เพื่อนๆ ในห้องฟัง ด้วยคำที่พี่ๆ ให้เรามา บางคำก็ดิ้นได้ บางคำก็จะต้องมีความหมายตายตัวเป็นอย่างนั้น เวลาถึงคำที่ดิ้นได้ ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ทำให้เรื่องราวเกิดความหลากหลายและสนุกไม่ซ้ำกัน บางคนก็เล่าออกมาอย่างรู้สึกดี บ้างก็ขำกระจาย ทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือขึ้นไปอีก
หลังจากนั้นวิทยากรก็ให้พวกเราเลือกฉากใดฉากหนึ่งของเรื่องเล่าที่พวกเราแต่งเพื่อนำไปทำเป็นภาพต่อโดยเทคนิค collage ที่เพิ่งเรียนกันไป ทุกอย่างถูกขมวดอย่างกระชับในเวลาจำกัดโดยที่ฉันยังไม่ทันได้ตั้งตัว และไม่ทันคิดว่ามันคือกระบวนการเรียนรู้ที่สุดจะธรรมชาติ เรียงลำดับมาได้อย่างดี “เจ๋งเป็นบ้า!” (ฉันอุทานในใจ) แล้ววันแรกก็ผ่านไปโดยที่เราได้ฟังนิทานเพิ่มเติมอีก และได้เรียนรู้ว่านิทานที่เหมาะสบกับเด็กในช่วงวัยต่างๆ ก็จะไม่เหมือนกัน ซึ่งมีทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ 4-6 , 7-9 และ 10-12 ปี ระหว่างที่เราสร้างสรรค์ผลงานทุกกระบวนการก็จะมีหนังสือนิทานหลากหลายวางอยู่บนโต๊ะหน้าห้อง ซึ่งพวกเราสามารถเดินไปหยิบมาดูเพื่อเรียนรู้เมื่อไหร่ก็ได้
Story & Illustration
เปรียบวันแรกเป็นการลับคมขวานเตรียมตัดต้นไม้ แต่วันที่สองคือการที่ได้ใช้มือเงื้อขวานที่ลับไว้เมื่อวาน มาทดลองตัดต้นไม้จริงๆ ย้ำว่าคือการทดลองเท่านั้นนะ เวลาของวันนี้เริ่มต้นด้วยการที่พี่แต้วเล่านิทานให้เราฟังเช่นเคย และแจกกระดาษปอนด์ให้เราลองทำนิทานรูปเล่มจริง อุปกรณ์มีครบ ทุกอย่างพร้อม เราเริ่มต้นคิดพล็อตนิทานกันตั้งแต่ตอนเช้า และเริ่มสร้างสรรค์ผลงานลงบนกระดาษจนถึงเวลาประมาณบ่ายสาม หลังจากนั้นก็ถึงเวลาของการออกไปเล่านิทานให้เพื่อนฟังหน้าห้อง
นิทานแต่ที่แต่ละคนเขียนขึ้นมา ต่างมีจุดมุ่งหมายในใจแล้วว่าจะเขียนให้ใครอ่าน เราจึงรู้ว่าควรเขียนเล่านิทานด้วยชั้นเชิงแบบไหน แบบจินตนาการจ๋าๆ หรือแบบอิงความจริงที่น่าค้นหาขึ้นไปอีก ขั้นตอนนี้ทำให้ฉันคิดเท่าไหร่ก็ไม่ออกเพราะหลังจากที่ได้ทำความรู้จักเบื้องหลังของการคิดหนังสือนิทานตั้งแต่วันแรกแล้วก็สัมผัสได้ว่า มันไม่ง่ายเลยที่จะเขียนนิทานออกมาให้เหมาะกับการสื่อสารและการรับรู้ของเด็กแต่ละวัยที่แตกต่างกัน ฉันเขียนเป็นตัวหนังสือไม่ออก สิ่งที่อยากเล่าก็พอมีอยู่ประกอบกับรูปวาดที่ฉันพอจะวาดได้ในขณะนั้น ฉันจึงเล่าออกมาเป็นกลอนง่ายๆ ร้อยเรียงกับภาพวาดง่ายๆ ไปเรื่อยๆ จนจบเล่มที่สามารถทำได้ทันเวลาในวันนั้น
เมื่อถึงเวลาออกไปนำเสนอสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์หน้าห้อง ฉันตั้งใจฟังนิทานของทุกคนด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าแต่ละคนจะแต่งออกมาแบบไหน จะมีวิธีการเล่าเรื่องยังไง รูปวาดเป็นแบบไหน แล้วฉันจะเข้าใจเรื่องที่เขาเล่าไหมนะ หลังจากที่ทุกคนได้นำเสนอนิทานแล้ว พี่แต้วจะเป็นผู้ชี้จุดเด่นในแต่ละเรื่องให้พวกเราฟัง ซึ่งทุกเรื่องล้วนมีจุดเด่นที่น่าสนใจในตัวเองแบบแทบไม่ซ้ำกันเลย บางเล่มใช้ภาษาสวย บางเล่มวิธีการเล่าเรื่องน่าสนใจ บางเล่มน่ารักจนอยากจะให้เด็กๆ ทุกคนได้ฟังนิทานเล่มนั้น
วัยเด็กและนิทาน
เวลาผ่านไปสองวัน พวกเราใช้พลังงานสร้างสรรค์หนังสือนิทานกันไปอย่างหมดก๊อก ต้องขอบคุณวิทยากรทั้งสองท่านที่ดึงจินตนาการที่หลบอยู่ในที่ใดสักแห่งในตัวของพวกเราออกมา โดยพวกเราก็ไม่รู้ตัวว่าสามารถทำสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้จริงๆ ด้วย แน่นอนล่ะว่าสิ่งที่พวกเราทำในห้องเป็นแค่การทดลองลงมือทำเท่านั้น ผลงานของพวกเราอาจไม่สามารถใช้ได้จริงได้ทุกเรื่อง แต่บางเรื่องก็ถูกนำไปพัฒนาต่อตามเป้าประสงค์ของการจัดการอบรมในครั้งนี้ ไม่ว่านิทานของใครจะได้รับเลือกไปพัฒนาต่อเป็นรูปเล่ม ฉันก็ถือว่าผลงานเหล่านั้นคือสิ่งที่พวกเราทุกคนได้ร่วมกระบวนการทุกขั้นตอนไปด้วยกัน และร่วมกันผลักดันมันออกมา หากขาดบรรยากาศของการร่วมสร้างสรรค์กัน ก็อาจไม่มีผลงานใดๆ จากใครเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
จากฉันคนที่ชอบเปิดหนังสือนิทานดูเพราะภาพสวย ชอบอ่านหนังสือนิทาน เพราะอ่านแล้วสบายใจ การได้เป็นส่วนหนึ่งในการคิดสร้างสรรค์นิทานในครั้งนี้ก็ทำให้ฉันเข้าใจเบื้องหลังการคิดของการสร้างนิทานมากขึ้น และเห็นคุณค่าของนิทานแต่ละเล่มว่าสิ่งที่ดูเรียบง่ายในเบื้องหน้า เบื้องหลังคือผ่านการคิดมาอย่างดีแล้วจริงๆ
เรื่องโดย พิชญา เพ็งจันทร์