เคยบ้างไหมในวันพักผ่อนแสนสบาย กำลังเอนหลังอ่านเรื่องราวในนิยายเพลินๆ คุณแม่สุดที่รักก็เดินมาต่อว่า มัวแต่นอนขี้เกียจอ่านหนังสือไร้สาระ ลุกมาช่วยแม่กวาดบ้านดีกว่าไหม หากเป็นเมื่อก่อนเราอาจจะเถียงแม่ไม่ได้ แต่ในยุคนี้เราสามารถตอบคุณแม่ได้เลยว่าเราไม่ได้กำลังนอนสบาย แต่กำลัง exercise “การเข้าใจผู้อื่น” (Empathy) อยู่ต่างหาก เพราะการอ่านนิยายคือการท่องเที่ยวเข้าไปในหน้ากระดาษที่บันทึกความคิดและชีวิตของผู้เขียน การได้อ่านนิยายจึงเป็นการทำความเข้าใจชีวิตของผู้คน ดังที่มาโลรี่ แบล็กแมน นักเขียนชาวอังกฤษกล่าวว่า การอ่านคือการออกกำลังกายโดยการลองสวม “รองเท้าของคนอื่น” ให้หัวใจได้ฝึกทักษะการเห็นอกเห็นใจ (Reading is an exercise in empathy; an exercise in walking in someone else’s shoes for a while.)
คีธ โอตเลย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต แถมยังเป็นนักเขียนนวนิยายชื่อดังยืนยันว่า การอ่านนิยายจะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่น มีทัศนคติที่กว้างไกลและเข้าใจสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากประสบการณ์รอบตัวของเรามากขึ้น โดยในปี 2006 เขาและทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการอ่านกับความเข้าใจผู้อื่น ทีมได้ค้นหาอาสาสมัครนักอ่านเป็นผู้เข้าร่วมการวิจัย และทดสอบผู้เข้าร่วมวิจัยด้วยคำถามเกี่ยวกับนิยายเรื่องต่างๆ เช่น ชื่อผู้แต่ง เนื้อหาในเล่ม เพื่อแบ่งระดับการอ่านของอาสาสมัครนักอ่าน จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยรับการทดสอบ “เสียงของใจในแววตา” (Mind of the Eyes) เพื่อทดสอบว่าอาสาสมัครนักอ่านเหล่านี้จะสามารถเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นได้หรือไม่ โดยให้อาสาสมัครเลือกจับคู่ถ้อยคำแสดงความรู้สึกกับภาพถ่ายที่แสดงแววตาของผู้คน ผลการทดสอบปรากฏว่า ยิ่งเป็นนักอ่านนิยายระดับ “แฟนพันธุ์แท้” มากเท่าไร ยิ่งจับคู่ความรู้สึกกับภาพได้อย่างถูกต้องมากเท่านั้น
นับแต่การวิจัยเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้วงการการศึกษาได้เห็นความสำคัญของ “การอ่านนิยาย” มากขึ้น และเป็นกุญแจเปิดทางสู่การวิจัยเกี่ยวกับการอ่านที่สร้างความเข้าใจผู้อื่นในหลายประเทศ ดังเช่นในปี 2014 มีการตีพิมพ์ผลการวิจัยว่า นักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาในอังกฤษและอิตาลีได้แสดงความเห็นอกเห็นใจแก่กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้อพยพ และชาวรักร่วมเพศมากขึ้นภายหลังจากได้อ่านนวนิยายชื่อก้องโลกอย่างแฮร์รี พอตเตอร์
ในปีเดียวกันนั้นเอง ทีมวิจัยอีกทีมหนึ่งให้ผู้อ่านได้อ่านเรื่อง Saffron Dreams นวนิยายที่เล่าถึงชีวิตนักบัญชีสาวชาวมุสลิมในนิวยอร์กซึ่งตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติ พบว่าหลังจากอ่านจบ ผู้อ่านทุกคนมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันของสองชนชาติซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่กลุ่มผู้อ่านที่อ่านงานเชิงสรุปข่าวหรือสารคดีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้กลับไม่แสดงความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติที่เด่นชัดมากนัก
วิลเลียม โคปิก นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปรียบเปรยการอ่านนวนิยายไว้ว่านวนิยายเป็นทำหน้าที่เหมือน “สนามเด็กเล่น” เพื่อให้ทักษะของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ “ออกกำลังกาย” และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะการอ่านนวนิยายคือการพาตัวเองเข้าไปยังจิตใจของตัวละคร มองเห็นสิ่งที่ตัวละครตัดสินใจกระทำ เห็นภูมิหลังที่แตกต่างกันของตัวละครแต่ละตัว ได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับศีลธรรมหรือ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และจิตใจของเราจะยอมรับเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น เนื่องจากนวนิยายได้สร้าง “ระยะห่าง” ที่ปลอดภัยกว่าการออกไปสัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นโดยตรง
แล้วไอ้เจ้า “ทักษะการเข้าใจผู้อื่น” (Empathy Skill) นี่มันสำคัญกับการทำงานยังไงนะ? สู้เอาเวลาไปฝึกทักษะอย่างอื่นที่สำคัญกับการทำงานดีกว่าไหม? ทว่าไดอานา ทามีร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินส์ตันได้เปิดเผยว่ายอดนักอ่านนวนิยายจะมีทักษะการเข้าสังคมสูงกว่าคนปกติ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือจะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมากกว่า โดยมีการทดลองน่ารักๆ คือให้อาสาสมัครได้อ่านนวนิยาย ตอบคำถามหลังจากอ่านว่าคิดอย่างไรกับตัวละคร อยากจะรู้จักตัวละครมากขึ้นหรือไม่ ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเชิงอารมณ์เพื่อวัดระดับความเห็นอกเห็นใจตัวละครในเรื่อง จากนั้นพาผู้อ่านเปลี่ยนห้องที่ใช้ทำแบบทดสอบ แล้ว “แกล้ง” ทำกล่องเก็บปากกาจำนวนมากหล่นลงพื้น ผลการทดสอบปรากฏว่า นักอ่านที่มีคะแนนแบบทดสอบเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจตัวละครสูง มีเปอร์เซ็นต์ในการอาสา “เก็บปากกา” ช่วยเหลือผู้ทดสอบสูงตามระดับคะแนนดังกล่าว
เห็นหรือยังว่าการอ่านนวนิยายไม่ใช่เรื่องไร้สาระ (อย่างที่แม่ฉันเคยบ่น) แต่เป็นเครื่องมือออกกำลังกายของหัวใจได้อย่างดีเยี่ยม ยิ่งอ่านมากเท่าไร ขนาดของหัวใจก็จะยิ่งใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น แถมยังทำให้เราเป็น “ยอดเพื่อนร่วมงาน” ที่เพื่อนๆ รุมรักอีกด้วย ถึงแม้นนวนิยายหลายเรื่องเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ใครล่ะจะเถียงว่ามันไม่มี “ความจริงของหัวใจ” อยู่ในนั้น และความจริงจากหัวใจผู้แต่งนิยายสู่นักอ่านนี่เองที่ทำให้นักอ่านหลายล้านคนได้ขยายขนาดของหัวใจและเชื่อมต่อกันเป็นใจดวงเดียว ดังที่นีล ไกแมน นักเขียนชาวอังกฤษบอกเราว่า
“นิยายทำให้พวกเราเห็นอกเห็นใจกัน มันพาเราเข้าไปนั่งในใจผู้อื่น มอบพรสวรรค์ในการยอมรับโลกที่แตกต่างผ่านดวงตาของนักเขียน เรื่องราวในนิยายอาจไม่มีอยู่จริง ทว่ามันบอกเล่าความจริงอยู่เสมอ” (Fiction gives us empathy: it puts us inside the minds of other people, gives us the gifts of seeing the world through their eyes. Fiction is a lie that tells us true things, over and over.)
รายการอ้างอิง
Claudia Hammond. (2019). Does reading fiction make us better people?. Retrieved September 28, 2020, from https://www.bbc.com/future/article/20190523-does-reading-fiction-make-us-better-people
Jennifer Cornick. (2018). The Strange Science of Empathy and Reading. Retrieved September 28, 2020, from https://www.tedxvienna.at/blog/strange-science-reading-empathy
Megan Schmidt. (2020). How Reading Fiction Increases Empathy and Encourages Understanding. Retrieved September 28, 2020, from https://www.discovermagazine.com/mind/how-reading-fiction-increases-empathy-and-encourages-understanding