ในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ได้ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการต้องอาศัยอยู่ในบ้าน การ Work from home หรือการทำ Social Distancing เองก็ตาม
จากผลกระทบที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างชัดเจนคือเทรนด์ของเทคโนโลยีที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งเดิมทีเรื่องของเทคโนโลยีล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตโดยปกติอยู่แล้ว ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด 19 ขึ้น ก็ยิ่งเป็นการเร่งให้เทคโนโลยีถูกพัฒนาและนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในงาน Re:learning for the Future 19 ความท้าทายใหม่ในโลกที่(ไม่)เหมือนเดิม จัดโดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ จึงได้ชวนพูดคุยกับ คุณผรินทร์ สงฆ์ประชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นาสเกต รีเทล จำกัด ถึงเทรนด์เทคโนโลยีกับวิถีคนเมืองที่เปลี่ยนไปหลังโควิด 19
มุมมองหลังเกิดโควิด 19
อย่างที่ทราบกันว่า ทันทีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขขนาดไหน ขณะเดียวกันในโลกดิจิทัลก็มีการคาดการณ์จากนักธุรกิจระดับโลกอย่าง Jaime Ayala ผู้ประกอบการเพื่อสังคมชาวฟิลิปปินส์ได้กล่าวว่า ตลาด E-commerce จะเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลานี้ แต่ในขณะเดียวกัน Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Uniqlo กลับให้ความเห็นถึงตลาดออนไลน์ของเสื้อผ้าที่อาจไม่ได้เติบโตขึ้น เพราะผู้คนต่างต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน จึงมีความต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ลดน้อยลงนั่นเอง
ในอีกมุมมองอีกด้านเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย Glenn Fogel ผู้บริหารของ Booking.com ก็ได้กล่าวถึง Digital Privacy ที่มีความปลอดภัยลดน้อยลง ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่มากที่ควร ซึ่งอาจทำให้เหล่ามิจฉาชีพมองเห็นช่องว่างเพื่อฉวยโอกาสได้ รวมถึง Meg Whitman อดีตผู้บริหารของ Ebay ก็ได้ให้ความถึงพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารภายในครอบครัวที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนั้น มุมมองส่วนตัวคุณผรินทร์เอง ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ e-Learning ที่นำเข้ามาแก้ไขปัญหาการศึกษาในช่วงเวลาที่เด็กนักเรียนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็อาจเป็นเรื่องยาก เพราะการเรียนรู้ผ่านหน้าจอไม่สามารถดึงความสนใจให้กับเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าการมีผู้สอนจริงๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การศึกษาผ่านระบบออนไลน์จึงสามารถใช้ได้จริงกับกลุ่มเด็กที่มีวุฒิภาวะแล้วเท่านั้น
โอกาสทางการธุรกิจใหม่ๆ
จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าเป็นการส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ อย่างหนัก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจบริการอย่างเช่น Food Delivery ต่างๆ ที่เติบโตขึ้นอย่างมาก กลุ่มลูกค้าที่ต้องกักตัวอยู่บ้านก็มีการใช้บริการมากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย Supply เกิดขึ้นมหาศาล แต่ Demand ไม่ได้เกิดขึ้นตาม จนขาดความสมดุล
คุณผรินทร์ได้ยกตัวอย่างเคสของ Homeburg ร้านเบอร์เกอร์ชื่อดัง ที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในขณะที่ร้านต้องปิดจากมาตรการ lockdown ด้วยการนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า ในช่วงเวลาที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ด้วยการขาย Voucher ล่วงหน้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำมาใช้ได้ภายหลัง
แนวทางการทำธุรกิจด้วยกลยุทธ์ offline delivery กับ online experience มาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าได้ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นการประยุกต์นำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือแนวทางที่คุณผรินทร์ได้แนะนำ รวมถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจก็จำเป็นต้องคิดให้รอบด้านและหลายชั้นมากขึ้น เพราะด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงไม่ควรเข้าไปแข่งขันกับเจ้าของตลาดเดิม แต่ควรหาช่องทางใหม่ๆ โดยการมองธุรกิจในภาพรวม อย่างเช่นการขายอาหารออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูง เมื่อลองมองถอยออกมา เรื่องของแพ็คเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ ก็เป็นสินค้าสำคัญที่ร้านอาหารออนไลน์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ นับเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยมุมมองและทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน จึงจะสามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้
10 พฤติกรรมที่จะเปลี่ยนไป หลังจากโควิด 19
คุณผรินทร์ได้ยกตัวอย่างบทความจากหนังสือ Shifts in the Low Touch Economy ซึ่งได้อธิบายถึง 10 พฤติกรรมที่จะเปลี่ยนไป หลังจากโควิด 19 ได้อย่างน่าสนใจไว้ดังนี้
1.คนเราจะเหงาและเครียดมากขึ้น
2.ความสะอาดของสถานที่และอุปกรณ์จะเป็นสิ่งสำคัญ
3.การท่องเที่ยวในประเทศจะเติบโตขึ้น
4.การปรับบ้านให้เหมาะกับการทำงานกลายเป็นสิ่งจำเป็น
5.เกิดการขัดแย้งทางกฎหมายหรือผิดสัญญามากขึ้น
6.การว่างงานที่เกิดขึ้น ทำให้การ reskill กลายเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องใส่ใจ
7.ธุรกิจค้าปลีกจะปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบ delivery เกือบทั้งหมด
8.การติดต่อกับผู้สูงอายุ ต้องระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด
9.การรักษาอัตลักษณ์ในโลกออนไลน์สำคัญมากขึ้น เพราะต้องติดต่อสื่อสารผ่านออนไลน์เป็นหลัก
10.ธุรกิจอีเวนต์ต่างๆ ที่เป็นการรวมคนจำนวนมากจะต้องปรับตัว
ปัจจัยสำคัญที่น่ากลัวมากกว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 คือวิกฤตเศรษฐกิจ มีการประเมินว่าวิกฤตจะมาถึงในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ข้างหน้า ผู้คนจะขาดรายได้และมีอัตราการตกงานที่สูงมาก คำแนะนำสำคัญที่คุณผรินทร์ทิ้งท้ายไว้ คือการเตรียมตัวด้วยการหาอาชีพเสริม เพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นซ้ำสองก็เป็นได้