แม้โลกปัจจุบันจะมีเครื่องมือมากมาย ทำให้หลายๆ คนเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ เรียนรู้ผ่านเพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกล้าที่จะพูด หรือนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ยังคงเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คน ในงาน TK Park เปิดตำราวิชาแนะให้แนว ตอน ชีวิตจริงต้อง Journey อุทยานการเรียนรู้ TK Park จึงเชิญ ครูพี่นุ่น ณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์ เจ้าของเพจสอนภาษา English Afternoonz มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ปลดล็อคความคิด เสริมมุมมองใหม่ๆ แนะแนวทางให้น้องๆ เห็นว่า ภาษาเป็นมากกว่าเครื่องมือการสื่อสาร และไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด กับหัวข้อ “เก่งภาษาง่ายๆ เริ่มได้จากตัวเอง”
ภาษาใหม่ คือประตูบานใหม่ ถ้าเราสังเกตให้ดีๆ เอกลักษณ์ของแต่ละภาษา ไม่ใช่แค่เรื่องของการออกเสียง การแปลความหมาย หรือสิ่งที่ใช้เพื่อการสื่อสารเท่านั้น แต่มันยังเป็นเรื่องของความแตกต่างในการเข้าใจโลกด้วย พี่นุ่นยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่ฝรั่งพูดภาษาอังกฤษ ภาษาของเขาจะมีตัวบอกเวลาหรือเทนส์อยู่ตลอด ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น ก็เพราะว่าฝรั่งเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลามาก ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ซึ่งสิ่งนี้วางอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรม พี่นุ่น ให้ความเห็นว่า การเข้าใจภาษาเป็นเรื่องวัฒนธรรมจะทำให้เรานำไปปรับใช้กับการเรียนรู้ได้มากขึ้น ยกตัวอย่างประโยคหนึ่งที่พี่นุ่นชอบพูดบ่อยๆ คือ I’ve been through a lot ประโยคนี้ฝรั่งเขาใช้ Present Perfect แล้วถามต่อว่า ทำไมเขาถึงใช้รูปแบบการบอกเวลาแบบนี้ ถ้าเราลองสังเกตไปที่ความหมายก่อน ประโยคนี้จะแปลได้ว่า “ฉันผ่านอะไรมาเยอะ” ซึ่งการผ่านอะไรมาเยอะ มันแปลว่าตัวฉันเดินทางจากอดีตแล้วก็ผ่านมาได้ถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า I’ve been through a lot จึงเป็นประโยคช่วยจำได้ดี เพราะฉันต้องผ่านอะไรมาเยอะ กว่าฉันจะเพอร์เฟกต์ ดังนั้น ประโยคนี้ พูดในแง่ของการทำความเข้าใจเวลา มันเลยจำได้ง่ายๆ ว่าเป็น Present Perfect ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราลองมาดูที่ภาษาไทย เราจะเห็นว่า มิติของการบอกเวลาไม่ได้ฝังอยู่ในรูปประโยค แต่เป็นการเติมเข้าไป ถ้าบอกว่า “ฉันกินข้าว” ก็จะไม่รู้ว่ากินข้าวเมื่อไหร่ ไม่มีตัวที่จะบอกว่าเป็นเรื่องของอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ในขณะเดียวกัน ก็สื่อว่า คนไทยมีความอะลุ่มอล่วยเรื่องเวลาค่อนข้างมาก ไม่ค่อยเคร่งเรื่องนี้เท่าไหร่ การที่เรามีประธานในระดับที่แตกต่างกัน เช่น “คุณ” หรือ “ท่าน” ก็เป็นการบอกว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องระบบอาวุโสมากกว่าวัฒนธรรมอื่น ซึ่งพี่นุ่นไม่ได้บอกว่าวัฒนธรรมที่อยู่ในแต่ละภาษาเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษ ก็จะเห็นวิธีคิดที่ซ่อนอยู่เป็นแบบหนึ่ง ถ้าเราเรียนภาษาเกาหลี ก็จะเห็นอะไรอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แต่ทั้งหมดก็จะทำให้เราสามารถเรียนรู้แต่ละภาษาได้อย่างสนุกมากขึ้นด้วย จุดเริ่มต้นจากความบังเอิญ ย้อนกลับไปสมัยตอนเด็กๆ พี่นุ่นไม่ค่อยสนใจเรื่องการเรียนภาษาเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่า ชอบทำอย่างอื่นมากกว่า เป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยได้ ยิ่งเวลาเรียนในห้อง ถ้าเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าน่าเบื่อ ก็จะไม่ชอบ อย่างตอนเรียนภาษาอังกฤษ ครูจะชอบให้จำศัพท์เป็นคำๆ แล้วก็เอามาสอบ เราก็รู้สึกว่า มันไม่สนุกเลย พอสอบเสร็จก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไง มันเลยกลายเป็นว่า เราไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไรเกี่ยวกับภาษาอังกฤษตั้งแต่ต้น แต่ทีนี้ จำได้ว่า มันบังเอิญเรามีครูที่สอนภาษาอังกฤษชั้นประถมเป็นฝรั่ง เราจะเรียนกับเขาสัปดาห์ละหนึ่งคาบ แล้วเรารู้สึกว่า เราอยากเข้าไปคุยกับลูกของเขา มันก็เลยกลายเป็นอะไรบางอย่างที่ผลักดันเรา ทำให้เราต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม จะต้องสื่อสารกับเขาเป็นประโยคให้ได้ ที่นี้ก็เริ่มเลย เอาจริงเอาจังมากๆ เพราะรู้แล้วว่า ถ้ารู้ภาษาเพิ่มขึ้นจะได้เอาไปใช้ แล้วคราวนี้ก็เริ่มสนุกกับมันมากขึ้น การเรียนรู้ภาษาเป็นเหมือนอากาศ เวลาเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน คุณครูจะชอบเน้นเรื่องของแกรมม่า เน้นเรื่องการอ่านการใช้เทนส์หรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่เรารู้สึกว่า มันไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ คำแนะนำของพี่นุ่นก็คือ ไม่อยากให้ทุกคนไปเครียดกับมันมาก การเรียนรู้ภาษาอังกฤษมันเกิดขึ้นได้รอบๆ ตัวเราอยู่แล้ว ภาษาเป็นเหมือนอากาศที่มันลอยอยู่รอบๆ แล้วทุกคนก็ค่อยๆ ซึมซับมันเข้าไป ซึ่งกระบวนการเรียนรู้มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ วิธีการเรียนรู้ของแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน วิธีที่พี่นุ่นใช้ก็คือ การเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นวิธีที่เหมาะกับตัวเรามากที่สุด เช่น เราก็เลือกหนังที่ชอบมา อาจจะเป็นเรื่องไททานิค หรือหนังโรแมนติกอะไรก็ได้ ตอนแรกก็เริ่มดูจากการเปิดเป็นซับไทยก่อน แล้วพอเริ่มคุ้นกับภาษา ก็จะเริ่มไม่ต้องดูซับแล้ว แต่บางทีก็เปิด CC หรือส่วนที่เป็น Close Caption ไว้ เพื่อดูคำศัพท์ อย่างเวลามีฉากลมพัด มันก็อาจจะขึ้นว่า Wind Blowing หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็สามารถเรียนรู้จากตรงนี้เพิ่มได้ แต่ถ้าใครไม่ได้ชอบดูหนังขนาดนั้น ก็อาจจะเลือกฟังเพลงแทน อย่างเช่น ถ้าพี่นุ่นชอบฟังเพลงของ Adele หรือ Ed Sheeran พี่นุ่นก็จะฝึกฟังซ้ำๆ หลายๆ รอบ หรือไม่ก็ลองเปิดหาเนื้อเพลงมาดู ถ้าเป็นพวกผู้ชาย เขาก็อาจจะชอบฟังพวกกีฬา หรือหนังอะไรที่ต่างออกไป ก็ได้เรียนรู้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเ ราจะไปทางไหน บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับอาชีพที่เราทำด้วย ถ้าเป็นอาชีพที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษแบบทางการมากๆ เราก็อาจจะไปฟังพวกข่าว CNN หรือ BBC อะไรพวกนั้น แต่ถ้าเราทำงานเขียนโฆษณา อยากได้คำศัพท์ หรือวิธีการใช้ภาษาที่มันสนุก เร้าใจ ก็อาจจะเลือกเสพอย่างอื่นแทน “ใช้บ่อยๆ” เทคนิคเดียว ปลดล็อคทุกทักษะ มีน้องๆ มาถามพี่นุ่นบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาใกล้สอบ ว่ามีเทคนิคการจำคำศัพท์ยังไงบ้าง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับพี่นุ่นคือ เราต้องหาเวลาใช้คำศัพท์บ่อยๆ ถ้าไม่มีใครพูดด้วย เราก็อาจจะพูดคนเดียวก็ได้ เช่น ถ้าน้องๆ คนไหนไม่รู้จะพูดยังไง ตื่นเช้าให้มองหน้ากระจก แล้วพูดกับตัวเองออกมาเลยว่า I’m beautiful แค่นี้ก็เป็นการฝึกแล้ว ถ้าเราพูดแบบนี้สม่ำเสมอทุกๆ วัน การพูดของเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเรื่องการใช้เทนส์ก็เหมือนกัน ความจริงพี่นุ่นไม่อยากให้เรื่องของเทนส์เป็นการท่องจำ แต่ถ้าเตรียมตัวไม่ทันจริงๆ การจำเป็นประโยคที่เราสามารถดึงมาใช้ได้เลย หรือจำเป็นประโยคที่เราเคยใช้บ่อยๆ อยู่แล้ว จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้เยอะ เช่น จำไปเลยว่า I love Benedict Cumberbatch. เป็นรูปแบบของ Present Simple พอเปลี่ยนเป็น I have loved Benedict Cumberbatch for 14 years. ประโยคแบบนี้ เป็นเรื่องของ Present Perfect พอเป็นประโยคที่เชื่อมกับประสบการณ์ของเรา หยิบจับมาใช้ง่าย ก็จะทำให้เรามีความคล่องแคล่วมากขึ้น แล้วการทำแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะกับภาษาอังกฤษเท่านั้นนะ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนก็จะช่วยให้เราเรียนรู้ภาษานั้นได้ง่ายขึ้น จำไว้ว่าเราต้องเห็นมันบ่อยๆ ใช้บ่อยๆ บางคนอาจจะเริ่มจากการเปลี่ยนสิ่งรอบตัวที่เราเห็นอยู่ทุกวันเป็นภาษานั้นๆ เริ่มจากอะไรก็ตามที่ใกล้กับชีวิตของเราก่อนก็ได้ อย่างเช่น เวลาใครเล่นเฟซบุ๊คภาษาไทย มันจะมีคำว่า “คุณคิดอะไรอยู่” แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ จะเป็นคำว่า “What’s on your mind” แบบนี้ก็จะทำให้เราจำรูปประโยคได้เลยว่า on จะต้องใช้กับ Mind แล้วขณะเดียวกัน ก็เป็นการจำจากสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว ทำให้รู้สึกไม่เบื่อด้วย แล้วถ้าสมมติ วันหนึ่งน้องๆ อยากเรียนรู้ภาษาที่สาม หรือรู้ภาษาอื่น การเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว หรือปรับใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็จะมีส่วนทำให้น้องๆ เห็นความเชื่อมโยงของภาษาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ถ้าเรียนภาษาอังกฤษจนคล่องแล้ว จากนั้นลองไปเรียนภาษาที่มีรากใกล้ๆ กัน แบบภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน การรู้คำศัพท์ที่มีรากภาษาอังกฤษอยู่ก่อนก็อาจจะมีส่วนช่วยได้ เช่น คำว่า “บุฟเฟต์” จริงๆ แล้ว เราก็จะรู้ว่ามันมาจาก “Buffet” ซึ่งก็คือภาษาฝรั่งเศส การรู้ทั้งสองภาษา เข้าใจไปถึงรากและที่มาของมัน จะทำให้เราทั้งอ่านได้ แล้วก็เขียนได้คล่องกว่าเดิม พี่นุ่นกล่าวสรุปให้กำลังใจน้องๆ ที่อยากจะเก่งภาษาอังกฤษ ว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แล้วใครที่อยากจะเก่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเครียดกับมันมาก พยายามเรียนรู้ภาษาให้สนุก เอามันไปกับเราทุกที่ ใช้ให้บ่อยที่สุด มีความสุขที่ได้เปิดโลก รู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แล้วเดี๋ยวสุดท้ายเราจะทำมันออกมาได้ดีเองค่ะ