เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัท เอนฟาโกร เอพลัส ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ TK park จัดกิจกรรมสัมมนา “Enfa Brain Power มหัศจรรย์พลังสมอง” และมี Live Exhibition หรือนิทรรศการมีชีวิตเพื่อเสริมสร้างสมาธิ ความจำ และการคิดวิเคราะห์ พร้อมทั้งจัดกิจกรรม Workshop หลากหลายรูปแบบ กิจกรรมแบ่งตามช่วงวัย โดยเด็กๆ อายุ 1-2 ปี ร่วมกิจกรรมในช่วงเช้าและเด็กๆ อายุ 2-5 ปี ร่วมกิจกรรมในช่วงบ่าย
พัฒนาสมองแบบน้องเล็ก
ช่วงเช้าผู้ปกครองเข้าร่วมสัมมนาสำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี ในหัวข้อ “เพิ่มพลังสมอง พร้อมทุกการเรียนรู้” โดย “แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คุณหมอเล่าถึงความมหัศจรรย์ของสมองว่าสมองซีกซ้ายเกี่ยวข้องกับการจำเก่ง ท่องเก่ง ส่วนเรื่องความสุข ความสัมพันธ์กับผู้อื่นเกี่ยวข้องกับสมองซีกขวา แต่การกระตุ้นสมองส่วนหน้าจะมีผลต่อการพัฒนาเด็กมากที่สุด สมองของเด็กเล็กทำงานมากกว่าผู้ใหญ่ เซลล์สมองของคนเราซึ่งมีติดตัวมาเป็นแสนล้านเซลล์ จะไม่เพิ่มอีกหลังจากคลอดและฝ่อไปตามอายุที่มากขึ้น เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีบางเซลล์ถูกกระตุ้นให้พัฒนาได้เร็วแต่บางเซลล์สลายหายไป กรณีเด็กเล็ก ถ้าผู้เลี้ยงไม่ดูแลให้ดีจะเหลือเซลล์สมองให้ใช้งานไม่ถึง 40% “เด็กแรกเกิดสายตาไม่ดี แยกสีไม่ได้ จะเห็นเป็นเงาตะคุ่มๆ ขาวดำ ถ้าไม่ให้เขาเห็นอะไรเลย ปิดตาตลอดเวลาระยะหนึ่ง พอเปิดตามาก็มองไม่เห็นแล้ว เพราะเซลล์สมองด้านการมองเห็นไม่พัฒนา หรือเกิดมาหูมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ซึ่งอาจเป็นเพราะเซลล์รับเสียงที่สมองฝ่อไปแล้ว ดังนั้นต้องทดสอบการได้ยินตั้งแต่เล็กๆ”
คุณหมออัมพรกล่าวย้ำต่อว่าช่วงอายุ 3-5 ปีแรก เป็นช่วงทอง สมองยิ่งเล็กยิ่งมีการพัฒนามาก โดยกราฟของพัฒนาการในช่วงแรกเป็นแบบเส้นตรงชันมาก หลังจากอายุ 3 ปี เส้นความชันจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งสมองจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในท้อง เมื่อลูกเริ่มถีบท้องแม่ แปลว่าลูกเริ่มได้ยิน เริ่มรับรู้แสงสว่างได้ “เสียงที่ลูกได้ยินชัดที่สุดคือเสียงแม่ เป็นเสียงที่ให้ทั้งความฉลาดและความผูกพัน เด็กเลี้ยงยาก ซนและดื้อ เมื่อได้ยินเสียงแม่ที่คุ้นเคย เด็กจะผ่อนคลายอย่างชัดเจน” คุณหมอแนะนำให้แม่ร้องเพลงให้ลูกฟังเพราะจะทำให้ลูกอารมณ์ดี หรืออาจะเป็นการใช้เสียงคุยแหย่ กระซิบ เล่านิทานก็ได้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ วิทยากรสัมมนาช่วงเช้า
ในเรื่องของความคิดวิเคราะห์คุณหมอกล่าวว่าแต่ละวัยคิดวิเคราะห์ได้ไม่เท่ากัน “ในเด็กเล็กอาจจะคิดว่าหม่ำอะไรดี เลือกเล่นชิ้นไหนก่อนดี เราควรสนับสนุนในสิ่งที่เขามีสมาธิสั้นๆ เรียกว่า ช่วงความสนใจ อาจเป็นกึ่งนาทีหรือครึ่งนาที สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะยืดความสนใจช่วงสั้นๆ จนเป็นสมาธิจดจ่อได้” คุณหมอยกตัวอย่างเวลาลูกกินนม แต่แม่คอยแหย่เล่น ซึ่งจะทำให้ลูกไม่มีสมาธิจดจ่อ ควรสบตาอือออ ใช้คำหรือท่าทางเดิมๆ “หรือเวลาลูกเล่นของเล่น พ่อแม่ดึงของเล่นเก่าออก แล้วไปเอาชิ้นใหม่มา อันนี้เป็นการทำลายสมาธิเด็ก พ่อแม่ควรหยิบชิ้นเดิม เล่นให้ดู ฝึกให้ใช้กล้ามเนื้อ ลองพัด ลองหมุน ดึงความสนใจไว้ได้นานๆ เด็กๆจะเก็บประสบการณ์เข้าสู่ความจำ เมื่อเห็นอีกจะจำได้เลย ประมวลซ้ำย้ำๆ คิดวิเคราะห์บ่อยเข้า เริ่มเป็นความจำระยะยาว เป็นความประทับใจ กลายเป็นความทรงจำและเป็นต้นแบบที่ดีงาม”
นอกจากนั้น สิ่งเร้ารอบข้างมากมายในปัจจุบันยังรบกวนสมาธิเด็ก ประกอบกับพ่อแม่คาดหวังและทุ่มเทสูง ทำให้กลายเป็นคาดหวังในบางเรื่อง แต่ละเลยในบางเรื่อง เด็กๆ จึงดูคล้ายกับมีภาวะสมาธิสั้น ซึ่งคุณหมอให้ข้อสังเกตถึงเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจริงๆ ว่าต้องมีลักษณะครบ 3 อย่าง ได้แก่ 1. คุมอารมณ์ไม่เป็น หงุดหงิดง่าย 2. ซนมากผิดปกติ 3. คอยไม่ได้ แต่ในเด็กบางคนจะมีอาการเหมือนโรคสมาธิสั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ ซึ่งเด็กที่ถูกวินิจฉัยเป็นโรคจริงๆ มีไม่เกิน 10% โดยเด็กที่สมาธิสั้นจากการป่วยด้วยเซลล์สมองจะเลี้ยงยากตั้งแต่เกิด ถ้าอายุน้อยกว่า 4 ปี ให้ปรับพฤติธรรม แค่ลดสิ่งเร้า ลดความวุ่นวาย ความไม่เป็นระเบียบ เล่นของเล่นทีละอย่าง ดูโทรทัศน์น้อยๆ ถ้ามากกว่า 4 ปี อาจต้องให้ยา เพราะจะเรียนรู้ไม่ทันเพื่อน
คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายว่า “เส้นแบ่งระหว่างการที่เราทำให้ลูกกับทำเพื่อตัวเองมันบางมาก เราอยากให้ลูกฉลาด หรือเราอยากมีลูกที่ฉลาด เราควรชื่นชม เข้าใจความรู้สึก ยืดหยุ่นกับลูก ช่วงเวลาที่มีลูกเล็กๆ คุณแม่ต้องทำตัวสนุกสนาน ทำเสียงอ่อนโยน สิ่งนั้นจะทำให้เราคุยกับลูกง่ายขึ้น”
น้องเล็กเล่นสนุก
Workshop เด็กเล็กในช่วงเช้านี้ เราได้ “ครูต่าย หรือ อาจารย์ประภาศรี นันท์นฤมิตร” นักจิตวิทยาพัฒนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากรนำผู้ปกครองร่วมทำกิจกรรมกับเด็กๆ ครูต่ายบอกว่าเด็กวัยนี้ไม่นิ่ง เริ่มเป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่ชี้นำก็ไม่ค่อยฟัง สิ่งที่เขาสนใจคือสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้จริงๆ ครูต่ายแนะนำให้ปล่อยลูกทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระแล้วให้พ่อแม่เข้าไปเล่นและสอนสิ่งนั้น จะทำให้เป็นการเล่นที่มีความหมายมากขึ้น เด็กจะอยากเรียนรู้ต่อไป ครูต่ายสรุปสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ
1. สร้างสภาพแวดล้อม ให้ลูกได้ทำอย่างปลอดภัย อยากคิดอยากทำ เป็นตัวของตัวเอง ทำเองอย่างอิสระ
2. เมื่อลูกสนใจ เราเข้าไปเล่นไปทำกับเขา เกิดเป็นผลงานขึ้นมา
3. ให้เวลากับลูก บางครั้งเรายุ่ง แต่ต้องมีคำพูดอะไรที่ทำให้ลูกรอคอยเราได้ ไม่ตัดรอน
ครูต่ายเตรียมกิจกรรมสำหรับเด็กๆอายุ 1-2 ปี มา 3 อย่าง ได้แก่
1. เอาผ้าปิดของเล่นไว้ ให้เด็กหาเองว่าของเล่นอยู่ไหน ถ้าเก่งแล้วให้ใช้เป็นแก้วคว่ำไว้หลายๆ ใบก็ได้
2. โยนลูกบอลแบบต่างๆ ใส่ตะกร้า ลูกบอลมีหลายขนาดและมีผิวสัมผัสต่างๆ กัน เด็กจะประเมินความสามารถของตัวเองได้ว่า เขาควรจะใช้กี่มือ ต้องคาดคะเนแรงให้โยนลงตะกร้าพอดี ถ้าทำได้แล้ว ให้พ่อแม่เลื่อนตะกร้าออกให้ไกลขึ้น เด็กจะจดจ่อและคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น เมื่อเล่นเสร็จให้เก็บใส่ตะกร้า เป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีอีกด้วย
3. ใช้ดินสอขนาดใหญ่หรือสีเทียนวาดภาพฝ่ามือหรือฝ่าเท้า เด็กจะจับดินสอแบบกำมือแล้วลากไปเรื่อยๆ จนโตขึ้นมาถึงจะจับ 3 นิ้วเป็น เริ่มจากจับมือเด็กลากตามฝ่ามือพ่อแม่ก่อน ถ้าเด็กสนใจแล้วให้เอามือเขามาวาดเอง อาจประยุกต์โดยให้เด็กนอนบนกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ให้เขาระบายสีตัวเขาเอง เรียนรู้อวัยวะต่างๆ ครูต่ายแนะนำว่าอย่าเพิ่งไปฝืนการจับดินสอของเขา ปล่อยให้เป็นไปตามพัฒนาการ
ครูต่าย หรือ อาจารย์ประภาศรี นันท์นฤมิตร นำกิจกรรมช่วงเช้า
ครูต่ายกล่าวสรุปกิจกรรมว่า “ที่บ้าน พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กทำเอง ได้ใช้ความคิด ให้สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที จดจ่อต่อเนื่องได้ ถ้าที่บ้านมีของเล่นเยอะเกินไป เด็กจะไม่มีสมาธิ เพราะไม่ได้เล่นต่อเนื่อง ทำได้ไม่นาน ควรให้เล่นทีละอย่าง เล่นแล้วเก็บ แล้วค่อยเอาอันใหม่มาเล่นต่อ ให้เขาเลือกเองว่าจะเล่นอะไรต่อไป อย่ามองแค่ให้ลูกสำเร็จในกิจกรรมเท่านั้น แต่ให้ลูกได้เลือกด้วย”
ปลุกพลังดนตรีให้น้องเล็ก
กิจกรรม Workshop “เสริมสร้างสมาธิ ความจำและการคิดวิเคราะห์ด้วยดนตรี” นำโดย “ครูอิง หรือ อาจารย์งามตา นันทขว้าง” จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครูอิงบอกว่าดนตรีกับเด็กเล็กๆ เป็นของคู่กัน ถ้าอยากให้เด็กมีสมาธิ ความจำดี ใช้เพลงหรือเสียงช่วยได้ ครูอิงทุกคนเตรียมตัวทำกิจกรรมโดยให้เด็กเล็กนั่งตัก ถ้าสิ่งไหนทำเองได้ให้ทำเอง ถ้ายังทำไม่ได้ให้พ่อแม่ช่วย จากนั้นครูอิงกดคีย์บอร์ดเสียงสูงให้ยกมือเด็กๆ ยกมือ พอครูอิงกดเสียงต่ำให้เด็กๆ เอามือลง ครูอิงแนะนำว่าผู้ปกครองสามารถใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ที่บ้านทำให้เกิดเสียงสูง เสียงต่ำ เป็นเสียงเรียกความสนใจได้ ต่อมาครูอิงนำเด็กๆ ตบมือตามจังหวะ ให้ผู้ปกครองพูดออกเสียงตามไปด้วย แต่ละเพลงครูอิงจะเน้นไปที่เสียงสั้น ยาว ดัง เบา จากนั้น ครูอิงให้ทุกคนจับเชือก นั่งล้อมกันเป็นวงกลม ครูร้องเพลงม้าให้เด็กๆ ควบม้า เพลงนี้เน้นจังหวะช้า เร็ว เสียงดัง เบา ครูอิงบอกว่า “เวลาที่ไม่มีเสียงร้อง มีแต่ทำนอง เด็กจะเอะใจว่าเนื้อร้องหายไปไหน จะให้ฟังอะไร ถ้าเขาหยุดแสดงว่าฟังเราอยู่” ต่อมาครูอิงให้พ่อแม่จับมือลูกไว้หันหน้าเข้าหากัน ร้องเพลงไม้กระดก พ่อแม่จับมือเด็กๆ ยกมือขึ้นและลง บางคนยืนได้ให้ทำเป็นลุกนั่ง ครูอิงแนะนำว่าเพลงที่ใช้ควรเป็นเพลงสั้นๆ ง่ายๆ กิจกรรมต่อมาเป็นกิจกรรมเข้าจังหวะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เดิน วิ่ง หยุด ซึ่งครูอิงให้พ่อแม่ใช้ร่างกายสัมผัสตัวลูกได้ถ้าลูกไม่ขยับตามจังหวะ จากนั้นครูอิงเล่นจังหวะช้าเป็นสัญญาณว่าให้เดิน ครูอิงเล่นเร็วขึ้นแปลว่าให้เด็กๆ วิ่ง พอครูอิงหยุดเล่น เด็กๆ ก็ต้องหยุดด้วย ครูอิงปิดท้ายด้วยกิจกรรมที่เด็กๆ ดูจะชอบมากที่สุดนั่นคือเล่นเพลงรถไฟ ครูอิงให้ทุกคนยืนเรียงแถวกันแล้วต่อขบวนกันเป็นรถไฟ ครูอิงร้องเพลง รถไฟขยับไปข้างหน้าแต่พอครูอิงร้องว่าให้รถไฟกลับไป เด็กๆ ต้องถอยหลัง เล่นเร็วก็ต้องวิ่ง เด็กๆ วิ่งๆ เดินๆ หยุดๆ ถอยๆ พร้อมกับหัวเราะไปด้วยจนเหนื่อยไปตามๆ กัน ก่อนจากกัน ครูอิงย้ำกับผู้ปกครองของน้องเล็กๆ อีกครั้งว่า “คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมสมาธิให้ลูกได้ เพราะการฟังคู่กับสมาธิอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงคลอ ช่วงทำการบ้าน นอนหลับ อ่านหนังสือ แต่สภาพแวดล้อมต้องเงียบ แล้วดนตรีจะช่วยดึงดูดให้มีสมาธิได้ดีขึ้น”
ครูอิง หรือ อาจารย์งามตา นันทขว้าง นำกิจกรรมดนตรีเด็กๆ 1-2 ปี
พัฒนาสมองเด็กน้อย 2-5 ปี
รอบบ่ายเป็นช่วงสัมมนาสำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี เรื่อง “เพิ่มพลังสมอง พร้อมทุกการเรียนรู้” โดย “ดร.พัฒนา ชัชพงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย อาจารย์บอกกับผู้ปกครองทั้งหลายว่า เด็กวัยนี้มีสมาธิดีขึ้น พร้อมฟัง มีใจจดจ่อ ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่เล่าเรื่องเดิมผิดลูกจะทักท้วงทันที ดูหนังก็จะนั่งจ้อง เด็กบางคนพยายามแต่งตัวตุ๊กตา บางทีแทบจะไม่ได้ยินเสียงเรียกของเราเลย ซึ่งสมาธิจดจ่อแบบนี้จะมีขวบละ 1 นาที 3 ขวบก็มีสมาธิ 3 นาที อาจารย์บอกว่าสภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ “ยกตัวอย่างเช่นเด็กเห็นแมวสีดำ ลักษณะ 4 ขา มีเสียงแม่บอกย้ำอีกว่ามันคือแมว เมื่อมีทั้งภาพและเสียงเด็กจะจำแมวไว้ เมื่อไปเจอหมาสีดำ มี 4 ขา แม่บอกว่านี่ไม่ใช่แมวนะลูก นี่หมา เด็กจะเอะใจว่า แล้วแมวกับหมาต่างกันอย่างไร เด็กต้องเอาความรู้เดิมดึงมาใช้ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องเรียนรู้เป็นรูปธรรม จับได้จับ ชิมได้ชิม ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5” หากสิ่งที่ลูกกำลังเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีอันตราย อาจารย์แนะนำว่าให้พ่อแม่บอกลูกให้จับอย่างอื่นแทน เพราะหากพูดแค่ “อย่าจับ” จะไม่เกิดการเรียนรู้ อาจารย์บอกว่าสมาธิคือความนิ่ง “ถ้าตัวเรานิ่ง ลูกจะนิ่ง เราต้องมีเวลาสงบกับลูก ไม่เร่งรีบ เราเงียบลูกก็เงียบ ถ้าโวยวายตลอด ลูกจะไม่มีสมาธิ”
การสร้างบรรยากาศด้วยดนตรีหรือนิทานก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกหลับ ก็ใช้เพลงช้า ทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับการนอน ถ้าอยากให้สนุกต้องใช้เพลงเร็ว นิทานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืดสมาธิได้ พ่อแม่อาจเล่านิทานเรื่องยาวขึ้น มีหุ่นประกอบ ยืดการสังเกต การคิดได้ ส่วนการที่ลูกจะเรียนรู้ว่าตนเองชอบอะไรนั้น พ่อแม่สามารถให้ลูกลองสำรวจด้วยตัวเองได้ เช่น ลองเรียนดนตรีหรือว่ายน้ำ วัยนี้เป็นวัยที่ชอบสำรวจ พ่อแม่ต้องให้โอกาสไปเห็น “ลูกอาจจะชอบไม่เหมือนเรา อย่าเอาลูกมาชดเชยตัวเอง อย่าไปหงุดหงิดใส่ลูกเมื่อเขาทำอะไรไม่ได้ตามที่เราคาดหวังไว้” อาจารย์กล่าวย้ำ
ดร.พัฒนา ชัชพงศ์ วิทยากรสัมมนาช่วงบ่าย
สำหรับเรื่องความจำ อาจารย์กล่าวว่าเราต้องทำให้เด็กเข้าใจก่อน แล้วความจำจะตามมา ให้เหตุผลง่ายๆ ตามวัย ทำทุกสิ่งให้เป็นรูปธรรม จะทำให้จำได้นานขึ้น เช่น การหัดเก็บรองเท้าเข้าที่ทุกวัน ทำจนเป็นกิจวัตร เขาจะจำได้ว่าเก็บรองเท้าที่ไหนและทำไมเราต้องเก็บให้เรียบร้อย อาจารย์ย้ำว่าการเลี้ยงดูมีความสำคัญอย่างยิ่ง ครอบครัวควรใช้เวลาที่อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่แค่เพียงอยู่ด้วยกัน เช่น พ่อแม่อ่านหนังสือดูละคร แต่ลูกกินนมอยู่หรือเล่นอยู่ ถึงแม้จะอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ไม่ใช่การใช้เวลาร่วมกัน หรือเวลาอยู่ในรถ พ่อแม่ควรชวนลูกคุย การถามเป็นการกระตุ้นลูกได้ดีที่สุด บางครั้งพ่อแม่จัดหาให้ทุกอย่าง ลูกไม่ต้องพูดร้องขอ พ่อแม่ควรให้ลูกได้ฝึกพูด ฝึกถาม ฝึกร้องขอ พ่อแม่อาจจะช่วยถามกระตุ้นให้ลูกคิด อย่ารีบติดสินใจบอกลูกทุกอย่าง หรือพ่อแม่อาจจะแกล้งเล่านิทานเรื่องเดิมผิดไป แกล้งร้องเพลงไม่จบให้ลูกร้องต่อ พ่อแม่ต้องช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นพัฒนาการและต้องเข้าใจการพัฒนาการตามวัยด้วย เช่น เด็กวัยนี้เริ่มกลัวเป็น บางคนกลัวความมืด กลัวสีดำ กลัวเสียงฟ้าร้อง ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรดุว่าหว่าเด็กเพราะนั่นเป็นความกลัวตามพัฒนาการของวัย
อีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์ฝากไว้ให้คิดคือเรื่องการจับดินสอด้วยมือข้างที่ถนัด อาจารย์กล่าวว่าเราไม่ควรฝืนการจับดินสอของเด็กว่าต้องจับด้วยมือขวาเท่านั้น การที่เด็กถนัดซ้ายแล้วต้องถูกบังคับให้ใช้มือขวา ทำให้เด็กสับสนและอาจเป็นการกำจัดศักยภาพตามความถนัดที่เขามีอยู่
หนูทำได้
Workshop 108 กิจกรรม เพื่อจดจ่อ จดจำ ทำได้ สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ในรอบบ่ายนี้ “ครูพบ หรือ อาจารย์เกียรติยง ประวีณวรกุล” นักจิตวิทยาคลีนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก นำกิจกรรม โดยครูพบมีเรื่องราวดีๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ปกครอง คุณแม่คนแรกเล่าประสบการณ์ว่า “คุณแม่ให้ลูกเลือกเสื้อผ้าเอง ลูกเลือกมาแล้วแต่คุณแม่บอกว่าสีไม่เข้ากัน ต่อมาคุณแม่ใส่เสื้อผ้าจะไปงานเลี้ยง ลูกก็พูดบ้างว่าคุณแม่ใส่เสื้อผ้าสีไม่เข้ากัน” ผู้ปกครองท่านอื่นๆ ฟังแล้วอมยิ้มกันใหญ่ ครูพบบอกว่า สิ่งนี้คือการเรียนรู้ของลูก การที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำอะไรเอง ทำให้ลูกเชื่อในศักยภาพของตัวเขาเองว่าเขาทำได้ “ถ้าเขาไม่ภูมิใจในตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองทำได้ ต่อให้เก่งขนาดไหน เขาก็ใช้ความเก่งของตัวเองไม่ได้ เขาจะเลิกทำทันทีเมื่อพยายามจนถึงจุดที่บอกกับตัวเองว่าทำไม่ได้ นั่นคือเราต้องทำให้เขามีความเชื่อมั่นในตนเองหรือ self esteem”
ครูพบ หรือ อาจารย์เกียรติยง ประวีณวรกุล
ครูพบให้เราลองนึกภาพแทนเด็กๆ ว่าจากที่เคยอบอุ่นในท้องแม่ จู่ๆ สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เปลี่ยนไป เด็กๆ ต้องสงบตัวเองให้นิ่ง แล้วจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ให้ได้ ถ้าทำไม่ได้เด็กจะเรียนรู้อะไรไม่ได้เลย หากเราสังเกตดีจะเห็นว่าเด็กแรกเกิดจะนิ่งแล้วเฝ้ามองสิ่งต่างๆ ความกังวลจะหายไปเมื่อพ่อแม่ตอบสนองได้ตรงและสม่ำเสมอ เด็กๆ จะรู้สึกว่าชีวิตปลอดภัย ต่อมาจึงจะรู้จักมองโลกในแง่ดี ซึ่ง self esteem มาจาก การรับรู้ว่าเขาเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ และเด็กมีโอกาสได้สะสมชัยชนะจากการทำได้หลายๆครั้ง เด็กแรกเกิดจะตอบสนองแบบ reflex เช่น ไปเขี่ยแก้มจะดูดนม ไปเขี่ยมือจะกำ เมื่อโตขึ้นสมองจะสั่งงานให้เลียนแบบ reflex จนทำได้ตามใจต้องการ ดังนั้นเด็กวัยนี้จะได้ฝึกใช้ร่างกายของตัวเองจนทำได้ดั่งใจนึก เด็กวัยอนุบาลต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีก
“การหยิบ จับ ตัก เท เป็นสิ่งที่ยากทั้งหมด แต่เด็กๆ สู้ไม่ถอย เพื่อให้ควบคุมร่างกายให้เพียงแค่คิดก็ทำได้ พ่อแม่ควรชื่นชม มีรอยยิ้ม ให้กำลังใจ ให้โอกาสเขาได้ฝึก อุปสรรคใหญ่คือความเคยชินของเรา ที่มองหาผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ ลืมไปว่าเด็กวัยนี้ต้องการเวลาและโอกาส พ่อแม่อย่าหงุดหงิดที่เด็กอาจจะเคยทำอะไรได้ในครั้งแรกแต่ครั้งที่ 2 กลับทำไม่ได้ เพราะเด็กๆ ต้องฝึกทำซ้ำจนกว่าเส้นใยบางๆ ในสมองจะกลายเป็นถนนเส้นหลักในสมองของเด็ก”
ครูพบย้ำว่าสิ่งที่พ่อแม่ห้ามทำเด็ดขาดคือการถามคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เช่น ลูกวิ่งเล่นอยู่ พ่อแม่เห็นฝนตั้งเค้ามาแล้วไปถามลูกว่า “ฝนจะตกแล้วจะกลับหรือยังคะ” ถ้าลูกยังไม่อยากกลับแต่เราบอกว่าต้องกลับ ลูกจะเสียความมั่นใจ เราควรบอกไปเลยว่า “ลูกต้องกลับแล้วเพราะฝนกำลังจะตก” ถ้าถามคำถามลักษณะนี้บ่อยๆ ต่อไปลูกจะไม่อยากตอบ นอกจากนี้พ่อแม่ไม่ควรให้ลูกเลือกในสิ่งที่พ่อแม่ยอมรับผลจากการเลือกนั้นไม่ได้ พ่อแม่ควรให้เด็กเลือกในขอบเขตที่เรารับได้ เช่น ให้ลูกเลือกเสื้อผ้าจากชุดที่เราเลือกออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง
ในตอนท้าย ครูพบให้ผู้ปกครองลองยกตัวอย่างกิจกรรมที่ฝึกพัฒนาการให้ลูกซึ่งมีหลากหลาย เช่น การระบายสี ที่ช่วยฝึกเรื่องการรับสัมผัส ฝึกกล้ามเนื้อ รู้จักการดึงประสบการณ์เดิมมาใช้ การปั้นดินน้ำมัน เล่นแป้งโดว์หรือต่อบล็อก จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือ ความสัมพันธ์ของมือและตา ทำให้เขียนหนังสือได้ดีอีกด้วย การฝึกสวมรองเท้าเอง นอกจากฝึกกล้ามเนื้อแล้ว เด็กๆ จะรู้จักสังเกต รู้จักแก้ปัญหาและดูแลตัวเองได้ การพาไปเดินตลาดและทำอาหาร ทำให้เด็กได้ทักษะการเจรจาต่อรอง เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ครอบครัวได้ใกล้ชิดกัน การช่วยพับผ้า เด็กจะต้องหาถุงเท้าข้างที่เหมือนกันท่ามกลางกองผ้าที่ยุ่งเหยิง ซึ่งทักษะการหาสิ่งที่ต้องการนี้จะช่วยให้เด็กอ่านหนังสือได้คล่อง เพราะเด็กที่อ่านหนังสือได้ดีจะต้องตัดคำจากตัวอักษรมากมายได้
เตรียมพร้อมก่อนเล่นดนตรี
ครูอิงขวัญใจของเด็กๆ กลับมาอีกครั้ง คราวนี้เป็นกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ครูอิงให้ข้อมูลว่าผู้ปกครองหลายท่านอาจเคยทราบมาว่าการเปิดเพลงให้ลูกจะส่งผลต่อสติปัญญาและอารมณ์ หลายคนพาลูกไปเรียนดนตรี ไปถึงจับเลย ทำให้เล่นไม่เป็นเพลง “ลองคิดดูค่ะว่าการเล่นดนตรีให้เป็นเพลงได้ นั้นตาต้องมองโน้ต มือต้องกดคีย์บอร์ดไปด้วย สมองต้องผ่านกระบวนการในการอ่าน ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน เด็กๆ ต้องใช้สมาธิในการแยกประสาทอย่างมาก แค่ให้อ่านหนังสือเขียนหนังสือได้ทันที ยังทำได้ยาก”
ครูอิง หรือ อาจารย์งามตา นันทขว้าง นำกิจกรรมดนตรีเด็กๆ 2-5 ปี
กิจกรรมทางดนตรีของครูอิงในวันนี้จึงเกี่ยวกับฝึกการแยกประสาทแบบง่ายๆ เพื่อสร้างสมาธิ ฝึกความจำก่อนไปจับเครื่องดนตรีจริงๆ ครูอิงเริ่มจากการหยิบกลองมาเคาะจังหวะพร้อมกับร้องเพลงเป๊าะแป๊ะ ครูอิงร้องเสียงดัง เสียงเบา ให้เด็กๆ ร้องคำว่าเป๊าะแป๊ะตาม ต่อมาครูอิงให้เด็กๆ นั่งเป็นวงกลมถือเชือกไว้ในมือร้องเพลงควบม้ากัน บางจังหวะวิ่งเร็ว บางจังหวะวิ่งช้า ต่อมาครูอิงไม่ร้อง มีแต่ดนตรีให้เด็กๆ ฟังจังหวะควบม้าเอง เพลงต่อไปเกี่ยวกับผลไม้ ครูอิงยกรูปผลไม้ต่างๆ ให้เด็กๆ บอกว่ามันคือผลไม้อะไรแล้วตบมือเข้าจังหวะไปด้วย เป็นกิจกรรมเล่นจังหวะ กิจกรรมถัดมาครูอิงแจกไม้ไอศกรีมให้เด็กๆ วางต่อเป็นรูปบ้าน แล้วออกเสียงว่า “ฮิฮิ” วางเสาเดียว เรียกว่า “ทา” พอวางไม้เป็นหลังคากับพื้นแล้วมีบันได เรียกว่า “อุ๊บ” ครูอิงบอกว่าสัญลักษณ์และคำเรียกเหล่านี้เปรียบเหมือนกับฝึกให้เขียนโน้ต เมื่อซักซ้อมความจำกับเด็กๆ แล้ว ครูอิงให้เด็กๆ เก็บไม้ไอศกรีมแล้วทำท่าทางประกอบให้เด็กๆ พูดว่าเป็นตัวอุ๊บหรือทา เป็นการฝึกแยกประสาทที่ยากขึ้นมาอีกขั้น จากนั้นครูอิงให้ดูแผ่นภาพที่มีภาพอุ๊บทาเรียงกันแล้วให้เด็กๆ พูดตามภาพ เท่านั้นยังไม่พอครูอิงให้เด็กๆ ดูภาพ พูดตามภาพ แล้วทำท่าตามตัวสัญลักษณ์ด้วย จบกิจกรรมฝึกแยกประสาทแล้ว ครูอิงให้ผ่อนคลายด้วยการเล่นกิจกรรมเข้าจังหวะ โดยให้เดินตามเสียงดนตรี ดนตรีหยุดต้องหยุดด้วย มีจังหวะให้หมุนรอบตัวเองด้วย เด็กๆ ต้องสังเกตจังหวะเอง ก่อนกลับบ้าน ครูอิงย้ำว่ากิจกรรมพวกนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมในการแยกประสาทให้แก่เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี
นิทรรศการมีชีวิต
นิทรรศการมีชีวิตหรือ Live Exhibition
นอกจากกิจกรรมที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว ยังมีกิจกรรมอีกอย่างที่น่าสนใจมาก นั่นคือ การเปิดตัวครั้งแรกของนิทรรศการมีชีวิตหรือ Live Exhibition ภายในแบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สัมผัสรับรู้สู่สมาธิ ในส่วนนี้จะมีผิวสัมผัสหลายๆ แบบให้เดิน และมีเสียงทั้งเสียงธรรมชาติและเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้นให้เด็กๆ ลองฟัง ส่วนที่ 2 สนุกกับการพัฒนาความจำ ส่วนนี้จะมีขวดใส่ระดับน้ำต่างกันให้เด็กๆ ได้ฟังเสียงที่แตกต่างมีขวดที่ใส่วัสดุคนละชนิดให้ลองเขย่า ด้านในมีอุโมงค์ที่มีเครื่องครัวมากมายให้เด็กได้ลองเคาะและสังเกตเสียงที่ได้ยิน และมาถึงส่วนที่ 3 สร้างแรงจูงใจสู่การคิดวิเคราะห์ ส่วนนี้เด็กๆ จะได้เห็นสิ่งที่เขาได้สัมผัสเรียนรู้และจดจำมาแล้ว กลายเป็นเครื่องดนตรี บรรเลงเป็นเพลงได้จริง เพราะพี่ๆ ทีมงานได้เตรียมขวดน้ำที่ระดับต่างๆ กันมาเรียงให้เด็กๆ ได้เคาะเป็นเพลงง่ายๆ ด้านหน้ามีเปียโนขนาดใหญ่ยักษ์ที่เด็กๆ ต้องขึ้นไปบรรเลงเพลงด้วยการเหยียบ ส่วนอีกฝั่งก็มีอุโมงค์ทำเสียงฝนตกขนาดมหึมา ซึ่งทำเสียงฝนจากการบรรจุวัสดุคนละชนิดลงในกล่อง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ลูกแก้ว
น้องโชกุน หรือ ด.ช.ชิติพัทธ์ ขจรภิรมย์
ชมงานเพลินๆ ได้เจอกับ “น้องโชกุน หรือ ด.ช.ชิติพัทธ์ ขจรภิรมย์” อายุ 2 ปี 8 เดือน และคุณแม่ “ชมพูฉัตร ขจรภิรมย์” คุณแม่บอกว่าได้รับข่าวสารจากเอนฟา เอ พลัส และลงทะเบียนมาร่วมงานนี้ ซึ่งเป็นงานที่มีประโยชน์สำหรับน้องมาก หากมีโอกาสในครั้งหน้าคุณแม่ก็อยากพาน้องโชกุนมาร่วมงานอีก ก่อนจากกันคุณแม่แอบกระซิบมาด้วยว่าน้องโชกุนไม่อยู่นิ่งเลย สงสัยต้องเอาความรู้ที่ได้ไปในวันนี้ไปปรับใช้กับเจ้าตัวเล็กเสียแล้ว