สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษาได้ถือเป็นภารกิจสำคัญ จึงเกิดโครงการส่งเสริมการอ่านขึ้นในหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) TK park เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างจริงจัง และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการอ่าน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนทุกเพศวัย ทุกสาขาอาชีพ
โครงการจุดประกายการเรียนรู้ในโรงเรียน เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบในโรงเรียน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยขยายแนวคิดและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้หรือห้องสมุดมีชีวิตไปสู่โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจาก สพฐ. ให้เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางในการพัฒนาห้องสมุดในโรงเรียนเป็น “ห้องสมุดมีชีวิต”และกระตุ้นให้โรงเรียนและชุมชนเห็นความสำคัญของห้องสมุดมีชีวิตของโรงเรียน ในการเป็นแหล่งปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน
ล่าสุดได้มีการจัด “การประชุมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน รุ่นที่ 4” ขึ้นเมื่อวันที่ 3-6 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว กรุงเทพฯ โดยมีคณะผู้บริหารโรงเรียน ครูบรรณารักษ์ และศึกษานิเทศก์เข้าอบรมครั้งนี้ ประมาณ 300 คน
นางวีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศีกษา สพฐ. กล่าวว่า การพัฒนาห้องสมุดนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ที่ต้องการให้คนไทย รักการอ่าน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นห้องสมุดจึงเป็นหัวใจ ที่จะช่วยให้เด็กหันมารักการอ่านได้รองจากบ้าน โดยครูจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสือและสามารถปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านได้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ TK park เพื่อจุดประกายการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตให้กับโรงเรียน เพราะ TK park ถือเป็นห้องสมุดมีชีวิตที่ทันสมัย ทำให้เด็กเกิดความสนใจ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมตามที่เด็กสนใจ ที่จะทำให้เด็กทำตาม และสามารถเชื่อมโยงไปสู่ทุกกลุ่มสาระได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาพื้นฐานของคนไทย สู่การเป็นประชาคมอาเซียน
“ผลกระทบจากการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า มีเด็กนักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดเพิ่มขึ้น 100% โดยเฉพาะกับเด็กที่ไม่เคยเข้าห้องสมุดมาก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงด้านกายภาพ บรรยากาศภายในห้องสมุดที่สวยขึ้น และมีสื่อให้เลือกหลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงหนังสือเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าว ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นเข้ามาใช้ห้องสมุดมากขึ้นได้จริง”
การดำเนินการในโครงการดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีห้องสมุดเข้าร่วมโครงการและผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 3 รุ่น รวมทั้งสิ้น 77 โรงเรียน แบ่งเป็นรุ่นที่ 1 จำนวน 9 โรงเรียน, รุ่นที่ 2 จำนวน 12 โรงเรียน และรุ่นที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 56 โรงเรียน โดยได้มีการดำเนินการพัฒนาด้านบุคลากรของโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหาร ครูบรรณารักษ์ ครูกลุ่มสาระอื่นๆ รวมถึงศึกษานิเทศก์, การพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดในเชิงกายภาพ การเลือกหนังสือและสื่อส่งเสริมการอ่านที่เหมาะสมกับผู้เรียน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยง และการมีส่วนร่วมของบุคลากรทั้งในโรงเรียนและชุมชน
“การประชุมปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยมีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 200 โรงเรียน และผ่านการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมครั้งนี้เพียง 61 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล 24 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 40 ส่วนอีกร้อยละ 60 เป็นโรงเรียนทั่วไปที่มีความประสงค์จะพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต 37 โรงเรียน รวมผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้กว่า 300 คน ถือเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมาย จากเดิมที่กำหนดการเปิดรับสมัครในแต่ละปีเพียงรุ่นละ 50 โรงเรียน แต่ปัจจุบันมีโรงเรียนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก” นางวีณากล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย การบรรยายแนวคิดและการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต การบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน การเลือกใช้ ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิต แนวคิดและการสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ในโรงเรียน การถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง การศึกษาดูงาน ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบ TK park การฝึกปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล
ด้าน นางสาวเฉียดฉัตรโฉม ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวเสริมว่า “การทำห้องสมุดมีชีวิต ไม่เพียงแค่การปรับปรุงพื้นที่ หรือบรรยากาศ หรือการปรับปรุงโต๊ะเก้าอี้ เพื่อจูงใจให้เด็กเข้ามาใช้ห้องสมุดเท่านั้น แต่สำคัญที่สุด คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ต้อง “คิดนอกกรอบ” ที่เรียกว่า “ครีเอทีฟ” หรือ ความคิดสร้างสรรค์ เช่นหลายประเทศที่พัฒนาแล้วจะเน้นเรื่องของการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการมีส่วนร่วม และการยอมรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ห้องสมุดมีชีวิต จะทำให้เราได้เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพมากขึ้น เด็กจะสามารถคิดวิเคราะห์และต่อยอดความคิดเชิงบวกได้ โดยมีครูบรรณารักษ์ที่ดี ที่จะคอยเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและจูงใจให้เด็กเข้ามาใช้ห้องสมุด เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและจุดประกายความคิดให้กับตัวเด็กได้”