สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดเวทีเสวนาวิชาการ (TK Forum 2011) เรื่อง “อ่านเพื่อนบ้าน กับประสบการณ์ส่งเสริมการอ่าน” เมื่อวันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 10.00-17.00 น. ณ ห้อง Mini Theater อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ นำเสนอโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความรู้จัก เข้าใจในการอ่านของเพื่อนบ้านอาเซียน พร้อมนำเสนอบทบาทของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ต่อการส่งเสริมการอ่านในสังคมไทย
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการนำเสนอของคุณเกียง-โก๊ะ ไล ลิน (Kiang-Koh Lai Lin) ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากสิงคโปร์ว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ประชาชนอยากเข้าใช้บริการห้องสมุด แต่ข้อเท็จจริงคือ คนสิงคโปร์ยังนิยมอ่านแต่หนังสือที่เกี่ยวกับการทำงานและการเรียน ในขณะที่การอ่านวรรณกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างของคนในสังคมยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยเฉพาะในสิงคโปร์ซึ่งมีผู้คนหลายเชื้อชาติ หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์จึงเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้และจัดทำโครงการ “มาอ่านหนังสือกันเถอะ! สิงคโปร์” (Read! Singapore) เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เสริมสร้างความผูกพันของคนในชุมชน รวมไปถึงจุดประกายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับประชาชน โดยจัดกิจกรรมและรณรงค์ให้เกิดการอ่านในกลุ่มต่างๆ ของสังคมอย่างแพร่หลาย จัดตั้งชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่ม อาทิเช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ช่างทำผม ครู เจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ พนักงานโรงแรมและบริการ เจ้าหน้าที่พลเรือน หัวหน้าองค์กรรากหญ้า เยาวชน ประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่มขึ้นมากกว่า 90 แห่ง
ด้าน คุณจันทะสอน อินทะวง (Chanthason Inthavong) และคุณสุรภี วีระวง (Surapee Viravong) วิทยากรจากประเทศลาว ผู้ริเริ่มก่อตั้งและดำเนินโครงการ “ฮักอ่าน” ในประเทศลาวขึ้น โดยแรงบันดาลใจมาจาก 30 ปีที่แล้ว ที่กรุงเวียงจันท์มีห้องสมุดเพียงแห่งเดียวและมีร้านหนังสือเพียงร้านเดียว ประเทศลาวขาดแคลนทั้งห้องสมุด ร้านหนังสือ และหนังสือสำหรับเด็ก โครงการฮักอ่านจึงเข้ามาเสริมเติมในจุดนี้ด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเร่งสร้างห้องสมุด รวมถึงจัดการอบรมบรรณารักษ์เพื่อทำหน้าที่ดูแลและจัดกิจกรรมภายในห้องสมุดโดยโครงการสามารถสร้างและเตรียมบุคลากรประจำห้องสมุดได้ภายใน 2 วัน นอกจากนี้ยังจัดพิมพ์หนังสือกว่า 170 เล่ม รวมถึงการแปลหนังสือดีจากต่างประเทศ จัดมีห้องสมุดเคลื่อนที่ (ตู้หนังสือเคลื่อนที่) สำหรับเด็กๆ ในโรงเรียนที่อยู่ตามชนบทที่ห่างไกล แต่ถึงแม้การส่งเสริมการอ่านในประเทศลาวจะพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจังจากภาครัฐ การขาดแคลนงบประมาณและบุคลากรที่จะทำงานส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ประเทศเวียดนาม คุณ ลี เทียน ฟง (Le tien Phong) ผู้อำนวยการโครงการ Room to Read เวียดนาม กล่าวว่า โครงการ Room to Read ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศเนปาล โดยผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ และได้ขยายไปยังอีก 10 ประเทศทั่วโลกรวมถึงเวียดนาม เป้าหมายสำคัญของ Room to Read มี 2 เรื่อง คือ
1) ความสามารถในการรู้หนังสือของเด็กซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในระยะยาว โดยองค์กรเชื่อว่า การสร้างนักอ่านอิสระ หรือเด็กที่มีทักษะการรู้หนังสือที่เหมาะสมและนิสัยการอ่านที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดีนั้น จะทำให้พวกเขามีพลังสำหรับการเรียนรู้ในระยะยาว
และ 2) การส่งเสริมการศึกษาในกลุ่มเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เด็กหญิงได้เรียนจนจบชั้นมัธยมและมีทักษะที่สามารถจัดการกับการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิตได้
อย่างไรก็ดี คุณฟงกล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการส่งเสริมการอ่านในประเทศเวียดนาม ว่ามีด้วยกันหลายด้าน อาทิ ห้องสมุดโรงเรียนยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ห้องสมุดยังไม่เป็นที่นิยมและคนเวียดนามยังไม่มีนิสัยรักการอ่าน รวมถึงความเหลื่อมล้ำของห้องสมุดในเมืองและในชนบท นอกจากนี้หนังสือสำหรับเด็กยังมีจำนวนน้อย ซึ่งทางองค์กรได้พยายามหาทางแก้ไขโดยร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วน โดยในปี 2554 องค์กรจะให้ความสำคัญกับ การสนับสนุนให้มีช่วงเวลาการอ่านในทุกโรงเรียน, เพิ่มการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน, พัฒนาการฝึกอบรมครูและบรรณารักษ์และสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องและการให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับห้องสมุดเพื่อสร้างนิสัยการอ่าน และด้วยความสามารถในการรู้หนังสือเพื่อสร้างทักษะการอ่าน
การเสวนาปิดท้ายด้วยการนำเสนอของ คุณวัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ในหัวข้อ “อุทยานการเรียนรู้ กับบทบาทในการส่งเสริมการอ่านและการสนับสนุนนโยบายการอ่าน” โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ TK park ในการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยการรักการอ่าน และ เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน และคนในสังคมได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีของการดำเนินงาน TK park ได้ดำเนิน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่
1) การพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบและบริการแหล่งเรียนรู้ในประเทศ
2) คือการพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ในโลกไซเบอร์ หรืออุทยานการเรียนรู้เสมือน (Digital TK)
และ 3) การพัฒนากิจกรรมต้นแบบในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้สำหรับเยาวชน
จากความสำเร็จในการเป็นต้นแบบด้านห้องสมุดมีชีวิต ทั้งด้านพื้นที่ ด้านองค์ความรู้ และในด้านกิจกรรม ปัจจุบัน TK park กำลังเผชิญกับ 4 ข้อท้าทายใหม่จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม นั่นคือ
1) การเปลี่ยนแปลงในตลาดแหล่งเรียนรู้ ซึ่งมีพื้นที่การเรียนรู้ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก TK Park จะทำอย่างไรให้พื้นที่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกลายมาเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และร่วมมือกัน
2) การรักษาความเป็นต้นแบบเชิงกายภาพ และพัฒนาไปสู่การเป็นต้นแบบเชิงองค์ความรู้
3) โอกาสจากแนวนโยบายหรือมาตรการที่ปรากฏในแผนระดับชาติ
4) การเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้คือโจทย์ของ TK park ในการก้าวไปข้างหน้าในอนาคต